"เขาช่วยได้เยอะมาก แล้วทำจริงๆ ไม่ว่าตึกถล่มหรือไฟไหม้ แม้เขาจะมีหน้าที่หลักคือเก็บศพก็ตาม"
แหล่งข่าวจากปอ.และกองตำรวจดับเพลิงต่างยอมรับถึงศักยภาพของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญูในการกู้ภัยแต่ละครั้ง
"แต่บางครั้งก็เป็นปัญหาตามมาทีหลังว่าของหาย"
สองมูลนิธินี้เป็นเหมือนนักบุญที่คอยชุบชีวิตผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์ต่างๆ
เรียกว่าที่ไหนเดือนร้อน ก็ไปถึงที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการช่วงชิงความดีและผลงานเพื่อประกาศศักดิ์ศรีจนภาพนักบุญกลายเป็นภาพผู้ร้ายอยู่บ่อยๆ
เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดและแย่งกันทำความดี เพราะเชื่อว่าการเก็บศพโดยเฉพาะศพไร้ญาตินั้น
เป็นการนำวิญญาณผู้ตายไปสู่ที่เกิดใหม่ ซึ่งถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ขณะที่ทางมูลนิธิร่วมกตัญญูถือความคิดว่า
การแข่งขันทำบุญย่อมจะดีกว่าการผูกขาด หลังจากที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเกิดก่อนถึง
33 ปี
ถ้าเทียบกันแล้ว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้เปรียบตรงความใหญ่โดยเริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี
2445 เน้นหนักงานบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและตกทุกข์ได้ยากเพื่อสานต่อเจตนารมย์ของหลวงปู่ไต้ฮง
พระจีนที่อุทิศตนช่วยคนประสบภัยพิบัติในจีน
คนไทยที่นำโดยฮง เตชะวานิชกับคณะจากเมืองจีนอีก 11 คนจึงรวมกลุ่มกันในไทยเพื่อเผยแพร่กิจกรรมกุศลอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการแจกยา
แจกอาหารตลอดจนถึงการเก็บศพอยู่ข้างวัดคณิกาผล กรุงเทพฯ
จนต่อมาเมื่อกรรมการเก่าตายกันไปมาก บรรดาลูกหลานของคนตาย ประกาศหนังสือพิมพ์ให้บรรดานายกสมาคมจีนในไทยเข้ามาช่วยเลือกคนที่มีคุณสมบัติเพื่ออุทิศตัวรับผอดชอบงานต่อไป
พร้อมทั้งตั้งเป็นมูลนิธิในปี 2480 อันเป็นโครงสร้างที่จะช่วยกระจายการทำประโยชน์แก่สังคมให้กว้างขึ้น
จะเห็นว่ามีทั้งการสร้างโรงพยาบาลหัวเฉียวเพื่อรับผู้ป่วยทุกสาขา ตั้งสุสานวัดดอน
วิทยาลัยหัวเฉียว รวมถึงโครงการมหาวิทยาลัยหัวเฉียวที่บางนา-ตราด
ขณะที่มูลนิธีร่วมกตัญญูเกิดขึ้นจากพ่อค้าขายกาแฟชาวจีนที่มีหัวใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ด้อยโอกาสกว่าในชุมชนแออัด
ตรอกโรงหมู กล้วยน้ำไท โดยเฉพาะกับคนจนๆ ที่ตายแล้วไม่มีเงินซื้อโลงศพ สมเกียรติ
สมสกุลรุ่งเรืองก็ซื้อให้ทุกราย
ต่อมา พอมีคนขอความช่วยเหลือมากเข้า เพราะเห็นว่าสมเกียรติใจบุญ ขณะที่เขาคิดว่าลำพังตัวเองและครอบครัวคงช่วยไม่ไหว
ก็รวบรวมพรรคพวกจนได้โรจน์ โชติรุ่งเรืองหมอแผนโบราณย่านนั้นสมทบเป็นกำลังสำคัญ
โดยเฉพาะงานเก็บศพได้ขยายวงจรจากท่าเรือคลองเตยระเรื่องไปพระโขนง พระประแดง
บางขุนเทียน ซึ่งแรกๆ จะทำในนามของ "ศาลหลวงปู่เปี่ยม" ศาลเจ้าพ่อละแวกนั้นที่มีผู้คนนับถือ
จนมาตั้งเป็นมูลนิธิในปี 2513 เพื่อมุ่งงานเก็บศพโดยเฉพาะ ทำให้ 2 มูลนิธิเริ่มแข่งขันเพื่อเอาผลงานกันมากขึ้น
ยิ่งเกิดกรณีน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อปี 2517 มูลนิธิร่วมกตัญญูได้ขยายงานเพิ่มในส่วนงานแผนกช่วยเหลือผู้ประสบภัยและศูนย์วิทยุสื่อสาร
รวมถึงงานการศึกษาเพื่อเด็กทั่วประเทศ ยิ่งทำให้มูลนิธิใหญ่อยากรวบมูลนิธิเล็กไว้ในอำนาจมากขึ้นเพื่อตัดคู่แข่ง
แต่มูลนิธิร่วมกตัญญูประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมอยู่ในอาณัติของใคร
เพราะเชื่อว่า การทำความดีก็ต้องแข่งขันและเสรี สังคมจึงจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น…!
เมื่อแข่งกันด้วยทิฐิความดี บุญก็กลายเป็นบาปไปโดยไม่ตั้งใจ จนเกิดภาพการช่วงชิงที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
โดยเฉพาะใครเก็บศพได้ก่อนก็ถือว่าเป็นผลงานที่จะอวดกับประชาชนว่าตนมีประสิทธิภาพกว่า
ระยะหลังจึงมีข่าวแย่งศพ ขับรถตัดหน้าโฉบเฉี่ยวเพื่อให้ได้ศพก่อนอยู่เนืองๆ
ถึงขนาดที่ออกข่าวเกทับกันสุดขั้ว หากใครพลาดพลั้งเสียท่าเกิดไปเก็บศพใครแล้วของหายขึ้นมา
ด้วยทิฐิแห่งความเชื่อที่ผูกติดอย่างแน่นหนา จึงมีข่าวตามออกมาด้วยว่าทางมูลนิธิจ่ายค่าศพที่เก็บได้เป็นรายหัวเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานและโชว์ผลงาน
แม้ทั้ง 2 มูลนิธิจะปฏิเสธกระแสข่าวอย่างหนักแน่นก็ตาม แต่มิอาจตัดความเชื่อในใจประชาชนได้อยู่ดี
จนภายหลังเมื่อกระทบกันมากเข้า ยิ่งจะเสียภาพพจน์ทั้งคู่ จึงมีข้อตกลงว่าถ้าใครถึงก่อนก็ให้ฝ่ายนั้นดำเนินการ
ถ้าไปถึงพร้อมๆ กัน ก็ให้ตำรวจเป็นคนชี้ว่าใครควรจะเป็นคนเก็บศพ แต่อีกนั่นแหละ
"มีการลอบบี้ตำรวจกันอีก" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องมูลนิธิดีกล่าวถึงเบื้องหลัง
มูลนิธิทั้งสองซึ่งเคยเป็นเหมือนคู่บุญในสายตาประชาชนในหลายครั้งจึงกลายเป็นคู่แค้นไปด้วย…!
แต่เชื่อว่าถ้ามีการจัดระบบประสานงานและการสั่งการที่ดี มูลนิธิจะช่วยงานกู้ภัยได้อย่างแข็งขันทีเดียว