Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2536
"มหาวิทยาลัยยูเอส ตักศิลาของนักศึกษาเอเซีย"             
 

 
Charts & Figures

นักศึกษาต่างชาติในสหรัฐ 1991-1992


   
search resources

Education




การศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นใบเบิกทางก้าวขึ้นไปสู่สถานะที่สูงกว่า สำหรับคนเอเซียจำนวนมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในเอเซียจำนวนมากจะมีคุณภาพเป็นเลิศในการจัดการศึกษา เป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งศตวรรษที่คนเอเซียเดินทางไปแสวงหาการศึกษาในระดับสูงกว่าที่นั่น ในยุคแรก ๆ พวกเขามุ่งตักตวงความรู้ด้านเทคโนโลยีและการปกครองของตะวันตกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่คนเหล่านี้นำกลับมายังบ้านเกิด คือดีกรีทางด้านเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยที่มีเกียรติประวัติยาวนาน เพราะเหตุใดการศึกษาในสหรัฐฯ จึงเป็นสิ่งเย้ายวนใจต่อนักศึกษาเอเซีย ?

ไมค์ ชางเป็นคนเซี่ยงไฮ้ เขาอยู่ในฐานะผู้สอบแข่งขันเพื่อทำปริญญาเอก (DOCTORAL CANDIDATE) ทางด้านชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซีนยามใดที่เขาคิดไปถึงการเดินทางกลับประเทศจีนหลังจากสำเร็จการศึกษา ภาพที่ปรากฏอยู่ในหัวของเขาคือ แฟลตที่ติดแอร์คอนดิชั่น ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และโอกาสในการเลือกงาน สิ่งเหล่านี้เป็นบางส่วนของสิทธิพิเศษที่เขาคาดหวังว่าปริญญาบัตรชั้นสูงจากสหรัฐฯ จะบันดาลให้ได้

"เราจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าพวกที่เรียนจบในประเทศ" หนุ่มชางวัย 25 ปีกล่าว "รัฐบาลได้พูดหลายครั้งแล้วว่า นักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อกลับมาแล้วจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ลูก ๆ ของเราจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่า เรามีสิทธิที่จะเลือกไปอยู่ที่ไหนก็ได้"

ชางยังกล่าวเสริมอีกว่า "ผู้ชายที่เป็นนักเรียนนอกยังเป็นที่ดึงดูดใจของสาวจีนอีกด้วย" สำหรับชางเหตุผลเหล่านี้เพียงพอที่จะตอบคำถามว่าทำไมจึงต้องไปศึกษาในอเมริกาได้อย่างชัดเจน เพราะว่าชื่อเสียง เกียรติยศที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ดีกรีการศึกษาจากที่นั่น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าพอต่อการจากบ้านเกิดไป

ไม่ได้มีแต่ชางเท่านั้นที่หลงไหลในการศึกษาของอเมริกา ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมานี้ มีนักศึกษาเอเซียนับแสนคนที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ และหลาย ๆ คน เมื่อเรียนจบกลับไปบ้านแล้ว ก็กลายเป็นสมาชิกของชนชั้นนำในสังคมเอเซีย ตัวอย่างเช่น เจ้าหญิงมาซาโกะ ชายาของมกุฏราชกุมารญี่ปุ่น ก็เรียนจบฮาร์วาร์ด เช่นเดียวกับเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ประธานาธิบดีฟิเดล รามอส แห่งฟิลิปินส์ ก็เป็นผลิตผลของระบบการศึกษาชั้นสูงจากอเมริกา โดยจบการศึกษาที่สถาบันวิชาการทหารหรือ U.S. MILITARY ACADEMY

จากการสำรวจความเห็นในหมู่นักวิชาการเอเซียเมื่อปี 1986 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 8 ใน 12 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ คือฮาร์วาร์ด, สแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์, เอ็มไอที, เยล, คอร์แนล, มิชิแกนและพริ้นซ์ตัน

MARIANTHI ZIKOPOULOS ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ INSTITUTE OF INTERNATIONAL EDUCATION ที่นิวยอร์ค เปิดเผยว่า ช่วงทศวรรษ 80 จำนวนนักศึกษาเอเซียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่ากล่าวคือในปี 1981-1982 มีนักศึกษาเอเซีย 106,160 คน พอมาถึงปี 1992 เพิ่มขึ้นเป็น 245,810 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจีน ไต้หวันและญี่ปุ่น

ทำไมมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จึงยังคงมีชื่อเสียงเป็นที่ใฝ่ฝันถึงของนักศึกษาเอเซีย สวนทางกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมและสถาบันอื่น ๆ ของอเมริกา ?

เบน วัตเทนเบอร์ก คอลัมนิสต์แห่งนิตยสารยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ทกล่าวว่า คำตอบส่วนหนึ่งคือ การแข่งขัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด เป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักศึกษา อาจารย์ และเงินทุนเพื่อการวิจัย

"นักวิชาการดัง ๆ ถูกรุมจีบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ไปสอน เหมือนกับควอเตอร์แบ็คของทีมฟุตบอลไฮสกูลถูกเกี้ยวให้เข้าร่วมทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัย" วัตเทนเบอร์กล่าว

ผลที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็คือ ห้องทดลองที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่เพียบพร้อมที่สุด ห้องสมุดที่ดีที่สุด และคณาจารย์ที่เยี่ยมที่สุดและมีค่าตัวสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่อาจจะสำคัญกว่าความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยซึ่งดึงดูดบรรดานักศึกษาจากเอเซียก็คือ โอกาสที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ บี แอนน์ ไรท์ ผู้อำนวยการฝ่ายลงทะเบียนของสมิทธ คอลเลจที่นอร์ธแฮมตัน แมซซาชูเซสต์กล่าวว่า ผลการสอบ APTITUDE TEST ชุดเดียวกัน จะทำให้นักศึกษาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยในเอเซีย

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสทางการศึกษา มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะมากกว่า 3,000 แห่ง ในขณะที่ฮ่องกงมีมหาวิทยาลัยหลักเพียง 7 แห่ง และไต้หวัน มีนักเรียนไฮสกูลเพียง 8 % เท่านั้น ที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงของประเทศเอเซียส่วนใหญ่ ยกเว้นญี่ปุ่นมักจะต่ำกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม วูเจียไหว ประธานและรองอธิการบดีของ HONG KONG UNIVERSITY OF SCIENCE & TECHNOLOGY เปิดเผยว่าในประเทศในเอเซีย โดยเฉพาะไต้หวัน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ กำลังไล่กวดชาติตะวันตกอย่างรวดเร็ว มีเพียงฮ่องกงเท่านั้นที่ค่อนข้างจะล้าหลัง มีสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการบริหาร

แรงจูงใจในการไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ของนักศึกษาจากเอเซียอีกข้อหนึ่งคือมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ เต็มอกเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะรับนักศึกษาเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรับภาระค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลในเรื่องของความหลากหลายของนักศึกษา ความเป็นเลิศทางวิชาการและการกระชับสัมพันธ์กับเอเซีย

แต่ยังมีอีกเหตุผลอื่นที่สำคัญมากกว่านี้อีก !

"นักเรียนไฮสกูลของอเมริกา มีจำนวนลดน้อยลงมา ตั้งแต่ปี 1988" อลัน แม็คไอวอร์ รองประธานฝ่ายลงทะเบียนของเบลอยท์ คอลเลจซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของชิคาโกกล่าว ซึ่งถ้าไม่มีนักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะต้องปิดบางแผนกลง เพราะมีนักศึกษาน้อยเกินไป

"ผมไม่แน่ใจว่าคุณเคยได้ยินผู้บริหารของมหาวิทยาลัยพูดว่า ผมกำลังจะไปหานักศึกษาที่ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เพราะแผนกของผมต้องการนักศึกษาปริญญาตรี หรือไม่" ทอม แกนโชว์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีนของมหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าว "แต่นั่นคือความจริง" เพราะว่านักศึกษาเอเซียจำนวนมากที่สหรัฐฯ ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ จึงต้องช่วยเหลือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ CULTURE SHOCK ด้วยการเชื้อเชิญนักศึกษาให้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยก่อนที่ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงจะเริ่มขึ้น เพื่อแนะนำพวกเขาในเรื่องของห้องสมุด ระบบคอมพิวเตอร์ ชอปปิ้ง มอลล์ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ใช้แล้ว กฎระเบียบเรื่องการเข้าเมืองและการทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตในอเมริกา

หวาง เป่ยเล่าว่า สมัยที่เรียนหนังสือที่ปักกิ่งแบบแผนการใช้ชีวิตถูกกำหนดไว้แล้ว อย่างตายตัว เธอต้องออกกำลังกายตอนเช้า ทำความสะอาดหอพัก และเข้าร่วมการศึกษาทางการเมืองประจำสัปดาห์ เธอถูกจัดเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ ซึ่งต้องไปเรียนหนังสือด้วยกัน และมีตารางการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมือน ๆ กันเป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

เมื่อเธอเดินทางมาศึกษาด้าน COMMUNICATION DISORDER ที่มหาวิทยาลัยซินซินเนติ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เธอต้องพึ่งตัวเองในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การหาบ้านเช่า ช้อปปิ้งและทำอาหารกินเอง "ฉันกลายเป็นผู้ปกครองของตัวเองขึ้นมาในทันทีทันใด" เธอกล่าว แทนที่เธอจะเรียนไปตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ เหมือนสมัยที่อยู่ปักกิ่งพอมาอยู่ที่นี่กลับต้องเป็นฝ่ายเลือกวิชาและกำหนดตารางเรียนด้วยตัวเอง

สิ่งที่ลำบากมากที่สุดสำหรับนักศึกษาเอเซียอาจจะเป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐานในเรื่องของปรัชญาการศึกษา

"ในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หลายๆ แห่ง จะเน้นการเรียนการสอนด้วยการท่องและจำ" แม็คไอวอร์แห่งเบลลอย์ท คอลเลจกล่าว "นักศึกษาเพียงแต่จำข้อเท็จจริง จำข้อมูลให้ได้ เพื่อใช้ตอบเวลาสอบ แต่ที่อเมริกา การจำไม่ใช่วิธีการที่ดี พวกเขาต้องโต้แย้ง ต้องอภิปราย"

การที่นักศึกษาเอเซียไม่คุ้นกับการซักถามหรืออภิปรายในห้องเรียน จึงเป็นเรื่องยากที่จะตั้งคำถามต่ออาจารย์อเมริกัน เพราะกลัวว่าจะทำให้อาจารย์ลำบากใจหรือขายหน้า วู เยน โบ ผู้ประสานงานของโครงการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเนบราสก้ากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้คนอเมริกันทึกทักเอาเองในบางครั้งว่า คนจีนนั้นเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัวหรือไม่ก็เป็นคนโง่

ส่วนนักศึกษาจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่มักจะไม่ค่อยไว้ใจผู้ที่มีอำนาจ "เมื่อได้รับความแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่ง พวกเขาจะไม่เชื่อ ดังนั้นจึงไปขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาระหว่างอาจารย์และพลอยทำให้อาจารย์บางคนเชื่อว่าคนจีนชอบปั่นหัวชาวบ้านให้ทะเลาะกัน" วูกล่าว

ในทางกลับกัน ก็มีความคิดที่ผิด ๆ ในหมู่นักศึกษาเอเซียเกี่ยวกับนักศึกษาอเมริกัน บางคนคิดว่ามาตรฐานการศึกษาของอเมริกันต่ำเกินไปสักหน่อย เพราะมหาวิทยาลัยอเมริกันกำหนดเวลาเรียนเพียงปีละ 180 วัน (ญี่ปุ่นกำหนดไว้ 243 วัน) และ เพราะว่านักศึกษาอเมริกันทำคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ได้แย่มาก

ก่อนที่จะมาสหรัฐฯ CHEUNG SEN-CHING หนุ่มฮ่องกง ซึ่งเป็นนักศึกษาปีหนึ่งสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าของเบอร์คเลย์มีภาพนักศึกษาอเมริกันว่า "ขี้เล่น ไม่เป็นผู้ใหญ่และขี้เกียจ" แต่หลังจากนั้นเขาก็ยอมรับว่านี่เป็นการประเมินที่ออกจะง่ายเกินไป "แน่ละว่าต้องมีพวกที่ชอบเที่ยวและพวกบ้า ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาอเมริกันเป็นพวกที่ทำงานหนัก" เขากล่าว

ความจริงก็คือ นักศึกษาต่างชาติจำนวนมากรู้สึกท้อแท้ เพราะต้องมีชีวิต ที่เหนื่อยยากมาก GAYATRI IYER นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยซินซินเนติกล่าวว่า พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานด้วย ซึ่งมักจะเป็นงานที่ต่ำต้อยในสายตาของคนเอเซียที่เป็นชนชั้นกลางอย่างเช่นงานในร้านแม็คโดนัลด์

"การเรียนในมหาวิทยาลัยอเมริกาเป็นงานที่หนักกว่าที่ผมเคยคิดไว้" CHEUNG กล่าว การสอบไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวตอนปลายเทอมเท่านั้น แต่มีการทดสอบประจำสัปดาห์ การสอบกลางภาค ต้องอ่านหนังสือที่อาจารย์กำหนดให้มากมายหลายเล่มและต้องเขียนรายงานนับสิบ ๆ ชิ้น

แม้งานจะหนัก แถมยังมีปัญหาเรื่องภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่โดยทั่วไปนักศึกษาเอเซีย ก็มีผลงานจัดอยู่ในขั้นใช้ได้ ถ้าจำเป็น พวกเขาก็สามารถทำงานได้หามรุ่งหามค่ำ ด้วยแรงผลักดันจากความต้องการศึกษาที่ดี

แม็กซ์เวลล์ ดี เอพสไตน์ คณบดีผู้รับผิดชอบนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอลเจริสกล่าวว่า "พวกเขาเตรียมตัวมาอย่างดีเรียนหนักและก็พบกับความสำเร็จ"

ความจริงแล้วปัญหาใหญ่ที่สุดของนักศึกษาเหล่านี้คือ เรื่องการใช้ชีวิตทางสังคมมากกว่าปัญหาทางการศึกษา เพราะพวกเขาอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพูด เวลาไปงานปาร์ตี้พวกเขาจะรู้สึก อึดอัด

"นักศึกษาต่างชาติคนหนึ่ง อาจจะพบกับหญิงสาวบนรถเมล์ และเธอก็เล่าเรื่องการงานของตัวเองกับรายได้ของสามีให้เขาฟัง" เอพสไตน์กล่าวและว่า นักศึกษาคนนั้นอาจจะเข้าใจไปว่านี่คือความเปิดเผย

นักศึกษาเอเซียจำนวนมากไม่เข้าใจว่าเวลาที่คนอเมริกันพูดว่า ไปกินข้าวกันดีกว่านั้น ไม่ได้เป็นข้อตกลงว่าจะต้องไปกินข้าวกันจริง ๆ "นักศึกษาต่างชาติมักจะบ่นว่า เวลาที่เราพูดว่า 'HI, HOW ARE YOU ?' นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย พูดไปอย่างนั้นเอง โดยไม่แม้แต่จะรอคำตอบ ความจริงแล้ว 'HOW ARE YOU?' ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นการทักทายก็เลยทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกคบหาคนอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน"

นักสังเกตการณ์ชาวอเมริกันหลายคนคาดว่าเมื่อเศรษฐกิจเอเซียเฟื่องฟูกว่านี้ นักศึกษาเอเซียก็จะเลิกมาเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ แต่จะเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศของตัวเอง

แต่นักศึกษาเอเซียเองกลับมองว่า ถ้าจะทำธุรกิจก็ต้องเรียนวิชาบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นวิชายอดนิยมในหมู่นักศึกษาต่างชาติและสถานศึกษาที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นป้อมปราการของโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของภาษาอังกฤษซึ่งกลายเป็นภาษาสากลในโลกธุรกิจไปแล้ว "วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาก็คือต้องฝึกฝนการใช้ภาษานั้น ๆ จากของจริงเลย" แอนดี้ โซลิสตีโอ นักศึกษาปีสองของเบลอยท์ คอลลเลจซึ่งมาจากอินโดนีเซียกล่าว

แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเอเซียที่ดีเท่า ๆ กับมหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ "ผมได้ยินมาหลายปีแล้วว่า เมื่อประเทศต่าง ๆ ก็พัฒนาระบบการศึกษาของตนขึ้นมาแล้ว ก็จะไม่ส่งนักศึกษามาที่นี่อีก แต่ในความเป็นจริง จำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ผมรู้สึกว่าปริญญาบัตรจากสหรัฐอเมริกายังเป็นสิ่งที่มีตลาดรองรับอีกมาก" เอพสไตน์กล่าวในที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us