|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บุคลากรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ การสร้างบุคคลกรหรือพนักงานให้ได้ดั่งใจตอบโจทย์เป้าหมายการเติบโตในอนาคตย่อมเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทั้งแรงจูงใจสำคัญ
จะเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจใหญ่การลงทุนที่เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและต่างชาติ ความต้องการของบุคลากรในอาชีพมีสูง แต่ปัญหาที่พบคือความถี่ในการเข้า การออก ของพนักงานที่ส่งผลต่อการพัฒนา
ทำให้เมื่อปี 2547 บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าดำเนินธุรกิจการศึกษาภายใต้ชื่อโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ และได้ทำการปรับปรุงสถานที่เดิมพร้อมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกเพื่อผลิตบุคคลการป้อนบริษัทในเครือเซเว่นฯ กว่า 10 บริษัท
ล่าสุด ในปี 2550 บริษัทได้เดินเครื่องสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ รวมถึงผ่านสื่อทีวีเพื่อกระจายการรับรู้ในวงกว้างเป็นครั้งแรก พร้อมเดินหน้าตั้งเป้าการขยายศูนย์การศึกษาแห่งนี้ครบ 20 ศูนย์
"หัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก คือ พนักงานบริการ และการแข่งขันในอนาคตไม่ใช่ที่สินค้าหรือบริการ แต่แข่งกันที่ใครมีคนเก่งกว่ากัน"
พูนธนา มุสิกบุญเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจและผู้ช่วยกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” หลังจากเดินทางกลับจากประเทศสิงคโปร์เพื่อศึกษาดูงานการจัดการการศึกษาและเทคโนโลยีการถ่ายทอดวิชาการ ถึงกรณีที่บริษัทเข้ามาดำเนินการธุรกิจการศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก
และรับมือการแข่งขันในอนาคตในการสร้างคนของเซเว่นอีเลฟเว่นรองรับการเติบโตของธุรกิจที่ตั้งเป้าระยะใกล้ภายใน 3 ปี จะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 5,000 สาขา พร้อมการเติบโตของบริษัทในเครืออีกกว่า 10 บริษัท เช่น บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด บริษัท บุ๊คสไมล์ จำกัด ฯลฯ รวมแรงงานของบริษัททั้งหมดกว่า 40,000 คน แต่มีการเข้า ออก หมุนเวียนประมาณปีละ 10,000 คนต่อปี
ฉะนั้นโรงเรียนแห่งนี้จะสร้างคนเก่งตามที่ธุรกิจค้าปลีกต้องการ ซึ่งในเบื้องต้นการผลิตบุคลากรนั้นจะป้อนเซเว่นอีเลฟเว่นและบริษัทในเครือ โดยจัดสอนระดับ ปวช. ประเภทวิชาพาณิชยกรรม หลักสูตรค้าปลีกธุรกิจค้าปลีกในวิชาบัญชีธุรกิจ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างไฟฟ้า แมคคาทรอนิกส์และเพิ่งขยายสาขาโลจิสติกส์ รวมแล้วจะสามารถผลิตคนได้ปีละ 3,000-4,000 คน แต่เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเซเว่นฯ ปีละ 500 สาขา ตำแหน่งงานที่ต้องการ 5,000 คน ซึ่งนักเรียนที่จบรับประกันการได้งานทำ
"ในยุคของการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกเป็นไปอย่างดุเดือด กลับไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานของคนในภาคอุตสาหกรรมเพราะมีการเข้า ออกอยู่เป็นประจำถึงขั้นขาดแคลนแรงงาน สาเหตุเกิดจากแรงงานในธุรกิจค้าปลีกระดับพนักงานขายที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากนั้นมีอายุไม่มาก และปรับตัวเข้ากับการทำงานได้ยาก เพราะบางคนเพิ่งจบจากโรงเรียน และระยะเวลาในการประกอบอาชีพสั้น เพราะไม่มีใครต้องการเป็นพนักงานขายจนแก่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นธรรมชาติของแรงงานในธุรกิจค้าปลีกบ้านเรา"
ซึ่งการสร้างคนเก่งของเซเว่นฯ ได้มีโครงการขยายต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่จะเปิดตามมาในอนาคตคือด้วยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (แจ้งวัฒนะ) เพื่อเปิดรับบุคลากรทั่วไปที่จะเข้ารับการศึกษา ทำให้เกิดการต่อยอดสร้างพนักงานในทุกระดับและเป็นฐานต่อให้กับผู้ที่ศึกษาต่อในระดับ ปวช. ซึ่งเส้นทางการเติบโตของพนักงานจะมีความชัดเจน ไต่เต้าจากพนักงานขาย ผู้ช่วยสาขา ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการเขต สู่การเป็นเจ้าของเซเว่นอีเลฟเว่นในอนาคต ซึ่งควบคู่กับการศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป
หากมองถึงคนเก่งในแบบฉบับเซเว่นฯ นั้นต้องประกอบด้วย 1.ช่างเรียนรู้ หรือเรียนรู้ไม่ลดละ ตื่นตัวตลอดเวลา 2.มีทักษะหลากหลาย 3.ใจรักบริการ 4. ก้าวทันเทคโนโลยี 5. เป็นคนดีศรีสังคม
พูนธนา บอกว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นการถอดรูปแบบการพัฒนาบุคลากรในองค์กรเป็นการสร้างคนให้รักองค์กร เนื้อหาการเรียนการสอนตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพียงนำวิชามาเรียงใหม่เทียบกับการปฏิบัติงานให้ตรงกันซึ่งเป็นหลักสูตรระบบทวิภาวี คือสถานประกอบการ สถาบันการศึกษาจัดการศึกษาและฝึกอาชีพที่สถานประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาเซเว่นฯ ได้ดำเนินคอนเซ็ปต์ดังกล่าวกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 25 สถาบันมานานกว่า 10 ปีแล้ว
ซึ่งเมื่อเข้ามาดำเนินการบริหารโรงเรียนเองจึงไม่มีความแตกต่าง แต่จะสามารถทำระบบการเรียนและปฏิบัติได้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น การประเมินการเรียนและการทำงานของนักเรียนแต่ละคนทุกๆ วันศุกร์จาก 3 ฝ่ายคืออาจารย์ผู้สอน ฝ่ายบริหารร้านค้า (ครูฝึก) และฝ่ายบุคคล เพื่อดูว่านักเรียนคนนั้นๆ ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ในทางกลับกันเพื่อประเมินแบบการสอน รวมถึงสภาพการทำงานในองค์กรเหมาะสมกับนักเรียนหรือไม่หรือระเบียบต่างๆ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน ด้วยการดีไซน์หลักสูตรเรียนทฤษฎี 2 วันและปฏิบัติ (ทำงาน) 4 วัน
ขณะเดียวกันได้มีฝ่ายจิตวิทยา เพื่อใช้แนวความคิดสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อปรับทัศนคติแปลงมาเป็นพฤติกรรมการทำงาน เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีเกิดแก่วิชาชีพ ตนเอง ลูกค้าและสังคม ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป
"ลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อสินค้า บริการ พนักงานขายต้องดูแล เพราะเป็นผู้นำเงินมาให้ สอนให้เขาดูแลลูกค้า โดยมีจิตใจเป็นนักบริการที่ดี เพราะนักเรียนได้ฝึกทุกวันจากลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการ เพราะโจทย์คือการบริการ นักเรียนจะถูกหล่อหลอมด้วยวิธีการนี้ ฉะนั้น 3 ปีที่เรียนในระดับ ปวช.ทั้งกายและใจจะทำให้เป็นนักบริการที่ดี
รวมถึงมีกิจกรรมเสริมเพื่อฝึกฝนให้นึกถึงคนอื่นตลอดเวลา ด้วยวิถีพุทธให้นักเรียนมีจิตใจอ่อนโยน เริ่มจากสถานที่ต้องร่มรื่น ครูอาจารย์มีความเมตตา ให้อภัย เด็กจะถูกหล่อหลอมจากหลักสูตรเป็นเหมือนการขีดเส้นชีวิตประจำวัน"
และในปี 2550 นี้ จะขยายศูนย์การศึกษาปัญญาภิวัฒน์เป็น 20 ศูนย์ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 10 ศูนย์ ต่างจังหวัด 10 ศูนย์ เพื่อรองรับความพึงพอใจของผู้เรียนด้วยสโลแกนที่ว่าเรียนฟรี ใกล้บ้าน ทำงานในท้องถิ่น
พูนธนา กล่าวต่อไปอีกว่า ในอนาคตจะขยายการผลิตคนในสายธุรกิจค้าปลีกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งระบบป้อนสู่รายอื่นๆ อีกด้วย
|
|
|
|
|