|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเปิดบ้านใหม่ของ "ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย (ธย.)" ซึ่งเป็นสาขาแรกภายในตัวตึก "ไทยประกันชีวิต" เมื่อสองสัปดาห์ก่อน นอกจากจะสื่อสารไปถึงผู้คนทั่วไปให้รับรู้เกี่ยวกับตัวแบงก์ใหม่ลำดับที่ 16 ที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าระดับกลางถึงล่างอย่างจริงจัง ส่วนสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง หรือตระกูล "ไชยวรรณ" ที่มีฐานธุรกิจและฐานะเงินทุนแข็งแกร่งไม่ด้อยไปกว่า "แบงก์น้องใหม่" ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ หรือ ที่เพิ่งประกาศตัวไปไม่นาน...
ธนาคารในกลุ่มหน้าใหม่ที่เพิ่งถูกยกระดับเป็นแบงก์หลายแห่ง ส่วนใหญ่จะมีจุดขายและฐานลูกค้าที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น แบงก์ทิสโก้ เกียรตินาคิน หรือแม้แต่ เอไอจีไฟแนนซ์ ต่างก็มีตลาดเช่าซื้อรถยนต์คือตัวผลักดันรายได้ ยังไม่นับ แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ แบงก์ที่มีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มสินเชื่อบ้านที่กำลังจะอัพเกรดเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้งในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทั้งหมดเกือบจะไม่มีรายใดเลยที่กระโดดเข้ามาแบบ "ข้ามาคนเดียว" ส่วนใหญ่จึงมีแบ๊คอัพหรือ ธุรกิจรายใหญ่หนุนหลัง โดยเฉพาะตระกูลใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางใหญ่โต ซึ่งก็มีฐานลูกค้าร่วมล้านๆ รายเป็นตัวกำหนดโชคชะตาและทิศทางเดินของบริษัท
ถ้าธนาคารเอไอจี ไฟแนนซ์เพื่อรายย่อย มีฐานลูกค้าในเครือ เอไอจี ที่รวมเอา "เอไอเอประกันชีวิต" เป็นเสาค้ำยัน ธนาคารไทยเครดิตฯ ก็มีธุรกิจในเครือไทยประกันชีวิตเป็นรากฐานอย่างดีไม่แพ้กัน
มงคล ลีลาธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ยอมรับว่า สถานะแบงก์ใหม่จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโต และพันธมิตรที่ว่าก็ต้องเริ่มต้นจากบุคลากรในตัวตึกไทยประกันชีวิต รวมถึงลูกค้าที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย ดังนั้นการจะบอกว่า ไทยเครดิตฯ เป็นธนาคารขนาดจิ๋วแต่แจ๋วก็คงไม่ผิด
เพราะใครๆ ก็รู้ว่า บนตัวตึกไทยประกันชีวิตมีธุรกิจที่เกี่ยวพันกันอยู่ไม่น้อย หากนับเฉพาะที่เป็นประเภทสถาบันการเงินที่เป็นของตระกูล "ไชยวรรณ" โดยตรงก็คงไม่ต่ำ 4 แห่ง อาทิ ไทยประกันชีวิต ไทยประกันสุขภาพ ไพบูลย์ประกันภัย ไทยคาร์ดิฟประกันชีวิต ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นฐานลูกค้าหลัก และยังสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือของธุรกิจในเครือขยายกลุ่มลูกค้าได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจด้วย
ไทยเครดิตฯ จึงเปิดบ้านต้อนรับลูกค้าด้วยการป่าวประกาศสถานะการเงินของกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังเป็นอันดับแรก รวมถึงการเริ่มต้นใช้หลักมาตรฐานบัญชีที่เป็นสากลทั้ง บาเซิล 2 และ IAS39 มาใช้ในทันที รวมถึงการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพสูงกว่าเกณฑ์แบงก์ชาติ 13 เท่า มีเงินกองทุนสูงกว่า 21 เท่า
ทั้งนี้ เงินกองทุนกว่า 924 ล้านบาท ก็สามารถใช้ปล่อยสินเชื่อได้เต็มที่ 2 ปี มูลค่า 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม 1,082 ล้านบาท มีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ บีไอเอส 203 เท่า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นแบงก์น้องเล็กที่มีธุรกิจทุนตระกูลใหญ่ระดับประเทศเป็นแบ๊คอัพอยู่เบื้องหลัง แต่การเคลื่อนตัวออกจากจุดสตาร์ทของไทยเครดิตฯ ก็ทำได้ไม่ง่ายนัก
ในระยะแรกจึงต้องเริ่มต้นธุรกิจด้วยฐานลูกค้าของธุรกิจในเครือข่ายตระกูล "ไชยวรรณ" ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไทยประกันชีวิตและบริษัทในเครือ เหมือนกับ "กินบุญเก่า" ไปพลางๆ ก่อนจะลงทุนเพิ่มสาขาเป็น 3 แห่งในปีนี้ และประกาศตัวไปยังต่างจังหวัดในปี 2551
"เราสามารถใช้ศูนย์คอล เซ็นเตอร์ ของไทยประกันชีวิต เพื่อคัดลูกค้าในกรุงเทพฯ ที่ต้องการฝากเงินกับเราได้ ขณะเดียวกันก็ใช้แผนกเทเลมาร์เซลส์หรือขายผ่านโทรศัพท์ ขายสินเชื่อธนาคารไทยเครดิตให้กับลูกค้าทั่วไปได้ด้วย"
มงคล บอกว่า ลูกค้าไทยประกันชีวิตเป็นชนชั้นกลางและระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ตัวแทนหรือแม้แต่โบรกเกอร์ เป้าหมายลูกค้าไทยเครดิต จึงค่อนข้างชัดเจนนั่นคือ ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี ธุรกิจรายเล็กรายน้อยในกลุ่มไมโคร ที่ธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลางทั่วไปยังให้บริการไม่ทั่วถึง นอกจากนั้นก็พบว่ากว่า 55% ในกลุ่มรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และยังไม่พอใจการให้บริการของธนาคารที่มีอยู่
นั่นก็บอกได้ว่า เป้าหมายของไทยเครดิต คือการเจาะเข้าไปในช่องทางที่ธนาคารขนาดกลางและใหญ่มองข้ามหรือละเลยไป ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือเงินฝาก อาทิ เงินฝากที่มีความคล่องตัวสูง และมีดอกเบี้ยสูงตามกัน การไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนจากบัญชีหนึ่งไปยังบัญชีหนึ่ง หรือ การนำการคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกของสินเชื่อเงินกู้บ้านมาใช้กับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
เป้าหมายของไทยเครดิตในเบื้องต้นจะโฟกัสไปที่ลูกค้าเงินฝากตั้งแต่ 50,000-10 ล้านบาท ในใจกลางมหานคร ส่วนกลุ่มลูกค้าสินเชื่อจะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน เน้นวงเงิน 2-3 ล้านบาท ส่วนลูกค้าสินเชื่อธุรกิจจะเทน้ำหนักไปที่วงเงินจาก 2 แสน ถึงไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ขณะที่สินเชื่อบุคคลจะเน้นที่มีหลักประกัน ประเภทบ้าน รถ ที่กำหนดวงเงินตั้งแต่ 1 หมื่นถึงล้านบาท
การเปิดตัวในช่วง 2 เดือนแรก จึงเป็นการตอบสนองลูกค้าบนตัวตึกไทยประกันชีวิตล้วนๆ การตั้งเป้าหมายในปีแรกจึงต่างจากแบงก์ใหญ่ทั่วไป อาทิ เป้าหมายรายได้จากดอกเบี้ยรับที่คาดว่าจะได้รับ 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% จากรายได้ในส่วนสินเชื่อ 80% ที่มีเป้าหมาย 12,000 บัญชี และจำนวนลูกค้าเงินฝาก 15,000 บัญชี โดยกำหนดเป้าสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 4 พันล้านบาท และจำนวนเงินฝาก 4 พันล้านบาท มีตู้เอทีเอ็ม 23,000 ตู้
ธย.ไทยเครดิต จึงเล็กแต่ชื่อ เพราะผู้ซัพพอร์ตอยู่เบื้องหลังนั้นนอกจากจะไม่เล็ก แถมยังเป็นเบอร์สองในธุรกิจประกันชีวิต และถือเป็นเพียงไม่กี่แบงก์ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัทแม่ ที่มีฐานลูกค้าถือกรมธรรม์มากกว่า 3 ล้านราย เป็นฐานตลาดที่สำคัญ คล้ายๆ กับ เอไอเอ ที่เป็นแบ๊คอัพให้กับ ธย.เอไอจี ไฟแนนซ์ เพียงแต่เอไอจีเป็นอินเตอร์ แต่ไทยประกันชีวิตเป็นโลคอลขนานแท้และดั้งเดิม....
|
|
|
|
|