"ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" แต่สำหรับผู้บริหารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งประเทศไทย
เงินกระดาษอันมีค่านี้จะต้องมีหน้าที่ประการสำคัญคือ ต่อต้านการปลอมแปลงได้ร้อยเปอร์เซนต์ยิ่งเทคนิคการพิมพ์ปัจจุบันเข้าสู่ขั้นไฮเทค
และทรงประสิทธิภาพในการทำงานพิมพ์เลียนแบบ งานค้นคว้าและวิจัยพัฒนาธนบัตรคือหัวใจสำคัญที่สร้างสรร
ที่ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ และพัฒนาศักยภาพการเติบโตอย่างแท้จริง
แต่คุณค่าของงานแบบนี้ในสังคมไทย ผู้ทำงานอาร์แอนด์ดีเป็นผู้ปิดทองหลังพระ
!
91 ปีนับตั้งแต่มีการนำธนบัตรออกใช้ในระบบการเงินควบคู่กับเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่ปี
2445 วงจรชีวิตของเงินกระดาษหมุนเวียนเปลี่ยนรูปแบบไปถึงธนบัตรแบบที่สิบสามแล้ว
แต่ธนบัตรไทยเพิ่งจะผลิตโดยคนไทย เมื่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในปี 2512 นี้เองหลังจากที่จ้างบริษัทโทมัส
เดอ ลารูพิมพ์ให้มาตั้งแต่แรก โดยได้รับความช่วยเหลือด้านวิทยาการและบุคลากรจากแบงก์ชาติเบลเยี่ยม
ตั้งแต่มีโรงพิมพ์ ธนบัตรไทยมีพัฒนาการที่ยากต่อการปลอมแปลงมากขึ้นจากการศึกษาค้นคว้า
ไม่ว่าจะเป็นหมึกพิมพ์ ลายเส้น สี กระดาษ ลายน้ำ การฝังเส้นใยทึบแสงที่พิมพ์คำว่า
"ประเทศไทย"
ขณะที่การผลิตป้อนความต้องการมีความคล่องตัว ในปี 2530 มีธนบัตรหมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดทั่วประเทศประมาณ
830 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 75,290 ล้านบาท
แต่มิใช่ว่ามีโรงพิมพ์ธนบัตรจะพิมพ์ธนบัตรออกใช้เองเท่าไหร่ก็ได้ เพราะหลักการที่ว่า
"มูลค่าของสินทรัพย์ ทุนสำรองเงินตราจะต้องเท่ากับมูลค่าของธนบัตรที่ออกใช้"
ดังนั้นธนบัตรมีมูลค่า 75,290 ล้านบาท จึงต้องมีสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเช่น
ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์รัฐบาลไทย และตั๋วเงินในประเทศค้ำประกัน
ช่วงเศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาล ปี 2533 โรงพิมพ์ธนบัตรแบงก์ชาติต้องทำงานปั๊มเงินหามรุ่งหามค่ำ
จ่ายโอเวอร์ไทม์วันเสาร์ให้เกือบตลอดปี เครื่องพิมพ์ทำงานเต็มกำลังอาคารแรกเดิมเคยพิมพ์ปีละ
600 ล้านฉบับก็เพิ่มเป็น 900 ล้านฉบับในปีนั้น ส่วนอาคาร ฉ.หลังที่สองก็พิมพ์สองผลัดได้
500 ล้านฉบับ
โรงพิมพ์ธนบัตรบนเนื้อที่เดิม 11 ไร่ 35 ตร.วาซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2512
เริ่มแออัดสำหรับพนักงานไม่ต่ำกว่าพันคนที่ต้องเข้าทำงานสองผลัด สิ่งที่ต้องคำนึงสูงสุดคือความมั่นคงปลอดภัยที่สุด
ในอีก 5 ปีข้างหน้า โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งที่สองของแบงก์ชาติจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับคอนเซปท์
"ครบวงจร" ที่ขยายตัวไปสู่ BACKWARD INTERGRATION ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตกระดาษ
และวางแผนถึงการเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ธนบัตรในภูมิภาคอินโดจีนนี้
"ตอนนี้ กำลังการผลิตเท่าที่คุยกับกองวางแผนล่าสุดคือประมาณ 1,400-1,500
ล้านฉบับต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าขนาดธนบัตรจะใบใหญ่มากแค่ไหน ? เช่นปีนี้ยอดพิมพ์ลดลงเพราะธนบัตรใบละ
1,000 บาทออกมาและเลิกธนบัตรใบละ 10 บาทเมื่อก่อนกระดาษแผ่นหนึ่งพิมพ์ธนบัตรชนิด
10 บาทได้จำนวน 40 ฉบับ แต่พิมพ์ธนบัตรชนิด 20 บาทได้ 28 ฉบับและธนบัตรชนิด
1,000 บาทได้ 24-25 ฉบับ ดังนั้นแนวโน้มธนบัตรจะใหญ่ขึ้น" นพพร ประโมจนีย์หัวหน้ากองค้นคว้าและควบคุมคุณภาพ
(R&D DIVISION) ของโรงพิมพ์ธนบัตรเล่าให้ฟัง
ดร.นพพร เป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติ รุ่นเดียวกับพิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการฯ
เขาใช้เวลาร่ำเรียนในอเมริกาสิบกว่าปี จนกระทั่งจบปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเคมีจากลีไฮ
ยูนิเวอร์ซิตี้ที่เพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยค้นคว้าด้านหมึกพิมพ์
ตามความประสงค์ของดร.โอวาท นิติทัณฑ์ประภาส ซึ่งเป็นหัวหน้ากองค้นคว้าและควบคุมคุณภาพคนแรกของโรงพิมพ์ธนบัตร
งานวิจัยและค้นคว้าชิ้นแรกด้าน "หมึกพิมพ์ธนบัตร" (SECURITY
PRINTING INK) เป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากๆ ของ ดร.โอวาท ได้รับรางวัลมากที่สามจากสภาวิจัยแห่งชาติในปี
2515
ในงานพิมพ์ธนบัตรซึ่งถือว่าเป็น SECURITY PRINTING นั้น หมึกพิมพ์เส้นนูนหลายสี
(INTAGLIO PRINTING MULTICOLOR INK ) จะใช้มากถึง 90% ของหมึกพิมพ์ทั้งหมด
ขณะที่หมึกสีพื้น (TINT PRINTING INK) จะใช้น้อยเพราะพิมพ์บางๆ
"อุดมคติของผมคือต้องการให้หมึกพิมพ์สามารถจะละลายในน้ำธรรมดาได้ปัจจุบันเราปรับปรุงได้ดีขึ้นจนสามารถละลายหมึกกับด่างอ่อนๆ
ได้ ทำให้ลดมลภาวะได้ ขณะที่เมื่อก่อนน้ำยาล้างหมึกบางตัวมีพิษต่อตับ"
เป็นคำกล่าวของ ดร.โอวาท อดีตรองผู้อำนวยการด้านเทคนิคโรงพิมพ์ซึ่งเกษียณราชการแล้ว
แต่ยังทำงานด้านวิจัยและพัฒนาอยู่โดยไปเป็นกรรมการบริหารศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์
ผลพวงของการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักของดร.โอวาทได้กลายเป็นขุมทรัพย์อันทรงคุณค่าแห่งความเป็น
"ไท" นับตั้งแต่ปี 2525 ไม่ต้องพึ่งพาหมึกพิมพ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศแต่สามารถผลิตหมึกพิมพ์เองโดยใช้
"น้ำมันมะมึบ" ซึ่งพบมากในภาคอีสานมาสังเคราะห์เป็นน้ำมันVANICH
ทำให้ลดต้นทุนมหาศาลนับร้อยล้านบาท ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
"เฉลี่ยต้นทุนที่ลดเมื่อสองปีที่แล้ว เราสามารถประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า
150 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเราสั่งซื้อหมึกพิมพ์เส้นนูนจะตกกิโลละ 300-400 บาท
แต่ที่เราผลิตเองจะมีราคาต้นทุนไม่ถึง 100-200 บาทต่อกิโล ทำให้เราประหยัดกว่าเท่าตัว"
ดร.นพพรเล่าให้ฟังถึงการประหยัดเงินสั่งซื้อหมึกพิมพ์ที่ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า
200 ตันต่อปี
เมื่อดร.นพพรกลับมาเมืองไทยในปี 2525 เขาได้กลายเป็นทายาทที่ต้องสานต่อภารกิจด้านวิจัยและพัฒนาสืบต่อจากดร.โอวาท
ที่ได้ปูรากฐานงานหมึกพิมพ์ไว้อย่างแน่นหนาตลอดจนงานพัฒนาแม่พิมพ์ธนบัตรแบบเส้นนูนแบบ
ออฟเซทและเลตเตอร์เพรส ที่ต้องพลวัตตามวิวัฒนาการของวัสดุไวแสงผสมผสานกับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ประเภทไมโคร
อิเลคทรอนิค
นอกจากนี้พื้นที่การวิจัยยังขยายขอบเขตไปถึงโครงการโรงงานผลิตกระดาษธนบัตรซึ่งมีเหตุผลในแง่ต้นทุน
ความมั่นคงปลอดภัยและประหยัดเงินตราต่างประเทศ โดยขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ฝ้ายที่มีอุดมสมบูรณ์ในเมืองไทย
เป็นวัตถุดิบทำเนื้อกระดาษธนบัตร ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนียว พับได้พันกว่าครั้งโดยไม่ฉีกขาด
ปัจจุบันโรงพิมพ์แบงก์ชาติต้องสั่งซื้อกระดาษธนบัตรจากยุโรปและเกาหลี โดยวิธีการประมูลและพิจารณาถึงความสวยงามของลายน้ำในกระดาษประกอบด้วย
แต่มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ปริมาณการผลิตธนบัตรอาจจะล้นความต้องการ เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องทำตลอด
24 ชั่วโมงและแนวโน้มการใช้ธนบัตรยังต่ำกว่าเป้าหมายจนอาจก่อให้เกิดปัญหาเชิงพาณิชย์ขึ้น
ทั้งๆ ที่โรงพิมพ์ธนบัตรไม่สามารถจะ "ขายของ" ได้
"โรงพิมพ์ธนบัตรของเราถูกจำกัดโดยพระราชบัญญัติเราขายของไม่ได้ เราไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนไฟฟ้า
ประปา ถ้าจะพิมพ์ธนบัตรให้ต่างประเทศคงต้องเป็นไปในรูปของรัฐบาลต่อรัฐบาล
ตอนนี้เราก็พิมพ์อากรแสตมป์ให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตซึ่งเคยพิมพ์แสตมป์เหล้า
และยังพิมพ์เช็คเดินทางให้กับธนาคารออมสินด้วย" ดร.นพพร เล่าให้ฟัง
ในยุคของดร.นพพร ส่วนใหญ่เวลาจะหมดไปกับงานบริหารประจำวันมากกว่าศึกษาวิจัยค้นคว้า
เนื่องจากการเติบโต ของเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมามีสูงมาก โดยเฉพาะระยะ 1-2
ปี ภาคการเงินการลงทุนของไทยได้แผ่ขยายไปเชิงโลกานุวัตร
ศักยภาพของโรงพิมพ์ธนบัตรจึงมีโอกาสเติบโตกลายเป็นพี่ใหญ่ในประเทศแถบอินโดจีนนี้ได้
แต่ต้องแก้ไขโครงสร้างองค์ใหม่ กิจกรรมที่ผ่านมา แบงก์ชาติกัมพูชาหรือลาวได้ส่งบุคลากรมาฝึกงานดูงานที่โรงพิมพ์ธนบัตรของไทย
แต่เมื่อถามถึงโรงพิมพ์ธนบัตรไทยเคยรับจ้างพิมพ์ธนบัตรให้กัมพูชาหรือไม่
? ดร.นพพร กล่าวว่า ยังไม่เคยพิมพ์ให้มีแต่ดำริที่ว่ารัฐบาลกัมพูชาต้องการพิมพ์ธนบัตรแต่จำนวนน้อยไม่ถึง
20 ล้านฉบับ และต้องการงานเร็ว ซึ่งโรงพิมพ์ไม่สามารถทำให้ได้ เพราะขั้นตอนเตรียมงานก่อนพิมพ์ต้องใช้เวลาแกะแม่พิมพ์ด้วยมือเพื่อป้องกันการปลอมแปลงคำสั่งซื้อกระดาษ
ตั้งสเปคหมึกพิมพ์ใช้เวลาเป็นปี ขณะที่ขั้นตอนการพิมพ์ 20 ล้านฉบับ ใช้เวลาสัปดาห์เดียวก็เสร็จ
"โรงพิมพ์ของเราอยู่ในระดับค่อนข้างใหญ่ จะพิมพ์ประมาณ 1,500 ล้านฉบับพอๆ
กับของอังกฤษ ส่วนอินโดนีเซียจะประมาณ 3,000 ล้านฉบับผมคิดว่าโทมัส เดอ ลา
รู ซึ่งเป็นโรงพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์ให้สิงคโปร์และประเทศเล็กๆ เขาพิมพ์ให้เขมรได้อย่างสบายๆ
20 ล้านฉบับ" นพพรกล่าว
ภารกิจหนักของนพพรเวลานี้ส่วนใหญ่ จึงอยู่ที่การปรับปรุงจัดองค์กรและโครงสร้างบุคลากรที่เอื้อต่อการทำงานของกองค้นคว้าและควบคุมคุณภาพ
โดยมีแนวความคิดค่อยๆ แยกงานวิจัยออกจากงานควบคุมคุณภาพ ในอัตราละ 8 คน
บันไดของนักวิจัยจึงมิได้มุ่งสู่ผู้บริหารเหมือนสายงานอื่นๆ แต่จะได้อีกแบบที่เน้นงานวิจัยแท้จริง
แต่ปัจจุบันคนของนพพรจำนวน 10 คนต่างต้องทำงานรูทีนจิปาถะ ประเภทควบคุมคุณภาพกระดาษหมึกพิมพ์
ออกสเปคต่างๆ และสั่งซื้อของนับร้อยรายการ
การสร้าง "คน" คือการลงทุนเพื่ออนาคตของโรงพิมพ์ธนบัตร โดยส่งนักเรียนทุนจำนวน
10 คน ไปเรียนสาขาวิศวกรรมด้านสิ่งพิมพ์ วิศวกรรมเคมีและอิเลคทรอนิค ที่นับวันจะหายากในสาขาสิ่งพิมพ์นี้
"แนวโน้มในอนาคตเรามองแบบอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีที่เขาเป็นรูปสถาบันที่มีเอกเทศออกไป
มีการบริหารและการให้ทุนวิจัย โดยไม่ผูกติดกับต้นทุนการผลิต ซึ่งบางครั้งทุนวิจัยก็อนุมัติยาก
เพราะผลงานจะต้องใช้เวลาห้าหรือสิบปีโดยเฉพาะการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่การวิจัยประยุกต์"
นพพร ทอฝันถึงอนาคต
จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่มาจากลักษณะงานที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาว่ากิจกรรมโรงพิมพ์เน้นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องการความเป็นเอกเทศและความคล่องตัวในเชิงบริหารและการวิจัยพัฒนา
ขณะที่หน้าที่หลักของแบงก์ชาติคือนายธนาคารของรัฐบาล ที่ทำงานกับข้อมูลมากกว่างานพิมพ์
ดังนั้นในอนาคตโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะมีบทบาทที่ใหญ่กว่าระดับฝ่าย
ที่พร้อมจะแตกตัวเป็นสถาบันกึ่งอิสระได้ !