ไม่ว่าจะพากเพียรเปลี่ยนตัวเองเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากแค่ไหน แต่จนแล้วจนรอดสิงคโปร์ก็ยังตามหลังฮ่องกงหลายขุม ในเส้นทางสู่จุดหมายการเป็นฮับการเงินแห่งเอเชีย
ทรัพย์สินในมือผู้จัดการกองทุนในฮ่องกงเพิ่มพูนสามเท่าระหว่างปี 2000-2005 อยู่ที่ 579,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทรัพย์สินของผู้จัดการกองทุนแดนลอดช่องเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 472,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่ารวมของตลาดหุ้นฮ่องกงมีมากกว่าสิงคโปร์กว่าห้าเท่า
ว่าที่จริง สิงคโปร์และฮ่องกงมีหลายอย่างคล้ายกันนอกเหนือจากสถานะอดีตอาณานิคมของอังกฤษ เป็นต้นว่าผ่องถ่ายตัวเองสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ในเวลาไม่กี่ทศวรรษ และต่างสร้างเนื้อสร้างตัวจากการค้า การเงิน และการลงทุนระหว่างประเทศ
ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฮ่องกงปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 37,385 ดอลลาร์ต่อหัว ทั้งนี้ อิงกับอำนาจซื้อเสมอภาค (พีพีพี) ส่วนของสิงคโปร์อยู่ที่ 31,165 ดอลลาร์ ทำให้ฮ่องกงและสิงคโปร์มีอันดับโลกในด้านนี้อยู่ที่ 7 และ 21 ตามลำดับ
ระหว่างปี 2000-2005 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวเฉลี่ย 5.3% ต่อปี เทียบกับ 5.1% ของสิงคโปร์
ทว่าเป็นที่น่าสังเกตว่า การขยายตัวของแดนลอดช่องอิงกับรากฐานที่รัฐบาลปูทางเอาไว้
เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ หน่วยการลงทุนของรัฐบาลที่บริหารสินทรัพย์อยู่ราว 84,000 ล้านดอลลาร์ในขณะนี้ ถือหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ 7 ใน 10 แห่งในสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ และดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
แดนลอดช่องประกาศเจตนารมณ์ว่า ต้องการกระจายโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์, คอมพิวเตอร์ดิสก์ไดรฟ์ และโทรศัพท์มือถือ โดยเมื่อสองปีก่อนรัฐบาลตัดสินใจเลิกแบนสถานกาสิโน และสามารถดึงดูดการลงทุนได้หลายพันล้านจากลาสเวกัส แซนด์ส และเกนติ้งของมาเลเซีย
สิงคโปร์ยังอ้าแขนรับบริษัทต่างชาติสู่อุตสาหกรรม อาทิ สื่อดิจิตอล และเทคโนโลยีชีวภาพ
อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ภาครัฐอยู่ที่ระดับสูงสุด AAA ทั้งจากการจัดอันดับของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส, สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส และฟิตช์ เรตติ้งส์ ความมั่นคงดังกล่าว ประกอบกับมาตรการจูงใจของรัฐบาล ทำให้นครรัฐแห่งนี้ดึงดูดบริษัทต่างชาติได้มากมาย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ลงความเห็นว่า การยึดกุมเศรษฐกิจของรัฐบาล กลายเป็นการทำหมันลัทธิผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของฮ่องกง แม้ว่าทางการแดนลอดช่องจะเริ่มผ่อนคลายเขี้ยวเล็บ แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะตามทันไข่มุกแห่งเอเชีย
แอนดี้ ซี นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของฮ่องกง ที่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนเลย์ในเอเชียเมื่อปลายปีที่แล้ว ภายหลังเขียนอีเมลวิจารณ์สิงคโปร์ บอกว่ารัฐบาลที่เข้มแข็งกับภาคเอกชนที่แข็งแกร่งไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้
ลีกวนยู อดีตผู้นำและรัฐบุรุษ ดูเหมือนรู้ดีว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับสิงคโปร์วันนี้คือ การพาประชาชนออกจากรูปแบบเดิมๆ
“แค่บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน มีการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่เพียงพออีกต่อไป แต่เราต้องมีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการ”
แดนลอดช่องยังพยายามลบภาพพจน์รัฐพี่เลี้ยง อาทิ ในปี 2004 รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการแบนการขายหมากฝรั่งที่ใช้มา 12 ปี โดยยอมให้ประชาชนใช้ใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อซื้อหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาลและช่วยฟอกฟันขาว
ขณะเดียวกัน สิงคโปร์หมายมั่นปั้นมือที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจการจัดการทรัพย์สินเพื่อความมั่งคั่ง การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ด้วยการแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ปี 2015 แดนลอดช่องตั้งเป้าว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์
นับจากที่ประกาศให้ชีวการแพทย์เป็นจักรกลสร้างการเติบโตใหม่เมื่อปี 2000 การผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์บนประเทศเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าเป็น 23,000 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลสิงคโปร์ยังลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ สร้างนิคมวิทยาศาสตร์ ไบโอโพลิส ซึ่งเป็นที่ตั้งสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ และกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทเวชภัณฑ์และชีวการแพทย์กว่า 100 แห่ง อาทิ เมิร์ก แอนด์ โค. และไฟเซอร์ นอกจากนั้น นักวิจัยระดับหัวกะทิ 16 คนจากอังกฤษและอเมริกา ยังย้ายมาแดนลอดช่อง ในจำนวนนี้รวมถึงอลัน คอลแมน ผู้มีส่วนร่วมในการสร้างแกะโคลนนิ่ง ดอลลี่ และซิดนีย์ เบรนเนอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2002
ความทุ่มเทต่างๆ ที่กล่าวมาส่งผลให้ปีนี้ สิงคโปร์ได้รับตำแหน่ง 1 ใน 5 ทำเลทองของการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากการสำรวจของเฟียร์ซ ไบโอเทค วารสารเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐฯ โดยอีก 4 ทำเลทอง ได้แก่ สก็อตแลนด์ และ 3 มลรัฐในอเมริกาคือ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และวอชิงตัน
ในทางกลับกัน ความทะเยอทะยานที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งเอเชียดูจะไม่ราบรื่นเหมือนด้านอื่น โดยโจทย์สำคัญที่สิงคโปร์ต้องแก้ให้ตกคือ การเอาชนะจุดแข็งของฮ่องกงในการเป็นประตูสู่จีน ประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดของโลก และมีประชากรหนาแน่นถึง 1,300 ล้านคน
มูลค่าตลาดรวมของฮ่องกงวันนี้อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ทิ้งห่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่มีมูลค่าเพียงหลักพันล้านดอลลาร์ รัฐวิสาหกิจแดนมังกร เช่น แบงก์ ออฟ ไชน่า ที่เลือกตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นแหล่งระดมทุนระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุทำให้ส่วนต่างถ่างกว้างขึ้น
โดนัลด์ สตราไซม์ ผู้บุกเบิกการลงทุนในจีนให้กับรอธ แคปิตอล พาร์ตเนอร์ส มองว่าตำแหน่งเมืองหลวงทางการเงินแห่งแปซิฟิกริมน่าจะตกเป็นของฮ่องกงมากกว่าสิงคโปร์ เพราะตอนนี้ ฮ่องกงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่ศูนย์กลางการเงินโลกพึงมีอยู่แล้ว
ปัญหาของสิงคโปร์ยังอยู่ที่การพึ่งพิงภาคการผลิต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 28% ของจีดีพีปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของฮ่องกงมีไม่ถึง 10% ผลคือสิงคโปร์เสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างจีนและอินเดีย
ซีคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในทศวรรษหน้าอาจเบาบางแค่ 2% เนื่องจากผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ย้ายฐานออกไป
กระนั้นแดนลอดช่องพยายามลดต้นทุนด้วยการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลง 6% นับจากปี 2000 อยู่ที่ 20% ขยับลงมาใกล้ภาษีของฮ่องกงที่ระดับ 17.5% เมื่อกลางเดือนที่แล้ว สิงคโปร์ยังแย้มว่าจะลดภาษีดังกล่าวเหลือ 18% ในปีหน้า
ขณะเดียวกัน ใช่ว่าฮ่องกงดีพร้อมไปทุกอย่าง การเติบโตอย่างได้ใจนำมาซึ่งด้านลบเช่นเดียวกัน อาทิ ค่าเช่าอาคารที่อยู่อาศัยระดับหรูแพงกว่าในสิงคโปร์ 54% ส่วนค่าเช่าอาคารสำนักงานแพงกว่าสองเท่า
แต่จุดอ่อนสำคัญน่าจะเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงงานในจีน และทำให้ชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งตัดสินใจเก็บกระเป๋าย้ายไปสิงคโปร์
ปีที่แล้ว อันดับของฮ่องกงหล่นไป 12 จุด อยู่ที่ 32 ในการสำรวจเมืองที่ดึงดูดคนต่างชาติมากที่สุดที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา อีซีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล สาเหตุคือคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ ขณะที่สิงคโปร์ติดอันดับบนสุดของตารางจากการสำรวจ 257 เมืองทั่วโลก
สเปนเซอร์ ไวท์ นักวิเคราะห์จากเมอร์ริล ลินช์ ทิ้งท้ายเรื่องนี้ว่า มลพิษทางอากาศอาจส่งผลต่อขีดความสามารถแข่งขันของฮ่องกงในระยะยาว
|