ชื่อ "แม็กซ์ โดนัท" ฟังดูเหมือนร้านขายโดนัทเล็ก ๆ ริมถนนซึ่งหลาย
ๆ คนก็เข้าใจเช่นนี้ วันดีคื่นดีก็จะมีโทรศัพท์เข้ามาสั่งโดนัททีละโหล จนแดนนี่
กอว์ คิดจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเสียใหม่ เพราะชื่อเดิมนั้นไม่ได้บ่งบอกความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของบริษัทเลย
"แม็กซ์ โดนัท" เป็นชื่อบริษัทผู้ผลิตโดนัทรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของแคนาดา
สามารถผลิตโดนัทได้ปีละ 30 ล้านชิ้น จากโรงงานที่มีพื้นที่ 2,300 ตารางเมตรในแวนคูเวอร์
แดนนี่ กอว์ เป็นประธานกรรมการของแม็กซ์ โดนัท วัย 47 ปี ผู้อพยพมาจากพม่า
ผ่านการทำงานมาทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย สามารถพูดได้ถึง 6 ภาษา
แม้ว่ากอว์จะเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ในฐานะผู้บริหารของแม็กซ์ แต่ธุรกิจการผลิตโดนัทก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลาย
ๆ กิจการของนักลงทุนกลุ่มหนึ่งจากฮ่องกงที่กอว์รับหน้าที่บริหารอยู่ ในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้
ยังมีกิจการประเภทอื่น ๆ อีกคือ ร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ร้านหนึ่ง แฟรนไชส์ร้านโดนัทซึ่งมีเครือข่ายอยู่
8 แห่ง และธุรกิจเรียลเอสเตทอีก 2-3 บริษัท
กอว์เทคโอเวอร์แม็กซ์ โดนัท มาเมื่อ 6 ปีก่อนโดยมีมูลค่าเงินลงทุน 10 ล้านเหรียญ
และสามารถสร้างรายได้ในขณะนี้มากกว่าปีละ 10 ล้านเหรียญ
"เรามีความสามารถที่จะเข้าไปแข่งขัน ในตลาดใหม่ ๆ ที่นี่ แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลท้องถิ่น
และเศรษฐกิจที่ตกต่ำของแคนนาดา เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่
รวมทั้งเราด้วยขอ "เวท แอนด์ ซีไปก่อน" กอว์กล่าว
กอว์เกิดที่ร่างกุ้งในปี 1944 เขามีความทรงจำเกี่ยวกับเมืองหลวงของพม่าแห่งนี้น้อยมาก
จะมีก็แต่เพียงภาพในวัยเด็กที่วิ่งเท้าเปล่าไปตามถนน บางครั้งก็ไปเหยียบเอาก้นบุหรี่ที่ยังไม่ดับ
พ่อของเขาตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงอพยพครอบครัวไปอยู่ที่ฮ่องกงเมื่อปี
1956
"พ่อของผมยังคงทำธุรกิจต่อไปในพม่า แต่เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายชาตินิยม
ทหารก็เข้ามาควบคุมธุรกิจ" กอว์เล่า
สถานการณ์ทางการเมืองเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของกอว์อีกครั้งหนึ่งในช่วงที่เขาเข้ามาทำธุรกิจสิ่งทอในประเทศไทย
"ผมยังจำได้ดี ตอนปี 1973 ผมนั่งอยู่ในออฟฟิศทีกรุงเทพ ตอนที่นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย
วิทยุประกาศให้ประชาชนกลับเข้าบ้าน มีการประกาศเคอร์ฟิว ช่วงที่ผมอยู่มีการเปลี่ยนรัฐบาลทุกปี"
กอว์อยู่ในไทยถึง 10 ปี แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจว่าต้องการสภาพแวดล้อมที่มีเสถียรภาพ
จึงพาภรรยาและลูก 3 คน อพยพไปอยู่ที่แวนคูเวอร์
กอว์ ซึ่งจบเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คก็ได้เริ่มออกแสวงหาธุรกิจในแคนาดาที่เหมาะสมกับตัวเขา
ในช่วงแรกเขามองว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ตลาดสิ่งทอในแคนาดาค่อนข้างเล็ก
แถมตลาดผู้ซื้อในแคนาดาก็ค่อนข้างไกลจากซัพพลายเออร์ซึ่งอยู่ที่ฮ่องกงกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งมีบริษัทโฮลดิ้งอยู่แล้วทั้งในสหรัฐอเมริกา, สก็อตแลนด์และอังกฤษ และกำลังหาช่องทางเข้ามาลงทุนในแคนาดา
ในปี 1985 นักลงทุนกลุ่มนี้รับข้อเสนอของกอว์ที่จะเข้าไปซื้อกิจการของนักธุรกิจเบเกอรี่ขนาดกลางชื่อ
"สุพีเรียร์ เบเกอรี่" และในปี 1987 ทางกลุ่มก็ได้เข้าไปซื้อกิจการร้านแม็กซ์
โดนัทซึ่งก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปี
"แม็กซ์มีผลประกอบการในอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างจะดี และข้อสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับพนักงานเป็นไปด้วยดี
แม้ว่าจะอยู่ในบริติชโคลัมเบียซึ่งมักจะมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นเสมอ"
กอว์กล่าวด้วยความภูมิใจว่า ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ที่นี่ไม่เคยมี
แม้ว่าจะมีคนงานมากถึง 120 คน โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 กะ ตลอด 24 ชม. สัปดาห์ละ
6 วันครึ่ง
อย่างไรก็ตาม กอว์เคยมีบทเรียนเกี่ยวกับสหภาพแรงงานเหมือนกัน โดยเมื่อ
2-3 ปีที่ผ่านมาทางสหภาพก็ได้เคยพยายามจะเข้าไปคัดเลือกคนเข้าทำงานด้วยตัวเอง
ซึ่งคนงานกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เห็นด้วยทันที แต่ในที่สุด กอว์ก็สามารถหาทางออกที่พอใจทั้ง
2 ฝ่ายได้ในที่สุด
"เขาเป็นนักสื่อสารชั้นเยี่ยม ฝ่ายบริหารและคนงานในบริษัทส่วนใหญ่มักจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์กัน
ปรัชญาของเขาที่มีต่อคนงานทั้งหลาย ก็คือคนงานทุกคนเป็นมนุษย์ที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ"
ผู้บริหารคนหนึ่งของแม็กซ์อธิบาย
กอว์รู้สึกว่าการทำธุรกิจในบริติช โคลัมเบียเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น ตั้งแต่พรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งในปี
1991 และปรากฏว่ากฎหมายหลายฉบับที่ออกตามมาภายหลัง จะมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างมากในสายตาของนักธุรกิจ
หลังจากผ่านประสบการณ์มามากมาย ทำให้เมื่อธุรกิจของเขาเกิดปัญหา เขาจะปรับตัวทันทีด้วยการย้ายบริษัทซึ่งอยู่ตอนใต้ของแคนนาดาเข้าไปในรัฐวอชิงตัน
ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแผนการนี้ก็ไม่เลวนัก เพราะชายแดนของแคนาดาอยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง
1 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการตกลงในเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและแคนาดาอีกด้วย
ส่วนปัญหาการขนส่งสินค้าข้ามชายแดนนั้นก็ตัดทิ้งไปได้เลย รวมถึงที่ดิน และค่าแรง
คนงานในสหรัฐอเมริกาก็ถูกกว่าอีกด้วย
กอว์ตั้งใจว่า ถ้าการทำธุรกิจที่แคนาดามีปัญหามากนัก เขาก็จะย้ายกิจการข้ามพรมแดนทางใต้เข้าไปอยู่ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากแวนคูเวอร์เพียงแค่ชั่วโมงเดียว และไม่มีปัญหาในเรื่องส่งสินค้าข้ามแดนอีกด้วย
เพราะแคนาดากับสหรัฐฯ มีข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีระหว่างกันอยู่ นอกจากนั้นต้นทุนค่าที่ดินและแรงงานในสหรัฐฯ
ก็ถูกกว่าแคนาดาด้วย
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนชื่อบริษัท
ซึ่งกอว์กล่าวว่า "เราผลิตโดนัทได้วันละมากกว่า 1 แสนชิ้น แต่วันดีคืนดีก็จะมีคนโทรศัพท์เข้ามาสั่งโดนัทจากเราทีละโหล
ดูเหมือนว่าชื่อบริษัทที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ จะบดบังความสามารถที่แท้จริงของเรา"