บริษัทรามาทาวเวอร์ถือว่าเป็นตัวอย่างปัญหาความล้มเหลวของบริษัทมหาชนรุ่นใหม่บริษัทแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลังจากเข้า จดทะเบียนในปี 2518 เพียง 3 ปีตั้งแต่ปี 2521-2523 หุ้นรามา(RAMA)
ถือว่าเป็นหุ้นโดดเด่นที่ปันผลกำไรได้ถึงหุ้นละ 5 บาท แต่ต่อมาปี 2524-2525
รามาทาวเวอร์ ประสบปัญหาล้มละลาย ต้องขายทรัพย์สินคือ โรงแรมรามา บนถนน สีลม
ให้กับ สุระ จันทร์ศรีชวาลา และขายตึกดำ"อินเตอร์ไลฟ์"ให้กับสุพจน์
เดชสกุลธร เพื่อชดใช้หนี้
ในปี 2526 การสิ้นสุดอาณาจักรตึกดำของ สุธี นพคุณ เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับจอร์จ
ตัน ประธานกรรมการของบริษัทแคร์เรียนในฮ่องกงซึ่งถูกข้อหาตกแต่งบัญชี แต่ปัญหาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
(บงล.)พัฒนาเงินทุน คือ ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยไม่รู้ว่าเงินกว่า 1,400
ล้าน ซึ่งประกอบด้วย เงินจากธนาคาร เจ้าหนี้ 220 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน
47แห่งอีก 540 ล้านบาท และเงินฝากประชาชนอีก 680 ล้านบาทหายไปไหน?
ปรากฏว่าเงินทั้งก้อนถูกปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือเกือบ 1,000 ล้านบาท!!
การบริหารงานที่ผิดพลาดของสุธีและหลงเชื่อคำผู้ใหญ่บางคนเกินไป ทำให้ธุรกิจตึกดำล้มละลาย
หลังจากที่สะสมปัญหาไว้สองปีก่อนวิกฤต
ประวัติเดิมพัฒนาเงินทุนเป็นบริษัทเงินทุนเฟเบอร์เมอร์ลิน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มจางหมิงเทียน
เจ้าของInternational Trust & Finance(หรือบริษัท ITF) ที่ร่วมกับกลุ่ม
Haw Par ซึ่งมีจิม เรเปอร์ ลูกน้องจิม สเลเตอร์ อาชญากรเศรษฐกิจที่ถูกจำคุกในสิงคโปร์ร่วมด้วย
เมื่อจางหมิงเทียนขายทิ้งพัฒนาเงินทุน ธุรกิจได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือของพร
สิทธิอำนวยและสุธี นพคุณ ทำให้บริษัทในเครือพีเอสเอมีฐานเงินทุนอยู่ 2 แห่งคือที่
บริษัทเครดิตการพาณิชย์ (CCC) ซึ่งเบิกใช้ในอำนาจของพร ส่วนที่พัฒนาเงินทุน
(EDP)เบิกภายใต้อำนาจอนุมัติของสุธี
สุธีได้ใช้บริษัทพัฒนาเงินทุนเป็นฐานการเงินตั้งแต่ธันวาคมปี2523 เพราะสุธีตั้งบริษัทใหม่หลายแห่ง
ที่ขยายเพิ่มจากกิจการโรงแรมรามาทาวเวอร์ เช่น บริษัททรัพยากรรามา บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารรามา
บริษัทรามาทรานสปอร์ต บริษัทนานาวิศวกรรมที่รับเหมาสร้างโรงแรม บริษัทรามาโอคอนเนอร์ที่เดิมตั้งร่วมกับบริษัทก่อสร้างต่างประเทศ
บริษัทเอสเอ็น อินเตอร์ เทรด(เอสเอ็นคือ Suti Nopakun) โดยการผ่านเงินกู้กับ
3-4 บริษัท เช่นบริษัท เซ็นจูเรียน บริษัทไว้ส์เค้านท์อินเตอร์เนชั่นแนลและบริษัท
เอสเอ็นอินเตอร์เทรดด้วย
เงินของรามาทาวเวอร์ถูกนำไปใช้ในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินถึง 600 กว่าล้านบาท
ซึ่งเป็นเงินก้อนที่พัฒนาเงินทุนต้องรองรับเมื่อแยกกิจการออกจากกลุ่มรามาฯในปี
2525
สองปีก่อนล้มละลาย กลุ่มรามาฯต้องประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก เพราะบริษัทใหม่ในเครือไม่มีกำไร
"จิม สเต้นท์"ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินคนใหม่ที่แทนสุชาดา อิทธิจารุกุล
ได้ขายบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของรามาฯออกไป ซึ่งหมายถึงว่าสุธีโอนหนี้ไปให้รามาทาวเวอร์
ส่วนสินทรัพย์ไปอยู่กับบริษัทใหม่ที่สุธีตั้งขึ้นมารองรับ เพื่อดำเนินธุรกิจเอาเงินไปใช้คืนเงินให้รามาฯ
และนี่คือที่มาของปัญหาพัฒนาเงินทุน
ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2526 หายนะได้คืบคลานสู่ตึกดำ โดยเหตุของการบริหารงานผิดพลาดของพัฒนาเงินทุนที่ปล่อยกู้ธุรกิจในเครือสุธี
เกิดการโจมตีซึ่งกันและกันในใบปลิว และเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอนงค์
สุนทรเกียรติที่เก่งหาเงินฝากแต่ปิดตัวเองยามวิกฤต กับมืออาชีพอย่างสุรินทร์
เจริญชนาพร อดีตผู้จัดการสมาคมเงินทุนที่ทำงานได้เพียง 3 เดือน ก่อนวิกฤตตึกดำเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม
2526
ธุรกิจในเครือของสุธีที่เป็นหัวใจหลักถูกบังคับขายใช้หนี้ เช่น โรงแรมรามาทาวเวอร์ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับสุระ
จันทร์ศรีชวาลาซึ่งเมื่อต้นปี 2525 เคยให้สุธีกู้แก้วิกฤตสภาพคล่อง100 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทอินเตอร์ไลฟ์ตกเป็นของสุพจน์ เดชสกุลธร
ส่วนผู้บริหารระดับสูงที่ตึกดำอย่างวัฒนา ลัมพะสาระและจิตตเกษม แสงสิงแก้ว
ซึ่งเคยมีบทบาทกู้เงินออฟเชอร์ 10 ล้านเหรียญโดยมีสินเอเซียค้ำประกัน ก็ลาออกไปทำงานธนาคารนครหลวงไทย
ซึ่งมีบุญชู โรจนเสถียรเป็นประธานกรรมการธนาคารฯ
สุธีสูญสิ้นความน่าเชื่อถือ ตึกดำเหลือเพียงแต่บงล.พัฒนาเงินทุนที่ขาดสภาพคล่องรุนแรง
จนล้มละลายในเดือนตุลาคม และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บ้านและที่ดินไทยซึ่งต่อมาถูกแบงก์ชาตินำไปควบรวมกับเจริญกรุงไฟแนนซ์
และสินเพิ่มสุขแล้วเปลี่ยนฐานะเป็น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บ้านและที่ดินไทยในที่สุด
โศกนาฏกรรมที่ตึกดำวันที่ 18 ตุลาคม 2526 จึงจบลงด้วยน้ำตาของสุธี นพคุณกับหนี้สินมูลค่า
2,000 ล้านบาท คือรามาทาวเวอร์พังไป 600 ล้าน พัฒนาเงินทุนอีก 1,400 ล้าน
นับว่า เป็นน้ำตาราคาแพงที่สุดในโลก!!
บทสรุป 6 ข้อผิดพลาดในการบริหารรามาทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม โรงแรมที่ต้องพึ่งรายได้จากตลาดต่างประเทศประกอบด้วย
' หนึ่ง-การเลิกสัญญาบริหารกับเครือไฮแอท
เครือไฮแอทมีสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมรามาตั้งแต่ปี 2515 ต่อจาก เครือฮิลตัน
ในการบริหารช่วงต้นเครือไฮแอทได้เปรียบมากเกินไป จนกระทั่งปี 2519-20 กลุ่มพีเอสเอ
โดย พร สิทธิอำนวยและอึ้ง วาย ชอย ผู้ช่วยพร ได้ขอแก้ไขสัญญาจนเป็นธรรมกับเจ้าของโรงแรม
เมื่อกลุ่มพีเอสเอเกิดแตกแยกกันในปี 2522 สุธี นพคุณ ในฐานะเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัทรามาทาวเวอร์
ไม่ขอต่อสัญญากับเครือไฮแอทต่อไป เพราะครบ10 ปีของสัญญาว่าจ้างในปี 2524
เหตุผลที่สุธีอ้างเหตุยุติความสัมพันธ์กับไฮแอทครั้งนั้น เพราะว่าเครือ
ไฮแอทเสนอให้ใช้งบปรับปรุงโฉมใหม่โรงแรมระดับสี่ดาวถึง 70 ล้านบาท แต่สุธีเห็นว่ามากเกินควร
และเสนอให้เครือโรงแรมรามาดาเข้าบริหารแทน โดยใช้เงิน 30 กว่าล้านปรับปรุง
การจากไปของเครือไฮแอทสร้างความสูญเสียแก่รามาทาวเวอร์มาก เพราะถ้าเปรียบเทียบศักยภาพการตลาดของเครือไฮแอทกับเครือรามาดาแล้ว
ไฮแอท มีเครือข่ายโรงแรมระดับสี่ดาวที่แข็งแรงและกว้างไกลทั่วโลก ในขณะที่ตำแหน่งของเครือรามาดาเป็นเพียงแค่กลุ่มโรงเตี้ยม(INN)ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและมือใหม่กว่าในตลาดต่างประเทศ
ส่วนงบปรับปรุง70 ล้านนั้น ไฮแอทเป็นฝ่ายถูกต้อง เพราะเมื่อทบทวนจะพบว่า
สภาพโรงแรมที่เคยเป็นระดับสี่ดาวที่มีดุสิตธานีเป็นคู่แข่งบนถนนสีลม ได้ตกต่ำทรุดโทรมไปอยู่ระดับเดียวกับโรงแรมนารายณ์
ดังนั้นเมื่อกลุ่มสุระเข้ามาเทคโอเวอร์แล้ว ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 150 ล้านปรับปรุง
ใหม่อีกเพื่อให้แข่งขันในตลาดได้
' สอง-ไม่ได้หยุดคิดว่า ตัวเองทำธุรกิจอะไรอยู่อย่างแท้จริง?
สุธีได้ขยายการลงทุนครบวงจรในธุรกิจบริการของโรงแรม เช่นบริษัท บริการรถเช่า"เอวิส"
บริษัท"รามาลอนดรี้"บริการซักรีด และที่สำคัญได้ตั้งเครือข่ายบริษัท
"ข้าวแกงรามา" ซึ่งเคยเป็นแผนกอาหารไทยของโรงแรมรามาฯ ให้กลายเป็นธุรกิจร้านข้าวแกงติดแอร์
จนหนังสือพิมพ์แซวสุธีว่าเป็นถึงประธานบริษัทจดทะเบียน 800 กว่าล้านบาท แต่มาเสิร์ฟข้าวแกงจานละสิบกว่าบาท
นอกจากนี้สุธียังตั้งบริษัท "รามาโอคอนเนอร์" รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการก่อสร้างบริษัทในกลุ่มรามาฯ
รวมทั้งยังถือหุ้นในบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย อินเตอร์ไลฟ์ และถือหุ้นใหญ่ใน
บงล.พัฒนาเงินทุน และลงทุนในบริษัท ทัวร์รอแยลแอนด์คาร์โก้ด้วย
ขณะที่สินทรัพย์มี 969,407,000 บาท ซึ่งอัตราส่วนนี้ รามาทาวเวอร์สามารถทำคอมเพล็กซ์ได้ไม่ยากเย็นตั้งแต่ปี
2524 แต่กลับขยายไปสู่ธุรกิจอื่นมากมายจนยากแก่การควบคุม
' สาม-การใช้แหล่งเงินทุนที่ต้องพึ่งบารมีคนอื่น
ปลายปี 2525 เมื่อบุญชู โรจนเสถียรได้พ้นจากธนาคารกรุงเทพ แม้จะมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่
แต่สุดท้ายไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ที่สุธีจะหวังพึ่งขอความช่วยเหลือได้ขณะนั้น
ดังนั้นเมื่อรามาทาวเวอร์ต้องหาแบงก์มาค้ำประกันเงินกู้จากแบงก์ต่างประเทศชื่อ
"ดรอกเกอร์" ประมาณ 520 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าประมาณการที่ตั้งไว้เพียง
420 ล้าน เพื่อสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นท์ ริมถนนวิภาวดีรังสิต แทนที่จะได้แบงก์กรุงเทพเป็นผู้ค้ำประกัน
กลับกลายเป็นแบงก์กรุงไทย ซึ่งมี ตามใจ ขำภโตเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ขณะนั้น
ตามใจเคยเป็นรมว.คลังปี2518 ภายใต้การผลักดันของบุญชู โรจนเสถียรและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่ม"สามสุ"(สุธี-สุระ-สุพจน์)
แต่ในที่สุดเมื่อกลุ่มรามาทาวเวอร์ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปลายปี
2525 และ 2526 แบงก์กรุงเทพได้ตัดเยื่อใยกับกลุ่มอย่างสิ้นเชิง
สรุปได้ว่า ปัญหาการบริหารของกลุ่มรามาทาวเวอร์ในอดีตนั้น ไม่ได้พิจารณาโดยใช้ความสามารถและความเป็นไปได้ของโครงการเป็นหลัก
' สี่-บุคลากรไม่มีคุณภาพและการขาดความเข้าใจแท้จริงในลักษณะงาน
เมื่อรามาทาวเวอร์แตกไลน์ขยายธุรกิจไปนับสิบบริษัทในปี 2522 ไม่ได้ มีการวางแผนด้านบุคลากรไว้ล่วงหน้า
การจัดหาและซื้อตัวผู้บริหารในระยะนั้นเป็นไปอย่างรีบเร่ง
ผู้บริหารระดับกลางคนใหม่ขาดการฝึกอบรมและขาดความเข้าใจใน ลักษณะงานของตัวเองอย่างแท้จริง
แต่ได้รับผลตอบแทนสูงและมีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ มีการโยกย้ายสถานที่จากตึกเก่าที่โรงแรมรามา
ทาวเวอร์ มาอยู่ที่ตึกดำที่สง่าภูมิฐานแทน
บรรยากาศนี้ได้เอื้ออำนวยให้ผู้บริหารระดับกลาง เกิดวัฒนธรรม เหยียบกันตายเพื่อเลื่อนตำแหน่งอภิสิทธิชน
แทนที่จะสร้างให้มีการทำงานแข่งขันท้าทายและพอใจในงานที่ทำอยู่ จนได้รับรางวัลเป็นผลงานที่ทำสำเร็จ
น่าสังเกตว่าในปี 2522-24 ปริมาณการเข้า-ออกของผู้บริหารบางระดับมีความถี่มากเป็นพิเศษ
' ห้า-ความแตกแยกภายในของผู้บริหาร
ปัญหาใหญ่ของรามาทาวเวอร์ในช่วงปี 2525 ถึงปี 2526 คือความขัดแย้งรุนแรงมากระหว่าง
ผู้บริหารเครือบริษัทรามาทาวเวอร์กับผู้คุมถุงเงินอย่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
พัฒนาเงินทุน บริษัท อินเตอร์ไลฟ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บ้านและที่ดินไทย
ถึงกับแบ่งพวกตีกันเป็นก๊กเป็นฝ่าย จนเป็นที่รู้กันในหมู่พนักงานระดับล่างว่าใครไม่ถูกกับใคร
ต้นตอของปัญหาขัดแย้งนี้ เริ่มจากสุธีจงใจจะให้บริษัทรามาทาวเวอร์ถือหุ้นในสถาบันการเงิน
เช่น บริษัท อินเตอร์ไลฟ์ บงล.พัฒนาเงินทุนและบค.บ้านและที่ดินไทย เพื่อผันเงินฝากประชาชนมาปล่อยกู้ให้กับเครือบริษัทตัวเองอย่างไม่ผิดกฎหมาย
แต่ก่อให้เกิดความสลับซับซ้อนของปัญหาการ บริหารการเงินของกลุ่ม
นี่คือข้อผิดพลาดที่สุธีไม่เตรียมแผนเตรียมงบการลงทุนและหมุนเวียนไว้ให้พร้อมก่อนขยายธุรกิจใหม่แต่ละโครงการ
เพราะธุรกิจใหม่ต้องใช้เวลาและเงินหมุนเวียนมากพอ กว่าจะยืนได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งขณะนั้นปี 2524/25 เศรษฐกิจไทยตกต่ำมาก ทำให้บริษัทในกลุ่ม ส่วนใหญ่ขาดทุน
และถูกผู้บริหารฝ่ายคุมเงินเช่น อินเตอร์ไลฟ์และพัฒนาเงินทุนมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าเบิกเงินได้ยากเย็น จนทำให้ แผนปฏิบัติการล่าช้าเสียหายไม่ได้ผล
ปัญหานี้รุนแรงถึงขั้นเลื่อยเก้าอี้กัน กลายเป็นความแตกแยกที่รอเพียงมี
เข็มเข้ามาตอกลิ่มเพื่อให้หักเท่านั้นเอง
ความจริง ความขัดแย้งในการบริหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้สามารถมองเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น
แต่ความขัดแย้งไม่ใช่การแตกสามัคคีที่ทำลาย อาณาจักรได้
' หก-ความไม่ใส่ใจในความรู้รอบตัว
สิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่สุธีขาดไป คือวิสัยทัศน์ที่หยั่งรอบรู้
การเมือง สังคมวิทยา เศรษฐกิจโลก ตลอดจนประวัติศาสตร์บางช่วงนอกเหนือจากความรู้ในธุรกิจตัวเอง
ถ้าผู้บริหารรามาทาวเวอร์จะสนใจเรื่องราวพวกนี้ ก็น่าจะเห็นสัญญาน เตือนภัย
ตั้งแต่ปี 2522แล้วว่า ควรจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ตัวอย่างเช่น
ด้านโรงแรม ตั้งแต่ปี 2522 บีโอไอหรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติโรงแรมใหญ่
4 แห่ง ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ
วิธีการที่ควรจะทำคือปรับปรุงโรงแรมตัวเองให้ได้มาตรฐานระดับสี่ดาว เพื่อรับสถานการณ์แข่งขันในปี
2526
อีกประการหนึ่งที่ควรจะทำคือ ไม่ควรเลิกสัญญากับเครือไฮแอท แม้จะไม่ชอบหน้า
แต่อย่างน้อยศักยภาพทางการตลาดที่แข็งแกร่งของไฮแอทก็ช่วยธุรกิจโรงแรมได้มาก
นอกจากนี้ โครงการสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นท์ควรยุติลง เพราะมีแต่จะเสีย
เนื่องจากเสียเปรีย บคู่แข่งอย่างโรงแรมแอร์พอร์ตที่มีการบินไทยถือหุ้นอยู่
และกว่าจะคืนทุนที่ลงไปนับร้อยๆล้านก็กินเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้สินระยะยาว
ด้านการเงิน จะเห็นว่า กำไรของรามาทาวเวอร์ในช่วงปี 2521/22 ส่วนหนึ่งมาจากcapital
gain ที่ได้จากราคาหุ้นที่พุ่งสูงมาก ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการแท้จริงเพิ่งจะมีกำไรปรากฎ
ในปี 2523 ยิ่งถ้ามีการปรับปรุงโรงแรม ให้ดีจะยิ่งทำให้กำไรเพิ่มขึ้นจนคืนเงินกู้ยืมใน
3 ปีได้ ซึ่งเวลานั้น โรงแรมรามา จะได้เปรียบคู่แข่ง เพราะไม่มีภาระหนี้สิน
แต่ในปี 2523 แนวโน้มเศรษฐกิจฝืดและกำลังซื้อกับการลงทุนจะตกต่ำมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ
กำลังพุ่งพรวด อัตราส่วนการลงทุนเริ่มน้อยลง อุตสาหกรรมก่อสร้างใกล้พังพินาศเพราะเงินกู้
ภาครัฐบาลตัดค่าใช้จ่ายและรัดเข็มขัด แต่สุธียังคงขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
โดยไม่นึกถึงผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำนี้
ด้านการเมือง แม้ว่าบารมีทางการเงินและการเมืองของบุญชู โรจนเสถียร ได้เกื้อกูลอุปถัมภ์กลุ่มรามาทาวเวอร์ได้
แต่หลังจากบุญชูตกต่ำทางการเมือง ไม่ได้รับตำแหน่งอะไรในรัฐบาลเปรม 3 เพราะนโยบายผันเงินของบุญชูตรงข้ามกับนโยบายรัดเข็มขัดของสมหมาย
ฮุนตระกูล
ความแตกต่างของนโยบายทั้งสองนี้ น่าจะทำให้ผู้บริหารรามาทาวเวอร์ ได้คิดว่า
จะต้องมีแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยปี 2523/24 ที่ปรับ ตัวลงในทิศทางใด
ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่"ผู้จัดการ"ได้เสนอขณะนั้นว่าน่าจะเป็น
1.ไม่ควรเลิกสัญญากับไฮแอท ควรจะปรับปรุงโรงแรมตามที่ไฮแอทเสนอมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่ไฮแอทจะมอบให้
2.หยุดการขยายงานทุกประเภท จนกว่าโรงแรมจะปรับปรุงเสร็จ
3.ควรจะทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อพัฒนาที่ดินที่ว่างเปล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์
โดยถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ต้องจำกัดการลงทุน
4.ไม่ควรเอาบริษัท รามาทาวเวอร์ เข้าไปเกี่ยวพันกับบริษัทในเครือ เพื่อจะได้เห็นการแบ่งสายงานและความรับผิดชอบได้เด่นชัด
และไม่ก้าวก่ายหน้าที่กันและกัน
กรณีศึกษาของรามาทาวเวอร์ ถือว่าเป็นบริษัทมหาชนบริษัทแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่ประสบปัญหาใหญ่มาก จนทำให้"สุธี นพคุณ"ต้องสิ้นชื่อในวงการธุรกิจ
เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดในอดีต แต่จนถึงปัจจุบันคนแบบสุธีก็ยังมีอยู่
!!
หมายเหตุ จากเรื่อง"6 ข้อผิดพลาด ในการบริหารของรามาทาวเวอร์"
ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 1 เดือนสิงหาคม 2526
จากเรื่อง"พัฒนาเงินทุน โศกนาฎกรรมฉากสุดท้ายของตึกดำ"ในนิตยสารผู้จัดการ
ฉบับที่ 3 เดือนพฤศจิกายน 2526