Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2536
"10 ปีอุตสาหกรรมไทย เติบใหญ่เพราะทุนต่างด้าว"             
โดย ชาย ซีโฮ่
 

 
Charts & Figures

การลงทุนของต่างประเทศในประเทศไทย
เหตุผลการเลือกลงทุนต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นในกลุ่มอาเซียน


   
search resources

มินิแบแห่งประเทศไทย
Investment




การขยายตัวของการลงทุนและอุตสาหกรรมไทยเมื่อหลายปีก่อนจนเกิดความฝันที่จะเป็น NICS นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนของรัฐบาลพลเอกเปรม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมไทยนั้น มาจากการย้ายทุนมาลงในไทยของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน กระทั่งประเทศตะวันตก !!!

ประเทศไทย 2525…

ปีที่ 3 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศที่รับตำแหน่ง อันเนื่องมาจากการลาออกจากตำแหน่งของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตการณ์น้ำมันได้

ความฝันที่จะเห็นประเทศไทยเดินไปสู่เส้นทางการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NEW INDUSTRIAL COUNTRY-NICS) หรือประเทศพัฒนาของโลกประเทศหนึ่ง ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น นับตั้งแต่ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือ โครงการ EASTERN SEABOARD ขึ้นมาภายหลังการค้นพบทรัพยากรในประเทศที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ก๊าซธรรมชาติ

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการเริ่มโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติขึ้นมาในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ

คำว่า "โชติช่วงชัชวาล" ได้ยินกันทั่วประเทศตั้งแต่บัดนั้น

หลายคนมองว่า นั่น..กำลังเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง เพราะการลงทุนขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ดังคำพูดของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์คนปัจจุบันที่เอ่ยถึงยุคดังกล่าวว่าเป็น "ยุคทองของเศรษฐกิจไทย"

อย่างไรก็ดี ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า ส่วนหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการลงทุนนั้น มาจากการเคลื่อนย้ายทุนของต่างด้าวมายังไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศในเอเซียหรือยุโรปและอเมริกา !!!

ยิ่งบวกกับนโยบายต้องรับทัพนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาลพลเอกเปรมแล้ว ดูเหมือนว่า คำว่า "ยุคทอง" ไม่ได้เป็นเรื่องเกินเลยจริง ๆ

"นโยบายสำคัญของรัฐบาลในช่วงนี้ก็คือ การปรับโครงสร้างภาษีอากรให้มีอัตราอากรขาเข้าให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการส่งออกและกระบวนการส่งเสริมการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น…" ศิววงศ์ จังคศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงนโยบายการเปิดประตูรับการลงทุนของรัฐบาลป๋าเปรม

อย่างไรก็ตาม บางคนกล่าวว่ายุคทองจริง ๆ ของเศรษฐกิจไทยเริ่มต้นในปี 2531 ในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคดังกล่าวนั้น กองทัพนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังจะเห็นจากการลงทุนของประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนกว่า 3 เท่าตัว หรือไต้หวันเพิ่มการลงทุนกว่า 4 เท่าตัว

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่านโนยาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย คือแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน

ยิ่งต่อมา ในเดือนมีนาคม 2532 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การประกาศโครงการ SOUTHERN SEABOARD ด้วยแล้ว แนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย ยิ่งสดใสมากยิ่งขึ้น

อีกเหตุผลที่สามารถอรรถาธิบายถึงการเข้ามาลงทุนในต่างประเทศของไทยมากก็คือ ระยะเวลาในช่วงที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่การมาลงทุนในไทยของต่างชาตินั้น มาจากความพร้อมในหลาย ๆ เรื่อง !!!

นักวิชาการหลายคน มองประเด็นตรงกันในการเข้ามาลงทุนในประเทศของต่างชาติว่า ประการสำคัญที่สุดก็คือ ความมั่นคงทางการเมือง ซึ่ง "…สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากที่สุด"

แม้จะไม่มีสมัยไหนในยุคพลเอกเปรม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 8 ปีเศษ ที่รัฐสภาของไทย มีอายุครบวาระ 4 ปี แต่ก็ไม่มีการยุบสภาโดยวิธีการรัฐประหาร ดังจะเห็นได้จากมีนายทหารพยายามที่จะก่อรัฐประหาร 2 ครั้งในช่วงที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง

กล่าวคือ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 เมื่อพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมาร่วมกับคณะ ได้ตั้งคณะปฏิวัติขึ้นมาเพื่อล้มรัฐบาลพลเอกเปรม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ร่วมกับคณะ เตรียมที่จะปฏิวัติแต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เพราะขาดความพร้อมในบางประการ อันเป็นที่มาของประโยคฮิตในช่วงนั้นว่า "ไม่มาตามนัด"

ดร. จุฑา เทียนไทย อาจารย์คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเดินทางไปทำการวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของ JAPAN SOCIETY PROMOTION OF SCIENTIST เพื่อหาข้อมูลว่า ทำไมความสนใจมาลงทุนในไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นในระยะหลังจึงลดลงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ระบุในงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ปัจจัยแรกในการพิจารณาว่าพวกนักลงทุนญี่ปุ่นจะลงทุนหรือไม่ก็คือ ปัจจัยเรื่องความมั่นคงทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ

ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้การมาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงปี 2530-2533 จึงมีมากและลดลงในช่วงปี 2534 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากการเกิดรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีพลเอกสุจินดา คราประยูร จนมีการเลือกตั้งในปีดังกล่าวถึง 2 ครั้งและมีรัฐบาลถึง 4 รัฐบาลในปีเดียว !!!

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดแต่ความมั่นคงทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายถึงแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศได้

เพราะจากการศึกษาพบว่า สิ่งสำคัญอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนให้ต่างชาติมาลงทุนยังมีอีกมาก โดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐาน (INFRASTRUCTURE) สำหรับการลงทุน ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่มีการเข้ามาลงทุนในประเทศมากนั้น เป็นช่วงที่รัฐบาลไทยมีแผนการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการตัดถนนใหม่อย่างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างกรุงเทพ-ชลบุรี (ที่ตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก) โครงการติดตั้งโทรศัพท์ใหม่ทั่วประเทศ 3 ล้านเลขหมาย หรือการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่บางแห่งในการรองรับบางพื้นที่ โครงการสร้างสนามบินภูมิภาค 9 แห่งไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออก ภาคใต้ ตามแผนโครงการ EASTERN SEABOARD และโครงการ SOUTHERN SEABOARD เพื่อพัฒนาประเทศในแนวทางเป็นประเทศพัฒนา

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่นแห่งประเทศไทยหรือเจโทร ระบุถึงเหตุผลของการมาลงทุนในต่างประเทศของบริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นพบว่า ส่วนหนึ่งและดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ก็คือ เรื่องของค่าจ้างแรงงานในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

มาโกโต อิเคดะ กรรมการบริหารมินิแบแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทหัวหอกในการมาลงทุนในประเทศไทย เคยกล่าวเอาไว้ว่า เหตุผลที่กลุ่มมินิแบ มาลงทุนในประเทศไทยก็เพราะ "…ค่าแรงในไทยต่ำ คนงานหาง่ายและฝึกง่าย ซ้ำยังมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง บางคนทำงานได้ดีกว่าคนงานญี่ปุ่นด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง ค่าขนส่ง ถูกกว่าในญี่ปุ่นถึง 50%"

ดูจะเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดในการ "ย้ายฐาน" ของมินิแบ มาลงทุนในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อนและถือเป็นจุดเริ่มต้นของทัพนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วถือว่ากลุ่มมินิแบจากประเทศญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจมาลงทุนในไทยกลุ่มแรก ดังนั้นในช่วงแรกของการมาไทยในประมาณปี 2527-2531 บีโอไอ ให้การส่งเสริมโครงการลงทุนของมินิแบเกือบทุกโครงการที่ยื่นเรื่องขอส่งเสริม

นอกเหนือจากปูนซิเมนต์ไทยแล้ว ในยุคของพลเอกเปรม มีเพียงมินิแบเท่านั้นที่สามารถที่จะได้รับบัตรบีโอไอทุกโครงการ !!!

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการย้ายฐานการผลิตตลับลูกปืนของญี่ปุ่นมายังไทย เพื่ออาศัยค่าแรงงานที่ถูก วันนี้ของกลุ่มมินิแบ มีบริษัทในประเทศไทยนับ 10 บริษัทที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อีกต่อไป

การเข้ามายังประเทศไทยของบริษัทมินิแบถือเป็นกรณีศึกษา และเป็นตัวแบบของการอรรถาธิบายมาลงทุนในประเทศไทยของกองทัพนักลงทุนต่างชาติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือ เมื่อกลุ่มมินิแบแห่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาในการผลิตในประเทศ อันเนื่องมาจากค่าแรงงานที่สูง วัตถุดิบสูง รวมทั้งค่าเงินเยนในตลาดโลกเริ่มแข็งขึ้น กลุ่มมินิแบ ก็ขยายการผลิตด้วยการไปตั้งโรงงานผลิตตลับลูกปืนในประเทศสิงคโปร์ในปี 2517 เพื่อลดต้นทุนในการผลิตของบริษัท

"มินิแบเลือกสิงคโปร์ในตอนนั้น ก็เพราะความเหมาะสมกับการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ เพราะศักยภาพต่าง ๆ พร้อมทุกอย่าง" เจ้าหน้าที่มินิแบในไทยเล่าให้ฟัง พร้อมทั้งบอกว่า ในตอนแรก มินิแบมองที่จะไปลงทุนในฮ่องกง แต่ขณะนั้นกระแสเรื่องปี 1997 ซึ่งฮ่องกง จะกลับไปเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศจีน ทำให้พวกเขาไม่มั่นใจในความเหมาะสม ของฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสิงคโปร์ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี "ตลอดกาล" ของสิงค์โปร์อย่างลี กวน ยู ทำให้มินิแบในสิงคโปร์ประสบความลำบากในการดำเนินงาน เพราะต้นทุนทุกอย่างสูงมาก

ปี 2523 มินิแบเริ่มมองที่จะย้ายฐานการผลิต จากสิงค์โปร์ไปประเทศอื่น

และพวกเขาก็เลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทย !!!

"เรามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนงานในสิงคโปร์" แหล่งข่าวในมินิแบเล่าให้ฟังถึงเหตุผลหลักของการย้ายฐานจากสิงคโปร์มาไทยด้วยการอธิบายเสริมว่า นอกเหนือจากปัญหาเรื่องคนงานหายากแล้วก็คือ เรื่องค่าแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้พวกเขาต้องการที่จะเคลื่อนย้ายการลงทุนออกนอกสิงคโปร์

ในตอนนั้น กลุ่มมินิแบ มองที่จะไปลงทุนในหลายประเทศ เช่น บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในที่สุด พวกเขาเลือกที่จะลงทุนในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหมาะสมกว่าประเทศอื่น ๆ

แหล่งข่าวในมินิแบกล่าวว่า เหตุผลแรกก็คือในโรงงานที่สิงคโปร์นั้น มีการจ้างแรงงานไทยในโรงงานสูงถึง 200 กว่าคน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงาน บวกกับการสนับสนุนของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทยในปี 2525 อันเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรมินิแบในประเทศไทยในวันนี้

ปี 2525 อันเป็นปีที่กลุ่มมินิแบ ขยายการลงทุนมาไทยนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกาเรปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในประเทศไทยครั้งสำคัญทีเดียว คือ เป็นการเริ่มมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาในไทยอย่างเห็นชัด

ศิววงศ์ จังคศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการลงทุนในประเทศไทยในช่วงของการขยายตัวดังกล่าวว่า เป็นช่วงที่ 4 ของการลงทุน ซึ่งก็คือการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 ประเภทที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การกระจายรายได้สู่ภูมิภาคและการสร้างงาน คือ อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมวิศวการ และอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาค ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมรัฐบาลก็มีประเภทของอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้ว

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยว่า เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 และถึงวันนี้ ก็แบ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการลงทุนของประเทศออกเป็น 5 ช่วงได้แก่

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509 ) และแผนพัฒนาฯ 2 (2510-2514) ซึ่งรัฐบาลไทย วางแผนที่จะใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวนำในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการหนุนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อที่จะลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มีการใช้แผนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้นโยบายนี้บรรลุผล เช่นการใช้มาตรการทางด้านภาษี การคุ้มครองป้องกันและให้สิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถที่จะตั้งตัวได้

ผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ คือ การผลิตยางรถยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ น้ำมัน เคมีภัณฑ์ อาหารกระป๋อง สบู่ ยารักษาโรค เหล็กเส้น กระดาษ นมข้นหวาน กระจกแผ่นจนถึงการประกอบรถยนต์

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (2515-2519) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกควบคู่กับการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

ศิววงศ์กล่าวถึงสิ่งที่เห็นชัดว่า รัฐบาลหนุนที่จะให้นโยบายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายว่า ได้แก่การแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสิรมการลงทุนในปี 2520 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศหันมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

อุตสาหกรรมการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงของการใช้แผนพัฒนา 2 ฉบับนี้ ที่รัฐบาลไทยหนุนที่จะให้มีการผลิตเพื่อส่งออกและทดแทนการนำเข้า ได้แก่อุตสาหกรรมพลาสติก เส้นใยประดิษฐ์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร เครื่องยนต์ และมีการเพิ่มการลงทุนในสินค้าที่เคยผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นการส่งออก เช่น ซีเมนต์ น้ำตาล สิ่งทอและผลิตภัณฑ์ปอ

ช่วงที่ 3 ช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไทย ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า เป็นช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นสำคัญ รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อส่งออก

ศิววงศ์กล่าวถึงรายละเอียดของนโยบายรัฐบาลที่สำคัญในช่วงนี้ว่า ได้แก่การปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรให้มีอัตราอากรขาเข้าให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น กล่าวคือ มีการลดอัตราอากรขาเข้าให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น กล่าวคือ มีการลดอัตราอากรขาเข้าที่สูงเกินร้อยละ 60 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 60 และปรับอัตราอากรที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ให้สูงขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการส่งออก

"ในช่วงนี้ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานเช่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากการค้นพบ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลายประเภท…" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว และยังเสริมว่า การส่งเสริมของรัฐบาลในช่วงนี้ ยังมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม 3 หมวดคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ช่วงที่ 4 คือ ช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) เป็นช่วงที่รัฐสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วไปและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ที่สำคัญก็คือ ในช่วงปลายแผนพัฒนาฉบับที่ 4 ในปี 2534 รัฐบาลในขณะนั้น คือรัฐบาลนายกอานันท์ ปันยารชุม ได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าของไทยในตลาดโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่า การมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนักบริหารที่มีประสบการณ์ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างอานันท์ ปันยารชุน ส่งผลให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด 3 ลักษณะด้วยกันคือ 1) เศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเศรษฐกิจที่เปิดมากขึ้น 2) โครงสร้างการผลิตเปลี่ยนแปลงจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นภาคอุตสาหกรรม และ 3) โครงสร้างด้านแรงงานของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางพัฒนาที่ดีขึ้น

ศิววงศ์ จังคศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงที่ผ่านมาอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจก็คือ การเกิดเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียน หรือ AFTA ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนนั่นเอง

พิสิฎฐ ภัคเกษม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงการเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนว่า จะหนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยมีการพัฒนามากขึ้น เพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้

"ANAND INITIATIVE นี้จะเป็นก้าวสำคัญของการเตรียมตัวของกลุ่มอาเซียนใน 15 ปีข้างหน้า" เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง AFTA ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ คือ การเกิดโครงการ EASTERN SEABOARD ภายหลังการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การเกิดโครงการ SOUTHERN SEABOARD ขึ้นเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือทะเลของไทย นโยบายการแปรสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐบาลพลเอกชาติชาย และการเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA

ทั้ง 4 เหตุการณ์ในทศวรรษของอุตสาหกรรมไทยจึงไม่สามารถที่จะไม่กล่าวถึงได้เลย
ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นมาของโครงการทั้ง 4 ได้ส่งผลต่อเนื่องถึงกลุ่มทุนใหญ่ ๆ หลาย ๆ กลุ่ม ที่สามารถขยายเครือข่ายการลงทุนได้มาก ตัวอย่างของการขยายเครือข่ายของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปูนซิเมนต์ไทยหรือทีพีไอ. จึงเป็นเรื่องของการนำสถานการณ์มาใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจ

ทั้ง 4 เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ และการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่มทุนต่าง ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยครั้งสำคัญ !!!

และการที่ประเทศไทยมี "กรอบ" คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้แม้มีความไม่มั่นคงทางการเมือง คือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่โครงการต่าง ๆ ก็ยังมีความต่อเนื่องซึ่งยกตัวอย่างได้จากคำกล่าวของ ดร. พิสิฎฐ ภัคเกษม ที่กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียซึ่งมาเยี่ยมชมสำนักงานสภาพัฒน์ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่นโยบายก็ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะรัฐบาลไทย ยอมที่จะรับฟังข้อเสนอของนักวิชาการและภาคเอกชนอยู่เสมอ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม เป็นช่วงที่หอการค้าจังหวัด ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศมาก โดยเกือบทุกอย่าง จะผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่จะมีการประชุมกับนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม เกือบทุกเดือน

บทบาทของ กรอ. หลังจากรัฐบาลเปรม อาจจะลดความสำคัญลงไป แต่หัวใจของภาคเอกชน ยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอยู่เช่นเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในการร่วมทุนกับต่างประเทศ อันเป็นที่มาของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนถึงวันนี้

นักธุรกิจหลายคน กล่าวถึงการขยายการลงทุนในช่วงของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากว่า พวกเขาสามารถที่จะเลือกที่จะร่วมทุนกับต่างชาติชาติไหนก็ได้ เพราะในยุคดังกล่าวเป็นยุคที่เมืองไทยเป็นแหล่งเงินทุนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลไทย ก็ต้องการที่จะให้เอกชนสามารถขยายเครือข่ายการลงทุนดังจะเห็นได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายที่จะให้มีเงินทุนของไทยอย่างน้อย 51% ในโครงการที่จะส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกที่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่สำคัญที่สุดหน่วยงานหนึ่งในยุคแห่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ก็คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ !!!

การอรรถาธิบายการลงทุนในทศวรรษที่ผ่านมาจึงมิอาจไม่กล่าวถึงบีโอไอได้เลย !!!

"เราสร้างหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้มีอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสิ่งล่อใจให้เขาทำ อันนี้เราบรรลุวัตถุประสงค์…" สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ ในยุคที่บีโอไอแทบจะกลายเป็นหน่วยงานชี้ขาดการลงทุนของเอกชนได้

อย่างไรก็ตาม สถาพรยอมรับว่า หน้าที่ของบีโอไอ คนทั่วไป โดยเฉพาะนักลงทุน มักจะมองในแง่ของ "การให้สิทธิประโยชน์" มากกว่าเรื่อง "การส่งเสริม" ทั้ง ๆ ที่บีโอไอต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง

ดร. อัมมาร สยามวาลา ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าไม่เพียงคนนอกเท่านั้น ที่มองหน้าที่ของบีโอไอว่าเป็นหน่วยงานที่ให้สิทธิประโยชน์ เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ของบีโอไอจำนวนหนึ่ง ก็คิดว่าหน้าที่ของบีโอไอคือการให้สิทธิประโยชน์ (เป็นหลัก)

"บีโอไอชอบอ้างอยู่เสมอ ๆ ว่าตนเองมีหน้าที่ที่จะจัดสรรการลงทุน" ดร. อัมมารกล่าว

ด้วยการที่บีโอไอถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ให้สิทธิประโยชน์ จะเห็นได้ว่า ระหว่างปี 2516-2519 เมื่อบีโอไอมีนโยบายเข้มงวดการส่งเสริมการลงทุนและเข้มงวดในการพิจารณาการส่งเสริมการลงทุนปรากฏว่า มีคนมาขอบัตรส่งเสริมการลงทุนลดลงทั้ง ๆ ที่ตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า การลงทุนไม่ได้ลดลงเลย (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค)

ทั้ง ๆ ที่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (อันเป็นที่มาของการก่อตั้งบีโอไอ) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อ "..การยินยอมรับทุนและเทคโนโลยีที่จะหลั่งไหลมาจากต่างประเทศ.." ที่ทำให้หลายคนวิตกว่า จะทำให้ไทยกลายเป็นทาสทางเศรษฐกิจของประเทศเจ้าของทุนและเทคโนโลยี

จุดสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงของบีโอไอครั้งสำคัญก็คือ การแก้ไข พรบ. ส่งเสริมการลงทุนเมื่อ พ.ศ. 2520 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการมากและนายกรัฐมนตรี กลายเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

การแก้ไข พรบ. ดังกล่าว ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กลายมาเป็นนักบริหารในตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บงล. จีเอฟ และเคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ให้ความเห็นว่า การแก้ไข พรบ. ส่งเสริมการลงทุนในครั้งนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

จึงไม่เป็นเรื่องแปลก ที่กล่าวกันว่า บีโอไอกลายเป็นเครื่องมือการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ !!!

บีโอไอดังมากที่สุดในยุคทองของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา

ชีระ ภาณุพงศ์ เลขาธิการบีโอไอในช่วงนั้นที่เชื่อกันว่า เขาขึ้นมารับตำแหน่ง เพราะป๋าเปรมไว้วางใจ อันเนื่องมาจากเป็นคนบ้านเดียวกัน (สงขลา) เป็นนักเรียนรุ่นน้องที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ-สงขลา กล่าวว่า ช่วงปี 2529-2530 เป็นช่วงที่การลงทุนในประเทศไทยสูงมาก หน้าที่ของบีโอไอในช่วงนั้นก็คือเผยแพร่บรรยากาศการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขากล่าวว่า "เป็นแหล่งที่มี POTENTIAL สูง"

จนถึงวันนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า บทบาทของบีโอไอเหมาะสมหรือไม่ในเรื่องการให้คุณให้โทษต่อการส่งเสริมการลงทุน?

แม้แต่นักลงุทนต่างชาติเองยังยอมรับว่าพวกเขาไม่เข้าใจบทบาทของบีโอไอมากนัก อย่างกรณีของกลุ่มมินิแบ ในการเข้ามาลงทุนในครั้งแรก บีโอไอต้องการที่จะให้มีหุ้นส่วนไทยอยู่ด้วยอย่างน้อย 51% แต่เมื่อมินิแบยืนยันว่าการลงทุนผลิตตลับลูกปืนต้องใช้เงินสูงและต้องการความคล่องตัวในการบริหารจึงจำเป็นที่จะต้องลงทุนหมดทั้ง 100% บีโอไอก็ยินยอมส่งเสริม ซึ่งเป็นรายแรกที่ได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว

ความสำคัญของบีโอไอ แม้กระทั่งการผลิตกระจกของเครือซิเมนต์ไทยที่ร่วมทุนกับการ์เดียนแห่งสหรัฐอเมริกา ยังทำให้สามารถที่จะทำให้เกิดโครงการได้ ทั้ง ๆ ที่ตอนเริ่มโครงการ ถูกกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิเสธการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานแล้ว

จึงมีบ่อยครั้ง ที่นักลงทุนมักจะกล่าวว่า "หากไม่ได้รับการส่งสริม เราก็ไม่ลงทุน"

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บีโอไอ จึงมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ในฐานะเป็นผู้ "เลือกปฏิบัติ" ว่าจะให้ใครลงทุนหรือไม่เพราะหลาย ๆ ครั้ง ประกาศของบีโอไอที่ให้การคุ้มครองกับผู้ได้รับการส่งเสริม มีผลถึงผู้ที่จะยื่นเรื่องขอส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริมรายอื่น ๆ ในรูปแบบของการคุ้มครองด้วยการห้ามนักลงทุนอื่น ๆ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีผู้ได้รับบัตรการส่งเสริมไปแล้ว

ทศวรรษที่ผ่านมา คนของบีโอไอจึงมีอำนาจสามารถที่จะชี้ขาดการลงทุนได้

การที่คนในบีโอไอ ซึ่งหมายถึงอำนาจของคณะกรรมการ สามารถที่จะให้คุณให้โทษกับผู้ประกอบการได้ ในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงที่ธุรกิจใหญ่ ๆ สามารถที่จะขยายเครือข่ายการลงทุนได้มากมาย โดยอาศัยการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในรูปของการให้สิทธิประโยชน์และการห้ามกลุ่มทุนรายอื่น ๆ มาลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ

ตัวอย่างของเครือซิเมนต์ไทยในการเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมผลิตเครื่องยนต์รถยนต์ เป็นตัวอย่างเด่นชัดตัวอย่างหนึ่งของการขยายตัวของกลุ่มทุนไทยในช่วงดังกล่าว โดยอาศัยกลไกของบีโอไอในการขยายธุรกิจออกไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตนไม่เคยทำมาก่อน

วันนี้ของบีโอไอ แม้บทบาทอาจจะเปลี่ยนไปแต่อำนาจหน้าที่ยังคงเหมือนเดิมอยู่

อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกลับไปในทศวรรษที่ผ่านมา อันนับเป็นทศวรรษแห่งการขยายตัวสูงสุดของเศรษฐกิจไทย จนมีตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสูงเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันหลายปี หลายคนไม่ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง

"..ไม่มีการถ่ายทอดโนว์ฮาวให้อย่างแท้จริง" ผู้บริหารคนไทยในบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติหลายคนกล่าวให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

คำกล่าวของนักบริหารหลายคน ดูจะสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยโนมูระ เอเซียน เปอร์สเปคทีฟ ที่กล่าวถึงการขยายตัวมาลงทุนในประเทศอาเซียน และในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างมากมายของบริษัทญี่ปุ่นไว้ว่ามีเหตุผลการเลือกอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

1) ญี่ปุ่นจะเลือกลงทุนในประเทศที่ท้องถิ่นมีกำลังซื้อสูง ตัวอย่างของการลงทุนในเหตุผลนี้ก็คือการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่อง จักรกล โดยกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นเลือกประเทศไทย อินโดนีเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลักในเหตุผลของการย้ายทุนตามรูปแบบนี้

2) เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำเพื่อการส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายการลงทุนในรูปแบบนี้ก็คือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคิดเลขจนถึงเครื่องปรับอากาศ ประเทศที่รองรับรูปแบบการลงทุนเช่นนี้ของญี่ปุ่น จะต้องเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูก อย่างเช่น การเคลื่อนย้ายทุนของญี่ปุ่นไปไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง กระทั่งสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อน

3) เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อการส่งออก จุดเริ่มต้นของเหตุผลนี้ นักวิเคราะห์ในสถาบันวิจัยโนมูระ เอเซียน เปอร์สเปคทีฟระบุว่า มาจากการที่ค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นจนกระทั่งการผลิตในประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ในบางอุตสาหกรรม เช่นการผลิตเครื่องบันทึกเทป การผลิตเครื่องเล่นซีดีหรือกล้องวิดิโอเพื่อป้อนตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป

เป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ ต้องเป็นแหล่งที่หาวัตถุดิบง่าย มีการคมนาคมขนส่งสะดวก และมีระบบสาธารณูปโภคสมบูรณ์ดังนั้น เป้าหมายของการลงทุนจึงมีไม่กี่จุด ได้แก่สิงค์โปร์ ยะโฮห์บารู (มาเลเซีย) และกรุงเทพ

สำหรับประเทศไทยนั้น สถาบันวิจัยโนมูระฯ ชี้ว่าเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นมาจนกระทั่งวันนี้

"เป้าหมายการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้น จากอดีตจนถึงปัจจุบันญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ(ไทย) แต่ในอนาคตอันใกล้ ไทยจะกลายเป็นแหล่งส่งออกอุปกรณ์โสตทัศนศึกษาไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ" รายงานวิจัยของสถาบันโนมูระฯ กล่าวถึงการลงทุนในประเทศไทย

รายงานดังกล่าวระบุไว้ด้วยว่าไทยกลายเป็นฐานใหญ่ของการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นไปแล้ว อย่างเช่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า นิสสัน ไดฮัทสุ ต่างก็มีแผนงานที่จะลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย เช่นเดียวกับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว โทรทัศน์สี ที่มีการลงทุนตั้งโรงงานในประเทศเช่นกัน

นักลงทุนญี่ปุ่นยอมรับว่า ไทยมีปัญหาเรื่องระบบการจราจร ที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ แต่การที่สนามบินดอนเมือง นับเป็นสนามบินที่มีระบบอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย จะช่วยให้การส่งออกสินค้าหลายอย่างที่ผลิตในไทย สามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลก

รัฐบาลไทยเองก็ดูจะตระหนักดีถึงข้อดีของสนามบินและข้อเสียของระบบจราจร

ดังนั้น ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535-2539 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและขนส่ง ได้กำหนดวงเงินลงทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 178 โครงการ มีวงเงินลงทุนสูงถึง 416,432 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ "ผู้จัดการ" พบว่า การแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในจำนวนทั้งหมด 178 โครงการนั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาถึง 11 หน่วยงาน คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (4 โครงการ) กรมทางหลวง (79 โครงการ) การรถไฟแห่งประเทศไทย (1 โครงการ) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (1 โครงการ) กรุงเทพมหานคร (63 โครงการ) กรมโยธาธิการ (20 โครงการ) กรมการขนส่งทางบก (1 โครงการ) กรมตำรวจ (3 โครงการ) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (2 โครงการ) กระทรวงศึกษาธิการ (1 โครงการ) และสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกอีก 3 โครงการ

เช่นเดียวกับแผนงานการขยายการขนส่งทางอากาศ โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับโครงการท่าอากาศยานสากลแห่งที่ 2 ขึ้นมา คือ

1) อนุมัติโครงการท่าอากาศยาน สากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ณ บริเวณท้องที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

2) ให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็น ประธาน ผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับรายละเอียดของสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยนั้น จะประกอบด้วยทางวิ่งคู่ขนาน 2 คู่ขนาน (CLOSE PARALLEL RUNWAY) มีระยะห่างระหว่างคู่ขนานคู่นอก 400 เมตรและระยะห่างระหว่างคู่ขนานคู่ใน 220 เมตร ทางวิ่งทั้งสี่เส้นจะมีความยาวเส้นละ 3700 เมตร และมีการสำรองพื้นที่ไว้อย่างเพียงพอ สำหรับการต่อความยาวทางวิ่งให้ยาวขึ้นเป็น 4000 เมตร

สนามบินสากลแห่งใหม่นี้ มีขีดความสามารถในการให้บริการขึ้น/ลงของอากาศยานได้ 112 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบได้กับจำนวนผู้โดยสาร 100 ล้านคนต่อปี ปริมาณการขนถ่ายสินค้า 6.4 ล้านตัน/ปี

แหล่งข่าวในการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยระบุถึงแผนงานก่อสร้างสนามบินดังกล่าวนี้ว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงานทั้งสิ้น 7 ปี 6 เดือน โดยล่าสุด มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NACO เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2534 ในวงเงิน 914 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานเมื่อ 1 พฤษภาคม 2535 และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงยุครัฐบาลชวน งานสร้างสนามบินและแก้ปัญหาจราจร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กล่าวกันว่าจะเป็นอุปสรรคของการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศดูจะท้าทายกับงานที่จะสานต่อเป็นอย่างยิ่ง

เพราะหากรัฐบาลชวนไม่สามารถที่จะทำงานต่อได้สำเร็จ โอกาสที่จะรับผลประโยชน์จากการย้ายทุนของต่างชาติมาตั้งแต่ทศวรรษก่อน ไม่ว่าจะเป็นจากญี่ปุ่นหรือชาติอื่น ๆ ก็จะสูญหายไป

ยุคของรัฐบาลชวน ท่ามกลางกระแสแห่ง GLOBALIZATION จึงเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง

หลังจากกระแสทุนจากต่างประเทศ แห่เข้ามาไทยตลอดเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us