เอริค ชินเป็นคนไต้หวัน เขาเป็นเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในเขตอุตสาหกรรมแบบที่เรียกกันในภาษาเม็กซิโกว่า
MAQUILADORA ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเม็กซิโก
MAQUILADORA หมายถึง โรงงานอุตสาหกรรมประเภทประกอบชิ้นส่วน ที่ใช้แรงงานราคาถูกและเป็นของคนต่างชาติ
โรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตนำอุปกรณ์ วัตถุดิบ เข้ามาในเม็กซิโก โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
เพื่อผลิตหรือประกอบสินค้าส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ ภาษีที่จะต้องจ่ายให้กับรัฐบาลเม็กซิโก
มีเพียงภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของต้นทุนค่าแรงเท่านั้น คำว่า MAQUILA คือเงินรายได้ของเจ้าของโรงสีที่เก็บจากการสีข้าว
ในช่วงที่เม็กซิโกตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน
เถ้าแก่วัย 50 ปีจากไทเป ย้ายโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้โอ๊กจากเมืองทัสติน
ในเขตอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย มาอยู่ที่เมือง TECATE ในเม็กซิโก
ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกในเมืองซานดิเอโก ชั่วระยะเวลาขับรถเพียง
25 นาทีเพื่อหลีกเลี่ยง ความเข้มงวดของรัฐแคลิฟอร์เนียเกี่ยวกับมาตรฐานอากาศเสียที่เกิดจากโรงงาน
และปัญหาข้อพิพาทกับสหภาพแรงงาน ที่เขาแพ้และต้องยอมจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น
"ผมชอบงานที่ท้าทาย แต่ว่าลำบากมากที่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างแตกต่างไปหมด
ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม แต่ผมไม่มีทางเลือก ผมต้องสร้างโรงงานขึ้นมาให้ได้"
ชินกล่าว
ปัจจุบันโรงงานของชินผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้โอ๊กได้ถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ขายอยู่ในอเมริกาโดยมีบริษัท
วู้ด เท็กซเจอร์ อิงค์ เป็นผู้แทนจำหน่าย บริษัทนี้อยู่ที่นิวเจอร์ซี่ โดยชินร่วมกับเพื่อนชาวไต้หวัน
ไมเคิลและโทมัส วู เข้าหุ้นกันตั้งขึ้นมา
วู้ด เท็กซเจอร์ ขายตู้วางโทรทัศน์และเครื่องเสียงสเตอริโอของอเมริกาให้กับร้านเฟอร์นิเจอร์ในอเมริกา
แคนาดา และเม็กซิโก โดยเมื่อปีที่แล้วมียอดขาย 30 ล้านเหรียญ
ถึงแม้เม็กซิโกเริ่มจะเข้มงวดเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ตามอย่างมาตรฐานของแคลิฟอร์เนียแต่ก็ยังขาดการควบคุมบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
โรงงานเล็ก ๆ เป็นพันๆ โรงที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการเข้าไปตรวจสอบ ประมาณกันว่า
ปริมาณของเสียทั้งหมดจากโรงงานเหล่านี้ เพียง 25% เท่านั้น ที่ผ่านการบำบัดอย่างถูกต้อง
สำหรับโรงงานของชินนั้น เขากล่าวว่า มีมาตรการที่จะลดมลภาวะในอากาศให้น้อยที่สุดโดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย
อย่างเช่นเครื่องกรองอากาศที่ติดตั้งในส่วนของการทาแลคเกอร์เฟอร์นิเจอร์
สิ่งที่ชินเป็นห่วงคือ ข้อตกลงนาฟต้าซึ่งจะมีผลต้นปีหน้า การยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี
จะเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าแรงและการผลิตของเขาเป็นอย่างมาก ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในเมือง
TUSTIN จะตกประมาณ 300 เหรียญต่อสัปดาห์ ในขณะที่ค่าจ้างที่ TECATE จะตกประมาณ
50-60 เหรียญเท่านั้น คนงานในเม็กซิโกจะไม่ได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรฐานของสหรัฐ
และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นใดเหมือนที่กฎหมายสหรัฐกำหนดไว้ เมื่อเร็ว
ๆ นี้ประธานาธิบดีของเม็กซิโก คาร์ลอส ซาลินาส เดอกอร์ตารี ก็ยังได้กำหนดเพดานจำกัดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทำกับองค์กรของคนงานด้วย
แม้ว่าเงื่อนไขเหล่านี้จะเป็นข้อได้เปรียบที่ดีแต่การเริ่มต้นธุรกิจในเม็กซิโกก็เป็นเรื่องเหนื่อยแสนสาหัส
ชินต้องตระเวนไปตามชนบทของเม็กซิโกเพื่อหาคนงาน จากที่ไม่มีเลยจนปัจจุบันเขามีคนงานอยู่
50 คน "เป็นเวลา 4 เดือน ที่ทุกวันผมจะต้องออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่ตี
5 ขับรถบรรทุกไปที่ภูเขาทางใต้ของ TECATE เพื่อรับคนงานไปทำงานให้ทันเวลา
7 โมงเช้า เราทำงานล่วงเวลาถึงสามทุ่ม และเมื่อผมส่งคนกลับบ้านเสร็จ กว่าจะถึงโรงแรมก็เกือบเที่ยงคืน"
ชินเล่าให้ฟัง
บ่อยครั้งที่ชินถูกตำรวจทางหลวงเรียกให้หยุดเพราะขับรถเร็ว "เขามักจะเรียกค่าปรับประมาณ
50 เปโซซึ่งผมจะต้องโต้เถียงกับเขาและจะให้ไม่เกิน 20 เปโซโดยบอกว่ามีอยู่เท่านี้"
ชินพูดถึงพฤติกรรมตำรวจเม็กซิโก ต่อมาเขาได้พบกับนายกเทศมนตรีในงานสังคมแห่งหนึ่ง
นายกเทศมนตรีแนะนำให้เขารู้จักกับหัวหน้าตำรวจท้องถิ่น "เมื่อพวกตำรวจรู้ว่าผมคือใครแล้ว
พวกเขาก็ไม่มากวนผมอีกเลย" ชินกล่าว
การไปทำธุรกิจต่างบ้านต่างเมือง งานประชาสัมพันธ์สร้างภาพพจน์กับคนท้องถิ่น
เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง "ผมได้บริจาคเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับโรงเรียนและสถานเด็กกำพร้าทุกปีและผมก็ได้บริจาคเฟอร์นิเจอร์ให้กับหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นอีกด้วย
เราไม่มีทางปฏิเสธสำหรับคำขอพวกนี้"
แต่ปัญหาที่ท้าทายมากที่สุด คือวัฒนธรรมในการทำงาน ความตรงต่อเวลาของคนงานและแรงจูงใจในการทำงานเป็นเรื่องใหญ่
ซึ่งชินใช้แผนการตั้งโบนัสให้คนงานที่ทำงานเสร็จก่อนกำหนด และคนที่มาทำงานตรงเวลาอย่างต่อเนื่อง
ภายในปีเดียวประสิทธิภาพของคนงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว
อย่างไรก็ตาม เรื่องน่าปวดหัวก็ยังมีอยู่ อัตราการเข้าออกของพนักงานที่สูงถึง
12% ต่อเดือนเป็นเรื่องปกติของโรงงานแถบนี้ เพราะคนงานเม็กซิกันชอบข้ามพรมแดนไปรับจ้างในสหรัฐฯ
มากกว่า เขาพยายามจะแก้ไขในเรื่องนี้ ด้วยการตอบสนองความต้องการส่วนตัวของคนงานเป็นครั้งคราว
เช่นให้เงินกู้แก่พนักงานเป็นกรณีพิเศษ เข้าไปใกล้ชิดกับคนงานถึงในโรงงานบ้าง
ชินเชื่อว่าการให้เกียรติและการเอาใจใส่กับคนงาน ทำให้คนงานมีความภักดีต่อองค์กร
ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เขาไม่ได้มีการรายงานว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์จะถูกขโมยหรือสูญหายอีกเลยหลังจากนั้น
การโยกย้ายธุรกิจไปทางใต้สู่เม็กซิโกของชินไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
CALIFORNIA BUSINESS INTELLIGENCE SERVICE ซึ่งอยู่ที่เมืองพาโล อัลโต้ ได้ทำการสำรวจพบว่า
ธุรกิจในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ จำนวนมากกว่า 1 ใน 3 มีแผนที่จะขยับขยายหรือย้ายฐานธุรกิจในช่วง
2 ปีข้างหน้า และจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเม็กซิโก เหตุผลหลักของผู้บริหาร
1,450 คน ซึ่งเป็นเป้าหมายการสำรวจนี้ก็คือ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ชินเกิดที่ปักกิ่ง
เขาอพยพไปอยู่ที่ไต้หวันในปี 1948 และได้ย้ายอีกครั้งไปอยู่ที่นิวเจอร์ซี่ก่อนหน้าจะไปปักหลักที่แคลิฟอร์เนีย
ทุกวันนี้เขาเชื่อว่าได้พบสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตที่ข้ามไปข้ามระหว่างพรมแดนแล้ว
ตอนกลางวันเขาทำงานในเม็กซิโก ตอนกลางคืนกลับไปอยู่บ้านที่ชานเมืองซานดิเอโก
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือนิสัยในการทำงาน ชินกล่าวว่า "ผมยังคงทำงานอาทิตย์ละ
60 ชั่วโมงเช่นเดิมซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนจีน"