เมื่อปลายปี 2538 ปัญญา ควรตระกูล ได้ตัดสินใจขายธุรกิจสนามกอล์ฟ "ปัญญา
รีสอร์ท" และ "ปัญญาฮิลล์" ที่เขารักมากให้กับ "ทศพงศ์
จารุทวี" แห่ง แนเชอรัลพาร์ค และประกาศหยุดทำธุรกิจสนามกอล์ฟ หันมาทำโครงการ
บ้านจัดสรรขายอีกครั้งหนึ่ง
นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่และถูกต้องของปัญญา ควรตระกูล ที่ได้ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ
ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจไทยกลางปี 2540 ที่รุนแรงได้เกิด ขึ้น แม้ว่าเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้เกิดจากแรงกดดันของภาวะขาดทุน
จากสนามกอล์ฟ
ปัญญาเริ่มทำธุรกิจซื้อขายที่ดินประมาณปี 2517 ซึ่งสร้างบ้านจัดสรรขายในนามโครงการ
หมู่บ้านปัญญาพัฒนาการ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเศรษฐี โดยมีจุดขายที่ความมั่นคงปลอดภัยเยี่ยมตามแบบฟิลิปปินส์
ต่อมาเขาได้ตั้งบริษัท บริพัชรที่ดิน (บริพัชรเป็นชื่อลูกชายคนโต) ด้วยทุน
30 ล้านบาท เพื่อทำคอนโดมิเนียม "ราชเทวีทาวเวอร์" และห้างสรรพสินค้า
ไทยไดมารูที่พระโขนง
แรงบันดาลใจจากกีฬากอล์ฟที่ปัญญารัก ทำให้เขาได้สร้างสนาม กอล์ฟ แห่งแรกขึ้นในปี
2530 คือ"ปัญญารีสอร์ท"ที่อำเภอบางพระ ชลบุรี เนื้อที่ 2,150 ไร่
ประกอบด้วยสนามกอล์ฟ ขนาด 27 หลุมและรายรอบด้วยอาคาร ชุดและคันทรีคลับที่สมบูรณ์แบบ
ขณะนั้นถือว่าสนามกอล์ฟของปัญญา เป็นสนามใหม่ที่ได้เปรียบสนามบางพระและสนามภูตาหลวง
ขณะนั้นปัญญารีสอร์ทดึงดูดและเป็นที่นิยมมากของนักเล่นกอล์ฟที่ยอม ควักกระเป๋าจ่ายค่าสมาชิกสูงถึง
600,000-700,000 บาท และยังสร้างชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับให้กับโครงการสนามกอล์ฟใหม่ๆ
ของปัญญา กรุ๊ป ที่เกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยในปี 2532 ได้มีการจัดตั้ง
"บริษัท ปัญญา กอล์ฟ" ด้วยทุน 500 ล้านบาทเพื่อสร้างสนามกอล์ฟปัญญารามอินทรา
ใกล้สวนสัตว์เปิดซาฟารีเวิลด์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอีกในภาวะที่นักธุรกิจรุ่นใหม่บ้าคลั่งกอล์ฟในยุค
เศรษฐกิจไทยบูมมากในปี 2535
ยิ่งปัญญามีความสุขในธุรกิจนี้มากขึ้น เขายิ่งขยายการสร้างสนามกอล์ฟ แห่งที่
3 คือ "ปัญญา ฮิลล์" ขนาด 18 หลุมบนเนื้อที่ 490 ไร่ตั้งอยู่ใกล้
ปัญญารีสอร์ทที่บางพระ จ.ชลบุรี และสนามกอล์ฟแห่งที่ 4 คือ "ปัญญา ปาร์ค
"มีขนาดใหญ่ 27 หลุม เนื้อที่ 1,700 ไร่ ย่านสุวินทวงศ์ เปิดบริการใน
ปี 2536 ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันของสนามกอลฟ์อีก 70 แห่ง
ชื่อของปัญญา ควรตระกูล ถูกสร้างภาพเป็น "เจ้าพ่อสนามกอล์ฟ" ที่มีโครงการสนามกอล์ฟถึง
4 แห่ง จำนวน 99 หลุม เขากลายเป็นมหาเศรษฐีผู้นำทางธุรกิจสนามกอล์ฟและตั้งใจจะเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟให้ได้ถึง
9 แห่งด้วย โดยกว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ในเขตเมืองพัทยา ระยอง ฯลฯ
แต่แล้วในปี 2536 สนามกอล์ฟกลายเป็นสินค้าบริการที่ over supply จากที่เคยมีแค่
30 สนาม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 70 กว่าสนามและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มอยู่ในภาวะขาลง ทำให้เกิดการตัดราคาค่าสมาชิกสนามกอล์ฟขึ้น
สนามกอล์ฟของปัญญากรุ๊ปเริ่มเสื่อมความนิยม โดยมีสนามใหม่ให้ลอง กันอยู่เรื่อยทำให้เกิดผลกระทบต่อการหาสมาชิกใหม่
และราคาสมาชิกที่เคยตกประมาณ 600,000 บาท ก็ลดเหลือครึ่งหนึ่งเพียง 300,000-400,000
บาท ขณะที่ปัญญาปาร์คเหลือ 250,000 บาท และปัญญาฮิลล์เหลือเพียง 80,000-100,000
บาทเท่านั้น
ความจริงที่เห็นนี้ทำให้ปัญญาต้องหยุดโครงการสนามกอล์ฟแห่งใหม่ไว้ แล้วกลับสู่ธุรกิจดั้งเดิมคือ
ธุรกิจบ้านจัดสรร เขาได้สร้างโครงการ "ปัญญา เลคโฮม "ในปี 2538
บนเนื้อที่ 500 กว่าไร่ เน้นผู้มีรายได้ปานกลาง และโครงการบ้านราคาแพงในชื่อ"ปัญญาแนเชอรัลพาร์ค"
สำหรับกลุ่มเศรษฐีที่มีเงินซื้อบ้านหลังละ 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกันสถานการณ์ขาดทุนในธุรกิจสนามกอล์ฟ ทำให้ปัญญาตัดสินใจขายสนามกอล์ฟปัญญา
รีสอร์ท และปัญญาฮิลล์ให้กับทศพงศ์ จารุทวี ซึ่งแลกกับทศพงศ์ได้ขายหุ้นในบริษัทสันติสิน
ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ผืนใหญ่ประมาณพันไร่ติดกับโครงการปัญญา รามอินทรา
โดยทศพงศ์ขายให้ 3.5 ล้านหุ้นหรือ 50% คิดเป็น 350 ล้านบาท และร่วมลงทุนในปัญญาโฮลดิ้งฝ่ายละ
50% เพื่อร่วมกันทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนาม"บริษัทปัญญา แนเชอรัลพาร์ค"เป็นข้อตกลงที่คนนอกวงการคาดไม่ถึง
ทศพงศ์ จารุทวี เป็นนักธุรกิจที่ไม่เล่นกอล์ฟ แต่จับธุรกิจซื้อขายที่ดินย่านฝั่งธนฯ
จบปริญญาตรีวิศวกรรม จุฬา อายุขณะนี้ก็ประมาณ 47 ปี เคยเป็นนักกิจกรรมสมัย
14 ตุลา ต่อมาทำธุรกิจตัวเองในนามบริษัท แนเชอรัลพาร์ค ซึ่งจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย
เป็นเจ้าของโครงการ Luxuary อพาร์ทเมนท์ โรงพยาบาลฟันที่สุขุมวิท 49 โรงแรมเดอะโมนาร์คลีการ์เด้นส์
ที่สีลมคอนโดมิเนียมเดอะแนเชอรัล เพลสสวีท บนถนนพหลโยธิน และโครงการ เดอะแนเชอรัลโฮมรังสิต
ปี 2538 เป็นปีที่ทศพงศ์สวนกระแสความซบเซาของธุรกิจสนามกอล์ฟโดยนำบริษัทแนเชอรัล
พาร์คเข้าซื้อสนามกอล์ฟดังๆ 4 แห่ง ในทำเลกรุงเทพ ซึ่งเขามองว่าที่ดินผืนใหญ่ในกรุงเทพฯ
จะหายากในอนาคต และค่าสมาชิกสนามกอล์ฟจะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2538 แนเชอรัลพาร์คของทศพงศ์ จึงซื้อสนามกอล์ฟวินสันจาก
อุกฤษณ์ มงคลนาวิน และสันติ ภิรมย์ภักดี มูลค่า 2,619 ล้านบาท ต่อมาเดือนกันยายน
ซื้อสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทที่ชลบุรีและปัญญาฮิลล์ เนื้อที่ 421 ไร่ที่มีนบุรีด้วยมูลค่าทรัพย์สิน
5,279 ล้านบาท โดยบริษัทแนเชอรัลพาร์คซื้อบริษัท เอ็มแอนด์ซี พร็อพเพอร์ตี้
เซอร์วิส ซึ่งเพิ่งตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม แต่ครอบครองสินทรัพย์ของปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์ทั้งหมด
แค่การเข้าซื้อทรัพย์สินของปัญญา ควรตระกูล ก็ทำให้สินทรัพย์รวมของแนเชอรัลพาร์คของทศพงศ์เพิ่มเป็น
20,000 ล้านบาททันที
ตามแผนดำเนินธุรกิจเดิมของทศพงศ์คือ เพิ่มทุนบริษัทแนเชอรัลพาร์คอีก 2,500
ล้านบาทจากเดิม 1,360 ล้านบาท โดยเงินเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาทใช้เป็นทุนหมุนเวียน
และอีก 1,500 ล้านลงทุนในบริษัท เอ็มแอนด์ซี พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งมีโครงการสร้างมหาวิทยาลัยนานาชาติ
ซึ่งเป็นความคิดของอนันต์ อนันตกูล ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารสนามกอล์ฟปัญญา
รีสอร์ทแทนปัญญา โดยทศพงศ์จะทำบ้านจัดสรรพร้อมที่ดินรอบๆ สนามกอล์ฟไปสร้างมหาวิทยาลัย
แผนนี้ใช้เวลา 8 ปี แต่โชคร้ายที่วิกฤตเศรษฐกิจกลางปี 2540 ได้ดับหวัง ทศพงศ์
และบริษัท แนเชอรัลพาร์คต้องกลายเป็นหนี้ NPL และอยู่ในแผนฟื้นฟู และปรับโครงสร้างหนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ปัจจุบันปัญญา ควรตระกูล ถูกมองว่าโชคดีที่สามารถฝ่ามรสุม เศรษฐกิจได้อย่างมีวิสัยทัศน์
แม้ว่าขณะนี้สุขภาพของเขาจะไม่แข็งแรงมาก นักก็ตาม
หมายเหตุ จากเรื่อง "ฝ่ามรสุม ปัญญา ควรตระกูล" โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 147 เดือนธันวาคม 2538