|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2550
|
|
การนำกลไกตลาดในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพื่อลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่
รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ดูเหมือนจะได้ข้อยุติในการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน และได้ข้อยุติเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า วิธีแก้ไขวิกฤติโลกร้อนอย่างรับผิดชอบ คือการที่ทั่วโลกควรยอมรับวิธีการ "ซื้อขาย สิทธิ์การแพร่คาร์บอน"
การซื้อขายสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอน (emissions trading, carbon trading) กำลังใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ในสหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่นและเป็นที่ยินดีต้อนรับจากผู้กำหนดนโยบายในออสเตรเลีย จนถึงจีน Nicholas Stern อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก และผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนคนแรกสุดของยุโรปทำนายว่ามูลค่าของ "carbon credit" หรือสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอน ที่ซื้อขายกันในขณะนี้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์ จะพุ่งขึ้นเป็น 40,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2553 หรืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้า
ฟังดูเหมือนเป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่ในด้าน สิ่งแวดล้อม แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นว่า ความคิดที่ว่าการซื้อขายสิทธิ์ในการ แพร่คาร์บอนจะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้นั้น ยังไม่ถูกต้องนัก วิธีการซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอนที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือการยอมให้ชาติพัฒนาแล้วที่ก่อมลพิษ สามารถ ผลักภาระการที่จะต้องลดการแพร่คาร์บอน ไปให้แก่โรงงานในชาติกำลังพัฒนา และบ่อยครั้งที่เจ้าของโรงงานดังกล่าวในชาติกำลังพัฒนากลับนำผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก การขายสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอน หรือ carbon credit ไปขยายโรงงานที่ก่อมลพิษ ของตนให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก
ที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น การซื้อขาย สิทธิ์การแพร่คาร์บอน นอกจากอาจจะไม่ช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อนแล้ว ยังกลับจะทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ต้องก้าวถอยหลังอีกด้วย เนื่องจากทำให้การลงทุน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ถูกละเลย ทั้งๆ ที่เป็นวิธีที่หลาย คนมองว่าสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในระยะยาว
จนถึงขณะนี้ผู้ชนะที่แท้จริงของการซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอน ดูเหมือนจะเป็นเจ้าของโรงงานที่แพร่มลพิษในชาติกำลังพัฒนา ซึ่งสามารถสร้าง carbon credit เพื่อไว้ขายให้แก่ชาติพัฒนา แล้ว ด้วยการลดการแพร่มลพิษของตนเพียงนิดหน่อย แต่กลับได้รับผลกำไรมหาศาล จากการขาย carbon credit ให้แก่ชาติพัฒนาแล้ว Dan Esty จากศูนย์กฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Yale เห็นว่า การซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอนเป็นวิธีการที่ดีในการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก แต่โครงสร้างของวิธีการซื้อขายสิทธิ์ดังกล่าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังมีจุดบกพร่องที่ร้ายแรง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกยอมรับวิธีการนี้คือ การนำกลไกตลาดเข้ามาประยุกต์ในการแก้ปัญหา โลกร้อน เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย การเปลี่ยนสิทธิ์ในการแพร่ก๊าซเรือนกระจกให้เป็นเหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถซื้อขายกันได้เหมือนกับทองคำหรือน้ำตาล ทำให้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ มีเพียง การกำหนดเพดานของปริมาณการก่อมลพิษที่รัฐบาลอนุญาตเท่านั้น นอกนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดในระบบทุนนิยม
แต่การซื้อขายสิทธิ์การแพร่ก๊าซเรือนกระจก ดูจะใช้ไม่ได้ผลในการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกในชาติกำลังพัฒนา ภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ริเริ่มโดยสหประชาชาติ ที่กำหนดเพดาน ที่จำกัดปริมาณการแพร่คาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ แต่บริษัท ในชาติที่ยอมรับเป้าหมายการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกของพิธีสารเกียวโต ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงภาระการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงได้ ด้วยการยอมจ่ายเงินให้แก่บริษัทในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกแทนตน
วิธีการนี้เป็นประโยชน์แก่ เจ้าของโรงงานที่แพร่ก๊าซเรือนกระจกในชาติกำลังพัฒนา แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลับยิ่งดูสับสนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาติกำลังพัฒนาไม่ถูกผูกมัดด้วยพิธีสารเกียวโต และไม่ต้องกำหนดเพดานจำกัดการแพร่ก๊าซเรือน กระจก บริษัทในชาติกำลังพัฒนาจึงสามารถสร้าง carbon credit เพื่อขายให้แก่ชาติพัฒนาแล้ว ด้วยการยอม ลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ตน หรือเท่ากับเป็นการโอนสิทธิ์การแพร่ก๊าซเรือนกระจกไปให้แก่ชาติพัฒนาแล้วนั่นเองและกับเงินมหาศาล ที่ได้จากการโอนสิทธิ์ดังกล่าวที่เรียกว่าการขาย carbon credit และสามารถนำเงินนั้นไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ๆ ที่ยังคงใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงที่ได้จากซากพืชซากสัตว์อื่นๆ อันเป็นตัวการแพร่ก๊าซคาร์บอนต่อไปอีก
ตัวอย่างเช่น Gujarat Fluoro-chemical ของอินเดีย สามารถสร้างรายได้ถึง 27 ล้านยูโรในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว หรือมากกว่ารายได้ทั้งหมดของบริษัทถึง 3 เท่า จากการขาย carbon credit ให้แก่ชาติพัฒนาแล้ว และนำผลกำไรที่ได้ไปลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่ผลิต Teflon และโซดาไฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารก่อมลพิษ
ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature พบว่า ชาติพัฒนาแล้วต้องลงทุนไปเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการลดการแพร่ก๊าซ HFC-23 ก๊าซเรือนกระจกตัวหนึ่ง ในขณะที่ สามารถจะลงทุนน้อยกว่าเพียง 132 ล้านดอลลาร์เท่านั้น หากยอมปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกในบริษัทของตน และในปีที่แล้ว บริษัทที่อยู่ในชาติภาคีพิธีสารเกียวโต ได้จ่ายเงินไปประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ ให้แก่โรงงานที่แพร่คาร์บอนมากที่สุดในชาติกำลังพัฒนา แต่เงินเหล่านั้นกลับแทบไม่มีส่วนช่วยให้สภาพสิ่งแวดล้อมของชาติกำลังพัฒนาดีขึ้นแต่อย่างใด ชาวบ้านในหมู่บ้าน ใกล้เคียงกับโรงงานเหล็ก Shri Bajrang ในอินเดีย ยังคงเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอย่างเช่นวัณโรค และอากาศและน้ำในหมู่บ้าน เหล่านั้นก็ยังคงเต็มไปด้วยมลพิษ
การซื้อขายสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอนยังไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้พลังงานสะอาดและดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์จากชาติพัฒนาแล้ว กลับไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของเจ้าของโรงงานก่อมลพิษในชาติกำลังพัฒนา ทำให้โครงการพัฒนาพลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ กลับไม่ได้รับเงินลงทุนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
โครงการของสหประชาชาติที่เกี่ยว กับพลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างเช่นเขื่อนพลังน้ำ หรือโรงสีลม ที่เป็น ผลมาจากวิธีการซื้อขายสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอน มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นของโครงการทั้งหมดที่มีที่มาจากการซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอน ส่วนชุมชนที่ปกปักรักษาป่า และทำตามวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อื่นๆ ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นว่า การเก็บภาษีการแพร่คาร์บอน น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า และตรงไปตรงมามากกว่าการซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอน และไม่ต้องใช้ศัพท์แสงที่ยุ่งยากอย่างเช่น carbon credit เหมือนกับวิธีซื้อขายสิทธิ์การแพร่คาร์บอน รวมทั้งสามารถจะป้องกัน "การดีแต่เปลือก" ของวิธีการนี้ได้ แต่ปัญหาก็คือ คำว่าภาษีเป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่เคยชอบใจและผู้กำหนด นโยบายก็ไม่กล้าขัดใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกกำลัง พยายามหาทางแก้ไขจุดบกพร่องในระบบการค้าสิทธิ์การแพร่คาร์บอนที่ใช้อยู่ อย่างเช่น ยุโรปได้กำหนดโควตาการแพร่คาร์บอนที่เข้มงวดขึ้นสำหรับปีหน้า ส่วนสหรัฐฯ กำลังถกกันถึงการประมูลซื้อ carbon credit แทนที่จะให้ไปเฉยๆ ขณะที่สหประชาชาติก็กำลังหาทางที่จะส่งเสริมโครงการพลังงานที่หมุน เวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ วิธีการค้าสิทธิ์การแพร่คาร์บอนจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้นำโลกเข้มงวดกับการจำกัดปริมาณการแพร่คาร์บอนอย่างเอาจริงเอาจัง
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง นิวสวีค 12 มีนาคม 2550
|
|
|
|
|