|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2550
|
|
เมื่อเอธิโอเปียผู้ปลูกเมล็ดกาแฟชั้นดีระดับโลก ขอทวงสิทธิ์คุ้มครองภูมิปัญญาการปลูกกาแฟของตน จนต้องปะทะกับบริษัทกาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Starbucks
เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟตากแห้งชั้นดีด้วยวิธีธรรมชาติเพียง 1 ปอนด์ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหมู่บ้าน Fero ในเขต Sidamo ของเอธิโอเปียต้องใช้เวลาถึง 15 วัน เพื่อตากเมล็ดกาแฟ 6 ปอนด์ ที่จะเหลือน้ำหนัก เพียง 1 ปอนด์หลังจากตากแห้งจนได้ที่ และตลอดเวลา 15 วันนั้น เกษตรกรยังต้องคอยเกลี่ยเมล็ดกาแฟกลับไปกลับมาอยู่เกือบตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ได้เมล็ดกาแฟที่แห้งทั่วถึงกันทุกเมล็ด
กาแฟ 6 ปอนด์ที่ตากแห้งเหลือเพียง 1 ปอนด์นี้มีราคาเพียงประมาณ 1.45 ดอลลาร์ ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าแรงและค่าขนส่งแล้ว เกษตรกรจะเหลือรายได้เพียงไม่ถึง 1 ดอลลาร์ ในขณะที่ในสหรัฐฯ กาแฟจำนวน 1 ปอนด์เดียวกันนี้กลับขายในราคาที่สูงลิบลิ่วคือ 26 ดอลลาร์ต่อกาแฟคั่วชั้นดี Shirkina Sun-Dried Sidamo เพียง 1 ถุงที่ผลิตโดย Starbucks
ความแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของราคาเมล็ดกาแฟดังกล่าว ทำให้เอธิโอเปียรู้สึกว่า ตนหาได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากเมล็ดกาแฟชั้นดี พิเศษของตนเอง ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งๆ ที่เมล็ดกาแฟของเอธิโอเปียสามารถขายได้ในราคาสูงกว่า 3 เท่าของกาแฟชนิดธรรมดาในตลาดต่างประเทศ
Getachew Mengistie ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของเอธิโอเปียชี้ว่า ราคากาแฟของ เอธิโอเปียที่พุ่งทะยานสูงลิบลิ่วในตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นเพราะ การลงทุนและพิถีพิถันในด้านการคั่วเมล็ดกาแฟ หรือบรรจุภัณฑ์หรือการตลาด เพราะหากเป็นเช่นนั้น บริษัทผู้จำหน่ายกาแฟก็สามารถ จะทำเช่นนั้นกับกาแฟจากที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมล็ดกาแฟที่มาจากเอธิโอเปีย นี่จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า มีคุณค่าที่พิเศษเกินกว่าใคร อยู่ในเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปีย เพียงแต่เจ้าของเมล็ดกาแฟ อย่างเอธิโอเปีย กลับยังไม่ได้รับประโยชน์จากคุณค่านั้น
การคิดขึ้นมาได้เช่นนี้ ทำให้เอธิโอเปีย ประเทศผู้ปลูกเมล็ดกาแฟชั้นดี ต้องเกิดปะทะกับ Starbucks บริษัทกาแฟยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมาย การค้าเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปีย
ความขัดแย้งนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 เมื่อเอธิโอเปียยื่นคำร้องต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อของแหล่งปลูกกาแฟชั้นดีของเอธิโอเปีย 3 แหล่งคือ Yirgacheffe, Harrar และ Sidamo
นี่คือความพยายามดิ้นรนของประเทศยากจนอย่างเอธิโอเปีย ที่พยายามจะนำเครื่องมือทางการค้า ที่ปกติมักถูกสงวนไว้ใช้เฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มาปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ของตนบ้าง เพื่อจะขอมีเอี่ยวมากขึ้น ในผลกำไรของบริษัทที่นำเมล็ดกาแฟของตนไปจำหน่ายในราคาที่สูงลิบลิ่ว รัฐบาลเอธิโอเปีย หวังว่า หากสามารถมีอำนาจควบคุมเมล็ดกาแฟของตนผ่านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็จะสามารถบีบให้บริษัทที่ทำมาค้าขาย กับเมล็ดกาแฟของตน จำเป็นจะต้องมาทำข้อตกลงซื้อสิทธิ์ในการใช้ชื่อ หากต้องการจะนำชื่อของแหล่งปลูกกาแฟทั้งสามของเอธิโอเปีย ไปใส่ในแบรนด์ผลิตภัณฑ์กาแฟของบริษัทเหล่านั้น ซึ่งในที่สุดจะทำให้ เอธิโอเปียได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นจากยอดขายของบริษัทเหล่านั้น
แต่ Starbucks ได้ชิงยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากาแฟคั่วของตน ที่ชื่อ Shirkina Sun-Dried Sidamo ตัดหน้าเอธิโอเปีย ไปก่อนหน้านั้น 1 ปี ทำให้คำขอจดทะเบียนของเอธิโอเปียต้องรอไว้ก่อน จนกว่าทางสำนักงานเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ จะจัดการ กับคำขอของ Starbucks เสร็จสิ้น เอธิโอเปียได้ขอให้ Starbucks ถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวออกไป แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจาก Starbucks ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา (ก่อนที่ Starbucks จะยอมถอนคำขอดังกล่าวออกไป ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในตอนท้ายเรื่อง)
Starbucks ไม่เห็นด้วยที่เอธิโอเปียเลือกใช้ระบบเครื่องหมาย การค้ามาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีของเมล็ดกาแฟ โดย Starbucks ชี้ว่า การใช้วิธีจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาคุ้มครอง แหล่งทางภูมิศาสตร์ ไม่ค่อยมีใครทำกัน เพราะเครื่องหมายการค้าจะทำให้เจ้าของมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ที่จะใช้ชื่อของแหล่งภูมิศาสตร์ นั้นในชื่อแบรนด์ของตน แต่ไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น
Starbucks เห็นว่า เอธิโอเปียควรเลือกใช้ระบบการรับรองแหล่งทางภูมิศาสตร์ (geographic certification) จะเหมาะสมกว่า อย่างเช่นที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อย่างมะเขือเทศ Idaho ชีส Roquefort และส้ม Florida โดยระบบนี้จะรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ แต่ยังคงอนุญาตให้บริษัทอื่นๆ สามารถนำชื่อแหล่งภูมิศาสตร์นั้นไปใช้ในชื่อแบรนด์ของ ตนได้ และชี้ว่ากาแฟ Jamaican Blue Mountain และ Kona ต่างก็ใช้ระบบการรับรองแหล่งทางภูมิศาสตร์ในการคุ้มครองกาแฟทั้งสองชนิดนั้น
เอธิโอเปียไม่ปฏิเสธว่า ค่อนข้างจะเป็น เรื่องแปลกที่ตนเลือกจะใช้ระบบเครื่องหมาย การค้ามาคุ้มครองเมล็ดกาแฟ แต่ก็อธิบายว่า อุตสาหกรรมผลิตเมล็ดกาแฟของตนนั้น ร้อยละ 95 เป็นกาแฟที่ผลิตโดยเกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟที่ยากจน ซึ่งมีจำนวนถึง 2 ล้านคน จึงเป็นการยากที่จะใช้ระบบรับรองแหล่งภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ เกษตรกรเหล่านั้นก็ยากจนเกินกว่าที่จะสามารถรับภาระการบริหารจัดการ เกี่ยวกับการรับรองแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้
เอธิโอเปียยังเห็นว่า ระบบรับรองแหล่งทางภูมิศาสตร์ไม่ได้กำหนดให้บริษัทผู้นำเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปียไปจำหน่าย ต้องขออนุญาตใช้ชื่อของแหล่งปลูกกาแฟ ก่อนที่จะนำชื่อดังกล่าวไปใช้ในชื่อแบรนด์กาแฟของบริษัทเหล่านั้นแต่อย่างใด ทำให้บริษัทกาแฟอย่าง Starbucks ก็จะยังคงขายเมล็ดกาแฟคั่ว Shirkina Sun-Dried Sidamo ซึ่งผลิตจากเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่ง Sidamo ของเอธิโอเปียได้ต่อไป โดยที่เอธิโอเปียยังคงไม่มีอำนาจการควบคุมเหนือตลาดกาแฟเลย
เพื่อเกลี้ยกล่อมผู้ที่คัดค้านให้เปลี่ยนใจ เอธิโอเปียยืนยันว่า ตนไม่ได้ต้องการค่า royalty แต่อย่างใด หากการขอจดทะเบียนการค้าเมล็ดกาแฟของตนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดยจะขอเพียงให้บริษัทผู้นำเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปียไปจำหน่าย ระบุชื่อเมล็ด กาแฟของเอธิโอเปียให้เห็นเด่นชัดบนบรรจุภัณฑ์ก็เพียงพอแล้ว เพื่อจะได้เป็นการช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของเมล็ดกาแฟเอธิโอเปีย เอธิโอเปียหวังเพียงว่า การทำเช่นนั้นจะช่วยทำให้เกิดความต้องการบริโภคกาแฟจากเอธิโอเปียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ราคา กาแฟของเอธิโอเปียสูงขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความพยายามครั้งนี้ล้มเหลว เอธิโอเปียก็จะดิ้นรนทางอื่นๆ ต่อไปอย่างเช่นการรับประกันราคาขั้นต่ำ
สำหรับ Starbucks ปัญหานี้อาจกลายเป็นฝันร้ายในด้านการประชาสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ของบริษัทได้ หากบริษัทซึ่งมีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 7.8 พัน ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 22 จะต้องขัดแย้งกับหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอย่างเอธิโอเปีย ซึ่งคงจะทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูนักเป็นแน่ ในสายตาของผู้บริโภค Starbucks ใช้เมล็ดกาแฟที่มาจากเอธิโอเปีย ประมาณร้อยละ 2 ของเมล็ดกาแฟทั้งหมด ที่ Starbucks ใช้ ส่วนเอธิโอเปียก็ขายเมล็ดกาแฟประมาณร้อยละ 2 ที่ตนผลิตได้ให้แก่ Starbucks นอกจากนี้ Starbucks ยังได้ลงทุนไป 2.4 ล้านดอลลาร์ในเอธิโอเปีย นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
สหประชาชาติจัดอันดับให้เอธิโอเปียอยู่ในอันดับที่ 170 จาก 177 ประเทศ ในด้านการพัฒนามนุษย์ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ในหมู่บ้าน Fero ของเอธิโอเปียยังคงไม่มีรองเท้าใส่ สวมเสื้อผ้าเก่าขาด อาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างจากโคลนและหลังคามุงจาก และยังชีพด้วยผักผลไม้ที่ปลูกเอง
ในปีนี้ สหกรณ์ที่จัดการเรื่องการขายผลิตผลเมล็ดกาแฟของเกษตรกรในหมู่บ้าน Fero สามารถรวบรวมผลิตผลได้ 3 แสนปอนด์ หากขายได้ในราคาเท่ากับปีที่แล้ว เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ ทั้งหมด 2,432 คน ก็จะมีรายได้สุทธิคนละประมาณ 120 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น สำหรับนำไปใช้เลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขา
สำหรับเอธิโอเปีย ความพยายามจะจดทะเบียนเครื่องหมาย การค้าเมล็ดกาแฟ เป็นความก้าวหน้าไปจากโครงการที่เรียกว่า การค้าที่เป็นธรรม ซึ่งบริษัทผู้ที่นำเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปียไปจำหน่าย อย่างเช่น Starbucks เต็มใจที่จะกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีราคากาแฟในตลาดโภคภัณฑ์ตกต่ำ และทำให้เกษตรกรเอธิโอเปียมีรายได้เพิ่มขึ้น โดย Starbucks เป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุดในอเมริกาเหนือ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ทำให้เกษตรกรใน Fero มีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม โครงการการค้าเป็นธรรมนี้ ก็จัดเป็นเพียงโครงการความช่วยเหลืออย่างหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ซื้อ แต่เครื่องหมายการค้านั้นเป็นคนละเรื่อง จากการคำนวณขององค์กร เอกชน Oxfam เครื่องหมายการค้าจะดันราคาเมล็ดกาแฟชั้นดีของเอธิโอเปีย ให้สูงขึ้นอีก 80 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะทำให้เอธิโอเปียได้รับรายได้ 88 ล้านดอลลาร์ต่อปี ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ Oromia ในเอธิโอเปียกล่าวว่า พวกเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องการให้เมล็ดกาแฟของพวกเขาขายได้ราคาดี
เอธิโอเปียประสบความสำเร็จในการขอจดทะเบียนแหล่งปลูก กาแฟทั้งสามในแคนาดา และประสบความสำเร็จในการขอจดทะเบียน แหล่งปลูกกาแฟสองในสามแหล่งดังกล่าวในยุโรปและญี่ปุ่น แต่ในสหรัฐฯ การจะนำชื่อทางภูมิศาสตร์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย การค้า แทนที่จะขอใช้ระบบรับรองแหล่งทางภูมิศาสตร์ กลับไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริโภคในอเมริกาจะโยงชื่อของผลิตภัณฑ์กับคุณภาพ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดทางกายภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ การนำชื่อทางภูมิศาสตร์มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ยังจะทำให้ ชื่อของแหล่งภูมิศาสตร์นั้นไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพียงพอ จนไม่สามารถจะโยงผลิตภัณฑ์กับเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เป็นชื่อแหล่งทางภูมิศาสตร์ได้
อย่างไรก็ตาม เอธิโอเปียสามารถจดเครื่องหมายการค้าแหล่งปลูกกาแฟ Yirgacheffe ได้สำเร็จไปแล้วหนึ่งแห่งในสหรัฐฯ แต่แหล่ง Sidamo กับ Harrar ยังคงมีอุปสรรค ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว Starbucks ได้ขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากาแฟคั่ว Shirkina Sun-Dried Sidamo ของตนไปแล้ว แต่สมาคมกาแฟแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีคณะกรรมาธิการซึ่งผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Starbucks นั่งเป็นประธานได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อสำนักเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ ระบุว่า ชื่อของแหล่งปลูกกาแฟในเอธิโอเปีย ถูกใช้เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกกาแฟ จึงไม่สมควรถูกขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและสำนักเครื่องหมายการค้าฯ ก็เห็นด้วยกับหนังสือประท้วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม Starbucks ปฏิเสธว่า ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องหนังสือประท้วงที่ว่า
ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว CEO ของ Starbucks คือ Jim Donald ได้พบกับนายกรัฐมนตรี Meles Zanawi แห่งเอธิโอเปีย แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องเครื่องหมายการค้าเมล็ดกาแฟเอธิโอเปีย
ขณะนี้เอธิโอเปียกำลังอุทธรณ์คำตัดสิน ของสำนักเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Starbucks ประกาศว่า จะเลิกคัดค้านความพยายามจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแหล่งปลูกกาแฟอีกสองแห่งของเอธิโอเปีย แต่ยังคงยืนยันว่า วิธีรับรองแหล่งทางภูมิศาสตร์เป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่าสำหรับการคุ้มครองเมล็ดกาแฟ และแหล่งปลูกกาแฟ Yirgacheffe ของเอธิโอเปีย ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสหรัฐฯ ไปแล้ว ก็ควรจะถูกยกเลิกด้วย
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบางรายในเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นประเทศที่การส่งออกกาแฟมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศ ได้แสดงความรู้สึกวิตก อย่างเช่นสหภาพสหกรณ์เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ Sidamo ซึ่งหวังว่าความขัดแย้งกับ Starbucks คงคลี่คลายลงด้วยดี
ความพยายามดิ้นรนของเอธิโอเปียในครั้งนี้กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของเอธิโอเปียยังมีกาแฟอีก 9 ชนิดที่ต้องการจะคุ้มครอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ก็กำลังรอดูว่าเอธิโอเปียจะทำสำเร็จหรือไม่ และรอจะเจริญรอยตามกรณีเมล็ดกาแฟเอธิโอเปียครั้งนี้จึงอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามดิ้นรนในทำนองนี้ ที่อาจจะมีตามมาอีกมากในอนาคต
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 5 มีนาคม 2550
|
|
|
|
|