ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นมา การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท.มีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นมา
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจพลังงานอันเป็นกิจการหลักของ ปตท.หน่วยงานนี้ก็คือ
กองทุนประกันภัยตัวเอง
การตั้งกองทุนฯ ครั้งนี้เท่ากับปตท.ทำตัวเหมือนบริษัทประกันภัยต่อ แต่จะจำกัดอยู่แค่ภัยเฉพาะธุรกิจของ
ปตท.เท่านั้น และเลือกภัยที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะอาคารสถานที่
ส่วนภัยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แท่นผลิต ระบบท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซหรือคลังก๊าซตลอดจนถึงคลังน้ำมัน
ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงยังคงให้บริษัท ทิพยประกันภัยเป็นผู้รับประกัน
และส่งต่อให้บริษัทประกันภัยต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง
สำหรับการบริหารนั้นจะเหมือนกับบริษัทประกันภัยตัวเองทุกอย่าง จะแตกต่างก็ตรงการจัดตั้งที่ไม่ต้องขออนุญาติจาก
ครม. เพราะไม่ใช่นิติบุคคลเพียงแต่ขออนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.เท่านั้นก็จัดตั้งได้
สมศักดิ์ ประสงค์ผล รองผู้ว่าหน่วยบริการกลางรับบทเป็นประธานกองทุนฯ คนแรก
งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดภาระทางการเงินของปตท.
ปี 2528 ปตท.มีค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น
192 ล้านบาท ในปี 2536 และปี 2537 จะสูงถึง 267 ล้านบาทซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก
2-3 เท่าตัวในไม่กี่ปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันในตลาดโลก
และจำนวนสินทรัพย์ของ ปตท.เองที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ปตท.มีประวัติการเคลมที่ต่ำมากซึ่งเป็นธรรมดาของธุรกิจน้ำมันที่จะต้องมีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว
ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้เงินไหลออกไปจากบริษัทปีหนึ่งๆ นับร้อยล้านบาท ปตท.ก็เลยหาวิธีลดภาระการเงินตรงนี้ลงไปบางส่วน
ด้วยการรับประกันภัยตัวเองเสียเลย โดยเลือกเอาเฉพาะภัยที่มีความเสี่ยงต่ำเงินที่จะต้องควักจ่ายออกไปเป็นค่าเบี้ยประกันเต็มทั้ง
100% ก็ลดน้อยลงไป โดยเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของการย้ายจากกระเป๋าซ้ายไปใส่กระเป๋าขวาแทน
เดิมทีนั้น เลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าการปตท.ต้องการที่จะตั้งเป็นบริษัท แต่เนื่องจากติดขัดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์
เพราะยังไม่เคยมีการขอจัดตั้งบริษัทประกันภัยตัวเองมาก่อนในประเทศไทย ก็เลยขอตั้งเป็นกองทุนฯ
ก่อน
เลื่อน มั่นใจว่า ภายใน 5 ปี กองทุนนี้จะมีกำไรสะสมเท่ากับทุนจดทะเบียน
คือ ประมาณ 340 ล้านบาท และในเวลา 10 ปี หลังจากที่กองทุนฯ เริ่มทำงาน คือจากปี
2537-2546 จะมีกำไรไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท และจะมีทุนสะสมประมาณ 1,800
ล้านบาท โดยเปอร์เซ็นต์การรับประกันภัยก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
"สัดส่วนของทิพยประกันภัยกับบริษัทประกันภัยภายในประเทศยังคงรับได้อยู่ในอัตรา
7% ซึ่งเป็นความสามารถสูงสุดที่จะรับได้เท่าเดิม ส่วนต่างประเทศรับไป 93%
เราก็ขอดึงส่วนนี้มา 10% เหลือส่วนต่างประเทศ 83% ซึ่งไม่กระทบกระเทือนบริษัทประกันภัยรายใดในประเทศเลย
และทิพยฯ เองเขาก็ยินดี" สมศักดิ์อธิบายถึงที่มาของสัดส่วนที่ปตท. ขอรับผิดชอบเอง
นอกจากนี้ ยังจะได้ดอกผลหนุนเนื่องซึ่งกันและกันที่จะช่วยให้ปตท.ลดภาระทางการเงิน
นอกเหนือจากที่ปตท.มีแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินเพื่อดูแลด้านการเงินทั้งระบบโดยเฉพาะ
และมีหน้าที่จะต้องหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งตอนนี้มีที่ติดต่อมาแล้วโดยตรง
คือ นอร์สเวสต์แบงก์ของอังกฤษและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แบงก์ของสหรัฐ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะสูงถึง
1,900 ล้านบาทในปี 2537 และอาจสูงถึง 3,500 ล้านบาทในปี 2538
มูลค่าดอกเบี้ยตรงนี้คือส่วนที่จะทำให้ปตท.มีกำไรลดลงในปีหน้า แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านจาก
8.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ก็ตาม แต่เมื่อหาแหล่งเงินกู้ต่ำได้แล้ว จะช่วยลดดอกเบี้ยให้เหลือประมาณ
2,000 ล้านบาท
"เมื่อตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นการช่วยลดภาระเบี้ยประกันที่สูงขึ้นเรื่อย
ๆ และเป็นช่องทางเสริมรายได้แก่เราด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการปูฐานเพื่อเตรียมตั้งบริษัทประกันภัยตัวเองในอนาคต
มิใช่การขยายฐานไปสู่ธุรกิจให้ครบวงจรเพื่อความมีประสิทธิภาพที่สุดในทุกด้านมากกว่า"
แหล่งข่าวระดับสูงของปตท.กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารการเงินมิติใหม่ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ