|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ฟิลิปส์เดินสายจัดกิจกรรมสร้างรูปธรรมให้กับ Sense and Simplicity หวังดึงคู่ค้าและพันธมิตรถ่ายทอดประสบการณ์เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Healthy Lifestyle) ตั้งเป้า 3-5 ปี ในการสร้างฐานลูกค้าให้กับผลิตภัณฑ์ Sense and Simplicity เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
หลังจากฟิลิปส์ทำการรีโพสิชันนิ่งแบรนด์จาก Let's make things better หรือ "ร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า" มาสู่ Sense and Simplicity เมื่อปลายปี 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมทางการตลาด ฟิลิปส์ก็มีการปรับกลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ โดยมีการขายบางธุรกิจที่ไม่สอดคล้องเช่นโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เคยยกเลิกไปกลับเข้ามาทำตลาดอีกครั้งเช่นหม้อหุงข้าวเนื่องจากสอดคล้องกับแบรนด์โพสิชันนิ่งใหม่
ที่ผ่านมาฟิลิปส์มีจุดยืนในการเป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นวัตกรรมใหม่หลายตัวที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค แต่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ถูกปลูกฝังโดยเจ้าของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องหันมาทบทวนตัวเองในการปรับกระบวนทัพเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง ประกอบกับยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคมีความฉลาดในการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ดังนั้นนวัตกรรมใหม่ แม้จะดีแต่ถ้ามีราคาแพงแถมยังใช้งานยากอีกก็เป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ เรียกได้ว่าตอนนี้จะทำการตลาดอะไรก็ต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เช่นเดียวกับ Sense and Simplicity ของฟิลิปส์
ทั้งนี้แนวทางเดิมของฟิลิปส์คือ Let's make things better เป็นการสื่อไปถึงความมุ่งมั่นของฟิลิปส์ที่จะพัฒนาสิ่งดีๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของผู้บริโภคให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาสโลแกนดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น หากแต่บอกเพียงว่าฟิลิปส์มีเทคโนโลยีที่ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง ดังนั้นฟิลิปส์จึงต้องต่อยอดขึ้นไปอีกก้าวเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่านวัตกรรมของฟิลิปส์ที่มีเหนือคู่แข่งว่าทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง Sense and Simplicity จึงเป็นหัวข้อที่ใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการต่อยอดตำแหน่งทางการตลาด
Sense and Simplicity ยืนอยู่บนเสาหลัก 3 ต้นคือ ออกแบบเพื่อคุณ (Design around you) ใช้งานง่าย (Easy to experience) และความล้ำสมัย (Advance) ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจหลัก 3 กลุ่มคือ ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ (Health) ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และเทคโนโลยี (Technology)
การรีโพสิชันนิ่งดังกล่าวมีการทยอยทำในแต่ละตลาดทั่วโลกโดยใช้งบมากถึง 80 ล้านยูโร พร้อมกับการจัดกิจกรรม PHILIPS Simplicity Event ในประเทศที่มีศักยภาพโดยเฟสแรกเริ่มจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ฝรั่งเศส อเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ล่าสุดมีการจัด PHILIPS Simplicity Event ครั้งที่ 5 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเอเชียโดยฟิลิปส์เลือกฮ่องกงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาในภูมิภาค โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 1,500 คน
"ความท้าทายในการทำตลาดคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง สินค้าที่เป็น Sense and Simplicity ก็เช่นกัน นอกจากจะสร้างความแตกต่างแล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าแบรนด์ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ฟิลิปส์ประกาศรีโพสิชันนิงแบรนด์ไปสู่ Sense and Simplicity ก็ทำให้เรามีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้นโดยในปี 2548 ฟิลิปส์มีมูลค่าแบรนด์ 6,700 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 48 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการปรับโพสิชันนิงแบรนด์ โดยมีมูลค่าแบรนด์เพียง 4,300 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 65 ส่วนแนวทางการทำตลาดในเอเชียคือการสร้างยอดขายให้มากที่สุดโดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดเอเชีย ล่าสุดมีการร่วมมือกับบริษัททีซีแอลจากเมืองจีน" รูดี้ โปรวูส ประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ รอยัล ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าว
PHILIPS Simplicity Event เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่ผู้บริโภค โดยการจัดงานครั้งล่าสุดเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรูปธรรมในการดำเนินตามแนวคิด Sense & Simplicity ของฟิลิปส์ เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายได้เข้าใจความเป็นฟิลิปส์ซึ่งจะสะท้อนความเป็น One Philips คือทุกสิ่งที่ฟิลิปส์ทำจะเป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก
คอนเซ็ปต์ของการจัดงาน PHILIPS Simplicity Event เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น (Healthy Lifestyle) ใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจากการวิจัยของฟิลิสป์พบว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพค่อนข้างน้อย ความเจ็บป่วยมีมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องพันธุกรรมแล้วยังพบว่า 75% ของปัจจัยแห่งความเจ็บป่วยเกิดจากไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต ฟิลิปส์จึงพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างชีวิตที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดี
ฟิลิปส์ได้แบ่งแนวคิดความเรียบง่ายแห่งอนาคต (Next Simplicity) ออกเป็น 5 แนวคิดย่อย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภคตั้งแต่วัย 4-65 ปี โดยแนวคิดแรกคือ เข้าใจความต้องการของร่างกาย (Listen to your body) ซึ่งจะมีเครื่องมือวัดความเคลื่อนไหวของร่างกายพร้อมประวัติของแต่ละคนและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือวัดอุณหภูมิซึ่งจะให้คำแนะนำสำหรับการตรวจสอบวงจรชีวิตของผู้หญิง เช่น การตกไข่ การตั้งครรภ์ และการมีประจำเดือน
แนวคิดที่ 2 คือ การดูแลสุขภาพ (Care for your body) มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น เสื้อผ้าที่ใช้ความร้อนจากอินฟราเรดและการสั่นนวดเพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อ และการบำบัดด้วยระบบแสงไฟ แนวคิดที่ 3 คือการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Move your body) เป็นผลิตภัณฑ์ในการสร้างความสนุกสนาน เช่น ชุดของเล่นกระเบื้องเวอร์ซ่า อุปกรณ์ Drag & Draw ซึ่งจะทำให้กำแพงบ้านกลายเป็นผ้าใบจำลองให้เด็กๆ ได้วาดระบายสีด้วยอุปกรณ์เลเซอร์ที่ให้แสงสีตามต้องการ
แนวคิดที่ 4 คือการผ่อนคลายจิต (Relax your mind) เป็นเรื่องของการปรับระบบแสงไฟ เสียงดนตรี เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย แนวคิดสุดท้าย คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Share Experience) เช่น อัลบั้มครอบครัว ซึ่งสามารถโหลดรูปที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลลงอุปกรณ์ดังกล่าวพร้อมกับการตัดแต่งภาพได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ In Touch ซึ่งเป็นรูปแบบการฝากข้อความทางเสียงที่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้
อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวแม้จะสะท้อนความเป็น Sense and Simplicity แต่ยังค่อนข้างห่างไกลพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชีย แต่ฟิลิปส์ก็มีผลิตภัณฑ์หลายรายการที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นอุปกรณ์การแพทย์ที่ขยายฐานลูกค้าจากโรงพยาบาลมาสู่ผู้ใช้ในบ้านเช่นเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้ฟิลิปส์ตั้งเป้าว่าภายใน 3-5 ปีจะสามารถสร้างตลาด Sense and Simplicity ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน โดยฟิลิปส์จะให้ความสำคัญกับการค้นหาความต้องการในอนาคตเพื่อก้าวให้เร็วกว่าคู่แข่ง โดยกรอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ 3 แนวทางคือ การมองไปข้างหน้า (Foresight) เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งระดับสากลและระดับภูมิภาคที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ประการที่ 2 เป็นการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค (People Research) เพื่อค้นหาความต้องการและความหมายของชีวิต และมุมมองในการดำเนินชีวิตในอนาคตของผู้บริโภค ประการสุดท้ายเป็นการคาดการณ์ความต้องการในอนาคต (Trend Research) เพื่อศึกษาปัจจัยที่จะกระทบกับการทำการตลาดในอนาคต
ฟิลิปส์ใช้งบในการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปีประมาณ 10% ของยอดขายโดยในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ 27,000 ล้านยูโร
|
|
 |
|
|