ปัดฝุ่นโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ตั้งเป้าขยายร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 15,000 แห่งในปีนี้ และ 20,000 ร้านในปี 2551 พร้อมยกมาตรฐานร้านอาหารด้วยเครื่องหมาย Thai Select แก่ร้านค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพ เล็งเพิ่มขยายตลาดใหม่กลุ่มประเทศนิยมเที่ยวไทย “จีน-อินเดีย-ยุโรปตะวันออก” ขณะที่สถาบันอาหารเน้นเพิ่มศักยภาพ R&D เพื่อการส่งออก และทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
หลังจากที่ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งให้มีการพิจารณาแนวทางดำเนินโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกใหม่ (Kitchen to the World) โดยให้กระจายความรับผิดชอบไปหลายหน่ายงานตามความเหมาะสมเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลด้านมาตรฐาน, กระทรวงพาณิชย์ดูแลการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยไปตลาดต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลด้านวัตถุดิบล่าสุดอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกได้เริ่มวางแผนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกอีกครั้ง เป้าหมายให้เกิดร้านอาหารไทยในต่างแดนวางไว้อยู่ที่เท่าใด ตลาดไหนบ้างที่จะเป็นอีกทางความหวังของร้านอาหารไทย
เพิ่มร้านอาหารไทย 1.5 หมื่นแห่ง
ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวถึงความคืบหน้า “โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก” ว่า ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมการส่งออกและสถาบันอาหารได้ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการถ่ายโอนกิจกรรมด้านการตลาดของโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะให้กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวเชิงปริมาณปี 2550 จะสามารถสนับสนุนการขยายธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น15,000 แห่งและปีหน้าเพิ่มเป็น 20,000 แห่ง พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานร้านอาหาร
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายการมอบเครื่องหมายมาตรฐาน Thai Select ให้แก่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้ได้ 1,000 ร้านทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกอาหารของไทยเพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าหมายจะมีร้านอาหารไทยที่ได้รับเครื่องหมาย Thai Select เพิ่มเติมอีกประมาณ 400 ร้าน โดยปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ได้รับ Thai Select ไปแล้วกว่า 650 ร้านทั่วโลก
“ตอนนี้อาหารไทยได้รับความนิยมในต่างประเทศมากเชื่อว่าติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาหารที่ได้รับความนิยมของโลก จากนี้กรมจะรับผิดชอบด้านการตลาดส่วนในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สถาบันอาหารจะรับผิดชอบเชื่อว่าการให้เครื่องหมาย Thai Select จะเป็นการรับประกันถึงคุณภาพมาตรฐานของร้านอาหารนั้นหากผู้บริโภคจะกินอาหารไทยก็ต้องไปร้านที่มีเครื่องหมายนี้”
เล็งเพิ่มร้านค้ากลุ่มนิยมเที่ยวไทย
อย่างไรก็ดีการขยายร้านค้าในต่างประเทศจะเน้นไปที่ตลาดหลักคือประเทศที่มีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยมุ่งเน้นการเพิ่มความถี่ของการใช้บริการร้านอาหารไทยรวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและการปรับปรุงฝีมือของพ่อครัวแม่ครัว ขณะที่ตลาดใหม่เน้นการบุกขยายตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนการเปิดร้านอาหารไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น การขยายสาขาแฟรนไชส์ และการร่วมทุนโดยดูจากอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมากอาทิ ประเทศจีน, กลุ่มสแกนดิเนเวีย, ยุโรปตะวันออก, ประเทศรัสเซีย ประเทศอินเดีย และตะวันออกกลาง
สร้างเครือข่ายจับคู่ธุรกิจในต่างประเทศ
ส่วนในการสนับสนุนร้านอาหารไทยนั้นจะมุ่งสร้างมาตรฐานร้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดน โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาคุณภาพของภัตตาคารไทย จะให้ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศทั้ง 58 แห่งทั่วโลกทำการโปรโมต
ร้านอาหารไทยเพื่อให้ต่างประเทศได้รู้จักมาตรฐานสินค้าอาหารไทย และจะนำไปสู่การส่งออกสินค้าอาหารและบุคลากร ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือสถาบันการศึกษาของไทยที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับอาหารร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ จัดอบรมการทำอาหารไทยเมื่อเรียนจบแล้วจะได้ใบรับรองนำไปเป็นหลักฐานทำงานในร้านอาหารไทยได้แก้ปัญหาขาดแคลนพ่อครัว ซึ่งในเดือนเมษายนนี้สถาบันการศึกษาของไทยจะลงนามความตกลง (MOU) กับสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และจะขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ อีก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบางประเทศในยุโรป
นอกจานี้ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายจะดำเนินกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจร้านอาหารไทย และธุรกิจค้าส่งอาหารรวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับธุรกิจในต่างประเทศ อาทิ ผลักดันให้มีการบริการเมนูอาหารไทย การใช้วัตถุดิบหรือเครื่องปรุงรสจากไทยในการปรุงเมนูอาหารสากล
สถาบันอาหารเพิ่มศักยภาพ R&D
ด้าน ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวว่า หน้าที่ของสถาบันฯ จะรับผิดชอบด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยจะส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต และบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสนับสนุนมาตรฐานและประสิทธิภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกโดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งให้ข้อมูลชี้นำและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันกับตลาดคู่แข่งที่สำคัญ คือ ประเทศจีนและเวียดนาม ที่ได้เปรียบในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าโดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในทุกระดับทำให้ทางสถาบันอาหารวางแผนจับมือกับกรมอาชีวศึกษา เพื่อเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก
อีกทั้งสถาบันอาหารยังได้ตั้ง“โครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรรมอาหาร” หรือ Food Intelligence Center เพราะข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ในการตัดสินใจข้อมูลที่เหนือกว่าจะช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และวางแผนที่ตรงตามสถานการณ์มากกว่าให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูลข่าวสารเพื่อนำมาปรับใช้ และส่งเสริมโครงการครัวไทยสู่โลกให้มีศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายของไทยที่ทางรัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นครัวของโลก
สร้างศูนย์เฝ้าระวัง-เตือนภัย
โดยได้จัดทำฐานข้อมูลเพื่ออุตสาหกรรมอาหารไม่ว่าจะเป็นข้อมูลกฎระเบียบมาตรฐานอาหารของประเทศคู่ค้าเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ประเทศจีน, ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์, ประเทศเกาหลีใต้, ประเทศไต้หวัน, ประเทศฮ่องกง และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กฎระเบียบการขอจัดตั้งร้านอาหารในต่างประเทศ, กฎระเบียบมาตรฐานอาหารไทยสถิติการนำเข้า-ส่งออก, แบบรายปีและย้อนหลัง 11 ปี, ฐานข้อมูลความเคลื่อนไหวประจำวันจากหนังสือพิมพ์ในประเทศย้อนหลัง 3 ปี, ข้อมูลการแปรรูปอาหารสำหรับ SMEs, ข้อมูลเบื้องต้นสมุนไพรอาหาร และข้อมูลด้านพิษวิทยาเพื่อการประเมินความเสี่ยงในอาหาร
“เราต้องการให้เป็น One Stop Information โดยอยู่ในช่วงเริ่มทดลองใช้หลังจากได้พัฒนาเว็บไซด์มานานกว่า 3 ปีซึ่งขณะมีสมาชิกแล้วกว่า 2,700 รายเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 80% โดยมุ่งที่จะพัฒนาศูนย์สารสนเทศฯ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนด้านมาตรการของคู่ค้าในแต่ละประเทศ ที่มีข้อบังคับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารที่แตกต่างกัน” ผอ.สถาบันอาหาร ระบุ
สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานนั้นสถาบันอาหารได้รับงบประมาณผูกพันข้ามปีประมาณ 500 ล้านบาทในการดำเนินงานสนับสนุนส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ผ่านมาเน้นโครงการฝึกอบรมสร้างมาตรฐานพ่อครัว-แม่ครัวไทยในต่างประเทศโดยดึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาชั้นนำเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เดินทางไปฝึกอบรมพ่อครัว-แม่ครัวไทยในต่างประเทศ ทั้งออสเตรเลีย เดนมาร์ก สวีเดน เป็นต้น