|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ธนสินประกันภัย" กลายเป็นตำนานด้านมืดในหน้าประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังถูกกรมการประกันภัยพิพากษา ตัดสินให้ชดใช้กรรมที่ก่อเอาไว้ โดยการสั่งปิดชั่วคราว ด้วยความผิด 2 ประการคือ เงินกองทุนติดลบ และประวิงเวลาจ่ายสินไหม แต่ทั้งหมดถือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของอุตสาหกรรมประกันภัย ที่จะต้องเผชิญหน้ากับ "พ่อมดการเงิน" หรือ "นักเล่นเบี้ยแปรเงิน" เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว อยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน...
"ธนสินประกันภัย" ชื่อที่หลายคนจะต้องทำความรู้จักให้มากกว่านี้ กำลังถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรมการประกันภัย พร้อมกับบทลงโทษ ที่ยังไม่ค่อยรุนแรงนัก เมื่อเทียบกับ "พาณิชย์การประกันภัย" ที่ถูกส่งเข้าหลักประหารไปในวันที่ 7 ก.ค.ปี 2548
รูปแบบการลงโทษ และข้อกล่าวหา เป็นเรื่องเดียวกันคือ เงินกองทุนติดลบ และประวิงเวลาจ่ายสินไหม จนต้องมีการร้องเรียนจากอู่ที่เดือดร้อน และผู้เอาประกันที่ไม่สามารถนำรถเข้าอู่ได้ เพราะอู่ไม่ยอมรับ
แต่หากเทียบกัน ทั้ง "พาณิชย์การประกันภัย" และ "ธนสินประกันภัย" ก็ยังพอมีเวลาต่อท่ออ๊อกซิเจน เพื่อยืดอายุให้ยาวนาน ถ้ามีการแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังให้หมดไปในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะหลังวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเป็นเส้นตายของกรมการประกันภัย
สำหรับธนสินฯนับจากต้นปีเป็นต้นมา ถือเป็นเพียงไม่กี่ค่ายที่ถูกประจานบนเว็บไซด์ หลังกรมฯ มีมติปรับเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ล้านบาท โทษฐานเบี้ยวจ่ายสินไหม และในความผิดฐานเงินกองทุนขาดมาตั้งแต่ปลายปี 2548 รวม 125,000 บาท และปรับต่อเนื่องวันละ 1,000 บาท มาตลอดจนถึง 13 ก.พ. 2550
ธนสินฯ จึงมีโอกาสมากกว่าในกรณีของพาณิชย์การฯ ขณะเดียวกันก็ได้รับการโอนอ่อนผ่อนปรนสูงกว่า ทั้งๆ ที่โครงสร้างการทำธุรกิจยังเป็นที่น่ากังขา และกลุ่มผู้ถือหุ้นก็เปลี่ยนไปมาจนไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงเป็นกลุ่มไหนหรือตระกูลใดที่เป็นเจ้าของ "ตัวจริง"...
แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ นับตั้งแต่ถูกเปรียบเทียบปรับเป็นต้นมา ธนสินประกันภัยยังสามารถเปิดโชว์รูมเป็นหน้าร้านขายสินค้าได้โดยสะดวก พร้อมกับเบี้ยที่ยังไหลเข้ามาไม่ขาดสาย นั่นก็แสดงว่า การประจานยังไม่ส่งผลทั่วถึง ผู้คนทั่วไปยังไม่รับรู้
การลงโทษปรับและถูกประจานให้อายผ่านเว็บไซด์ของกรมการประกันภัย จึงไม่สามารถปกปิดความผิดของผู้ร้ายได้ จนที่สุดกรมฯ ก็ต้องเลือกหนทางละมุนละม่อมคือ สั่งปิดการขายชั่วคราว เพื่อให้เวลาจัดการปัญหาให้หมดไป
"ในช่วงนี้จึงห้ามไม่ให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างบริษัทสั่งจ่ายเงิน เคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท" จันทรา บูรณกฤษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย ต้องเล่นบทเข้มเพื่อไม่ให้มีใครตกเป็นเหยื่อ...
ว่ากันว่า ปัญหาของธนสินฯ ก็ไม่ต่างจากพาณิชย์การฯ ตรงที่มีช่องทางรั่วไหลของเม็ดเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เงินกองทุนติดลบมาตลอด
โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2547 บริษัทมีรายได้จากเบี้ยรับ 555 ล้านบาท รายจ่าย 601 ล้านบาท ขาดทุนจากการปรับประกันภัย 46 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 234 ล้านบาท มีหนี้สินต่อผู้เอาประกันภัย 550 ล้านบาท มีหนี้สินอื่นๆ 88 บาท และเงินกองทุนขาด 405 ล้านบาท
ขณะที่หากย้อนไปในปี 2544 มีเงินทุนติดลบ 35.78 ล้าน ปี 2545 ติดลบ 182.87 ล้านบาท ปี 2546 ติดลบ 302.71 ล้านบาท ปี 2547 ติดลบ 405 ล้านบาท และ ปี 2548 เงินกองทุนติดลบ 371.83 ล้านบาท
แต่ที่ต่างออกไปก็คือ การเข้ามาของผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ ที่ส่วนใหญ่มักมีหน้าไม่ซ้ำกัน มีการเข้ามาใหม่ ขณะเดียวกันก็หายหน้าไปโดยไม่ทันรู้ตัว จนท้ายสุดปัญหาที่ต้องการผู้เข้ามาแก้ไข ก็เรื้อรังกลายเป็นแผลติดเชื้อ นอนรอวันเยียวยา
กลุ่มนายทุนที่หมุนเปลี่ยนกันเข้ามา เริ่มต้นตั้งแต่ ยุคของ "พัชรประกันภัย" ซึ่งเป็นชื่อเก่าของธนสินฯ ถูกขายให้กับตระกูลลาภวิสุทธิสิน เจ้าของ "ปิคนิคแก๊ซ" ในปี 2546 ว่ากันว่า ยุคนี้เองที่ธนสินฯปลอดจาก "เครื่องมือตรวจจับ" เพราะมีแบ็คอัพทางการเมืองเป็นถึงผู้นำระดับประเทศ
ขณะเดียวกันยุคนั้น "สุริยา ลาภวิสุทธิสิน" ก็เคยเข้ามานั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บทบาทของปิคนิค และธนสินฯ จึงมีบารมีคุ้มหัว ที่หน่วยงานไหนก็ไม่กล้าแตะต้อง
จากนั้นกลุ่ม เจ เจแลนด์ ก็เข้ามารับช่วงต่อ แล้วจัดการแต่งหน้าตาใหม่พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น ธนสินฯ แต่ดูจากรายชื่อกรรมการ เจ เจ แลนด์ ก็ยังมีอิทธิพลของ "ปิคนิคแก๊ซ" ครอบคลุมอยู่ ทำให้ธนสินฯรอดตัวมาได้ทุกครั้ง ถึงแม้จะมีปัญหาเงินกองทุนติดลบจนเกือบจะถึง "จุดเยือกแข็ง"...
ไม่นานนักก็ปรากฏชื่อ เจ แอนด์ ที โฮลดิ้ง เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ยังหนีไม่พ้นภาพของครอบครัวธุรกิจขายแก๊ซชื่อดังอยู่ดี จากนั้น ธนสินฯ ที่มี เจ แอนด์ ที โฮลดิ้ง เป็นแกนนำ ก็ประกาศตัวเจรจากับ พาราเมาท์ ไลฟ์ แอนด์ เจเนอรัล อินชัวรันส์ คอร์ปอเรชั่น จากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตัวละครใหม่ที่จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้นำเงินเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อกอบกู้สถานทางการเงินที่เกือบจะล้มละลายเต็มที
แต่เมื่อต้องตรวจสอบรายละเอียดและลงลึกถึงกระบวนการทำงาน ทุนจากฟิลิปปินส์ก็ต้องล่าถอย โดยเฉพาะสัญญาณเตือนที่ส่งเสียงดังกึกก้องจากฝั่งอู่ผู้เสียหายร่วม 400 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยเงื่อนไขที่ลงตัวทั้งจากอู่และเจ้าของเงิน แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้ พาราเมาท์ฯก็ต้องยกธงขาว แล้วจากไป
ปล่อยให้กลุ่มทุนหน้าใหม่ขยับเข้ามา นั่นก็คือกลุ่ม ม.ล.ชัยภัทร ชยางกูร ที่จะเข้ามาแทน เจ แอนด์ ที โฮลดิ้ง ซึ่งถือเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปมาในรอบ 3 ปี ถึงแม้จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่ากลุ่มใหม่จะทำให้ ธนสินฯ ยืนพ้นปากเหวได้หรือไม่....
จนผู้คนในแวดวงเดียวกันถึงกับบอกว่า รูปแบบการบริหารธุรกิจลักษณะนี้ในอุตสาหกรรมประกันภัยยังจะมีให้เห็นอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการเข้ามาเก็บ กอบ โกย แล้วหอบเบี้ยหนี หายตัวแบบล่องหน ก่อนจะขายหุ้นทิ้ง ซึ่งเป็นการเล่นเกมการเงินที่มีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว...
แต่บทลงเอย มักจะเป็นประชาชนตาดำๆ ผู้เอาประกันเท่านั้นที่ต้องตกเป็นเหยื่อ และยังต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป เพราะนักเล่นเบี้ยแปรเงินเหล่านี้มักจะมีอายุยืน และไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ....
|
|
|
|
|