Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2536
"เบอร์คเลย์ : มุ่งสู่ตะวันออก"             
 


   
search resources

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์
ชาง หลิน เทียน
Education




ชาง หลิน เทียน เป็นคนเอเซียคนแรกที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์ ชางกำลังกระชับสายสัมพันธ์ที่ทอดข้ามฝั่งแปซิฟิคมายังเอเซียให้กระชับและแน่นแฟ้นขึ้น เขาหวังว่านักศึกษาจากเอเซียจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่หลากหลาย และสายสัมพันธ์ที่เชื่อมกับเอเซียจะเป็นแหล่งเงินทุนของมหาวิทยาลัยได้

นับตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์เมื่อเดือนกรกฏาคม 1990 ชาง หลิน เทียนก็ได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นอธิการบดีที่ไม่ธรรมดา เทียนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และทำหน้าที่ทางการบริหารมหาวิทยาลัยในระหว่างปี 1959-1988 สัญญาว่าจะไม่ทำตัวเหินห่างนักศึกษา

ในวันลงทะเบียน เทียนใส่เสื้อยืดมาคอยต้อนรับนักศึกษาด้วยตนเอง เขาสั่งให้ติดตั้งวิดิโอเพื่อฉายหนังตลกและการ์ตูนให้นักศึกษาดู เป็นการลดความตึงเครียดและความน่าเบื่อระหว่างที่รอคอยการลงทะเบียน

"เราควรจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้นักศึกษาใหม่รู้สึกสบายใจ" เทียนอธิบาย "สำหรับหลาย ๆ คน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องจากบ้านมาไกล ๆ ผมคิดว่าถ้าเราออกไปช่วยพวกเขา ก็จะช่วยลดความกระวนกระวายใจและความสับสนลงได้มาก"

ในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาและอาจารย์ 32,600 คน การทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เทียน ซึ่งมีเชื้อจีนและเป็นคนเอเซียคนแรกที่ได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นยอดในสหรัฐฯ ก็พยายามทำอย่างต่อเนื่อง เขาจะเดินไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัยอย่างน้อยที่สุดวันละครั้ง เพื่อพูดคุยกับนักศึกษา "เขาเป็นคนสามัญธรรมดาอย่างแท้จริง ไม่ใช่พวกผู้ดี หัวสูง" หยวน ลี ศาสตราจารย์ด้านเคมีเจ้าของรางวัลโนเบล ซึ่งรู้จักเทียนมา 15 ปีกล่าว "เขาทำให้คนอื่นรู้สึกอบอุ่นใจได้ง่าย ๆ ซึ่งทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพไปด้วย"

อ้อมแขนที่เปิดกว้างเพื่อต้อนรับของเทียน ยังยืดยาวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปถึงอีกฟากหนึ่งด้วยนับตั้งแต่ที่เขาขึ้นมาเป็นอธิการบดีเมื่อ 3 ปีก่อนเทียนได้ขยายความสัมพันธ์ด้วนงานวิจัย และโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเบอร์คเลย์กับรัฐบาลรวมทั้งบริษัทธุรกิจในเอเซียอย่างแข็งขัน สายสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ทั้งต่อเบอร์คเลย์ที่กำลังโดนตัดงบประมาณจากรัฐบาล และต่อประเทศเอเซีย ซึ่งสามารถส่งนักศึกษาที่หัวดี ๆ มารับการเจียระไนที่นี่ได้

"โครงการของเทียนสะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชมที่เบอร์คเลย์มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" เป็นความเห็นของอัลเบอร์ต ฟิชโลว์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เป็นคณบดีคณะนานาชาติและภูมิภาคศึกษา

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่มีวิทยาเขตหลาย ๆ แห่ง ซึ่งเรียกกันว่า UC (THE UNIVERSITY OF CALIFORNIA) SYSTEM นั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างชาตินิยมเข้ามาเรียนมากและในบรรดาวิทยาเขตที่มีอยู่ ยูซี เบอร์คเลย์มีชื่อเสียงที่สุด มาตรฐานการศึกษาที่สูง และกลุ่มนักศึกษาจากเอเซียที่มีขนาดใหญ่ ทำให้นักศึกษาเอเซียประมาณ 2,000 คนเลือกเรียนที่เบอร์คเลย์

ในทางวิชาการ เบอร์คเลย์อยู่ในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ดและเยล คณาจารย์ที่มีอยู่ 1,600 คน ส่วนใหญ่จบปริญญาเอก และหลักสูตรการศึกษาก็กว้างไกลกว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยส่วนมาก ผู้ปกครองชาวแคลิฟอร์เนียชอบเบอร์คเลย์ เพราะค่าเล่าเรียนไม่สูงเกินที่จะแบกรับได้ แต่สำหรับนักศึกษาต่างชาติ หรือในระดับปริญญาตรี ค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมรวม 11,668 เหรียญต่อปี เป็นอัตราที่แพงเกินไป

ระบบยูซีเป็นที่นิยมของนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมาก หลักสูตรปริญญาโททางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยาเป็นหลักสูตรที่จัดอยู่ในขั้นดีที่สุดของมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นก็ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคเอกชนอย่างเพียงพอ มีงบประมาณสำหรับการวิจัยปีละ 53 ล้านเหรียญ

"มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ดี แต่สำหรับการวิจัยขั้นสูงในสาขาเฉพาะด้านแล้ว สู้เบอร์คเลย์ไม่ได้" เซียน ลี นักชีววิทยาในแขนงเซลล์โมเลกุลชาวสิงคโปร์กล่าว สิ้นปีนี้เธอจะได้รับปริญญาเอกจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า LAMBDA PHAGE "คุณจะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ที่จะสามารถเข้าร่วมการประชุมสร้างสายสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวกะทิชั้นยอดในสาขานี้ เหมือนที่นี่"

ชาง หลิน เทียน คือความได้เปรียบของเบอร์คเลย์ในการดึงนักศึกษาเอเซียที่หัวดี ๆ มาอยู่ด้วย เขาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบในการรักษาฐานะการเงินของมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่ง พร้อม ๆ กับผดุงความเป็นเลิศในทางวิชาการด้วย

ชางทำหน้าที่เป็นรองอธิการบดี ซึ่งทำหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัยเออร์วิน อันเป็นสาขาหนึ่งของระบบยูซีมาก่อน เขาเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 เรื่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกัมตภาพรังสี ความร้อน และแขนงวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งผ่านความร้อน และเขายังมีประสบการณ์จากของจริงด้วย เมื่อกระสวยอวกาศขององค์การนาซา มีปัญหาเกี่ยวกับผนังป้องกันความร้อน ในปี 1978 นาซาต้องมาขอความช่วยเหลือจากเทียน ปีถัดมาคณะกรรมการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ขอให้เขาช่วยหาทางป้องกันความเสียหายที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทรีไมลส์ ไอส์แลนด์

เทียนเกิดในตระกูลนักการธนาคารที่มั่งคั่งในหวูฮั่น เขาเติบโตที่เซี่ยงไฮ้ในระหว่างสงครามพ่อของเขาเป็นผู้บริหารด้านการคลังของเซี่ยงไฮ้ มีบ้านหลังใหญ่และคนรับใช้ แต่แล้วอภิสิทธิ์ของชีวิตก็สิ้นสุดลงในตอนบ่ายของวันอาทิตย์วันหนึ่งในปี 1949 เมื่อกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ 30 กิโลเมตรเริ่มเคลื่อนพลเข้ายึดตัวเมืองอย่างรวดเร็ว "ผมยังจำความตื่นตระหนกในตอนที่นั่งรถไปสนามบินได้" เทียนเล่าความเสียใจอย่างสุดซึ้งของเขาในเวลานั้นก็คือ เขาไม่ได้เอาแสตมป์ที่สะสมไว้ไปด้วย "ผมรู้สึกไม่ดีเอามาก ๆ ผมต้องสูญเสียแสตมป์ดี ๆ ไปหมด"

ตอนที่หนีมาอยู่ที่ไต้หวัน เทียนอายุ 14 ปี และต้องอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ยากไร้ แต่โชคชะตาของสกุลชางก็พลิกผันในปี 1950 เมื่อพ่อของเทียนได้เป็นเลขาธิการของรัฐบาลพรรคชาตินิยม สองปีให้หลัง โรคหัวใจได้พรากชีวิตพ่อของเขาไป ทำให้ชีวิตของเทียนต้องลำบากอีกครั้ง

เทียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในปี 1956 เขาเดินทางไปสหรัฐฯ โดยมีเงินในกระเป๋า 4,000 เหรียญ เขาสมัครเรียนปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ เคนตัคกี้ วันแรกในมหาวิทยาลัย เขาอยู่ในภาวะ "ช็อค" เทียนเล่าว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เคานเตอร์สำหรับซื้ออาหารกลางวันไปจนถึงห้องน้ำ ติดป้าย 'สำหรับคนผิวสี' หรือ 'เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น' ผมเป็นคนผิวเหลือง จึงไม่รู้ว่าจะสังกัดสีไหน"

กฎซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่พวกแบ่งแยกผิว คนเอเซียถูกจัดเป็นพวกผิวขาว แต่ก็อย่าหวังที่จะได้รับการปฏิบัติต่อเยี่ยงคนผิวขาวจริง ๆ ศาสตราจารย์คนหนึ่งที่เทียนเรียน และทำงานด้วยมักจะเรียกเขาว่า "เจ๊ก" เมื่อเทียนรู้ว่าเป็นคำที่ดูถูกเหยียดหยาม เทียนลุกขึ้นเผชิญหน้ากับศาสตราจารย์คนนั้นทันที

"ผมพูดว่า 'เรียกชื่อผมได้ไหม ผมชื่อ ชาง หลิน เทียน' ศาสตราจารย์คนนั้น เดินรี่เข้ามาหาผมแล้วพูดว่า 'ใครจะไปจำชื่อแปลก ๆ พรรค์นั้นได้ ชิง, ชอง, ทองหรือคองนะ' ผมก็เลยตอบว่า 'ถ้าเรียกชื่อไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาเรียกผมอีก' หลังจากนั้นอีก 9 เดือนเขาก็ยังไม่เรียกผม แต่ก็ไม่เคยเรียกผมว่าเจ๊กอีกเลย"

อคติทางเชื้อชาติเป็นปัญหาหนักของเทียน ที่หนักพอ ๆ กันก็คือ การใช้จ่ายที่ไม่พอ เขามักจะเดินผ่านโรงอาหารของมหาวิทยาลัย ออกไปกินอาหารถูก ๆ ในย่านคนจนของเมืองหลุยส์วิลล์ เมื่อย้ายไปเรียนปริญญาเอกที่พริ้นซ์ตัน เขาเดินหอบเสื้อผ้าไปสองกิโลเมตรไปซักกับเครื่องที่ถูกกว่าในเมือง 40 เซนต์

ความทรงจำเกี่ยวกับความยากจนอาจจะเลือน ๆ ไป แต่เทียนไม่เคยลืมเรื่องการเหยียดผิว เขาตั้งใจแน่วแน่ว่า จะไม่มีนักศึกษาคนไหนต้องเจอปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา และจะขจัดปัญหาการแบ่งแยกผิวด้วยการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาปี 1 จำนวน 45% จากความหลากหลายของเชื้อชาติมากกว่าผลการสอบ

แต่ก็มีข้อโต้แย้งนโยบายแบบนี้ว่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความจริงแล้วก็คือ การกำหนดโควต้าทางเผ่าพันธ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโควต้าอะไรก็ตามมักจะเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายในโลกวิชาการ นักวิจารณ์กล่าวว่า การให้โควตาคนผิวดำและฮิสปานิคมาก ๆ จะขัดขวางพวกเอเซียและแองโกล แซกซอนที่มีคุณภาพ ซึ่งในที่สุดจะทำให้มาตรฐานทางวิชาการตกต่ำ

ความคิดในเรื่องความหลากหลายของเทียนไม่ได้เฉพาะเจาะจงในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการยอมรับพวกเฟมินิสต์ เกย์ และคนที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในความรู้สึกของศิษย์เก่าเบอร์คเลย์บางคน เทียนใช้เวลานับเดือนก่อนที่จะสั่งห้ามนักศึกษาชีเปลือยชายคนหนึ่งเข้าห้องเรียน เขาเรียกฮิปปี้ที่มีปัญหาทางจิตซึ่งถือมีดอีโต้บุกเข้าไปในบ้านของเขาแล้วถูกตำรวจยิงตายว่า "นักปฏิวัติโรแมนติค" และอดกลั้น ยอมให้มีการประท้วงเกิดขึ้น จนทุกวันนี้ ชาวแคลิฟอร์เนียหัวอนุรักษ์นิยมเรียกเบอร์คเลย์ว่า "BERSERKLEY" (BERSERK แปลว่า วิกลจริต บ้าเลือด)

เทียน ซึ่งได้สัญชาติอเมริกันตั้งแต่ปี 1969 ไม่ค่อยอดทนต่อเสียงตำหนิติเตียนเหล่านี้ เขาชี้ว่า ถ้าหากใช้เกณฑ์การรับนักศึกษาโดยมุ่งไปที่วิชาการเพียงด้านเดียว เบอร์คเลย์ก็จะมีนักศึกษาเอเซียและแองโกล แซกซอนถึง 94% เขายืนยันว่า เบอร์คเลย์จะแสวงหาความเป็นเลิศทางการศึกษาได้จากความหลากหลายของนักศึกษาเท่านั้น

เรื่องที่ประชาคมเบอร์คเลย์เห็นพ้องต้องกันมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ บทบาททางการศึกษาของเบอร์คเลย์ในระดับนานาชาติ "เราต้องการเป็นประตูสู่อเมริกาสำหรับประเทศเอเซีย ความหวังของเราคือ การสร้างชุมชนการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี และนักวิชาการจากย่านแปซิฟิคริม" ซี. ดี. โมท จูเนียร์ รองอธิการบดีของเบอร์คเลย์กล่าว

สายใยที่เชื่อมกับเอเซียของเบอร์คเลย์เกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่นแล้ว ห้องสมุดเอเซียตะวันออกของมหาวิทยาลัย มีหนังสือและต้นฉบับมากกว่า 500,000 ชิ้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมงานเขียนในภาษาเอเซียที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกตะวันตก เบอร์คเลย์มีคอร์สภาษาเอเซียหลัก ๆ ทุกภาษา รวมทั้งภาษาท้องถิ่นอย่างเช่น ปัญจาบ แมนจู ธิเบตและทมิฬ

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียได้อาศัยศิษย์เก่าเบอร์คเลย์เป็นกำลังสำคัญ หลังจากโค่นล้มซูการ์โนลงในปี 1967 ดอกเตอร์สองคนจากเบอร์คเลย์ ALI WARDHANA และ WIDJOJO NITISASTRO ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กับประธานของ BAPPENAS ซึ่งเป็นองค์กรวางแผนเศรษฐกิจและงบประมาณที่ทรงอิทธิพล รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งและคมนาคมคือ EMIL SALIM ก็เป็นศิษย์เก่าเบอร์คเลย์ อีกคนหนึ่งคือ J. B. SUMARLIN เป็นผู้ปฏิรูประบบภาษีของอินโดนีเซีย ก่อนที่จะย้ายไปปราบการคอร์รัปชั่นในกระทรวงการคลัง

แม้ว่าแก๊งเบอร์คเลย์ในอินโดนีเซียใกล้ถึงวาระปลดเกษียณแล้ว แต่ก็ยังมีศิษย์เก่าเบอร์คเลย์ที่มีบทบาทสำคัญอีกหลาย ๆ คน เช่น ซาดาโอะ โอกาตะข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ผู้ว่าแบงก์ชาติเกาหลีใต้ CHO SOON รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาไต้หวัน MAO KUO-WEN รองประธานเกาหลีแอร์ไลน์ C. K. CHO และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง LYDIA DUNN

เทียนกำลังพึ่งพาศิษย์เก่าเหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน ซึ่งสืบเนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย 40% ของงบประมาณ 860 ล้านเหรียญต่อปีของเบอร์คเลย์ มาจากเงินภาษีที่รัฐบาลท้องถิ่นเก็บจากประชาชน สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลตัดเงินช่วยเหลือลง 32 ล้านเหรียญ เทียนต้องลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารและขึ้นค่าหน่วยกิต แต่ถ้ารัฐบาลตัดเงินช่วยเหลือต่อไปอีก 15 ล้านเหรียญ เทียนก็อาจจะต้องเลิกหลักสูตรบางอย่างไปอย่างไม่มีทางเลือกซึ่งเขาเตือนว่า ถ้าเลิกไปแล้ว หวังจะฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

เบอร์คเลย์รอดพ้นจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจมาได้จนถึงขณะนี้ก็เพราะบุคลิกภาพ และสายสัมพันธ์ส่วนตัวของเทียน ปี 1990 มูลนิธิตระกูลตั้งแห่งซานฟรานซิสโกบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย 1 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการต้อนรับการเป็นอธิการบดีของเทียน

"การแต่งตั้งเทียนเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าที่คนจีนได้สร้างให้กับประเทศนี้ เราต้องการแสดงการให้ความสนับสนุนของเราด้วย" เลสลี่ ทาง ชิลลิ่ง บุตรีของตั้ง ชิ เฉียน ราชาสิ่งทอของฮ่องกงอธิบาย ปีกลายมูลนิธินี้บริจาคเงินก้อนที่ 2 มูลค่า 4 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัย

ตั้งแต่เป็นอธิการบดี เทียนเดินทางมาเอเซียบ่อยครั้งเพื่อจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า และสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลและบริษัทในเอเซียระหว่างการรับประทานอาหารค่ำกับลี เทง ฮุย เมื่อปี 1990 เทียนได้ชักชวนให้ประธานาธิบดีไต้หวันเพิ่มเงินสนับสนุนของรัฐบาลแก่โครงการเอเซียตะวันออกศึกษาของเบอร์คเลย์ ปีถัดมาลี เซง วี กรรมการโอเวอร์ซี ไชนีส แบงก์กิ้ง ก็แนะให้มูลนิธิลีในสิงคโปร์บริจาคเงินให้อีก 2 ล้านเหรียญ หกเดือนจากนั้น เพื่อน ๆ ของตัน คา คี นักการกุศลชาวสิงคโปร์ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ให้คำมั่นว่าจะรวบรวมเงินจำนวน 8.5 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอาคารวิศวกรรมเคมีหลังใหม่

เงินบริจาคบางส่วนยังได้มาจากศิษย์เก่า MAO-KUO-WIN รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาไต้หวันซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของเทียน ผลักดันให้รัฐบาลไต้หวันมอบเงิน 400,000 เหรียญ สำหรับโครงการสถาบันยุโรปตะวันออกศึกษา ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของเบอร์คเลย์ CHO แห่งโคเรียนแอร์ ยังได้บริจาคเงิน 800,000 เหรียญ ตั้งเป็นทุนการศึกษาในสาขาเกาหลีศึกษา

ภายใต้การนำของเทียน เบอร์คเลย์กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สากล ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทญี่ปุ่น 16 แห่ง โดยมีเงื่อนไขขอมีส่วนร่วมใช้ผลงานการค้นคว้าด้วย ศาสตราจารย์จากเบอร์คเลย์บินไปสอนเศรษฐศาสตร์แก่นักการฑูตหนุ่ม ๆ ของเวียดนามที่ฮานอย โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ 9 ประเทศเอเซียกำลังดำเนินไป เช่นเดียวกับโครงการ PACIFIC ECONOMIC CONFERENCE ซึ่งเป็นการนำนักวิชาการ และผู้นำในวงการธุรกิจจากเอเซียมาร่วมสัมนาที่เบอร์คเลย์ในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่ประเด็นทางการค้า ไปจนถึงโทรคมนาคม

ถึงแม้จะเป็นคนที่ยึดมั่นต่อภาระกิจ แต่ตำแหน่งบนยอดปิรามิดของระบบการศึกษาสหรัฐฯ ที่เทียนยืนอยู่ ก็เป็นที่ที่เปลี่ยวเหงา ครั้งที่เทียน เดินทางกลับไปที่จีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาตื่นแต่เช้าและเดินไปที่โรงเรียน ไว ยู ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมในเขตที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศลเก่า

"ตอนนั้นยังไม่ถึง 7 โมงเช้าดี มีภารโรงแก่ ๆ อยู่ที่นั่นคนเดียว เขาหัวเราะเมื่อผมบอกว่าเคยเรียนหนังสือที่นี่ เราคุยกันจนกระทั่งนักเรียนเริ่มทยอยกันมา" เทียนเล่า

ขณะที่นักเรียนเดินผ่านประตูโรงเรียนเข้ามาความกระตือรือร้นของพวกเขาที่เทียนมองเห็นได้ลบล้างความรู้สึกเจ็บปวด และความตื่นตระหนกเมื่อ 40 ปีที่แล้วทิ้งไป "เด็กพวกนี้คือชนรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นมาในโลกของอิเล็คโทรนิคส์เมลล์และเครื่องโทรสาร โลกของพวกเขาจะเป็นโลกที่ความรู้เป็นสิ่งเปิดกว้าง" เทียนอดไม่ได้ที่จะยิ้ม ระหว่างที่เขาเดินกลับไปที่โรงแรม เพราะเขารู้ในทันทีว่า วิสัยทัศน์ของเขาในเรื่องมหาวิทยาลัยนานาชาติที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่ความฝันอีกต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us