|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อมาตรการกันสำรอง 30% คือ "ดาบ" เล่มคมของ "แบงก์ชาติ" ที่ถูกตีขึ้นมาเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าบาท อันนำไปสู่เงินที่แข็งเกินปัจจัยแท้จริง ด้านหนึ่งแบงก์ชาติมั่นใจในความสำเร็จที่ทำให้สกุลเงินบาทไม่ผันผวนรุนแรงเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่อีกด้านมาตรการดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งเงินบาทที่แข็งค่า จนว่ากันว่าอาจเห็นเงินบาททะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ และกล่าวได้อีกว่ามาตรการกันสำรอง 30% ช่วยภาคส่งออกไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกันยังซ้ำเติมภาคลงทุนละความเชื่อมั่นผู้ประกอบการด้วย
เมื่อ "ดาบ" ไร้ความคมก็มิอาจต้านทานอำนาจของกระแสโลกได้ หนทางเดียวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย "แบงก์ชาติ" ทำได้คือการตีดาบเล่มใหม่ขึ้นมาทดแทน
ว่ากันตามจริง มาตรการกันสำรอง 30% ใช่ว่าจะไร้ผล แต่นักวิชาการ นายแบงก์ หรือบุคคลในวงเศรษฐกิจต่างเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการที่ดีกว่านี้ ไม่รุนแรงไม่หวือหวาจนสร้างความวิตกกังวลให้นักลงทุนลามไปถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
ดูเหมือนแบงก์ชาติจะรู้ตัวในเรื่องนี้ดี แต่ด้วยศักดิ์ศรีกอปรกับข้อมูลที่ประกอบว่า แท้จริงแล้วมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้มีแต่ผลเสียเพียงอย่างเดียว งานนี้แบงก์ชาติจึงยังไม่ยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวในทันที แม้จะทำให้หุ้นถล่มทลายมาแล้วก็ตาม แต่แบงก์ชาติกลับค่อยๆ ใช้วิธีการผ่อนปรนมาตรการ
ข้อมูลที่แบงก์ชาตินำมาชี้แจงโดย "ธาริษา วัฒนเกส" ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ก่อนออกมาตรการกันสำรอง 30% ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ปรับตัวแข็งค่าถึง 16.5% ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่าสูงกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค อยู่ราว ๆ 8%-9% เป็นความผิดปกติที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้น จนเป็นที่มาของการตัดสินใจออกมาตรการดังกล่าว
"หลังจากออกมาตรการก็มีเสียงท้วงติงอย่างหนักว่าสิ่งที่เราทำลงไปได้ผลแน่หรือ จึงยืนยันว่ามาตรการนี้ได้ผลตามที่ต้องการ เพราะค่าเงินบาทหลังมาตรการดังกล่าวได้เกาะกลุ่มวิ่งไปตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งไม่ได้แข็งค่าในทิศทางเดียว ดังนั้นหลังจากที่เราออกมาตรการไปช่วงสิ้นเดือน ก.พ.เทียบกับ 19 ธันวาคม 2549 ในภูมิภาคนี้ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าที่สุดคือฟิลิปปินส์ แข็งขึ้น 2.71% ส่วนไทยแข็งค่าประมาณ 1% ทั้งๆ ที่เมื่อปีกลายเราแข็งค่าถึง 17%"
ธาริษา บอกอีกว่า แบงก์ชาติไม่ได้ต้องการสกัดกั้นค่าบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับหรือตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ที่ต้องการคือให้ค่าบาทผันผวนไปตามกระแสค่าเงินสกุลภูมิภาคเพื่อช่วยผู้ประกอบการด้านส่งออกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค
ถึงวันนี้ความช่วยเหลือภาคส่งออกเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของแบงก์ชาติหรือไม่...? อาจเป็นไปได้ เพราะภาคส่งออกคือพระเอกตัวจริงที่มีสัดส่วนถึง 60% ของจีดีพี การทำอะไรที่กระเทือนต่อภาคการส่งออกย่อมหมายถึงกระทบต่อจีดีพี เมื่อจีดีพีหด สังคมก็ตีความหมายว่าเศรษฐกิจส่อแววป่วยหนัก...การลงทุน ความเชื่อมั่น การบริโภค ทุกอย่างหดตัวชะงักงัน...กลายเป็นเรื่องยุ่งๆ ให้รัฐบาลนั่งปวดหัวหาหนทางเยียวยาอีก ทั้ง ๆ ที่มองดูแล้วพื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็แข็งแรงมิใช่น้อย
มาตรการกันสำรอง 30% ไม่สามารถช่วยเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ ทุกวันนี้ค่าเงินยังคงวิ่งทะยานแข็งอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะหยุด โดยคาดกันด้วยว่าในไตรมาส 2 อาจวิ่งทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสวนทางความต้องการภาคส่งออกที่อยากให้ค่าบาทนิ่งในระดับ 36-38 บาทต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับที่เพียงพอต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย
อย่างไรก็ตามแต่การให้ความสำคัญกับภาคส่งออกมากเกินไปจนลืมมองถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ อย่างการลงทุน การบริโภค ที่เกิดจากความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงของแบงก์ชาติในการกำหนดนโยบายในครั้งต่อไป หลังจากพิษมาตรการกันสำรอง 30% เล่นงานตลาดทุนอ่วม จนนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
"แน่นอนว่าเราอาจยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ทันทีที่เห็นว่า มาตรการใหม่ Fully Hedge ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มีนาคมนี้ มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่จะยกเลิกเมื่อไรยังบอกไม่ได้ เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นดูว่าธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปฏิบัติได้ตามกฎเกณฑ์หรือไม่"
ธาริษา บอกว่า เนื่องจากมาตรการ Fully Hedge เป็นการกำหนดให้เงินทุนที่ไหลเข้าออกทุกประเภทต้องประกันความเสี่ยง กล่าวคือผู้นำเงินทุนต่างประเทศเข้ามาจะนำเงินทุนต่างประเทศเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ การทำแบบนี้เมื่อซื้อกลับก็จะไม่ทำให้ค่าเงินบาทกระเพื่อม และก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนได้
ยกตัวอย่างเช่น นายทุนนำเงินมา 1 ดอลลาร์ จะต้องนำเงินดังกล่าวมาเป็นหักประกันกับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอกู้เป็นเงินบาท ซึ่งถ้าค่าบาทอยู่ที่ 41 บาท เมื่อครบ 3 เดือนคืนเงินกู้ ก็ถือเงิน 41 บาทมาเอา 1 ดอลลาร์คืน วิธีดังกล่าวจึงไม่มีแรงกดดันกับค่าเงิน และก็เห็นว่าไม่ได้ต่างจากมาตรการกันสำรอง 30% ด้วย อีกทั้งฝ่ายเอกชนก็มีเสียงตอบรับในทางบวกด้วย
ธาริษา บอกอีกว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คือการปรับตัวเพื่อรับกับความผัวผวนต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการนักลงทุน นักธุรกิจ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมที่จะรับมือและปรับตัวใต้ความผันผวนที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ด้วยการมองปัญหาในระยะยาว และวิธีนี้ถึงจะทำให้ภาคธุรกิจอยู่รอดได้
ส่วนค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่ามากในขณะนี้ แบงก์ชาติจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่นั้น ธาริษาบอกว่าขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเร็วเกินไปจนกระทบภาคเศรษฐกิจ และเมื่อค่าบาทแข็งหรืออ่อนมากโดยไม่สะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ และการเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องเงินสกุลอื่นในภูมิภาค
"นอกเหนือจากปัจจัยที่ว่า แบงก์ชาติก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลแทรกแซงค่าบาททั้งทางตรงหรือทางอ้อม"
การดูแลแทรกแซงค่าเงินเป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศก็ทำเพื่อดำรงเสถียรภาพของค่าเงินไว้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เกือบประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่เคยแทรกแซงค่าเงินทั้งนั้น
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้น แบงก์ชาติได้ออกนโยบายด้านการเงินมาดูแลหลายต่อหลายครั้งแล้ว เช่นมาตรการกันสำรอง 30% ที่เปรียบเหมือนการให้ยาเกินขนาน มาตรการ Fully Hedgeที่คาดว่าจะมาใช้แทนของเก่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งหมดนี้คือคมดาบที่แบงก์ชาติงัดออกมาใช้ควรคุมเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้ผันผวนรุนแรง ส่วนได้ผลมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ
|
|
|
|
|