บริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกา AT&T (American Telephone and Telegraph)
ได้เคยดำเนินยุทธวิธีทางธุรกิจการเมืองในไทยผิดพลาดมาแล้ว ครั้งหนึ่ง จากธุรกิจสมุดหน้าเหลือง
ที่จัดพิมพ์รายนามผู้ใช้โทรศัพท์ จนทำ ให้การลงทุนด้านอื่นๆ ของ AT&T
ในไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และบริษัทเอทีแอนด์ทีไดเร็คทอรี่ต้องปิดตัวเอง
เรื่องได้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2527 ที่บริษัท AT&T ชนะบริษัท GTD (General
Telephone Directory) ในการประมูลชิงลิขสิทธิ์และจัดพิมพ์สมุดรายนาม ผู้ใช้โทรศัพท์
หรือสมุดหน้าเหลือง โดยเสนอจ่ายรายได้ขั้นต่ำให้แก่องค์การ โทรศัพท์แห่งประเทศไทยถึง
1,275 ล้านบาท สูงกว่าคู่แข่ง GTD ถึง 875 ล้านบาท นี่คือความผิดพลาดเบื้องต้นในการประเมินตัวเลขที่สูงเกินจริง
จนทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
ชัยชนะครั้งนั้น สว่าง เลาหทัย ประธานศรีกรุงวัฒนาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ความสัมพันธ์ของเอทีแอนด์ทีกับสว่างนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่ง AT&T
เข้ามาลงทุนในไทยครั้งแรก โดยตั้งบริษัท Advanced Information Systems ในเครือศรีกรุง
เป็นตัวแทนจำหน่ายระบบสำนักงาน ประเภท Voice Communication และอุปกรณ์สายตอนนอก
(Outside Plant Apparatus) ของ AT&T
สี่ปีเต็มๆที่สัมพันธภาพระหว่างกลุ่มศรีกรุงกับ AT&T ได้พัฒนาขึ้น โดยสว่างได้ประสานงานกับ
Mr.Pasquale ผู้บริหารระดับสูงของ AT&T International ที่สำนักงานส่วนภูมิภาค
ด้านการตลาดประจำสิงคโปร์
หลังจากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้นได้ เป็นประธานองค์การโทรศัพท์ฯ
บทบาทของเอทีแอนด์ทีก็เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2526 โดยได้รับคัดเลือกจากองค์การโทรศัพท์ฯ
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญถึง 2 โครงการ เช่นโครงการ Corporate Planning Office
และชนะประมูลสมุดหน้าเหลืองใน ที่สุด ผลสำเร็จนี้ได้สะท้อนว่าสายสัมพันธ์ทางการเมืองระบบอุปถัมภ์ระหว่าง
สว่าง เลาหทัย กับพลเอกอาทิตย์นั้นลึกซึ้ง
ยุทธวิธีเอาการเมืองนำธุรกิจนี้ เอทีแอนด์ได้ใช้บุกเบิกตลาดประเทศไทยและมุ่งหวังการลงทุนในโครงการพื้นฐานกิจการโทรคมนาคม
เช่นโครงการขยายเลขหมาย 1 ล้านเลขหมายขององค์การโทรศัพท์ฯ โดยเชื่อในอำนาจ
บารมีของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก และเชื่อมือสว่าง เลาหทัย หลังจากที่เอทีแอนด์ทีต้องประสบความล้มเหลวในปี
2524 ที่เคยยื่นขอส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์โทรศัพท์มูลค่า
480 ล้าน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบีโอไอปฏิเสธ โดยอ้างว่าโครงการนี้คล้ายคลึงกับกลุ่ม
อีริคสัน เอ็นอีซี และ ไอทีที
ความพยายามที่ AT&T ต้องการเข้าไปลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานของกิจการโทรคมนาคม
และคอมพิวเตอร์ในไทย ได้ปรากฏชัดเจนตามโครงการพัฒนาโทรศัพท์อีก 1 ล้านเลขหมายปี
2527-2531
ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของยักษ์ใหญ่เอทีแอนด์ทีเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปี
2528 ตั้งแต่ชนะประมูลสมุดหน้าเหลือง มีการประชุมคณะที่ปรึกษา ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก
เช่น เซอร์ วาย เค เปา อภิมหาเศรษฐีราชาเดินเรือ โยชิโช อิเดต้า อดีตประธานมิตซุย
ดร.อำนวย วีรวรรณ ต่อมาเอทีแอนด์ทีตั้งตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ UNIX และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์
EPCOC ที่เมืองออรัลโด รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของเอทีแอนด์ที
โดยถ่ายทอดสดทางช่อง 5 ด้วย
แต่ที่สุดยอดคือโครงการเทเลสตาร์ ของบริษัทเบลล์ แคนาดา อินเตอร์ เนชั่นแนล
(บริษัทในเครือของเอทีแอนด์ทีที่แคนาดา) เสนอจ่ายค่าสิทธิ์ในการ สร้างโทรศัพท์สายเสริม
130,000 เลขหมายมูลค่า 2,300 ล้านบาทในเวลา 5 ปีแก่รัฐบาลไทย โดยใช้ลักษณะร่วมลงทุนระหว่างเอกชนกับองค์การโทรศัพท์ฯ
และการสื่อสารฯ นี่คือจุดเปลี่ยนโฉมหน้าที่ส่งผลให้มีการเสนอแก้พระราช บัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการโทรคมนาคมของรัฐได้
แต่ปลายปีฝัน นี้ก็สลายเพราะคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ฯ ไม่เห็นด้วย
ต่อมามีนาคม 2528 บริษัท AT&T Technology Systems เทกโอเวอร์ บริษัทฮันนีเวลล์-ซินเนอร์เท็กซ์
(ไทย) ซึ่งผลิตไอซี.ที่นวนคร จ.ปทุมธานี และได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ในนามบริษัท
เอทีแอนด์ที ไมโครอิเล็กทรอนิคส์ มูลค่าลงทุน 240 ล้านบาท
แต่เอทีแอนด์ทีก็ต้องมาสะดุดขาตัวเอง เมื่อธุรกิจสมุดหน้าเหลืองประสบ ปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม
หลังจากชนะประมูลแล้วบริษัทผู้ชนะไม่ได้รับการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ ขณะที่คู่แข่งอย่าง
GTD เจ้าของโลโกนิ้วเดิน ประกาศพิมพ์สมุด หน้าเหลืองต่อไป โดยองค์การโทรศัพท์ฯ
ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เหตุนี้จึงทำให้การเซ็นสัญญาต้องเลื่อนไปเกือบปีเพื่อให้มีการแก้สัญญาคุ้มครอง
ลิขสิทธิ์ แต่กรมอัยการพิจารณาเห็นว่าทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้บริหารระดับสูงของเอทีแอนด์ก็ได้รับสัญญาสุภาพบุรุษจากพลเอกอาทิตย์ประธานฯ
และหนังสือยืนยันจากพลตรีประทีป ชัยปาณี ผอ.องค์การโทรศัพท์ฯ ทำให้เอทีแอนด์ยอมเซ็นสัญญาในวันที่
10 มิถุนายน 2528
แต่สุดท้ายวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 วันที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
บริษัท AT&T Directory (Thailand) ก็ประกาศปิดกิจการชั่วคราว เพราะปัญหาต่อรองจ่ายค่าลิขสิทธิ์ลดลงกับองค์การโทรศัพท์ฯ
ไม่ได้ และไม่สามารถกำจัดคู่แข่ง GTD เจ้าของ "เยลโลเพจเจส" ซึ่งอยู่ในธุรกิจสมุดหน้าเหลืองมา
18 ปีได้
บทเรียนจากความล้มเหลวของธุรกิจสมุดหน้าเหลืองของเอทีแอนด์ที ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาด
เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยภายใต้ระบบอุปถัมภ์สามารถพึ่งพิงอำนาจบารมีทางการเมือง
ของคนคนเดียวอย่างพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้?!
หมายเหตุ จากเรื่อง "AT&T สะดุดขาตัวเองในธุรกิจสมุดหน้าเหลืองและยักษ์ใหญ่ก็
"ตายน้ำตื้น" ในไทย" โดย นพ นรนารถ ในนิตยสารผู้จัดการฉบับที่
34 เดือนกรกฎาคม 2529
จากเรื่อง "สงครามชิงสมุดหน้าเหลือง" ในนิตยสารผู้จัดการฉบับที่
15 เดือนพฤศจิกายน 2527