|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จวกรัฐไทยใช้นโยบาย "ไม้หลักปักเลน" ทำแผนพัฒนาภาคเหนือตอนบนรองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพ "ปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง" ตลอดกว่า 1 ทศวรรษ ขณะที่กลุ่มทุน-รัฐวิสาหกิจจีน เปิดเกมรุกปักธงลงทุนตามแนวโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก-ทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผุด 6 โปรเจกยักษ์ยึดหัวหาดตลอดแนวถนน R3a - พื้นที่ริมฝั่งโขง เขต สปป.ลาว แถมพกด้วยเขตปลอดอากร-ท่าเรือคอนเทนเนอร์ชายแดนไทย ต่อจิ๊กซอว์ Logistic คุนหมิง-กรุงเทพฯ ด้วยโครงการลงทุนจุดพักรถที่แยกอินโดจีนมูลค่า 200 ล้าน
โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Economic Quadrangle Cooperation) คือ แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสี่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบนของไทย - มณฑลหยุนหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน - แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไชยะบุรี อุดมไชย และหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว) และรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 100 ล้านคนนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า เริ่มต้นผลักดันกันมานานกว่า 10 ปี แต่จนถึงขณะนี้การเตรียมการรับมือของไทยกลับไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หลายโครงการต้องปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง
พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานฝ่ายการค้าชายแดน ยอมรับว่า นโยบายของรัฐไทยในเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ดูเหมือนเป็นเพียงตัวหนังสือในหน้ากระดาษ ยังไม่มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง เช่น เขตเศรษฐกิจชายแดนเชียงราย ที่มีมติ ครม.ออกมาแล้ว จนถึงวันนี้ ก็ยังเป็นเพียงมติ ครม.เท่านั้น ไม่มีการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา, นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน เกิดแล้วดับ, ท่าเรือเชียงแสน 2 ที่ผลักดันขึ้นมานานหลายปี รองรับการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำโขงที่ขยายตัวสูงขึ้นจนท่าเรือเชียงแสน 1 ไม่สามารถรองรับได้ ล่าสุดในปีงบประมาณ 51 ไม่ได้รับงบสนับสนุน ปีงบฯ 52 ยังไม่แน่ใจว่า จะได้รับงบสนับสนุนหรือไม่, นิคมฯเชียงของ จ.เชียงราย ที่กำหนดพื้นที่ไว้รองรับห่างจากจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (บ้านดอนไข่นก อ.เชียงของ จ.เชียงราย) 5 กม. เนื้อที่ 1.6 หมื่นไร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก่อสร้างได้หรือไม่ และเมื่อไหร่
นอกจากนี้แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับโครงข่ายถนนจากคุนหมิง มณฑลหยุนหนาน ผ่านพม่า (R3b) / ลาว (R3a) - กรุงเทพฯ - แหลมฉบัง ที่น่าจะใช้การขนส่งระบบรางที่มีต้นทุนต่ำที่สุดมารองรับ ทุกวันนี้ก็ยังเป็น "วุ้น" อยู่ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟเด่นชัย - เชียงราย ที่ผลักดันกันข้ามทศวรรษ และแม้ว่า สนข.จะมีแผนพัฒนาต่อไปถึงแม่สาย / เชียงแสน / เชียงของ จ.เชียงราย แต่ยังตอบไม่ได้ว่า จะออกหัวหรือก้อย
อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีผลกระทบต่อแนวทางพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือรองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้ง ทำให้การดำเนินงานของไทยไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจนออกมาให้เห็น ผิดกับประเภทสมาชิก โดยเฉพาะ จีน ที่รัฐ - เอกชน ดำเนินงานร่วมกันอย่างได้ผล จนสามารถรุกเข้าครอบครองพื้นที่การลงทุน - ธุรกรรมการขนส่งระหว่างประเทศภาคีได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ
ขนส่งผ่านน้ำโขงในเงื้อมจีนเบ็ดเสร็จ
อนันต์ บอกว่า ถึงวันนี้ต้องยอมรับแล้วว่า การขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจากเชียงรุ้ง - อ.เชียงของ จ.เชียงราย เรือทุกลำล้วนเป็นของจีนหมด อาจจะมีเพียง 1-2 ลำเท่านั้น ที่ระยะหลังนักลงทุนไทยเข้าไปเช่ามาดำเนินการ แต่ก็ต้องใช้บุคลากรจีนทั้งสิ้น ไม่รวมถึงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขง ที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ รวม 3 เขื่อน และมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 8-9 เขื่อน ทำให้จีนสามารถควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน
พัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ นายด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย เพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมทุนกับภาคเอกชนไทย เตรียมลงทุนพัฒนาห้างสรรพสินค้าห้าเชียงพลาซ่า ของนายวัฒนา อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ขึ้นมาใหม่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ รองรับการขนส่งคอนเทนเนอร์ผ่านแม่น้ำโขง โดยใช้เรือขนาด 300-500 ตัน รองรับจำนวน 2 ลำ สามารถขนสินค้าได้ครั้งละ 12 ตู้ต่อลำ พร้อมกับขอเปิดเป็นเขตปลอดอากร ตามกฎหมายศุลกากรด้วย มีกำหนดเปิดตัวภายใน 1-2 เดือนต่อจากนี้
ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพัฒนาที่ดิน - เขตอุตสาหกรรมจากจีน กำลังเจรจากับผู้ร่วมทุนฝ่ายไทย ลงทุนพัฒนาที่ดินประมาณ 300-500 ไร่ ติดถนนสายแม่จัน - เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อลงทุนทำเขตอุตสาหกรรม SME ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมปลอดมลพิษเป็นหลัก คาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนต่อจากนี้
ทุนมังกรผุดนิคมฯ-รัฐวิสาหกิจจีนปั้นเขตเศรษฐกิจชายแดน
นอกจากนี้ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ยังอธิบายถึงความเคลื่อนไหวในการลงทุนจีนในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจขณะนี้อีกว่า การลงทุนจากภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจจีนในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย พม่า ลาว จีน เป็นไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะการลงทุนตามแนวถนน R3a จีน - ลาว - ไทย ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 50-51 เชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงรายนั้น จนถึงขณะนี้กลุ่มทุนจีนวางแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 6 โครงการหลัก ๆ คือ เขตเศรษฐกิจที่เชียงรุ้ง ขนาด 26 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีกลุ่มทุนสิงคโปร์เข้าร่วมดำเนินการด้วย, เขตเศรษฐกิจชายแดน Mo han (ชายแดนจีน-ลาว) รัฐบาลปักกิ่งได้อนุมติให้พัฒนาเขตเศรษฐกิจแห่งนี้เมื่อปลายปี 49 ที่ผ่านมา มี Mr.Yang Zie เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาด 22 ตารางกิโลเมตร ล่าสุดเริ่มลงมือถมที่-ทำถนน คืบหน้าไปกว่า 10% แล้ว รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามมากับถนน R3a
นอกจากนี้กลุ่มทุนจีน ได้รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจคู่แฝด Mo han ที่ชายแดน บ่อเต็น (ตรงข้ามกับ Mo han) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจีนเครือคุนหมิง สตีล ได้เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานรีดเหล็กที่หลวงน้ำทา ในนามบริษัท Laos GN steels , โครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และเขตนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านต้นผึ้ง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย) เนื้อที่นับหมื่นไร่ โดยขณะนี้กลุ่มบริษัท Hong yu จำกัด จากจีน ได้เสนอขอสัมปทานเช่าพื้นที่จาก สปป.ลาวแล้ว เพื่อลงทุนทำนิคมฯ-เขตปลอดภาษีขึ้น
เขายังบอกอีกว่า นอกจากนี้จีนยังดำเนินการพัฒนาเส้นทางจากเชียงรุ้ง - Mo han ให้เป็นถนนสี่เลนตลอดสาย ลดความลาดชันในหลาย ๆ จุดด้วยการเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือไม่เกินปี 2551 รองรับการถนน R3a ที่ขณะนี้มีเฉพาะช่วงเมืองห้วยทราย - เวียงภูคาเท่านั้น ที่ยังอยู่ในระยะการบดอัดเตรียมลาดยาง
รุกคืบกุม Logistic คุนหมิง-กรุงเทพฯ
ในระหว่างที่โครงข่ายถนนสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจกำลังเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปีต่อจากนี้ (R3a ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงของ - R3b ผ่านพม่า เข้าไทยที่ อ.แม่สาย) นี้นั้น ประเด็นที่นักธุรกิจท้องถิ่นภาคเหนือของไทยกำลังวิตกกังวลว่า จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ สุดท้ายกลุ่มทุนจีนจะเข้ามายึดกุมธุรกรรมการขนส่งทางบกผ่านเส้นทางเหล่านี้เหมือนกับการขนส่งผ่านแม่น้ำโขง
พัฒนา บอกว่า หากดูทิศทางนโยบายของจีนแล้วจะเห็นว่า ทุ่มงบประมาณลงพัฒนาถนนจากเชียงรุ้ง - Mo han เป็นถนน 4 เลน ลดความลาดชันในเขตภูเขาด้วยการเจาะเป็นอุโมงค์ เชื่อมกับ R3a ต่อเนื่องถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว - อ.เชียงของ จ.เชียงราย - กรุงเทพฯ แหลมฉบัง และความเคลื่อนไหวกลุ่มทุนขนส่งขนาดใหญ่ของมณฑลหยุนหนาน ที่เคยหารือด้วยได้เตรียมบุคลากรไว้รองรับธุรกิจการขนส่งสินค้าภูมิภาคอินโดจีนจำนวนหลายพันคนแล้ว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลังจากถนนสายต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์ กลุ่มทุนขนส่งของจีนจะรุกเข้ามาลงทุนในด้านนี้อีกมาก
ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับ ซึ่งขณะนี้มาตรการรองรับการขนส่งระหว่างประเทศมีเพียงข้อตกลงใน GMS ที่เฉพาะไทย-พม่า มีโควตารถบรรทุกข้ามไปมาระหว่างกัน (แม่สอด กับแม่สาย) ประเทศละ 200 คัน ขณะที่จีนนอกจากจะมีโควตาของตนเองแล้วเชื่อว่า ยังสามารถเข้ามาสวมโควตาของ สปป.ลาว - พม่า ได้อย่างแน่นอน
ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุดทราบว่า ภายใต้ข้อตกลง GMS ไทยยังตกลงที่จะให้หัวลากของประเทศภาคีสามารถวิ่งข้ามประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้หัวลากจากจีนวิ่งทะลุถึงท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งใด ๆ ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันวิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวกลุ่มนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เตรียมกว้านซื้อที่ดินย่านสี่แยกร้องโพธิ์หรือสี่แยกอินโดจีนบริเวณริมถนนมิตรภาพ (สาย 12) เนื้อที่ 40-50 ไร่ จุดตัดระหว่างถนนคุนหมิง - กรุงเทพฯ กับเส้นทางสาย East-West Corridor ราคาประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านนอมินี เพื่อใช้เป็นสถานที่จอดและพักรถบรรทุกหัวลาก รองรับการขนสินค้ามาจากจีน - เชียงรายผ่านลงมาตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวติดภาวะจำนองกับธนาคารกรุงไทยอยู่
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ดูเหมือนจะบ่งชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจได้ชัดเจนว่า ก้าวเข้าไปอยู่ใต้อุ้งมือจีนแบบเบ็ดเสร็จทุกมิติมากขึ้นทุกขณะ
|
|
|
|
|