ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดสินเชื่อแบงก์ 2 เดือนของปี 50 ยังฝืดมีลดลง 4.2 หมื่นล้านหรือคิดเป็น 0.86% แต่มียอดขยับเพิ่มเล็กน้อยหากเทียบเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ทั้ง "กรุงเทพ-กรุงไทย-ไทยพาณิชย์"ยังโงหัวไม่ขึ้น ขณะที่กสิกรไทยมียอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 440.21 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.07%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดคงค้างสินเชื่อในระบบจำนวน 4,857,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 19,452 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 0.40 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.44 และหากเทียบกับสิ้นปี 2549 แล้วในช่วง 2 เดือนของปี 2550 ยอดสินเชื่อรวมยังคงปรับตัวลดลง 42,193.35 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.86
ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 15,120 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 10,615 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มของสินเชื่อประเภท Term Loans และตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย มียอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน จำนวน 7,553 และ 7,266 ล้านบาทตามลำดับ จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อประเภทตั๋วเงิน เงินให้กู้ยืม และ Term Loans ขณะที่ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีสินเชื่อรวมลดลง 10,313 ล้านบาท จากการลดลงของเงินเบิกเกินบัญชีและตั๋วสัญญาใช้เงิน และหากเทียบกับช่วงสิ้นปี 2549 มียอดคงค้างสินเชื่อลดลง 48,459.82 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.58
สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง สินเชื่อรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย 212 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.02 ตามการลดลงของสินเชื่อธนาคารทหารไทยจำนวน 5,673 ล้านบาท ในสินเชื่อทุกประเภทโดยเฉพาะเงินให้กู้ยืม ขณะที่ธนาคารนครหลวงไทย และกรุงศรีอยุธยา มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน จำนวน 2,877 และ 2,584 ล้านบาทตามลำดับ จากสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน Term Loans และเงินให้กู้ยืม และหากเทียบกับช่วงสิ้นปี 2549 มียอดคงค้างสินเชื่อลดลง 2,493.77 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 0.21
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วจำนวน 4,544 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารธนชาต ธนาคารทิสโก้ และธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) จำนวน 2,171 1,217 และ1,187 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ธนาคารอื่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และหากเทียบกับช่วงสิ้นปี 2549 ยอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8,760.24 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.33
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2550 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,100,368 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 97,555 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 1.63 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.14 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 74,692 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 นำโดยธนาคารกรุงไทยเงินฝากเพิ่มขึ้น 38,694 ล้านบาท จากการนำฝากเงินงบประมาณของภาครัฐ ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย และกรุงเทพมีเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น 19,021 และ 12,775 ล้านบาทตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และประจำ 3 เดือนในธนาคารกสิกรไทย และจากการเพิ่มของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีเงินฝากเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในกลุ่ม จำนวน 4,202 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8,464 ล้านบาท ตามการลดลงของเงินฝากธนาคารทหารไทย จำนวน 23,356 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของบัญชีเงินฝากประจำ ตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีเงินฝากรวมลดลงเล็กน้อย 869 ล้านบาท ในบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน และออมทรัพย์ ขณะที่ธนาคารนครหลวงไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 15,761 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากประจำ
กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง เงินฝากเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว จำนวน 31,327 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 4.07 เป็นการปรับตัวเพิ่มทั้งกลุ่ม นำโดยธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) และทิสโก้ จำนวน 14,475 และ 7,878 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ธนาคารอื่นในกลุ่ม มีเงินฝากเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 1,300-2,500 ล้านบาท
และด้านสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 มีจำนวน 7,666,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 114,061 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.51 นำโดยธนาคารกรุงไทย มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 47,684 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารนครหลวงไทย และกสิกรไทย จำนวน 19,906 และ 17,531 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารที่มีสินทรัพย์ลดลง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย และไทยธนาคารจำนวน 21,376 และ 1,542 ล้านบาทตามลำดับ
|