Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
บทความจาก อ่านวิกฤตเพื่อโอกาสใหม่. หนังสือเล่มโครงการ Manager Classic ตุลาคม 2544
เราควรจะมีคนอย่าง "สามสุ"มากๆ             
 


   
search resources

สุระ จันทร์ศรีชวาลา
สุธี นพคุณ
สุพจน์ เดชสกุลธร




ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ใครพูดถึง สุธี นพคุณ สุระ จันทร์ศรีชวาลา และ สุพจน์ เดชสกุลธร อาจจะไม่มีใครสนใจเลยก็ได้เพราะสุแรกกับสุหลัง กลายเป็นอดีตที่จบไปแล้ว ขณะที่สุคนกลางขณะนี้เป็นนักธุรกิจแก่ๆคนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างตำนานนักเทคโอเวอร์ตัวยง

แต่ถ้าหยุดคิดสักนิดและมองอีกแง่มุมหนึ่งว่า ในอดีตทั้งสามสุเป็นตัวแทนคนหนุ่ม ที่ไม่มีชาติตระกูลเก่าแก่และอยู่นอกวงการที่มีฝีมือ แบบ "ข้ามาคนเดียว"ที่ต่อสู้กระโดดขึ้นเวทีธุรกิจ ร่วมวงสังคมธุรกิจกับผู้ดีเก่าและทายาทตระกูลเศรษฐีใหญ่ได้ ต้องนับว่าสามสุนี้ไม่ธรรมดา

ทั้งสามสุต่างอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน และมีคุณสมบัติของผู้ประกอบการ (ENTREPRENEUR) โดยมีบุคลิกลักษณะเด่นคือ

' หนึ่ง-ความทะเยอทะยาน

ถ้าปราศจากแรงบันดาลใจนี้ สุธี นพคุณ อาจจะมาทำงาน 9 โมงเช้าที่ ธนาคารกรุงเทพ พอ 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน สิ้นเดือนรับเงินเดือน สิ้นปีรับโบนัส

ส่วนสุพจน์ก็คงจะขยายปั้มน้ำมันไปเรื่อยๆ หลังจากปากกัดตีนถีบจากเด็กเข็นผัก ขึ้นมาสู่กิจการใหญ่มั่นคงคือปั้มน้ำมันมิตรรำลึกพระประแดงได้ในที่สุด

ขณะที่พ่อค้าแขกขายผ้าอย่างสุระที่นิยมสะสมซื้อที่ดิน ก็จะกลายเป็นเพียงนัก พัฒนาที่ดินหลังจากประสบความสำเร็จกับการจัดสรรที่ดินร่วมกับสุขุม นวพันธุ์เป็นครั้งแรกในบริษัทนวจันทร์

แต่ทั้งสามสุหาได้พอใจเพียงแค่นี้ไม่ พวกเขาใฝ่ฝันที่จะมีวิถีของผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรตัวเอง

ความทะเยอทะยานของสุธี นพคุณ คือการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมหลายๆแห่ง ดังนั้นเมื่อแยกทางกับพร สิทธิอำนวย สิ่งแรกที่สุธีเรียกร้องคือโรงแรมรามาทาว์เวอร์ และจากนั้นเขาก็ขยายสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นท์ และขยายเชนบริหารโรงแรมในต่างจังหวัด ที่พัทยา หาดใหญ่และสงขลา

ส่วนสุระต้องการเป็น tycoon คนแรกชาวอินเดียในไทยที่ได้การยอมรับและสายสัมพันธ์ (connection) จากวงสังคมผู้ดีเก่าและทายาทตระกูลใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินทำเลงาม หลัง จากประสบความสำเร็จในฐานะนักค้าที่ดิน ชาวภารตะแล้ว

กรณีของสุพจน์ เดชสกุลธร ที่มีปมด้อยกว่าทั้งสองมากทั้งการศึกษาและภูมิหลังชีวิต ยิ่งอยากทะยานบินสูงระดับมังกรเทียบชั้นนายแบงก์อย่าง ล่ำซำและโสภณพนิช โดยทำฝันให้เป็นจริงด้วยเงินประชาชนที่ระดมเข้ามาอยู่ในสถาบันการเงินตนเอง

' สอง-สายสัมพันธ์ (Connection)

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเรื่องของconnection เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ทำให้ธุรกิจชนะคู่แข่งได้สำเร็จ เช่น สว่าง เลาหทัย แห่งกรุงศรีฯ ที่มีมิตรคู่บ้านอย่างชาตรี โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ หรือเถลิง เหล่าจินดาที่ได้สายทางทหารจากการทำงานร่วมกับสหัท มหาคุณ

พร สิทธิอำนวย เจ้าของอาณาจักรพีเอสเอ เคยกล่าวว่า "การทำงานให้กับคุณบุญชู ถึงสิบกว่าปีนั้น คือการสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นโดยใช้บารมีของผู้ใหญ่เพื่องานในอนาคต"

สายสัมพันธ์จึงเป็นสะพานที่เชื่อมฝั่งน้ำสองฟากเพื่อให้ผู้ประกอบการเดิน จากฝั่งตัวเองไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้สำเร็จ
เพียงแต่สามสุนั้นมีสายสัมพันธ์ลักษณะทางอ้อม เช่นสุระ จันทร์ศรีชวาลา ที่ต้องพึ่งบารมีของ สุขุม นวพันธุ์ แห่งแบงก์ทหารไทย เมื่อสุขุมหมดอำนาจ สุระก็เริ่มจับ ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ แห่งแบงก์แหลมทอง พอสิ้นภิวัฒน์ สุระก็เข้าหาสุธีโดยหวังจะต่อสายถึงบุญชู โรจนเสถียร แต่ไม่นานนักสุระก็ได้พบตามใจ ขำภโตแห่งแบงก์กรุงไทย และกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งในที่สุด

' สาม-เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ (Innovator)

บุคคลตัวอย่างของสามสุในแง่ INNOVATOR คนแรก คือ พร สิทธิอำนวยได้ริเริ่มนำคอนเซปต์ธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ฐานเงินประชาชนโดยตัวเองยังคุมอำนาจ บริหาร แล้วนำไปขยายธุรกิจต่างๆ เช่น บุกเบิกธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในนามบริษัทสยามเครดิต และรู้จักระดมเงินมหาชนโดยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯถึง 3 บริษัท คือ บริษัทรามาทาวเวอร์ บริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ และบริษัทสยามเครดิต

การที่สุธีทำงานกับพรมาตลอด ทำให้เขาเจริญรอยตามพร และสุพจน์กับสุระก็เจริญรอยตามสุธีเช่นกัน โดยมีฐานการเงินเป็นบริษัทไฟแนนซ์และบริษัทประกันชีวิต จากนั้นก็ขยายธุรกิจไปอีกสองประเภทคือ หนึ่ง-ธุรกิจพัฒนาที่ดิน เช่นบ้านจัดสรร และสอง-ธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยวและธุรกิจอาหาร

ทั้งสามสุจึงเป็นตัวแทนของคนหนุ่มที่ไร้สกุลรุนชาติแต่มีฝีมือจัดจ้านที่จะเข้ามาอยู่แก่นกลางของอำนาจคุมธุรกิจได้ แต่ความล้มเหลวและผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นด้วยหลักใหญ่ๆหลายประการคือ

' หนึ่ง-รู้ซึ้งไม่ถึงแก่นธุรกิจที่ตนเองทำ การรู้จักแต่หมุนเงินอย่างเดียว จนไม่มีเวลาควบคุมดูแลธุรกิจหลัก ทำให้สุธี นพคุณต้องพลาดเพราะธุรกิจที่ขยายออกไปเช่น โรงแรม หรือรามาข้าวแกง ตลอดจนบริษัทประกันชีวิต สุธีไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับสุพจน์ที่รับฝากให้ดอกเบี้ย 18% แต่ปล่อยกู้ให้คนรู้จัก 16% ส่วนสุระก็เป็นนักเก็งกำไรซึ่งมีปัญหาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

' สอง-ใจร้อนอยากให้คนยอมรับเร็วเกินไป ทั้งสามเพิ่งเข้าวงการได้เพียง 5-6 ปี แต่ฝันไปไกล-ไปไม่ถึง เพราะขาดความอดกลั้นและการรอคอย

เมื่อรามาทาวเวอร์เป็นบริษัทมหาชนที่กำไรมากและไม่มีหนี้สิน ถ้าสุธีอดทนและขายทุกสิ่งทิ้งไปเหลือแต่รามาทาวเวอร์ วันนี้สุธี นพคุณจะมีความสุขบนกองเงินกองทอง เพราะโครงการคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยที่สุดบนถนนสีลมขณะนั้น อันประกอบด้วย โรงแรมรามาฯ ชอปปิ้งเซนเตอร์ และคอนโดมิเนียมสำนักงานจะทำกำไรงามๆ แก่กลุ่มรามาทาวเวอร์

ขณะที่เยาวราชไฟแนนซ์ของสุพจน์ทำกำไรทันทีกับผู้ถือหุ้นในปีที่สอง และเป็นที่น่าเชื่อถือของพ่อค้าชาวจีน การขยายธุรกิจไฟแนนซ์โดยขอเพิ่มทุน ก็ไม่มีปัญหา แต่สุพจน์กลับเอาเงินไปขยายทำธุรกิจที่ตนไม่รู้ซึ้งจึงต้องจบลงที่คุก

ส่วนสุระที่นิยมสะสมที่ดินเป็นทุน ฐานธุรกิจหลักที่มิดแลนด์ไฟแนนซ์และไทยประสิทธิประกันภัยจึงเป็นสิ่งที่สุระจับไว้ให้มั่น

' สาม-ชอบทำตัวให้เด่นจนเป็นภัย จากการที่ทั้งสามเป็นคนนอกวงการที่เข้าสั่นคลอนสถานะภาพเดิมของคนยุคเก่า ทำให้เป็นที่หวาดระแวงและจ้องทำลาย และยิ่งทั้งสามตกเป็นข่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่สุธีไปผูกกับบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรี ทำให้คนมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจการเมือง หรือสุพจน์ในยุคเฟื่องฟูไม่เห็นความสำคัญของคนอื่นและก้าวร้าว ทำให้สร้างศัตรูง่าย ส่วนสุระที่มีฉายาจอมเทคโอเวอร์และตกเป็นข่าวในแง่ลบบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคกลัวแขกระบาดและเกิดการต่อต้านจากกลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

' สี่-ขาดคุณธรรมกำกับวิธีการดำรงชีวิต ดร.อำนวย วีรวรรณเคยเขียน บัญญัติ 7 ประการแห่งความสำเร็จไว้ว่า "ผมใคร่ขอย้ำว่า อย่าพึงสร้างความสำเร็จด้วยทางลัดเพราะยากที่จะเป็นไปได้ หรือถึงเป็นไปได้ก็ไม่จีรังยั่งยืน ขอให้ทุกคนจำไว้ว่า หนทางสู่ความสำเร็จที่ถาวรนั้นยาวไกลและไม่มีทางลัดใดๆด้วย"

ปัญหาเรื่องคุณธรรมของทั้งสามสุถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ เงินหายไปไหนหลังวิกฤตพัฒนาเงินทุนล้ม? หรือการปั่นราคาขายที่ดินโรงแรมรามาการ์เดนท์ ? การเสียเงินพนันหลายสิบล้านของสุพจน์?

นี่คือสัจจธรรมที่ยั่งยืนทุกยุคสมัย โดยผู้ประกอบการคนหนุ่มสาวที่ก้าวเข้ามาแบบไม่มีสายสัมพันธ์และทุนสะสมของตระกูลเก่าแก่ แต่มีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ มีฝีมือ มีความสามารถและความมานะพยายามจนประสบความสำเร็จแบบที่สุธี-สุพจน์-สุระได้เคยทำมาแล้ว แต่ธุรกิจต้องประสบหายนะเพราะสะดุดขาตัวเอง จึงเป็นกรณีธุรกิจที่จบลงอย่างเจ็บปวดและขมขื่นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถึงกระนั้นประเทศไทยก็ควรจะมีคนอย่าง"สามส"นี้ให้มากๆ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ SME ที่เรียนรู้จากคนยุคเก่าได้ โดยไม่ต้องผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีกต่อไป

หมายเหตุ จากเรื่อง"เราควรจะมีคนอย่าง"สามสุ"นี้มากๆ"ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 10 เดือนมิถุนายน 2527

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us