ความอ่อนหัดของแบงก์ชาติ-คลังที่ไม่ทันเกม แฉนักเก็งกำไรสบช่องฉกฉวยความผิดพลาดมาตรการ30%สกัดค่าบาทแข็ง ส่วนต่างระหว่างตลาดค่าเงินบาทในประเทศ-ต่างประเทศมีช่วงห่างสูง ทำกำไรง่ายๆวันละหลายรอบ กำไรอื้อซ่า เผยวิธีสุดนิยม ลงทุนผ่านตลาดหุ้นใช้เครือข่าย โบรกเกอร์สัญชาติสิงคโปร์ ซื้อขายสั้นๆฟันกำไรทันตาดอลลาร์ละ 3 บาท พบวอลุ่มซื้อหุ้นของโบรกเกอร์รายใหญ่แดนลอดช่องโตก้าวกระโดดผิดปกติ ขณะที่ตลาดหุ้นซ้ำ 3 เดือนหลังใช้มาตรการ 30 % เจ๊งไปแล้วเฉียด 4 แสนล้าน ชี้ตปท.หมดความศรัทธาแบงก์ชาติ
ค่าเงินบาทเมื่อวันศุกร์(16มี.ค.)ปิดในประเทศที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 9 ปีครึ่งขณะที่สำนักวิจัยหลายสำนักคาดว่าสัปดาห์นี้จะยังแข็งค่าต่อเนื่อง
การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจากความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะความล้มเหลวของมาตรการสกัดค่าเงินบาทแข็งหรือมาตรการกันสำรอง30% สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น
**แฉโกยกำไรบาททำง่าย-รวยเละ
ล่าสุดนอกจากจะใช้ไม่ได้ผลแล้ว ยังมีช่องว่างให้มีการค้าเงินทำกำไรจากการที่อัตราแลก เปลี่ยนระหว่างตลาดเงินบาทในประเทศ (Onshore) กับนอกประเทศ(Offshore) มีส่วนต่างสูง และ ทำกำไรโดยผ่านตลาดหุ้น
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถกระทำการง่ายๆผ่านตลาดสิงค์โปร์และไทย โดยวันนี้ค่าเงินบาทในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท ขณะที่สิงคโปร์อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนต่างกันถึง 3 บาท
วิธีการที่นักค้าเงิน และ นักเก็งกำไรหุ้นหันมานิยมทำกันในขณะนี้ คือ 1.เพียงนักลงทุนสิงคโปร์รายหนึ่งมีบัญชีเงินบาทสำหรับชาวต่างชาติ ทำธุรกรรมโดยโอนเงินจากสิงคโปร์เข้าไทยซื้อหุ้นกับโบรกเกอร์ในไทยแล้วขายออกทันทีนำมาพักไว้ที่บัญชีเงินบาท จากนั้นโอนเงินกลับสิงคโปร์ ใช้เงินเท่าเดิมแต่จะมีกำไรส่วนต่างระหว่างสองตลาดดังกล่าวแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้มากขึ้น กำไรอย่างง่ายๆทันที
ตัวอย่างเช่น นักเก็งกำไรคนหนึ่งที่สิงคโปร์โอนเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกเงินบาทได้ 350 ล้านบาทมาที่บัญชีเงินบาทสำหรับชาวต่างชาติ จากนั้นซื้อหุ้นในราคา 350 ล้านบาทกับโบรกเกอร์แล้วขายหุ้นเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท ในเวลาต่อมาก็โอนเงินจำนวนนี้กลับสิงคโปร์จะแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้ 10.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐกำไรทันที 9.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ
วิธีการที่ 2. วิธีซับซ้อนขึ้นอีกโดยใช้เครือข่ายธนาคารพาณิชย์มาเกี่ยวข้องในขึ้นตอนการกู้ยืมเงินทำกำไรไม่ต้องผ่านบัญชีเงินบาทสำหรับชาวต่างชาติ
ตัวอย่างเช่น นักเก็งกำไรที่สิงคโปร์หรือในไทยก็ได้ ทำทีต้องการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง สมมุติเป็นหุ้น A ราคา 32 บาทต่อหุ้น จำนวน 10ล้านหุ้น หรือต้องใช้เงิน 320 ล้านบาท(10ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับที่สิงคโปร์) ทำรายการผ่านโบรกเกอร์ในสิงคโปร์ จากนั้นโบรกเกอร์รายนี้ซึ่งอาจจะมีเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ในไทย หรือ ไม่มี ขอกู้เงินในมูลค่าเท่ากับลูกค้าต้องการ 320ล้านบาทมอบให้สาขาโบรกเกอร์สิงคโปร์ในไทยโอนเงินมาให้แล้วซื้อหุ้น A ในราคา 320 ล้านบาท เพียงไม่กี่นาทีจากนั้นก็ขายหุ้น A ออกมาเท่ากับมูลค่าเดิม 320 ล้านบาท แลกเป็นดอลลาร์สหรัฐได้เงินมา 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนรายเดิมก็จะแลกเงินบาทซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้เงิน 350 ล้านบาท คืนเงินกู้ยืมให้โบรกเกอร์ในไทยไปใช้คืนธนาคาร 320 ล้านบาท กำไรส่วนต่างทันที 30 ล้านบาท โดยสัปดาห์หนึ่งสามารถทำลักษณะเช่นนี้ได้หลายรอบ
กังขาธปท.ยุคนี้ทำอะไรไม่ผิด
วิธีการนี้ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน”ออกอากาศทางทีวีผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและผู้ดำเนินรายการยามเฝ้าแผ่นดินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(อ่านรายละเอียดได้ที่ www.manager.co.th) ซึ่งเขายังได้ตั้งคำถามถึงนางธาริสา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลังว่าทราบเรื่องนี้หรือไม่
สำหรับนางธาริสา เขาเห็นว่า ดำเนินนโยบายผิดพลาดมาตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการฯ แล้วต่อเนื่องมาถึงการออกมาตรการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาท หรือ มาตรการกันสำรอง 30% ในสมัยที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นรองนายกฯและรมว.คลัง จนส่งผลกระทบลุกลามถึงตลาดหุ้นอย่างหนัก
มาตรการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย นอกจากจะไม่ได้ผลค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องยังทำให้ธปท.ขาดทุนอย่างมหาศาล แม้จะปฎิเสธว่า เป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชีก็ตาม
ประการสำคัญ หากใช้มาตรฐานเดียวกัน กรณีการปกป้องค่าเงินบาทในสมัยนายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นผู้ว่าการธปท.ทำให้รัฐเสียหาย180,000 ล้านและถูกฟ้องร้องในเวลาต่อมา กรณีของนางธาริษาที่ธปท.ขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทไปแล้ว 174,000 ล้าน ซึ่งยังไม่นับรวมเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมายังไม่เปิดเผยออกมา ถามว่า ผู้บริหารธปท.สมควรต้องรับผิดชอบหรือไม่ ทำไมถึงไม่มีใครมาดำเนินคดี?
**โบรกเกอร์สิงค์โปร์วอลุ่มก้าวกระโดด
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากเกี่ยวกับการทำกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยเพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าทำได้อย่างถูกต้องเนื่องจากมีกฎหมายรับรองให้สามารถทำได้
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นยังเบาบางมากเพราะนักลงทุนยังไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนซึ่งหากมีการเข้ามาทำธุรกรรมด้วยวิธีดังกล่าวการไหลเข้ามาของเงินคงเป็นการไหลในลักษณะทยอยเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดความผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทหลักทรัพย์ที่มีบริษัทจากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่พบว่ามีอยู่ 4 แห่งประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นโดย DBS Vickers Securities Holdings Pte. Ltd. สัดส่วน 99.99%, บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นโดย UOB-Kay Hian Holdings Limited. สัดส่วน 76.92%, บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นโดย Kim Eng Holdings Limited. สัดส่วน 57.63% และบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นโดย Philip Brokerage Pte. Ltd. สัดส่วน 99.89%
แหล่งข่าวกล่าวว่า โบรกเกอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีธุรกรรมซื้อขายหุ้นติดอันดับโบรกเกอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุด หรือ มีมาร์เกตแชร์มากในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า นับแต่มาตรการ30% ใช้บังคับสกัดค่าเงินบาท ต่างชาติซื้อขายหุ้นน้อยลง แต่ช่วงหลังพบว่า มีโบรกเกอร์ 1 ใน 4 รายนี้มีปริมาณการซื้อขายหุ้นผ่านเติบโตอย่างก้าวกระโดด
** 3 เดือนทำหุ้นเจ๊งเฉียด 4 แสนล้าน
หากนับแต่มาตรการกันสำรอง 30% ประกาศใช้เมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค. 2549 โดยแม้ว่าตลอด 3เดือนที่ผ่านมาจะมีการผ่อนปรนมาตรการมาอย่างต่อเนื่องแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลายเป็นแผลที่ทำลายความเชื่อมั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นโดยมูลค่าซื้อขายต่อวันปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นล้านมาโดยตลอด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) และ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เทียบกับวันที่ 19 ธ.ค.2549 เวลา 3 เดือนผ่านไปดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจาก 730.55 จุด (18 ธ.ค.49) เทียบกับปัจจุบัน (16 มี.ค.50) ดัชนีปิดที่ 671.05 จุด ลดลง 59.5 จุด หรือ 8.14% ส่วนมาร์เกตแคปเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 49 อยู่ที่ 5,450,570 ล้านบาท เทียบกับปัจจุบัน (16 มี.ค.50) อยู่ที่ 5,070,183.85 ล้านบาท ลดลง 380,386 ล้านบาท หรือลดลง 6.97%
นายอาจดนัย สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานชมรมโบรกเกอร์ต่างประเทศ กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ของธปท.เนื่องการกระทบต่อการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศและกระทบต่อความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าธปท.จะพยายามผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน เพราะนักลงทุนยังคงขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของภาครัฐรวมถึงความกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นอีก
“ผมเชื่อว่ามันยากแล้วที่จะดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนเพราะว่านักลงทุนต่างชาติหมดความศรัทธาในแบงก์ชาติแล้ว นอกจากนี้เท่าที่ผมได้คุยกับนักลงทุนที่ประเทศนิวยอร์ก เขายังคงรอดูเกี่ยวกับความชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะเสร็จเมื่อไร และเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวที่จะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการลงทุนโดยตรง”นายอาจดนัยกล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกเชื่อว่ายังมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 700 จุดได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าผลกระทบจากปัจจัยต่างๆนอกประเทศจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างๆในโลกแต่ตลาดหุ้นไทยกลับได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยส่วนหนึ่งเพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยมีไม่มาก
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงปีที่ 49 ที่ผ่านมามีการขายสุทธิออกมาจำนวน 31,924 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่เข้ามาซื้อขายในช่วงนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นเม็ดเงินที่เป็นเงินเดิมที่ซื้อขายหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนทำให้ช่วงที่ผ่านมาดัชนียังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดบประเมินแนวรับอยู่ที่ 660 จุด และแนวต้านที่ 700 จุด
|