แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในปีที่ 10 ของการก่อตั้ง ไม่ใช่เป็นบริษัทสร้างและขายบ้านพร้อมที่ดินเพียงอย่างเดียวแล้ว
หากแต่เป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร ตั้งแต่โครงการที่อยู่อาศัยในรูปของบ้านเดี่ยว
ทาวเฮ้าส์ คอนโดมิเนียม โครงการอาคารสำนักงาน เซอร์วิส อพาร์เม้นท์และรับสร้างบ้าน
ซึ่งดำเนินการในนามของบริษัทควลลิตี้ เฮ้าส์และสยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรม
โครงการศูนย์การค้าดิโอลด์ สยามพลาซ่า และแฟชั่นไอส์แลนด์
การเข้าไปจับธุรกิจเรียลเอสเตทครบทุกตลาดแบบนี้นั้นในแง่ของยุทธศาสตร์แล้ว
ถือว่าเป็นการสร้างความยืดหยุ่นต่อภาวะธุรกิจเรียลเอสเตทได้ดีที่สุด ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ซึ่งในกรณีที่ภาวะตลาดซบเซา ก็จะต้องเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
นอกจากนั้นแล้ว การขยายตัวในลักษณะนี้ ยังเป็นการสร้างแหล่งรายได้ให้หลากหลายขึ้น
แทนที่จะมีรายได้จากธุรกิจที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว
การที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีภาระที่หนักหน่วงข้อหนึ่งเช่นเดียวกับบริษัทอื่น
ๆ ในตลาดหลักทรัพย์คือ จะต้องรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเอาไว้ให้ได้
ถ้าไม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ควรจะลดน้อยลงกว่าเก่าเพื่อรักษาภาพพจน์ความเป็นบริษัทชั้นดีเอาไว้
การพึ่งพารายได้จากการสร้างบ้านขายเพียงอย่างเดียวอาจจะเพียงพอในระยะแรก
แต่เมื่อกำไรสุทธิของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพิ่มขึ้นทุกปี ภาระในการรักษาอัตรากำไรไว้ไม่ให้ตกในปีต่อ
ๆ ไปไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แม้อัตราการเติบโตจะไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินนั้นต้องไม่น้อยกว่าเก่าแน่
ยิ่งฐานกำไรเดิมสูงมากแค่ไหน ตัวเลขที่จะทำให้เข้าเป้าในปีหน้าก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
การจะหวังรายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอแน่
เพราะถึงจะขายดีแค่ไหนการเติบโตย่อมต้องมีจุดอิ่มตัว และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นก็จะทำให้มาร์จิ้นลดน้อยลง
การขยายเข้าไปในธุรกิจเรียลเอสเตทแขนงอื่น ๆ จึงเป็นการสร้างฐานรายได้ใหม่เตรียมเอาไว้แต่เนิ่น
ๆ
รูปแบบการขยายตัวครอบคลุมเข้าไปในตลาดเรียลเอสเตททุกประเภทนั้น แลนด์ แอนด์
เฮ้าส์ใช้รูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจอื่น ๆ เพราะอนันต์ยอมรับว่า
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์นั้นไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง
"คนเราไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง การที่ต่างคนต่างหันหลังกันทำธุรกิจของตนเองนั้น
เป็นการไม่ถูกต้อง การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องเทคโนโลยี่
เป็นสิ่งที่ดีหากได้มาร่วมกันทำ และทำในสิ่งที่ตนถนัด"
พันธมิตรที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จับคู่อย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่เริ่มแรก
และเป็นแกนพลางของการขยายตัวในชั้นต่อไปก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินมาตั้งแต่ยุคแรก
ๆ
สยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรมคือ บริษัทแรกที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เข้าไปร่วมทุนเมื่อปี
2531 โดยมีธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์
และโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันเป็นผู้เชื่อมต่อให้เกิดบริษัทนี้ขึ้น
ลักษณะของโครงการจะวางไว้กว้าง ๆ คือจะพัฒนาที่ดินในโครงการที่ค่อนข้างใหญ่
มูลค่าโครงการสูงประมาณ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และอยู่ในย่านธุรกิจ
ในระยะแรก ๆ ของการแยกตัวเองออกไปของบริษัทสยามพาณิชย์ฯ ปรากฏว่า มีหลายโครงการเหมือนกันที่สนใจจะเข้าไปพัฒนาแต่ไม่มีความพร้อมพอและได้ยกเลิกไป
ดังนั้นบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็ได้เข้ามาฟูมฟักดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควร
นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา สยามพาณิชย์เริ่มแข็งแรงขึ้น มีโครงการต่าง
ๆ ที่กำลังทำรายได้เข้าบริษัทเช่นโครงการรัตนโกสินทร์วิวแมนชั่น ดิโอลด์สยามพลาซ่า
อาคารสินธร ศูนย์การค้าบางรัก และที่สำคัญขณะนี้กำลังผนึกกำลังกับยักษ์ใหญ่อย่าง
ซี.พี. เพื่อเข้าไปสร้างโครงการที่อยู่อาศัยในจีน แหล่งข่าวจากบริษัทเองได้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า
"ทุกวันนี้เราแข็งแรงพอที่จะก้าวเดินได้แล้วและแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์เลย การทำงานและการบริหารงานของบริษัทแยกกันเด็ดขาดแล้ว"
ในแง่ของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อาจจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจริง แต่ในตัวบุคคลคืออนันต์นั้นแน่นอนว่ายังเข้ามาเป็นผู้กำหนดทิศทางให้กับสยามพาณิชย์ฯ
โดยตลอดในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนตัวถึง 33% ในขณะที่บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ถือเพียง
15%
การร่วมทุนกับไทยพาณิชย์นั้น สิ่งที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้มาคือ สายสัมพันธ์ในด้านแหล่งเงินทุน
ซึ่งสามารถที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ในรูปแบบต่าง ๆ กันเมื่อถึงคราวจำแป็นที่สำคัญมากกว่านี้ก็คือ
สามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในไทยพาณิชย์
และเป็นเจ้าของที่ดินทำเลดี ๆ ในกรุงเทพที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะเข้าไปพัฒนาได้
จึงไม่แปลกที่โครงการส่วนใหญ่ของสยามพาณิชย์ฯ จะอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ปี 2535 สยามพาณิชย์ฯ ได้เกิดบริษัทลูกขึ้นมาคือ "สยามรีเทล"
เพื่อสร้างโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ "แฟชั่นไอสแลนด์" บนถนนรามอินทรา
ครั้งแรกผู้ถือหุ้นใหญ่คือ สยามพาณิชย์ฯ กับโรบินสันเท่านั้นซึ่งทำให้โครงการนี้มีปัญหาในการขายพื้นที่เช่นกัน
เพราะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านั้นได้ดึงลูกค้าไปแล้ว
เช่น ซีคอนสแควร์ เสรีเซ็นเตอร์ ฟิวเจอร์พาร์ค
แล้วอนันต์ก็เล่มเกมการตลาดที่ไม่มีใครนึกถึง เขาดึงเอากลุ่มเซ็นทรัลมาถือหุ้นด้วยทันที
สัดส่วนผู้ถือหุ้นสยามรีเทลกลายเป็นสยามพาณิชย์ฯ 40% โรบินสัน 30% และเซ็นทรัล
30% ผลของการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างเซ็นทรัลกับโรบินสันซึ่งอยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้าเดียวกันนั้น
มีส่วนทำให้ยอดขายพื้นที่ของแฟชั่นไอสแลนด์พุ่งขึ้นทันที โดยกลุ่มอื่นตั้งแผนรับไม่ทัน
"คุณอนันต์ค่อนข้างซีเรียสกับยอดขายเหมือนกันในช่วงระยะแรก พอแข่งกันหนักขึ้น
แกก็ตัดสินใจว่าอย่างไรเสียต้องดึงเซ็นทรัลเข้ามาช่วย พอติดต่อเซ็นทรัลไป
ทางเซ็นทรัลเขาก็พิจารณาอยู่นานหลายเดือน แกก็รอโดยไม่ได้พิจารณากลุ่มอื่นเลย
จนกระทั่งเซ็นทรัลเขาตกลง"
ปี 2532 จับมือกับกลุ่มธนาคารเอเชีย ไทยพาณิชย์ และกสิกร สร้างเมืองธุรกิจในพื้นที่
740 ไร่ ริมถนนวิภาวดีรังสิตชื่อโครงการนอร์ธ ปาร์ค ซึ่งจะประกอบไปด้วยสนามกอล์ฟอาคารสำนักงาน
130 ไร่ โรงแรมสปอร์ตคอมเพล็กซ์
ปี 2533 อนันต์ได้ปรับผู้ถือหุ้นในควอลิตี้ใหม่ โดยเอาทั้งผู้ที่มีความชำนาญทางด้านที่ดินเดิม
และมีที่ดินอยู่ในมือเช่นกลุ่มเกสรกรุ๊ป ของชาย และชาญ ศริวกรม์ กลุ่มสถาบันการเงิน
เช่น เอไอเอ และบงล. ธนสยาม และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เข้ามาร่วม และในปี 2534
ก็ผลักดันควอลิตี้ให้เข้าไปเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขยายบทบาทการบริการให้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นทั้ง
4 ประเภทคือ 1. ธุรกิจรับสร้างบ้าน ระดับกลาง และรับสร้างบ้านระดับศิลปกรรม
(MASTERPIECE) 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือจัดสรรที่ดินพร้อมขาย ซึ่งจะมีรูปแบบที่ไม่ชนกับแลนด์ฯ
โดยจะทำในพื้นที่โครงการเล็กกว่าประมาณ 20-30 ไร่เท่านั้น 3.ธุรกิจออฟฟิศและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า
และ 4. การทำธุรกิจศูนย์การค้า
นโยบายหลักของควอลิตี้จะเน้นที่โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ในขณะที่รายได้ที่เข้ามาตอนนี้
60% มาจากบ้านจัดสรรและธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่วนออฟฟิศ และเซอร์วิสสำนักงานจะทำรายได้เข้ามาประมาณ
40% รวมรายได้ทั้งหมดที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2535 ประมาณ 614
ล้านบาทในขณะที่ปี 2534 ทำได้เพียงประมาณ 408 ล้านบาทส่วนในปี 2536 นั้นได้มีการประมาณไว้ว่าบริษัทจะมีรายได้รวมทั้งหมดประมาณ
919 ล้านบาท สำหรับโครงการศูนย์การค้าเกสรพลาซ่านั้นประมาณต้นปี 2537 จึงจะมีรายได้เข้ามา
ในปีเดียวกันตลาดคอนโดฯ กำลังเป็นที่นิยมของตลาดอย่างสูง อนันต์ได้ตัดสินใจตั้งบริษัทสยามธานีขึ้นเมื่อประมาณปี
2533 เพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบของคอนโดมิเนียมขึ้นเป็นโครงการแรกของบริษัทในเครือ
แต่บ้านสวนธนในแนวความคิดของอนันต์นั้นไม่ธรรมดาอย่างคอนโดราคาปานกลางขนาดเนื้อที่
30 ตารางเมตร สูง 10-20 ชั้นที่เกิดขึ้นเกลื่อนเมืองในช่วงเวลานั้น แต่มีความสูงเพียง
6 ชั้น ๆ ละ 4 ยูนิต เนื้อที่ 60 ตร.ม. จุดเด่นนอกจากเน้นความไม่แออัด เป็นส่วนตัวสูง
และมีสภาพแวดล้อมที่ดีแล้วยังจูงใจลูกค้าด้วยราคาเพียง 8.5 แสนบาทเท่านั้น
และคราวนี้อนันต์ได้นำเอาเทคโนโลยีการก่อสร้างจากต่างประเทศมาใช้คือระบบ
พี.ซี. ส่วนหนึ่งของระบบฟรีแฟบ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างสำเร็จรูปมาใช้เพื่อควบคุมคุณภาพในการผลิต
และที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทางด้านการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
เพราะช่วงเวลานั้นในเมืองไทยขาดแรงงานการก่อสร้างอย่างมาก จากสาเหตุของการบูมของธุรกิจก่อสร้าง
โดยร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น คือ มารูเบนี 25% ไทยเซฟี 14%
และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 61%
ไทยเซฟีนั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยี่ ระบบฟรีแฟบ การที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ดึงเข้ามาร่วมทุนในสยามธานีด้วยก็เพื่อที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี่การก่อสร้างแบบนี้
ปลายปี 2535 อนันต์ก็ได้เข้าไปซื้อหุ้นใน เอส. เค. การ์เม้นท์ 24% เอส.
เค. การ์เม้นท์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกับโรบินสันซึ่งมีสายสัมพันธ์ในทางธุรกิจกับแลนด์
แอนด์เฮ้าส์อยู่แล้ว ในบริษัทสยามรีเทค การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในครั้งนี้
เอส. เค. การ์เม้นท์ มีแผนการที่จะหันมาทำธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบของไฮเปอร์
มาร์เก็ต
อนันต์เคยอธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะสามารถเข้าไปร่วมวางแผนกำหนดที่ตั้งของไฮเปอร์มาร์เก็ตได้ซึ่งแน่นอนว่า
จะต้องอยู่ในทำเลที่มีโครงการของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์อยู่ด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็จะได้ประโยชน์คือ
โครงการของก็จะมีไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นจุดขายส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตก็จะได้กลุ่มผู้อาศัยอยู่ในโครงการเป็นฐานลูกค้าด้วย
ในขณะที่สายสัมพันธ์กับโรบินสันชักนำให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เข้าไปลงทุนกับ
เอส. เค. การ์เม้นท์ การดึงกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุนในสยามรีเทล ก็ก่อให้เกิดการร่วมทุนที่ตามมาของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์กับกลุ่มจิราธิวัฒน์
เมื่อประมาณต้นปี 2536 บริษัทแปซิฟิค เรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับกลุ่มจิราธิวัฒน์ ในชื่อบริษัทเวฟดีเวลลอฟเม้นท์
เพื่อทำธุรกิจทางด้านพัฒนาที่ดินในกรุงเทพ ซึ่งกลุ่มจิราธิวัฒน์มีที่ดินในทำเลดี
ๆ หลายแปลงอยู่
หากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อไรในอนาคต ธุรกิจเอสเตทรูปแบบต่าง
ๆ ที่ปรากฎขึ้นมาในกรุงเทพ ย่อมต้องมีแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เป็นยาดำแทรกไปทั่ว
นอกจากการร่วมทุนในแวดวงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ยังแตกแขนงเข้าไปในธุรกิจการเงินด้วย
โดยได้เข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร 30% ร่วมกับธนาคารกรุงเทพฯ
และบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงถือหุ้นร่วมอีกบริษัทละ 30%
การเข้าไปลงทุนในนิธิภัทรครั้งนี้ เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการบ้านและที่ดินของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ ในรูปของการให้สินเชื่อกับผู้ซื้อบ้าน แต่สิ่งที่แลนด์ แอนด์
เฮ้าส์จะได้ประโยชน์อีกก็คือ นิธิภัทรภายใต้การบริหารงานของณรงค์ ปัทมะเสวี
คือบริษัทไฟแนนซ์ที่มีความชำนาญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเรื่องของการเทคโอเวอร์และการควบกิจการ
การเข้าไปลงทุนในนิธิภัทรก็คือ การสร้างกลไกในเรื่องของที่ปรึกษาการลงทุนของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์
การเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทประกันคุ้มภัย ซึ่งเป็นการขยายการลงทุนครั้งล่าสุดของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ก็มีนิธิภัทรเป็นจักรกลสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ และยังเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย
"ลูกค้าที่ซื้อบ้านทุกรายต้องมีไฟแนนซ์ โดยแลนด์ฯ จะมีนิธิภัทรคอยให้บริการ
และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังก็ต้องมีประกัน แทนที่จะส่งประกันอื่น ๆ อย่างที่เคยทำมา
ก็นำกลับมาส่งให้บริษัทในเครือคือคุ้มภัยแทน ถ้าบ้านราคาหลังละ 1 ล้าน เงินค่าประกันปีหนึ่งต่อหลังก็ประมาณ
2 พันยาท ถ้าปีหนึ่ง ๆ ประมาณ 5,000 หลัง มันก็จะเป็นเงินจำนวนที่มากพอดูเหมือนกัน
นอกจากนั้นยังมีโครงการอื่น ๆ ของบริษัทในเครือ เข้ามาประกันอีกด้วย"
แหล่งข่าวรายหนึ่งวิเคราะห์ให้ผู้จัดการฟังถึงประโยชน์ที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
จะได้จากประกันคุ้มภัย
นอกจากกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวถึงแล้ว อนันต์ยังเข้าไปร่วมลงทุนอีกหลายบริษัท
จนถึงวันนี้ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์มีบริษัทที่เข้าไปร่วมทุนทั้งหมดประมาณ 1,000
ล้านบาท
"ในปีหนึ่ง ๆ ผมจะกันเงินประมาณ 10% ของเงินลงทุนเพื่อสร้างแนวร่วมทางธุรกิจ
การลงทุนผมไม่มองที่เงินตัวเดียว แต่จะมองถึงพันธมิตรที่จะได้กลับมาด้วย"
อนันต์กล่าว "แต่สำหรับตัวแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงจะเป็นธุรกิจที่สร้างบ้านขาย
จะไม่ทำอย่างอื่น เพราะเรื่องนี้เป็นธุรกิจที่เราถนัดที่สุดแล้ว"