"หาทางออกทะเล ยากยิ่งกว่าหาทางไปสวรรค์" สุภาษิตโบราณของชาวจีนที่อาศัยอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
ท่องจำอย่างขึ้นใจมาเป็นเวลากว่าสองพันปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนและชนกลุ่มน้อยกว่า
25 ชนเผ่าในมณฑลยูนนาน จะรู้ซึ้งถึงความหมายในสุภาษิตบทนี้ได้ดีที่สุด
อาณาเขตของมณฑลยูนนานที่มีอยู่ถึง 394,000 ตารางกิโลเมตรนั้น ถูดปิดล้อมไปด้วยเทือกเขาสูงกว่า
1,440 เทือก ในจำนวนนี้มีถึง 49 เทือกที่เป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่ที่แต่ละเทือกครอบคลุมอาณาบริเวณมากกว่า
100 ตารางกิโลเมตร
เทือกเขาเหล่านี้ จะทอดเป็นแนวยาวลาดเอียงจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู้ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน
ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สูงกว่าระดับน้ำทะเลจากระดับสูงสุด 6,740
เมตรถึงระดับต่ำสุด 76.4 เมตร ที่สลับขั้นด้วยแม่น้ำน้อยใหญ่กว่า 600 สายซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่
6 สาย คือ CHANGJIANG, PEARL, RED RIVER, LANCHANG, NU และ IRRAWADDY ทั้งยังมีทะเลสาปกลางหุบเขา
[PLATEAU LAKE] ถึง 40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,100 ตารางกิโลเมตร
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ภูมิอากาศมีความแตกต่างกันมากระหว่างพื้นที่ของมณฑล
กล่าวคือ ในเขตภูมิอากาศสูงจะมีอากาศหนาวเย็นมีหิมะปกคลุมตลอด 9 เดือนใน
1 ปี ส่วนในที่ราบสูงตอนกลางและตอนล่างนั้น จัดอยู่ในเขตร้อนชื้นสลับด้วยช่วงสั้น
ๆ ของฤดูหนาว แต่มีช่วงของฤดูฝนที่ยาวกว่า 8 เดือน ซึ่งเป็นผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่มีช่วงของฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปี
และที่สำคัญทำให้เป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จนมีผู้ตั้งสมญานามว่าเป็น
"อาณาจักรแห่งสัตว์ป่า พืชพันธุ์และแร่ธาตุ"
การที่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านถึง 6 สาย ทั้งยังประกอบไปด้วยแม่น้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายหลักทั้ง
6 อีกถึง 600 สาย ทำให้มณฑลยูนนานมีศักยภาพในการที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำถึง
104 ล้านกิโลวัตต์ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไฟฟ้าพลังน้ำเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลและส่งไปขายให้มณฑลอื่น
ๆ และประเทศเพื่อนบ้านได้ถึง 71 ล้านกิโลวัตต์ ทั้งนี้โดยร้อยละ 82 ของกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่แม่น้ำ
JINSHA, LANCHANG และแม่น้ำ NU
จากปัจจัยทางธรรมชาติของมณฑลยูนนานที่อุดมไปด้วยทรัพยากร ประกอบกับการที่รัฐบาลกลางของจีนได้เริ่มนำนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐฏิจมาใช้นับตั้งแต่ปี
1979 เป็นต้นมา ได้เป็นสิ่งกระตุ้นการผลิตในด้านต่าง ๆ ของมณฑลนี้อย่างมาก
โดยในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา มณฑลยูนนานมีอัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมโดยเฉลี่ยร้อยละ
9.6 ต่อปีคิดเป็นมูลค่าถึง 51,000 ล้านหยวน และมีรายได้ประชาชาติรวมเพิ่มขึ้นถึง
44,770 ล้านหยวน โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.2 ต่อปี
ในขณะที่ผลผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นถึง 72,472 ล้านหยวน
คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.05 ต่อปี ทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ
20 คิดเป็นมูลค่า 10,930 ล้านหยวนต่อปี และในช่วงปี 1992 ที่ผ่านมามณฑลยูนนานมีผลิตผลด้านเกษตรกรรมรวม
10,704,000 ตัน ซึ่งมากกว่าปี 1950 ถึงร้อยละ 150
ในจำนวนนี้เป็นผลผลิตจากใบยาสูบมากที่สุด รองลงมาคือ อ้อย และ ใบชา ทั้งยังได้กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้อุตสาหกรรมในเมืองขยายตัวและมีรายได้ในปี
1992 กว่า 13,050 ล้านหยวน ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้จากสินค้าอุปโภคบริโภค
23,460 ล้านหยวน รายได้จากการส่งสินค้าออก 651 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้จากการค้าชายแดนกับประเทศพม่า
ลาว และเวียดนาม 2,270 ล้านหยวน ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 51.1 เมื่อเทียบกับปี
1986
"เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อสนองความต้องการอย่างแรงกล้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการเร่งพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร
และ การพลังงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขยายการติดต่อกับโลกภายนอก
ด้วยการเปิดมณฑลต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลกลางของเราได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนา
5 ปีฉบับที่ 8 [1991-1995] โดยมีเป้าหมายความสำเร็จภายในปี 2000" ผูจ้าวจือ
เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลยูนนาน กล่าวในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมร่วมระหว่างไทย-จีน
เนื่องในโอกาสการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของชวน
หลีกภัยนายกรัฐมนตรีและคณะ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้โดยในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน ได้มีการกำหนดให้มีโครงการหลักสำหรับรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
7 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาแม่น้ำ LANCHANG [THE MEKONG RIVER] ที่ไหลผ่านมณฑลยูนนานยาวประมาณ
1,240 กิโลเมตรของความยาวตลอดสายของแม่น้ำทั้งหมด 4,500 กิโลเมตร โดยรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลยูนนาน
ได้กำหนดให้มีการพัฒนา เพื่อใช้แม่น้ำสายนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
ด้วยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 8 เขื่อน ไต่ระดับจากตอนบนถึงตอนล่างของแม่น้ำสูง
14 ชั้น เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณ 14.8 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี
ทั้ง 8 เขื่อนประกอบด้วย GONGGUOQIAO มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 750,000 กิโลวัตต์
XIAOWAN 4.2 ล้านกิโลวัตต์ MANWAN ขนาด 1.5 ล้านกิโลวัตต์ DACHAOSHAN ขนาด
1.25 ล้านกิโลวัตต์ NUOZHADU ขนาด 5 ล้านกิโลวัตต์ JINGHONG ขนาด 1.35 ล้านกิโลวัตต์
GANLANBA ขนาด 150,000 กิโลวัตต์ และ NAN'A ขนาด 600,000 กิโลวัตต์ โดยในจำนวนนี้เขื่อนที่สามารถสร้างเสร็จและใช้การได้แล้ว
คือ MANWAN ส่วนอีกสองเขื่อนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน คือ XIAOWAN
กับ DACHAOSHAN
เมื่อรวมกำลังการผลิตของเขื่อน MANWAN กับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินในปริมาณเฉลี่ย
24 ล้านตันต่อปีที่มีอยู่แล้ว ทำให้มณฑลยูนนานมีพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันถึง
3.9 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้ส่งไปจำหน่ายให้กับมณฑลใกล้เคียงเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เช่น กวางตุ้ง และกวางโจว ทั้งยังมีนโยบายที่จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย
โดยตั้งเป้าหมายผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้มากกว่า 9 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 1999
ทั้งนี้รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งถ่านหิน ZHAOTONG ที่มีปริมาณถ่านหินสำรอง
8,000 ล้านตัน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานยังได้กำหนดให้มีการบุกเบิกเส้นทางการคมนาคมทางน้ำตามแนวแม่น้ำโขงจาก
SIMAO PORT [XIAOGANLANBA] ถึงแขวงหลวงพระบางของลาว ระยะทาง 262 กิโลเมตร
โดยในช่วงปี 1992 ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้สำรวจเส้นทางนี้ถึง 4
ครั้ง และได้ทำการพัฒนาเส้นทางในขั้นเบื้องต้นจนสามารถใช้การได้ในช่วงฤดูฝน
แต่การที่จะพัฒนาให้เส้นทางแม่น้ำโขงสามารถใช้การได้ตลอดปีนั้น จำเป็นต้องระเบิดเกาะแก่งมากกว่า
100 แห่ง เพื่อให้สามารถเดินเรือที่มีระวางน้ำหนักขนาด 4 คูณ 500 ตันไปจนถึงกรุงเวียงจันทน์ของลาวได้
ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานมีความต้องการที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวนานาชาติระหว่างจีน
พม่า ลาว และ ไทย ควบคู่กับการลำเลียงสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตร เพื่อส่งมาจำหน่ายให้ไทยและอาเซี่ยน
อย่างไรก็ตาม ในการทดลองเดินเรือท่องเที่ยวจากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงรายของไทย
ผ่านพม่าและลาวไปยังท่าเรือ JINGHONG ในแคว้น XISHUANGBANNA ของมณฑลยูนนานครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสินค้าไทยกับจีน
โดยบริษัท LANCANG INTERNATIONAL จำกัด กับ บริษัท YUNNAN WATER TRANSPORT
ENTERPRISE ปรากฏว่าเรือที่สามารถเดินได้ดีในเส้นทางนี้เป็นเรือขนาดเล็กที่สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน
50 คนเท่านั้น ทั้งยังประสบปัญหาการเดินทางผ่านเข้าเขตแม่น้ำประเทศลาว เนื่องจากลาวยังไม่ยินยอมให้เรือผ่าน
โดยให้เหตุผลว่า ลาวยังไม่พร้อมในทุก ๆ ด้าน
2. โครงการพัฒนาการคมนาคม-ขนส่งทางบกและการสื่อสาร ด้วยการพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิง
(เมืองหลวง) กับประเทศเพื่อนบ้าน 2 เส้นทาง คือ KUNMING - HEKOU มีขนาดความกว้างของราง
1 เมตร ระยะทาง 930 กิโลเมตร แล้วข้ามสะพาน SINO - VIETNAMESE BRIDGE ไปสู่ท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม
ซึ่งปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมสามารถใช้การได้แล้ว
เส้นทาง KUNMING - DALI - BAOSHAN - YINJANG เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของพม่าที่เมือง
MYITKYNA ระยะทาง 100 กิโลเมตร เส้นทาง KUNMING - DALI - LINCANG - GENGMA
เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของพม่าที่เมือง LASHIO ระยะทาง 160 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้การติดต่อระหว่าง
KUNMING กับ RANGOON เป็นไปได้ เนื่องจากในพม่าไม่มีทางรถไฟที่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้อยู่แล้ว
เส้นทางเหล่านี้เมื่อรวมกับโครงการสร้างทางรถไฟจาก KUNMING - YUXI - SIMAO
- JINGHONG - DALUO กับการสร้างทางรถไฟที่ KENGTUNG ในพม่าเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการสร้างทางรถไฟเชียงใหม่
เชียงราย ที่อำเภอแม่สาย รวมระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตรแล้ว จะทำให้สามารถเดินทางด้วยรถไฟจากคุนหมิงมาถึงกรุงเทพ
ต่อไปจนถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ด้วย
ส่วนการพัฒนาการคมนาคม-ขนส่งโดยสารทางรถยนต์ เพื่อเชื่อมต่อกับเวียดนาม
พม่า ลาวและไทยนั้น มีทางหลวง 3 เส้นทาง คือจาก KUNMING - JINGHONG แล้วแยกออกเป็น
2 เส้นทางที่ JINGHONG โดยเส้นทางหนึ่งตัดผ่านไป DALUO เข้าไปที่ KENGTUNG
ในพม่าผ่านท่าขี้เหล็กเข้าสู่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีระยะทางทั้งสิ้น
682 กิโลเมตร
อีกเส้นทางหนึ่งแยกจาก JINGHONG ผ่านไปที่ MENGLA เมืองชายแดนของจีนทางตอนเหนือของลาวเข้าไปที่
BOTEN - UDOMXAY ต่อเนื่องด้วยการเดินทางโดยเรือที่ปากแบ่งของลาวไปที่เมืองห้วยทราย
แขวงบ่อแก้ว ข้ามฝั่งโขงมาที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ
1,000 กิโลเมตร หรือจาก MENGLA ไปที่แขวงหลวงน้ำทา-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาวแล้วข้ามฝั่งโขงมาที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ
ระยะทางประมาณ 755 กิโลเมตร ทั้งยังสามารถเลือกใช้เส้นทางที่แยกจาก UDOMXAY
ไปที่ LUANPABANG ตัดเข้าสู่เส้นทางแห่งชาติหมายเลข 13 ของลาวมุ่งตรงสู่เวียงจันทน์
ข้ามฝั่งโขงมาที่จังหวัดหนองคายของไทย แต่เส้นทางนี้จะมีความยาวถึง 1,200
กิโลเมตร
เส้นทางที่สามเริ่มจาก KUNMING - RUILI ผ่านเข้าไปที่ MYITKYINA -MANSALAY
- TOUNGGYI - KENTUNG ในพม่า แล้วเข้าสู่ไทยที่อำเภอแม่สาย ระยะทางประมาณ
870 กิโลเมตร และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง KUNMING -HEKOU เพื่อเข้าสู่กรุงฮานอยไปยังท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม
ระยะทางประมาณ 930 กิโลเมตร
"รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้รับการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากรัฐบาลกลาง
สำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคม-ขนส่งในขั้นเบื้องต้นจำนวน 10,000 ล้านหยวนหรือประมาณ
1,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้โดยกำหนดให้ปี 2000 เป็นปีแห่งความสำเร็จของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแห่งชาติ"
เหอ จีเฉียง ผู้ว่าการมณฑลยูนนานกล่าว
เหอ จีเฉียง กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้รัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน ยังได้กำหนดแผนการพัฒนาสนามบินพาณิชย์
6 แห่งให้เป็นสนามบินนานาชาติ คือ สนามบิน KUNMING, SIMAO, JINGHONG, BAOSHAN,
LUXI และ ZHAOTONG เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 ให้แล้วเสร็จภายในปี
1996 ทั้งยังดำเนินการสร้างสนามพาณิชย์แห่งใหม่อีก 3 แห่งคือ STONE FOREST,
DALI และ LIJIANG กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2000
ทั้งนี้รัฐบาลกลางของจีน ได้อนุมัติงบประมาณในการพัฒนาและก่อสร้างสนามบินทั่วประเทศกว่า
100 แห่งจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติและระบบช่องสัญญาณดาวเทียม
เพื่อให้การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์สามารถทำได้อย่างทั่วถึงทั้งภายในและต่างประเทศ
ทั้งยังเป็นการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเปิด
โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ และ โครงการเมืองท่องเที่ยวของมณฑล
ทั้ง 20 แห่งที่ YULONG, CANGSHAN, DALI, RUILI, WANDING, XISHUANGBANNA,
TENGCHON, MANGSHI, CHUXIONG, KUNMING, YANGLIN, QUJING, DIANCHI, FUXIAN,
YANGZONGHAI, MENGZI, YUXI และ HEKOU
3. โครงการอุตสาหกรรมแร่ขนาดใหญ่แบบครบวงจร เพื่อการส่งออกแร่สำเร็จรูป
ทั้งนี้โดยรัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน มีนโยบายให้การส่งเสริมการผลิตแร่ตะกั่ว-สังกะสีที่มีปริมาณแร่สำรองถึง
14,450,000 ตัน รองลงมา คือ เงิน แคดเมี่ยม ไททาเนี่ยม และ สตรอนเตี่ยม ซึ่งในระยะแรกของการผลิต
ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตแร่สำเร็จรูปเฉลี่ย 60,000 ตันต่อปี และมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตอลูมิเนี่ยม
เพื่อส่งออกปีละ 20,000 ตัน
ตลอดจนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเหล็กกล้า เพื่อการส่งออกให้ได้ปีละ
2,000,000 ตัน ภายในปี 1999 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตฟอสฟอรัส ที่มีแหล่งแร่สำรองชั้นดีมากกว่า
4,600 ล้านตัน เพื่อให้สามารถผลิตฟอสฟอรัสเหลืองได้ปีละ 180,000 ตัน และ
กรดฟอสฟอริค 600,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมการผลิตแร่ดีบุก
และทองแดง ซึ่งในปัจจุบันสามารถผลิตได้ปีละ 250,000 ตัน
4. โครงการพัฒนาคุณภาพและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ
คือ ยาสูบ อ้อย และ ชา รองลงมา คือ เครื่องเทศ ไม้ดอกไม้ประดับ เวชภัณฑ์
ผลไม้ และผักชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่กว่า 22,000 ชนิด เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำเร็จรูปสำหรับการส่งออก
5. โครงการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ ยางรถยนต์
เฟอร์นิเจอร์ ยางสน-น้ำมันสน และ เชลแล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยางรถยนต์
ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตจาก 700,000 เส้นต่อปีในปัจจุบันเป็น
2.8 ล้านเส้นต่อปี
6. โครงการอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอิเลคโทรนิค เพื่อพัฒนาการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กและขนาดกลาง
ซึ่งยูนนานมีความชำนาญในด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่
2 ที่จีนต้องทำการเคลื่อนย้ายโรงงานเหล่านี้ลงมาจากทางภาคเหนือสู่ภาคใต้
เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากกองทัพญี่ปุ่น ทั้งนี้โดยรัฐบาลจีนในช่วงนั้น
ได้เลือกเมืองคุนหมิงเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการผลิตเครื่องจักรกลเหล่านี้
โดยรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนเหล่านี้ให้ได้อย่างน้อย
100,000 ชิ้นส่วนต่อปี ทั้งยังต้องการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตแผงวงจรควบคุมระบบโรงงานอุตสาหกรรม
แผงวงจรคอมพิวเตอร์และลำโพงวิทยุ ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี่ชั้นสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี่ด้านอากาศยาน
เทคโนโลยี่ชีวภาพ และ วิศวพันธุกรรมพืช
7. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาให้เมืองคุนหมิงเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของมณฑล
ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
เช่น JINGHONG, DALI, SIMAO, BAOSHAN, และ TENGCHONG ทั้งยังตั้งเป้าหมายที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจากไทยและฮ่องกงเพิ่มขึ้นจาก
300,000 คนในปัจจุบันเป็น 2.5 ล้านคนภายในปี 2000
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานต้องการที่จะขยายความร่วมมือโดยตรงกับไทย
โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาให้ควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาระบบคมนาคม-ขนส่งที่มีจุดเน้นหนักของการพัฒนาเส้นทาง
เพื่อการส่งออกและแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร วัตถุดิบ แร่ธาตุ เครื่องจักรกล
ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิค แผงวงจรคอมพิวเตอร์ และ กระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
ปัจจุบันมีบริษัทจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในยูนนาน 129 บริษัท มีมูลค่าการลงทุน
รวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยชาติที่เข้าไปลงทุนมากที่สุดคือ ฮ่องกง ไต้หวัน
ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐ และ ไทย ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นการลงทุนในด้านเครื่องจักร
อาหาร การเกษตร โรงแรม เคมีภัณฑ์ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนสำหรับนักลงทุนชาวต่างประเทศก็คือระบบธนาคารที่ขาดประสิทธิภาพในการให้บริการที่รวดเร็ว
ทั้งยังมีข้อกำหนดปลีกย่อยในการถอนและโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย
3 วัน ทั้งนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ
โดยให้สามารถทำได้เพียงสำนักงานตัวแทนเท่านั้น
"ทั้ง 7 โครงการหลักของมณฑลยูนนาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันกับ
5 ประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขงคือ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับไทย
ซึ่งเรียกว่า โครงการวงเศรษฐกิจแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงหรือที่ไทยเรียกว่า
"สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" และโครงการนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากขาดความร่วมมือระหว่างกันที่เป็นจริง"
ซุน จื้อหยาง บรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจยูนนาน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ที่เมืองคุนหมิง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อขยายความร่วมมือกับพม่า
ลาว เวียดนาม และไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับพม่าซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้จัดส่งอุปกรณ์และช่างเทคนิคเข้าไปในพม่า
เพื่อให้ความช่วยเหลือในการติดตั้งสถานีรับ-ส่งสัญญาณดาวเทียม ติดตั้งระบบควบคุมโทรศัพท์ด้วยคอมพิวเตอร์
และการซ่อมแซมรถยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร และซ่อมแซมถนนแบบให้เปล่า ซึ่งโครงการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันนี้
รัฐบาลท้องถิ่นยูนนานได้ขยายเข้าไปในลาว
อย่างไรก็ตาม โครงการต่าง ๆ ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง
ถ้าหากรัฐบาลท้องถิ่นของยูนนานไม่สามารถที่จะเจรจา เพื่อสร้างกรอบของความสัมพันธ์ในข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจนกับประเทศที่มีผลประโยชน์
และ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาของยูนนาน ซึ่งประกอบด้วยพม่า
ลาว ไทย เวียดนาม และ กัมพูชา
การเจรจาร่วม 6 ฝ่ายระหว่างจีน พม่า ลาว และ ไทย เพื่อสร้างกรอบข้อตกลงในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง
2 ครั้งของปีนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยการเจรจาครั้งล่าสุดที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แม้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย [ADB] จะเห็นด้วยกับโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
6 ชาติก็ตาม แต่ก็สามารถทำได้เพียงการให้ความเห็นชอบในการอนุมัติงบประมาณ
4 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการพัฒนาต่าง
ๆ เพื่อการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเหล่านี้ โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษาวิจัย
13 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป
โดยที่ประชุม 6 ชาติร่วมกับ ADB นี้ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเป็น
6 สาขา คือ การคมนาคม การพลังงาน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้าการลงทุน
และ การท่องเที่ยว เฉพาะอย่างยิ่งในโครงการด้านการคมนาคมนั้นที่ประชุมมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับโครงการที่การปรับปรุงและซ่อมแซม
มากกว่าการก่อสร้างขึ้นใหม่ ทั้งยังต้องคำนึงถึงศักยภาพในการก่อให้เกิดการค้าเพื่อส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจเสรี
ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญในการพัฒนา 5 เส้นทางเชื่อมโยง ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
ตามเส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ เส้นทางเชื่อมโยงไทย-ลาว-เวียดนาม โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างทางหมายเลข
8.9 และ 12 ของลาว เส้นทางเชื่อมโยงไทย-พม่า-จีน ตามเส้นทางเชียงราย-KENGTUNG-DALOU-JINGHONG
เส้นทางเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน ตามเส้นทางเชียงราย-LUANGNAMTHA-BOTEN-JINGHONG
และเส้นทางเชื่อมโยงจีน-พม่า ตามเส้นทาง KUNMING-LASHIO ควบคู่กับการปรับปรุงสนามบินในกัมพูชา
เวียดนาม พม่า ลาวและยูนนาน ตลอดจนการปรับปรุงเส้นทางขนส่งทางน้ำตามแนวแม่น้ำโขง
"ข้อตกลงร่วม 6 ชาติ เพื่อให้มีการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ [FEASIBILITY
STUDY] ของโครงการต่าง ๆ นี้ไม่ได้หมายความว่า ภายหลังจากที่ผลของการศึกษาวิจัยสำเร็จลงแล้ว
ทุกประเทศจะให้ความเห็นชอบในการตกลงให้มีการดำเนินการพัฒนาในโครงการต่าง
ๆ ตามผลของการศึกษาวิจัยนั้น ๆ หากแต่ยังต้องการมีเจรจากันในรายละเอียดต่อไป
ในการประชุมร่วมเชิงปฏิบัติการ [WORKSHOP] ที่ประเทศเวียดนามในอีก 8-10 เดือนข้างหน้า"
สวนิต คงศิริ อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศกล่าว
ทั้งนี้โดยมีปัญหาที่ฝ่ายรัฐบาลลาวและพม่าซึ่งไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้อย่างเต็มที่
โดยทางการลาวให้เหตุผลว่า ประเทศลาวยังไม่มีความพร้อม และ ยังขาดงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการฯ
ตลอดจนรัฐบาลลาวยังขาดบุคคลากรเพื่อปฏิบัติงานในโครงการความร่วมมือนี้
"ลาวยังใหม่ในด้านการเปิดประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศสู่การท่องเที่ยวโดยเสรี เพราะฉะนั้นนโยบายการพัฒนาในทุก
ๆ ด้านของลาว จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียให้มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ลาวไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็คือโครงการความร่วมมือนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาการไม่มีทางออกสู่ทะเลของลาวได้ดีที่สุด"
อำพอนนาลี แก้วหล้า ผู้อำนวยการองค์การท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การประกาศท่าทีที่ชัดเจนของลาวเช่นนี้อย่างน้อยก็มีผลกระทบโดยตรงต่อระยะเวลาในการที่จะทำให้โครงการความร่วมมือ
ในการพัฒนาเหล่านี้ต้องยืดเยื้อออกไปจนกว่าทั้งจีน และไทยจะสามารถเจรจาให้ลาวมองเห็นผลประโยชน์ที่ลาวจะได้รับจากโครงการอย่างชัดเจน
มากกว่าการที่ลาวจะหมกมุ่นอยู่กับความหวาดระแวง ที่จะต้องตกเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นเพียงทางผ่าน
สำหรับการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและไทยเท่านั้น เพราะที่สำคัญคือ
รัฐบาลลาวมีความหวั่นเกรง ที่จะต้องตกเป็นฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์ มากกว่าที่จะได้รับประโยชน์เมื่อเทียบกับไทยและจีน
ในขณะเดียวกันกับที่ฝ่ายรัฐบาลพม่าก็ได้ให้เหตุผลถึงความไม่พร้อมว่า เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ
ที่รัฐบาลทหารของพม่าต้องประสบกับปัญหาการต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทยและจีน
ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารของพม่าไม่สามารถที่จะเข้าร่วมมือในโครงการพัฒนาได้อย่างเท่าที่ควร
เพราะไม่สามารถที่จะกุมสภาพภายในประเทศได้ทั้งหมด
ไม่มีประจักษพยานใดที่สามารถยืนยันได้ว่าไทยให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของพม่า
ซึ่งในช่วงวิกฤตของความสัมพันธ์ไทย-พม่านับตั้งแต่ปลายปี 2535 มาจนถึงปัจจุบัน
ทั้ง พล.อ. จรัล กุลละวณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและ พล.ท. เชษฐา
ฐานะจาโร แม่ทัพภาคที่ 1 ต่างก็ได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในพม่า
ระหว่างรัฐบาลทหารของพม่ากับชนกลุ่มน้อย
"อย่างไรก็ตาม การมีชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่านั้น นับเป็นผลดีที่จะปกป้องไทยในฐานะที่เป็นรัฐกันชนตราบเท่าที่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์และไม่ปักหลักอยู่เป็นหลักแหล่ง"
พล.ท. เชษฐา กล่าว
ในขณะเดียวกัน พล.อ. จรัล ก็ได้กล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ ว่า ด้วยนโยบาย
CONSTRUCTIVE ENGAGEMENT หรือความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์นี้ ไทยสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในพม่าด้วยสันติวิธี
"เรามีรายงานข่าวการจับกุมการลักลอบขนอาวุธทุกเดือน แต่ที่หลุดไปก็มาก
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันแสดงถึงความจริงใจที่รัฐบาลไทยไม่เคยสนับสนุนให้มีการต่อต้านรัฐบาลพม่า
แต่การที่รัฐบาลจะไปสั่งห้ามไม่ให้คนในท้องถิ่นระหว่างไทย-พม่า ไปมาหาสู่กันนั้น
เป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้ ซึ่งในประเด็นนี้ รัฐบาลกลางพม่าเขาก็เข้าใจ
ปัญหาจึงติดอยู่ที่รัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเท่านั้น"
พล.อ. จรัล กล่าวกับ "ผู้จัดการ
ทางด้านนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ หัวหน้าพรรคเสรีธรรม ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-พม่าจะสามารถฟื้นคืนดีขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยต้องเลิกใช้นโยบายความสัมพันธ์แบบ
"ตีสองหน้า" กับพม่าเท่านั้น ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่ทางการพม่าไม่ยอมต่ออายุสัมปทานป่าไม้
และ การทำประมงให้กับบริษัทเอกชนไทยในปี 2537 น่าจะเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่า
รัฐบาลกลางพม่าไม่พอใจและไม่ไว้วางใจต่อนโยบายของไทย
ฉะนั้นภาพของความร่วมมือที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นเพียงข้อตกลงความร่วมมือแบบทวิภาคีเท่านั้น
ดังจะเห็นได้จากโครงการเส้นทางเชื่อมโยงต้าหลั่ว-เชียงตุง ก็เป็นเพียงการตกลงร่วม
ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน กับรัฐบาลท้องถิ่นของพม่า ในขณะที่การตกลงโครงการเส้นทางเชื่อมโยงแม่สาย-เชียงตุงนั้น
แม้ว่าจะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างระหว่างเอกชนไทยกับผู้ว่าการจังหวัดเชียงตุงแล้วก็ตาม
แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากรัฐบาลกลางของพม่าได้สั่งระงับไว้ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าก็ได้แสดงท่าทีสนใจต่อโครงการต่าง ๆ นี้มาก ทั้งนี้โดยมุ่งหวังถึงผลประโยชน์จากการลงทุนในด้านอุตสาหกรรม
และภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลทหารของพม่ากำหนดให้ปี
2538 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวแห่งชาติ แต่ประเด็นที่ยังคงเป็นความกังวลใจที่รัฐบาลทหารของพม่าได้หยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกังวลใจก็คือ
ปัญหาการลุกลามของเชื้อโรคเอดส์ที่เป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาการเพิ่มจำนวนขึ้นของโสเภณีในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ
ๆ ติดตามด้วยปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบขนของเถื่อนตามแนวชายแดน
ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของคนจีน และปัญหาการพังทลายทางด้านวัฒนธรรมของชาติเนื่องจากการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมที่ดีขึ้น
จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางและยากที่จะควบคุมได้อย่างทั่วถึงซึ่งในประเด็นปัญหานี้
ทั้งไทยและจีนค่อนข้างที่จะให้น้ำหนักในการพิจารณาน้อยมาก
เฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นยูนนานนั้นแทบจะไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้เลย
ตรงกันข้ามกลับพยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นความต้องการของตนให้บรรลุผลสำเร็จให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ทั้งนี้โดยพิจารณาถึงเพียงความได้เปรียบที่ยูนนานมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาได้เท่านั้น
ซึ่งศักยภาพที่เด่นที่สุดของยูนนานที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วที่สุดก็คือ
การท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างมากมาย
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและปัญหาที่มีผลต่อความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาเหล่านี้
ยังไม่รวมถึงความจำเป็นที่ทั้งจีนและไทยจะต้องเจรจากับเวียดนามและกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษ
ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีส่วนได้เสียและต้องได้รับผลกระทบโดยตรง จากโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง
เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ตอนใต้ของแม่น้ำ ที่ต้องประสบกับปัญหาสภาพแวดล้อม
และการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของยูนนาน
ที่จำเป็นต้องสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำในปริมาณที่เพียงพอ สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด
9 ล้านกิโลวัตต์ และโครงการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำตามแนวแม่น้ำโขง ที่จำเป็นต้องมีการระเบิดเกาะแก่งมากกว่า
100 แห่งอันจะส่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเวียนของกระแสน้ำ ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก
ที่ใช้เป็นแนวในการแบ่งเขตพรมแดนระหว่างประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับพรมแดนในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทั้งจีน พม่า ลาว เวียดนามและกัมพูชา
จะต้องเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อสร้างกรอบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างกัน
ทั้งทางการเมือง และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลัก ทั้งนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกันขึ้นมาแทนที่ความหวาดระแวงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งจีน ไทย และเวียดนาม จำเป็นจะต้องมีแนวนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ชัดเจน
รวมถึงการวางบทบาทต่อปัญหาทางการเมือง ที่ยังคงดำรงอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในกัมพูชา หรือ ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า
ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขเป็นอันดับแรก
ทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดระเบียบข้อบังคับและวิธีการปฏิบัติ ที่เป็นปัญหาด้านเทคนิคที่ชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวิธีการศุลกากร ระเบียบวิธีการตรวจคนเข้าเมือง ระเบียบวิธีการขนส่ง
ระเบียบวิธีการเงิน-การธนาคาร ระเบียบการค้าชายแดน และระเบียบวิธีปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหา
ในกรณีที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างกันทั้งทางแพ่ง อาญา และข้อพิพาทระหว่างประเทศขึ้น
เพราะตราบใดก็ตามที่กลุ่มประเทศที่มีผลประโยชน์เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะสถาปนากรอบของความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างกันได้
ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายและผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่จะได้รับอย่างชัดเจน
หากแต่ยังคงมองข้ามปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกันแล้ว ตราบนั้น
QUADRANGLE ของไทย และ SILK ROUTE ที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของจีนในอันที่จะหาทางออกสู่ทะเลมาเป็นเวลากว่า
2 พันปี ย่อมไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง และเมื่อนั้นสุภาษิตโบราณของจีนที่ว่า
"หาทางออกทะเล ยากยิ่งกว่าหาทางไปสวรรค์" ก็จะยังคงความศักดิ์สิทธิ์ต่อไปตราบชั่วนิจนิรันดร์