|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หุ้นกลุ่มแบงก์แฮปปี้รับช่วงดอกเบี้ยขาลง โบรกฯ ประเมินบัวหลวงเริงร่าสุด เหตุได้โชค 2 ชั้น ทั้งจากราคาพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น และการเป็นธนาคารขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ลดแต่ดอกเบี้ยเงินฝากโดยไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม แม้จะมีดอกเบี้ยรับที่ลดลงแต่ก็มีดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงด้วย หักลบกลบกันแล้วก็ยังคงได้ประโยชน์สูงสุดอยู่ดี
จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ยที่ได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ได้ทยอยปรับลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 3.5% ในเดือนมีนาคม 2550 คิดเป็นการปรับลดลง 113 basis points (bps) ภายใน 6 เดือน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงสุดที่ 7.75% ต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2550 ก่อนที่จะเริ่มปรับลดลงครั้งแรกเพียง 15 bps ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ประเด็นดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงครั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ได้มีการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเป็นส่วนของต้นทุนลงในสัดส่วนที่มากกว่าสัดส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเป็นส่วนของรายได้
สำหรับธนาคารที่จะได้รับประโยชน์ในทิศทางดอกเบี้ยขาลงมากที่สุด บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ ประเมินว่าน่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เนื่องจากธนาคารมีการลงทุนตราสารหนี้มากถึง 1 ใน 5 ของพอร์ต และตามทฤษฎีแล้ว เมื่อดอกเบี้ยลดลงก็จะส่งผลให้พันธบัตรและตราสารหนี้มีราคาสูงขึ้นสวนทางกัน ส่งผลให้พอร์ตตราสารหนี้จะมีกำไรเพิ่มขึ้น เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง
"ปัจจุบันโครงสร้างสินทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 21% เป็นเงินลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีอายุคงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7 ปี สูงเป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารนครหลวงไทย โดยอัตราผลตอบแทนที่ปรับลดลงทุก 10 bps นั้น ก็จะทำให้ธนาคารกรุงเทพมีกำไรได้เพิ่มขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะไปช่วยเพิ่ม Book Value ให้กับธนาคารได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ของธนาคารนั้นเป็นแบบกำหนดตายตัวตามอายุตราสารหนี้ ดังนั้นเมื่ออัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยนโยบายลดลง แบงก์จึงได้กำไรเพิ่ม"
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สินเชื่อในตลาดเงินซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ก็จะได้รับผลกระทบทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับลดลงเป็นอันดับแรก ส่วนที่จะได้รับผลกระทบรองลงมาคือ สินเชื่อที่มีการคำนวณดอกเบี้ยแบบลอยตัว
"เนื่องจากสินเชื่อในตลาดเงิน (MONEY MARKET) และสินเชื่อทั่วไปของธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 79% ของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะมีรายได้ลดลงเมื่อดอกเบี้ยปรับลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆ แล้วธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 85% ซึ่งการมีสัดส่วนสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทสูง ก็เท่ากับว่ารายได้จากดอกเบี้ยก็มีสิทธิ์จะลดลงในอัตราที่สูงด้วยเช่นกันเมื่อดอกเบี้ยปรับลดลง"
นอกจากธนาคารกรุงเทพ จะได้รับผลดีจากดอกเบี้ยขาลงในส่วนของตราสารหนี้แล้ว ธนาคารยังจะได้ประโยชน์จากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ลดแต่ดอกเบี้ยเงินฝาก โดยไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้ MLRของธนาคารกรุงเทพในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7.5% เท่ากับดอกเบี้ย MLR ของธนาคารกสิกรไทย และธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งได้มีการปรับลดลงมาก่อนหน้านี้ แต่การที่ธนาคารกรุงเทพไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ย MLR ลงเหมือนกับแบงก์อื่นๆ ทำให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (NIM) ที่สูงกว่า
จากการทำ Sensitivity ของการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา โดยใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากในปัจจุบันเพื่อเปรียบเทียบขนาดของดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง และดอกเบี้ยรับที่ลดลง และผลของหักกลบของผลกระทบการปรับดอกเบี้ยทั้ง 2 ด้านแล้วพบว่าธนาคารกรุงเทพได้ประโยชน์จากการลดลงดอกเบี้ยมากที่สุด โดยดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงมากกว่าดอกเบี้ยรับที่ลดลง (Cost saving) ประมาณ 3.3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามผลกระทบนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่จะทยอยส่งผลเมื่อเงินฝากทุกช่วงอายุปรับลดเป็นต้นทุนดอกเบี้ยใหม่
จากสถานการณ์โดยรวมทำให้ประเมินแนวโน้มได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะสามารถปรับขึ้นได้เร็ว เนื่องจากเงินฝากประจำที่ทยอยครบอายุจะถูกปรับลงมาใช้ดอกเบี้ยใหม่ที่ถูกลงกว่าเดิม นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงยังจะช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้นอีกด้วย จึงทำให้หลายๆ บทวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ซึ่งให้น้ำหนักมากกว่าตลาด
|
|
|
|
|