สำหรับบริษัทรถยนต์อย่างสยามกลการพวกเขา มักจะบอกใครต่อใครว่าเป็นบริษัทไทยแท้
100% แต่น่าเสียดาย ที่ในขณะที่ยุคแห่งโลกานุวัตรกำลังแผ่กระจายในโลกของการแข่งขัน
พวกเขากลับมีปัญหาจากการโยกย้ายคนภายในเป็นเพียงน้ำผึ้งหยดเดียว ที่อาจจะทำให้ชื่อของ
"สยามกลการ" ถูกลบจากสาระบบธุรกิจยานยนต์ของไทยในอนาคต !!
คำสั่งที่ 1.114/2536 ซึ่งลงนาม โดยคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่/ซีอีโอบริษัทสยามกลการเรื่องการโยกย้ายพนักงาน
ลงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่จนต้องมีการกล่าวขวัญถึงมากจนวันนี้
ทั้งนี้เพราะคำสั่งดังกล่าว คนในสายงานของพรพินิจ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดหลายคน
เช่น ศิริชัย สายพัฒนา ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่การตลาด หรือทวี ฟองกษีร ถูกย้ายไปอยู่สายงานอื่นๆ
อันเป็นเสมือนการตัดอำนาจของพรพินิจ !!!
ขณะที่คนมาใหม่อย่างเช่น ดร.นิตยา ห่อเกียรติ ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลที่เพิ่มตำแหน่งรักษาการฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกตำแหน่ง
หรือแม้แต่วัชรพล ศรีนาคอ่อน ก็ถูกมองว่า เป็น "สายใหม่" ที่เข้ามาเพื่อล้างสายเก่า
อันเป็นเสมือนการเปิดศึกแย่งอำนาจกันนั่นเอง
การอรรถาธิบายเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าวในสยามกลการ จึงอาจจะเป็นเรื่องง่ายในการวาดภาพของ
"ศึกสายเลือด" ระหว่างพี่น้องต่างมารดา หรือคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
ผู้จัดการใหญ่/ซีอีโอ กับพรพินิจ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาด
"ผมพยายามผลักดันคุณหญิงตลอดเวลา ว่าคนทำงานในหน้าที่นั้นนานๆ จะต้องปรับไปสู่ตำแหน่งใหม่ที่จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
" กวี วสุวัต รองผู้จัดการใหญ่สยามกลการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ เพียรพยายามที่จะเสริมถึงที่มาของการโยกย้ายให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการปรับทัพ
แต่อรรถาธิบายดังกล่าว ยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารธุรกิจของสยามกลการเป็นอย่างยิ่ง
เพราะในวันที่โลกกำลังกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามคำกล่าวถึงโลกานุวัตรหรือ
GOLOBALIZATION เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่สยามกลการกลับหยุดอยู่กับที่เพียงเพราะปัญหาของการสับเปลี่ยนตำแหน่งคน
ในขณะที่วงการค้ายานยนต์ กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดที่สุด
ทั้งๆ ที่สยามกลการคือบริษัทรถยนต์บริษัทแรกที่กล่าวถึง GOLOBALIZATION
!!!
หากยังนึกไม่ออก ก็ให้ระลึกถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2529 ซึ่งถาวร พรประภา
ประธานกิตติมศักดิ์คนปัจจุบัน ซึ่งประกาศลงจากเก้าอี้ประธานและประกาศตั้ง
นุกูล ประจวบเหมาะ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาดำรงตำแหน่งแทนเหตุผลหนึ่ง
ที่ถาวรประกาศตั้งนุกูลมารับตำแหน่งประธานแทนตน ก็เพราะนุกูลเป็นคนที่เหมาะสมมากในยุคที่สยามกลการกำลังจะกลายเป็นบริษัทระดับโลก
ถาวรอธิบายในวันนั้นว่า การเชิญนุกูลมารับตำแหน่ง ก็เพื่อความเหมาะสมในยุคของการปรับตัวเองสู่ความเป็นมืออาชีพ
ท่ามกลางปัญหาที่มาจากความผันผวนของวิกฤตค่าเงินเยนในช่วงปีดังกล่าว ซึ่งต้องยอมรับว่า
เป็นการมองการณ์ไกลของถาวรอย่างแท้จริง
แต่ไม่น่าเชื่อว่า จากวันนั้นมาถึงวันนี้กว่า 6 ปีสยามกลการกลับอยู่กับที่
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ที่คำว่า GOLOBALIZATION ของกลุ่มสยาม
ถูกกล่าวถึงอีกครั้งกับการเปิดตัวโครงการ NV(NEW VALUE PROJECT) ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า
สยามกลการจะเป็นฐานการผลิตของนิสสันมอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ
ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของนิสสันมอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกาศไว้เมื่อต้นปีว่า
ในปี 2536 หรือ 1993 นิสสันมอเตอร์ (ประเทศญี่ปุ่น) จะเริ่มใช้ต่างประเทศเป็นฐานในการผลิต
เพื่อตัดปัญหาเรื่องต้นทุน
"เรามีปัญหาเรื่องคนมารับผิดชอบงาน ในขณะที่เครือข่ายของสยามกลการ
ขยายไปมากในหลายๆ ธุรกิจ" คนของสยามกลการบอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงเหตุผลของการชะงักงันแผนต่างๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ที่เพิ่งได้เริ่มใหม่เมื่อ
28 กันยายนดังกล่าว
หากมองสถานการณ์ที่จะต้องมีการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่สยามกลการตกอันดับไปอยู่อันดับ
4 ของตลาดรถยนต์ การโยกย้ายคนในสายตลาด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของพรพินิจและตั้งคนใหม่เข้ามาดูแล
จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมยิ่ง กับความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องการทวงตำแหน่งคืน
แต่กลับกลายเป็นว่า สยามกลการ ภายใต้การบริหารของคุณหญิงพรทิพย์ กลับถือโอกาสขยายเครือข่ายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์มากขึ้น
ภายใต้การดูแลของณัฐวุฒ จิตะสมบัติผู้ที่คุณหญิงพรทิพย์ดึงมาจากไอบีเอ็ม
และกลายเป็นพนักงานที่เลื่อนตำแหน่งเร็วที่สุดในสยามกลการแทนที่จะเอาดีทางการขายรถยนต์ต่อไปให้มั่นคงก่อน
การขยายเครือข่ายต่างๆ ดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาก ในช่วงปี 2533
ที่คุณหญิงพรทิพย์ เริ่มมีบทบาทในสยามกลการมากที่สุด ในการจัดทัพใหม่หลังการลาออกของนุกูลในปี
2531 และลดบทบาทของ ปรีชา พรประภาลงมา
ชุมพร พรประภา ประธานบริษัทเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในคนของตระกูล
"พรประภา" และถือหุ้นในสยามกลการด้วย กล่าวว่า การบริหารของสยามกลการในวันนี้
ต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดในการทำธุรกิจที่ผู้บริหารควรจะรับผิดชอบด้วยการลาออก
ใครๆ ก็รู้ว่า ชุมพลหมายถึงคุณหญิงพรทิพย์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานนม
!!!
ดูเป็นเรื่อง "น้ำเน่า" เหลือเกิน ในยุคที่ถาวรวาดหวังที่จะเห็นสยามกลการก้าวไปสู่ความเป็นสากลในยุคแห่งโลกานุวัตรก่อนที่ตนเองจะไม่มีโอกาสเห็น
และคงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการถอยหลังของสยามกลการ
!!!
ถ้ายอมรับกันว่า การที่ครั้งหนึ่ง ถาวรลงทุนไปเชื้อเชิญนุกูลมารับตำแหน่งประธาน
เป็นการมองการณ์ไกล แต่การขยายงานในยุคที่คุณหญิงพรทิพย์ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด
ต้องถือเป็นความล้มเหลวของสยามกลการ !!!
อย่างน้อย แม้จะอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นที่อาจจะถูกมองว่าเป็นการซ้ำเติมที่ผู้บริหารผิดพลาด
แต่ในฐานะที่เป็นนักวิชาการคนหนึ่งข้อเรียกร้องของชุมพลเป็นเรื่องที่ผู้บริหารสยามกลการสมควรจะรับฟังเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญก็คือ ชุมพลถือได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจรถยนต์ เพราะเอส.พี.เอ็นเตอร์เนชั่นแนลที่ตัวเขาเป็นประธาน
คือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าและจักยานยนต์ซูซูกิ
แม้คุณหญิงพรทิพย์ จะออกมาแถลงผลงานในเวลาต่อมา พร้อมบรรดาขุนพลอีกหลายๆคนโดยไม่มีคนในตระกูล
"พรประภา" คนอื่นร่วมด้วยว่าในสภาพความเป็นจริงแล้ว สยามกลการไม่ได้มียอดขายตกต่ำอย่างที่หลายคนวิจารณ์ถึงการตกอันดับก็ตาม
แต่ปัญหาที่แท้จริงของสยามกลการในวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ยอดการจำหน่ายรถยนต์นิสสันเท่านั้นหากแต่ยังมีอีกหลายๆ
อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาบริษัทในเครือ ที่ยังไม่มีการออกดอกออกผลทั้งๆ
ที่ลงทุนไปในวงเงินที่ไม่น้อย
ขณะเดียวกัน การที่สยามกลการเองก็มีปัญหาเรื่องยอดขาย ทำให้สภาพของกลุ่มสยามกลการในวันนี้
ไม่ผิดไปจากภาระ "เตี้ยอุ้มค่อม" !!!
โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายเครือข่ายออกไปสู่การเป็น "สยามกรุ๊ป"
ที่มีเครือข่ายมากมายประมาณ 30 บริษัท ยิ่งทำให้ภาพของสยามกลการ ไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ในสายธุรกิจไหน
?
"ทิศทางของกลุ่มคือการขยายการทำธุรกิจออกไป ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องมุ่งไปทางอุตสาหกรรมรถยนต์
ถ้าวันใดที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป มีคนคิดค้นอะไรใหม่ๆ ที่ดีกว่า เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวใหม่ได้"
คุณหญิงพรทิพย์เสริมถึงแนวทางของสยามกลการในอนาคต ในนัยยะที่บอกว่า พวกเขาจะไม่ยึดติดกับธุรกิจยานยนต์เพียงอย่างเดียว
คนในสยามกลการเพียรพยายามที่จะอธิบายว่าพวกเขากำลังเลียนแบบเครือซิเมนต์ไทย
ที่มีการแบ่งสายธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม และกำลังประสบปัญหาเรื่องการดำเนินงานอันเนื่องมาจากการขายปูนซีเมนต์ไม่รุ่งโรจน์เหมือนอดีต
"เป็นคอนเซ็ปต์ที่เราพยายามเลียนแบบและเดินตาม…" คนในสยามกลการกล่าว
แต่ปัญหาของสยามกลการ ไม่เหมือนของเครือซิเมนต์ไทย !!!
เพราะเครือซิเมนต์ไทย มีรูปแบบของความเป็น "มืออาชีพ" มากกว่า
และเป็นมานานแล้ว โดยที่ผู้บริหารแต่ละคน ไม่สามารถที่จะตัดสินใจอะไรได้โดยไม่มีการพิจารณาของคณะกรรมการ
ขณะที่สยามกลการ เพียงแค่คุณหญิงพรทิพย์คืออะไร ก็สามารถที่จะบอกได้ว่า นั่นคือ
"นโยบาย" !!!
ขณะที่สยามกลการ เพียง "แค่คิด" พวกเขาก็เริ่มมีปัญหาในภาคปฏิบัติ
ดังจะเห็นได้จากการดึงคนจากไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) มาร่วมงานหลายคนไม่ว่าจะเป็นณัฐวุฒ
จิตะสมบัติ หรือดร.นิตยา ห่อเกียรติ เป็นต้น
ปัญหาของเรื่องราวในวันนี้ ก็มาจากการนำคนเหล่านี้มานั่นเอง
"พวกที่มาทำงานในตำแหน่งบริหารวันนี้ ไม่ได้รู้เรื่องธุรกิจรถยนต์มากพอที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้"
คนในสยามกลการกล่าวในขณะที่ยอมรับว่า คนที่มาจากไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) และเลื่อนขึ้นมาอยู่บนตำแหน่งสูงๆ
นั้นเป็นคนเก่ง
ตัวอย่างเช่น การเสนอแนวคิดของการแตกแขนงธุรกิจของสยามกลการออกไปจากธุรกิจรถยนต์มากขึ้น
เพื่อรักษาสภาพความเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจคอมพิวเตอร์โอเอหรืออินฟอร์เมชั่น
(บางคนบอกว่าเป็นแนวคิดของณัฐวุฒ)
แต่ก็กลายเป็นปัญหา เพราะสยามกลการไม่มีประสบการณ์และไม่เคยทำธุรกิจอื่นๆ
มาก่อนซึ่งต่างจากเครือซิเมนต์ไทยที่พวกเขาเลียนแบบ กล่าวคือ การขยายเครือข่ายการลงทุนของเครือซิเมนต์ไทยที่ผู้บริหารปูนใหญ่ได้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า
จะอยู่ในธุรกิจที่พวกเขาถนัด เช่นอุตสาหกรรมกระดาษเป็นต้น
แต่สยามกลการ กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพวกเขาขาดทั้งโนว์ฮาวและบุคลากร
!!
แหล่งข่าวในสยามกลการคนหนึ่ง ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหาใหญ่ของสยามกลการที่ผ่านมาในระยะเวลาหลายปีก็คือ
การที่บริษัทไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาสู่ตลาด ขณะที่ค่ายอื่นๆ มีกันมากแถมกลยุทธ์ต่าง
ๆ ในการทำตลาดก็ไม่มี
"ความจริงแล้ว นิสสันก็มีรถรุ่นใหม่ๆ ออกมาแต่สยามกลการไม่ได้มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย"
แหล่งข่าวคนเดิมยอมรับ พร้อมยกตัวอย่างว่า การแนะนำรพนิสสันของสยามกลการที่ผ่านมา
ยังคงเป็นการนำรถเก่าๆ มาเป็นส่วนใหญ่
มิหนำซ้ำ เมื่อจะนำรถใหม่มา บางครั้งพวกเขายังถูกตัดหน้าด้วยซ้ำ อย่างเช่นกรณีของรถนิสสันรุ่น
"ไทรเอส" ซึ่งนิสสันใช้ชื่อ "อัลติมา" ทั่วโลก แต่ในเมืองไทย
กลับถูกมิตซูบิชินำชื่อไปใช้ก่อน จนสยามกลการต้องใช้ชื่อไทรเอสแทน
นักการตลาด อรรถาธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ในหัวข้อที่ว่า "สยามกลการควรจะทำอะไร
?" ว่าพวกเขาควรจะทำเฉพาะในเรื่องที่ถนัดให้ดีก่อน นั่นคือเรื่องการขายรถ
"เฉพาะเรื่องนี้ เขายังทำไม่ได้ดี …" นักการตลาดอธิบาย พร้อมทั้งชี้ว่า
การที่ยอดการขายรถยนต์ของสยามกลการในวันนี้ ตกจากอันดับ 2-3 ในหลายปีที่ผ่านมา
ลงไปอยู่ในอันดับ 4 แสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดในเรื่องการบริหารด้านการตลาดอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาหนึ่งของสยามกลการก็คือ
การที่พวกเขาลงทุนในการผลิตครบวงจร ทำให้ต้นทุนของพวกเขาสูงกว่าบริษัทอื่นๆ
ที่ใช้การผลิตด้วยการว่าจ้างบริษัทอื่นๆ ผลิตชิ้นส่วนบางรายการ
เป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวในสยามกลการบอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่า จุดอ่อนอีกอย่างของสยามกลการ ที่ทำให้พวกเขามียอดขายตกก็คือการที่ไม่สามารถลดราคาแข่งกับค่ายอื่นๆ
ได้เพราะต้นทุนของพวกเขาสูงกว่ารายอื่น ๆ นั่นเอง
"ความจริงแล้ว สยามกลการมีจุดแข็งมากเพราะมีรถยนต์หลายๆ รุ่น และพวกเขาก็กล้าที่จะนำรถใหม่ๆ
ออกมาสู่ตลาดเสมอ แถมเครือข่ายทั้งดีลเลอร์และเอเย่นต์รวมทั้งศูนย์บริการก็มีมากไม่น้อยกว่าโตโยต้า"
นักการตลาดในวงการรถยนต์คอมเมนต์ให้ฟัง ซึ่งสอดคล้องยิ่งกับที่ผู้บริหารสยามกลการภูมิใจมานาน
ถึงการเป็นบริษัทรถยนต์บริษัทแรกที่มีการออนไลน์ระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างเครือข่ายทั่วประเทศเมื่อ
3-4 ปีก่อน ซึ่งก็ตรงกับที่แหล่งข่าวยอมรับว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาสยามกลการขาดการแนะนำรถรุ่นใหม่ๆ
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกกับข้อกล่าวถึงที่ว่า ขณะนี้สยามกลการกำลังอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อม
เพราะบริษัทที่เปิดใหม่หลายๆ บริษัท กำลังกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสยามกลการในวันนี้และวันหน้า
เป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาหลังการเกิดสยามกรุ๊ปเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น !!!
อย่างไรก็ตาม คนในสยามกลการเองหลายคนยอมรับว่า สภาพที่เกิดขึ้นมานั้น เริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่การลาออกของนุกูล
ประจวบเหมาะ ที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงตามที่ถาวรเคยรับปากไว้ เพราะในช่วงระยะเวลาประมาณปีครึ่งที่เขาอยู่ในตำแหน่งและพยายามที่จะจัดระบบงานให้เป็นรูปแบบมืออาชีพแทนระบบครอบครัว
รวมทั้งการตัดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นปรากฎว่า หลายอย่างไม่ได้รับความร่วมมือ
โดยเฉพาะจากบรรดาทายาทของถาวรเอง ที่กำลังถูกมองว่าจะถูกตัดอำนาจ
การพยายามที่จะทำระบบการบริหารให้เป็นแบบ "มืออาชีพ" นั่นเอง
คือที่มาของการที่ต้องตัดสินใจลาออกของนุกูล ทั้งๆ ที่วันนี้ ผู้บริหารสูงสุดของสยามกลการยอมรับว่า
นั่นคือแนวทางที่พวกเขากำลังพยายามที่จะดำเนินการอยู่
เมื่อนุกูลลาออกไปและอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นกับคุณหญิงพรทิพย์ การเกิดขึ้นมาของสยามกรุ๊ปจึงเป็นรูปเป็นร่าง
ท่ามกลางความฝันของคุณหญิงพรทิพย์ที่ต้องการเห็นสยามกลการเป็นบริษัทระดับอินเตอร์เนชั่นแนล
โดยมีคู่หูชั้นดีชื่อ "ณัฐวุฒ จิตะสมบัติ" คนที่คุณหญิงดึงมาจากไอบีเอ็ม
(ประเทศไทย) หลังจากวางระบบออนไลน์ทั่วประเทศเป็นที่ปรึกษา นอกเหนือจากเกษม
ณรงค์เดช สามีของคุณหญิงพรทิพย์เอง
ทิศทางของกลุ่มสยาม ที่คุณหญิงพรทิพย์กล่าวถึงและเริ่มต้นลงมือหลังการลาออกของนุกูลว่าจะไม่ยึดติดกับธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียว
กลับดูเหมือนว่า ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในวันนี้
ปัญหาของสยามกลการก็คือ ปัญหาเรื่องขาดคน โดยเฉพาะคนในธุรกิจรถยนต์ !!
เพราะแม้ว่าพวกเขามีนโยบายว่าจะไม่เอาดีเฉพาะทางธุรกิจรถยนต์เพียงด้านเดียว
แต่ต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของกลุ่ม มาจากธุรกิจรถยนต์เพราะในสยามกรุ๊ปนั้น
กว่าครึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์
การโยกย้ายคนต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการ
"หลงทาง" ของสยามกลการ ที่ไม่สามารถหาคนมาแทนที่คนที่ถูกย้ายได้อย่างเหมาะสม
!!!
"ขนาดคนอย่างอาจารย์ศิริชัย ยังไม่สามารถทำตลาดนิสสันได้ แล้วคนมาใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์
จะทำได้ดีแค่ไหน ?" คนในวงการรถยนต์ตอบคำถามแบบยิงคำถาม ในยุคที่ธุรกิจรถยนต์กำลังเพิ่มดีกรีความแรงของการแข่งขัน
อันเนื่องมาจากการจุดพลุตลาดแข่งขันของวงการด้วยการออกรถใหม่ของฮอนด้าคาร์ส์
(ประเทศไทย) ในราคาที่เรียกความสนใจได้มาก
ดูจะเป็นปัญหาหนักมากสำหรับสยามกลการ
ที่สำคัญก็คือ พวกเขาไม่ยอมรับว่ากำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ
"…ที่จริงการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างปกติ ตั้งแต่ต้นปี เราจำหน่ายรถยนต์ได้
48,000 คัน ซึ่งสูงกว่ายอดเดียวกันของปีที่แล้ว 26% เราพยายามเอาสินค้าใหม่มาเสริม
เช่นการนำเข้านิสสัน 4 รุ่น และยังเปิดตัวนิสสันคิงแค็ป.." กวี วสุวัต
กล่าวในวันแถลงข่าวเรื่องความขัดแย้งของบริษัทให้สื่อมวลชนฟัง
ขณะที่นักบริหารอาชีพ ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ถือหุ้นอยู่ด้วยอย่างชุมพล พรประภา
ระบุว่า การจำหน่ายรถยนต์นิสสันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
แม้จะมีการเติบโตแต่ก็เป็นอัตราเติบโตที่ไม่ทันตลาดรวมนั่นหมายความว่า ส่วนแบ่งตลาดของสยามกลการถูกแย่งไป
มองตามหน้าเสื่อ ฝ่ายการตลาดของสยามกลการ ภายใต้การดูแลของพรพินิจ มีความผิดพลาดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงจริง
!!!
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายอื่นๆ ที่ทำให้ผลการดำเนินงานของสยามกลการมีปัญหาขึ้นมาล่ะ
อย่างเช่นสยามวิลสัน เอสซีเอส คอมพิวเตอร์ซีสเต็ม (ประเทศไทย) หรือยีอีสยามอินฟอร์เมชั่น
ไม่มีความผิดกระนั้นหรือ ?
ผู้บริหารสยามกลการหลายคน กล่าวถึงบริษัทที่มีการกล่าวถึงดังกล่าวว่า ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มของสยามกลการ
หากแต่เป็นบริษัท "ส่วนตัว" ของคุณหญิงพรทิพย์ โดยยกตัวอย่างว่า
ผู้บริหารระดับสูงในประเทศต่างๆ มักจะมีธุรกิจส่วนตัวทั้งสิ้น
มิหนำซ้ำ เรื่องดังกล่าว ดูจะยิ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับผู้บริหารระดับสูง
โดยเฉพาะตัวของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่/ซีอีโอ สยามกลการ ที่ไม่ลงมาจัดการแก้ไขปัญหาบริษัทส่วนตัว
3-4 บริษัท ที่มีปัญหาดังกล่าวเพราะในวงการเชื่อกันว่ากลุ่มบริษัทที่มีปัญหาเหล่านั้น
เกิดจากความคิดของณัฐวุฒ จิตะสมบัติ คนสนิทที่คุณหญิงไว้วางใจ มากที่สุด
นับตั้งแต่มา ร่วมงานเมื่อ 2 ปีก่อน
ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดคาดมากนัก เมื่อมีการเปิดเผยว่า บริษัททั้ง 3
นั้น ผู้เข้าไปถือหุ้นไม่ได้เป็นสยามกลการ หากแต่เป็นบริษัท ไอเออาร์ดีและพีเอ็นอินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งไอเอชอาร์ดีนั้น มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 1 แสนหุ้น คุณหญิงพรทิพย์
ถือหุ้น 51,001 หุ้นและณัฐวุฒถือหุ้น 48,994 หุ้น ขณะที่พีเอ็นอินเตอร์เนชั่นแนล
มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทแบ่งเป็น 1 ล้านหุ้น โดยมีคุณหญิงพรทิพย์ถือหุ้น
510,000 หุ้นและณัฐวุฒถือ 489,994 หุ้น
ณัฐวุฒจึงกลายเป็นตัวละครที่เสริมสีสันของการตกต่ำของสยามกลการเป็นอย่างดี
!!
เพราะการเข้ามาอยู่ในสยามกลการเพียง 2 ปี และได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากคุณหญิงพรทิพย์
ทั้งสถานภาพในสังคมและในบริษัทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยานยนต์หรือธุรกิจอื่นๆ
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง ที่สยามกลการในวันนี้กำลัง "หลงทาง"
!!!
หากจะกล่าวถึงคนมาใหม่ ที่ค่อนข้างมีอำนาจมากในสยามกลการในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นณัฐวุฒหรือดร.นิตยา
จะต้องยอมรับว่า ต่างก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ดังจะเห็นได้จากการทำงานในไอบีเอ็ม
(ประเทศไทย) เขาทั้งสองต่างก็สามารถที่จะขยับตำแหน่งได้สูง ก่อนที่จะผันตัวเองมาอยู่ในสยามกลการตามคำชวนของคุณหญิงพรทิพย์
ณัฐวุฒ จิตตะสมบัติจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดอุตสาหกรรมไอบีเอ็ม (ประเทศไทย)
ช่วงจังหวะที่เขามาอยู่สยามกลการ หลังจากเริ่มระบบออนไลน์สาขาทั่วประเทศในวงเงินลงทุนสูงกว่า
300 ล้านบาท เมื่อปี 2532 เป็นโอกาสดีของการขยายบทบาทของเขาได้ดี
ณัฐวุฒ คือคนที่ได้รับการมอบหมายจากคุณหญิงพรทิพย์ ให้เป็นผู้จัดกลุ่มของสยามกลการเป็นหมวดหมู่เข้าด้วยกัน
จนเกิดเป็น "สยามกรุ๊ป" ในวันนี้โดยเชื่อกันว่า เขาได้รับอิทธิพลจากรูปแบบการจัดกลุ่มธุรกิจของปูนซิเมนต์ไทยมาใช้
ภายใต้การปรึกษาจากเกษม ณรงค์เดช สามีของคุณหญิงพรทิพย์
เช่นเดียวกับดร.นิตยา ห่อเกียรติ คนเก่งของไอบีเอ็มอีกคนที่มาร่วมงานกับสยามกลการตามคำชักชวนของณัฐวุฒ
ในวันนี้ ตำแหน่งผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและรักษาการฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์
ดูจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากคุณหญิงพรทิพย์เป็นอย่างยิ่ง
เพราะหน้าที่ของเธอ เป็นหน้าที่ที่ต้องสร้าง "ภาพ" ขององค์กรและสินค้าสู่ตลาด
!!!
อันเป็นภาระที่หนักมากสำหรับดร.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาอย่างเธอ
ที่จะต้องทำหน้าที่ในการทำการโปรโมชั่นและแนะนำสินค้าออกสู่ตลาด หรือกล่าวสั้นๆ
ก็คือ เธอจะต้องดูแลถึง 2 P ของสยามกลการในตลาดรถยนต์คือ PROMOTION และ PRODUCT
ภาระหนักอึ้งอันนี้ เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของคนใหม่ในวงการตลาดรถยนต์
อย่างดร.นิตยา เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมองว่าคนใหม่ในวงการอย่างเธอ ยังไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจรถยนต์มากนัก
กับงานที่ต้องวางแผนล่วงหน้า 3-4 ปีก่อนที่รถยนต์จะออกสู่ตลาด บวกกับระบบการค้าเสรีที่ราคารถยนต์ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์
ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำตลาดรถยนต์เลย
!!!
ยิ่งในสถานการณ์การแข่งขันตลาดรถยนต์ที่กำลังรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับบริษัทรถยนต์ในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นจากค่ายยุโรปหรือค่ายญี่ปุ่นด้วยกัน ตลาดรถยนต์ยังจะต้องแข่งขันกับบรรดารถนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
แต่แทนที่สยามกลการจะปรับทัพเพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงกว่าอดีตที่ผ่านมา
ในวันนี้ พวกเขากลับต้องมานั่งปัดกวาดบ้านของตัวเอง
อันเป็นเรื่องน่าเสียใจยิ่ง กับการที่พวกเขายังหลงทางอยู่
ยิ่งภาพที่พวกเขาชอบที่จะตอกย้ำอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นบริษัทรถยนต์เพียงบริษัทเดียว
(ที่ทั้งผลิตและขาย) ที่เป็นบริษัทไทย 100% ด้วยแล้ว เป็นเรื่องน่าอนาถใจ
กับที่พวกเขายังหลงทางอยู่กับแผนการตลาด
"ช่วยๆ กันหน่อยนะ สยามกลการ ก็ถือว่าเป็นบริษัทคนไทยรายสุดท้ายแล้วที่เหลืออยู่.."
คำกล่าวของถาวร พรประภาเมื่อ 1 เมษายน 2531 ดูจะเป็นคำกล่าวที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
เขาห่วงสยามกลการแค่ไหน ?
มองในภาพของการบริหาร การปรับระบบงานของคุณหญิงพรทิพย์ครั้งนี้ อาจจะต้องยอมรับว่าเป็นการมองการณ์ไกล
ที่กล้ามอบอำนาจให้กับคนนอก "พรประภา" มาดูแลสยามกลการในรูปแบบของ
"มืออาชีพ" ก่อนที่เธอจะเกษียณในอีก 3 ปีข้างหน้าตามคำประกาศของเธอที่ว่า
จะลงจากเก้าอี้ใหญ่ที่สยามกลการเมื่ออายุ 50 ปี
แต่บังเอิญการมองการณ์ไกลของคุณหญิงพรทิพย์ในครั้งนี้ เธอไม่ได้ทำความกระจ่างในเรื่องการมอบหมายอำนาจใหม่
ในสถานะที่ไม่ดีนักของสยามกลการ ที่กำลังถูกกระหน่ำจากสงครามการตลาดรถยนต์อย่างหนักหน่วง
ในยุคที่คุณหญิงกล่าวว่าเป็นยุคของ GLOBALIZATION ภายใต้ความร่วมมือของนิสสันมอเตอร์
ที่ต้องการเห็นไทย (สยามกลการ) เป็นศูนย์กลางของนิสสันในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะบังเอิญคนที่รับมอบงานนั้น ยังมือใหม่มากกับตลาดรถยนต์ ที่พวกเขาควรจะสนใจมากกว่าธุรกิจอื่นๆ
หรือผู้บริหารสยามกลการยังไม่รู้ ว่ากำลังหลงทาง ?!!