Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2536
"แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จะใหญ่ไปอีกนานแค่ไหน ?"             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

 
Charts & Figures

ผลการดำเนินงานของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (มหาชน) ในรอบ 5 ปี
ฐานะทางการเงินของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์

   
related stories

"คนเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง" ยุทธศาสตร์พันธมิตรธุรกิจ

   
www resources

โฮมเพจ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ - แลนด์แอนด์เฮ้าส์

   
search resources

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.
อนันต์ อัศวโภคิน
Real Estate




ฝันร้ายของนักพัฒนาที่ดินเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2526 จากมาตรการจำกัดสินเชื่อ 18% และลดค่าเงินบาท มันได้สร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นกับนักธุรกิจถ้วนหน้าจนกระทั่งปี 2530-2533 เศรษฐกิจของเมืองไทยได้ฟูเฟื่องขึ้นมาอีกครั้ง ธุรกิจการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบูมสุดขีดในห้วงเวลานั้น แต่เป็นยุคทองที่กอบโกยกำไรได้สั้นเหลือเกิน หลังเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2534 เศรษฐกิจภายในประเทศไทยถดถอยลงอย่างต่อเนื่องนักธุรกิจหลายรายที่ตั้งรับไม่ทันต้องเจ็บปวดซ้ำสอง

สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างจอมยุทธ์ทางด้านพัฒนาที่ดินให้เกิดขึ้นหลายราย และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็คือหนึ่งในบริษัทเหล่านั้นภายใต้การกำหนดทิศทางของอนันต์ สิงห์หนุ่มผู้ลุ่มลึก...คนนั้น

เมื่อตอนต้นปีนี้ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ขายในตลาดยุโรปและอเมริกา ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนประเภทสถาบันจนขายได้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหุ้นบลูชิบของหุ้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ว่าเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนต่างชาติมากแค่ไหน !!

ล่าสุดนิตยสาร เอเซีย มันนี่ ฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 1993 ได้ตีพิมพ์ผลการสำรวจความเห็นของนักลงทุนประเภทสถาบันจากทั่วโลก ที่มีการลงทุนด้านหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค จัดอันดับให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทที่มีการบริหารงานดีที่สุดในประเทศไทยโดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทยและปูนซิเมนต์ไทยอยู่ในอันดับ 2-5 เรียงลงมาตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ติดอันดับ 3 ในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการบริหารงานดีที่สุดของเอเซีย

ผลการดำเนินงานระหว่างช่วงปี 2532 ซึ่งเป็นปีแรกที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนถึงปีที่แล้ว มีอัตราการเติบโตของผลกำไรเพิ่มขึ้นในระดับสูงทุกปี กล่าวคือ ปี 2532 มีกำไรสุทธิ 81.21 ล้านบาท ปี 2533 กำไรสุทธิ 164.90 ล้านบาท ปี 2534 กำไรสุทธิ 822.25 ล้านบาทและปี 2535 กำไรสุทธิ 1,452 ล้านบาท

สำหรับตลาดที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินนั้น คำว่า "หนึ่งในโครงการแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" ซึ่งปรากฏ ควบคู่ไปกับโครงการบ้านจัดสรรหลาย ๆ โครงการ ในชื่อต่าง ๆ ของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เป็นจุดขายทางการตลาดที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ซื้อบ้านของแลนด์ฯ หลังจากพิจารณาในเรื่องทำเลและราคาแล้ว คำว่า "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" มีน้ำหนักไม่น้อยต่อการตัดสินใจซื้อในขั้นสุดท้าย

มานิต รัตนสุวรรณ สมัยที่ทำงานอยู่กับสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมาราว ๆ ปี 2527 ตามความต้องการของอนันต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด

"เราคิดว่าน่าจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างที่จะทำให้คนที่ซื้อบ้านคิดถึงบริษัทด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วคนก็จะจำเฉพาะชื่อโครงการ ชื่อ "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" จะไม่มีคนรู้จัก" อนันต์พูดถึงที่มาของคำ ๆ นี้

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2526 ด้วยเงินทุนเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบัน มีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาท มีรายได้จากการขายบ้านและที่ดินในปีที่ผ่านมา 4,054 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วและมีกำไรสุทธิต่อหุ้น ๆ ละ 12.4 บาท

อนันต์ อัศวโภคินผู้ปลุกปั้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ให้เติบใหญ่ขึ้นมาขนาดนี้ เป็นลูกชายของเพียง ใจ หาญพาณิชย์ เจ้าแม่แห่งวงการที่ดิน ซึ่งบรรดาปรมาจารย์รุ่นเก่าในวงการบ้านจัดสรรตั้งแต่สมัยก่อนปี พ.ศ. 2516 รู้จักกันดี ดังนั้นอนันต์จึงไม่ได้เริ่มธุรกิจของการทำบ้านจัดสรรโดยเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เขาค่อนข้างโชคดีกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำที่ได้ความรู้ขั้นพื้นฐาน และประสบการณ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจจากผู้เป็นแม่นั่นเอง

อนันต์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาโททางด้านวิศวกรรมระบบมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการเรียนเอ็มบีเอที่ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2527 ทำให้ความคิดของอนันต์ในการทำธุรกิจกว้างไกลกว่าผู้เป็นแม่หลายช่วงตัว

เขาเริ่มไปช่วยทำโครงการบ้านจัดสรรโครงการแรก ที่หมู่บ้านศรีรับสุข ย่านบางเขนเมื่อปี 2517 และแน่นอนว่าในสายตาของหนุ่มนักเรียนนอกอย่างเขานั้น เห็นการทำงานของผู้เป็นแม่ซึ่งไม่มีดีกรีสถาบันใดติดตัวเลยนั้น ไม่ค่อยถูกต้องนักดังนั้นในช่วง 5 ปีแรกอนันต์ได้เข้าไปดูแลเน้นหนักทางด้านจัดระบบโครงสร้างการทำงานให้เป็นระบบทั้งในส่วนองค์กร และสต็อคงานก่อสร้าง และในปี 2523 ก็ก้าวล้ำหน้าเกินบริษัทอื่นด้วยการนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานสต็อคคอนโทรล เพื่อให้การบริหารสต็อคมีประสิทธิภาพสูงสุด

"ในช่วง 5 ปีแรกนี้ผมเข้าไปเรียนรู้พื้นฐานในการทำงานของบริษัทมากกว่า และช่วยจัดการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มขยายงานจริง ๆ ในเรื่องของแบบบ้าน" อนันต์เล่าย้อนถึงความหลังให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในช่วงเวลานั้นหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเท่าใดนัก หน้าตารูปแบบของบ้านแต่ละหลังถูกมองว่าเป็น "บ้านโหล" ที่ไร้รสนิยม อนันต์เริ่มคิดวางแผนทางด้านการตลาดว่าจะสร้างอย่างไร จะขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ในที่สุด "หมู่บ้านนันทวัน" ที่เชียงใหม่จึงเป็นโครงการแรกเมื่อปี 2535 ที่ออกมาชิมลางในรูปโฉมให่ฉีกแนวจากรูปแบบของบ้านจัดสรรทั่ว ๆ ไป และแน่นอนว่าเป็นบ้านที่มีราคาแพงกว่าโครงการอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาดเวลานั้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นเศรษฐีจากกรุงเทพฯ ซื้อไว้พักผ่อนเป็นบ้านหลังที่ 2

นอกจากนั้นยังยอมทุ่มงบโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ด้วนสโลแกน "หนึ่งในโครงการของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์"

ปรากฏว่าแผนการนี้ได้ผล บ้านนันทวันประสบความสำเร็จในการขายอย่างมากอย่างท่วมท้น บ้านสวยหนึ่งในโครงการแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้กลับมาปรากฏที่กรุงเทพฯ อีกหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง

แลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นผู้บุกเบิกการใช้แบบบ้านที่สวยงาม และการจัดบริเวณสภาพแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า LANDSCAPE เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้บ้านจัดสรรเป็นที่ยอมรับ และกลยุทธ์นี้ก็กลายเป็นกลยุทธ์พื้นฐานของการแข่งขันกันในธุรกิจเรียลเอสเตทมาจนถึงทุกวันนี้

การให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์คือบ้าน โดยเฉพาะในด้านของการออกแบบให้มีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งในตลาดเดียวกัน (PRODUCT DIFFERENTIATION) คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างที่สะท้อนถึงการใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าให้ฉีกออกไปจากคู่แข่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือ โครงการคอนโดมิเนียมบ้านสวน และโครงการทาวเฮ้าส์บุศรินทร์และปาริชาติ

โครงการบ้านสวนซึ่งดำเนินการในนามบริษัทสยามธานี ซึ่งเป็นการร่วมทุนของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์กับมารูเบนีและไทยเซฟีของญี่ปุ่นนั้น เป็นการขยายตัวเข้าไปสู่ตลาดคอนโดมีเนียมเป็นครั้งแรกหลังจากที่ทำแต่บ้านเดี่ยวมาตลอด

ในขณะที่คอนโดมิเนียมในตลาดระดับเดียวกันจะมีพื้นที่เฉลี่ย 30-40 ตารางเมตร ความสูง 10-20 ชั้น ๆ ละหลาย ๆ ยูนิต บ้านสวนของสยามธานีสร้างความแตกต่างด้วยการพัฒนาโครงการขึ้นมาในรูปของกลุ่มอาคาร กลุ่มละ 3 ตึก จำกัดความสูงเพียง 6 ชั้น แต่ละชั้นมีเพียง 4 ยูนิต ยูนิตละ 60 ตารางเมตร โดยหยิบเอาเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่แออัดเหมือนคอนโดมิเนียมทั่ว ๆ ไปขึ้นมาเป็นจุดขาย

ความสำเร็จด้านการขายอย่างรวดเร็วของโครงการบ้านสวนธน โครงการแรกที่สวนธนบุรีรมย์ซึ่งใช้ชื่อว่าโครงการบ้านสวนธน และโครงการที่สองคือบ้านสวนศรีนครินทร์ คือสิ่งที่พิสูจน์กลยุทธ์ด้านตัวสินค้าของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้เป็นอย่างดี

และเมื่อโครงการคอนโดมิเนียมในรูปลักษณ์บ้านสวนของบริษัทอื่น ๆ เกิดตามขึ้นมาภายหลังโดยใช้จุดขายในเรื่องจำนวนยูนิตที่ไม่มากในแต่ละชั้นและจำนวนชั้นที่น้อยในแต่ละอาคาร ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเฉียบคมของกลยุทธ์นี้

ส่วนโครงการทาวเฮ้าส์บุศรินทร์และปาริชาติก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ขยายตัวเข้าไปในตลาดที่พักอาศัยแบบทาวเฮ้าส์ โดยใช้กลยุทธ์ในเรื่องของแบบทั้งภายในและภายนอกที่ดัดแปลงมาจากแบบบ้านเดี่ยว ผสมผสานกับการจัดวางภูมิสถาปัตย์ในบริเวณโครงการขึ้นมาสร้างความแตกต่างจากทาวเฮ้าส์ทั่ว ๆ ไป

กลยุทธ์การตลาดประการต่อมา ที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ การเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวสูง และมีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ว่า โครงการทุกโครงการของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยกเว้นโครงการลดาวัลย์จะมีระดับราคาอยู่ในช่วง 1-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตลาดระดับกลาง ๆ ซึ่งมีลูกค้าใหญ่มากที่สุด

ในตลาดระดับกลางเอง ก็ซอยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ แล้วพัฒนาโครงการที่รองรับตลาดส่วนนั้นโดยเฉพาะ โครงการคอนโดแบบบ้านสวน และโครงการทาวเฮ้าส์ที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากจะเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่รองรับกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าแล้ว ก็ยังเป็นโครงการที่รองรับกลยุทธ์แบบ MARKET SEGMENTATION ด้วยเช่นกัน

โครงการคอนโดบ้านสวนซึ่งราคาเริ่มต้นที่ระดับ 8 แสนกว่า ๆ ไปจนถึงหนึ่งล้านบาทเศษ ๆ นั้น มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานได้ไม่นาน ยังไม่มีกำลังซื้อพอที่จะซื้อบ้านเดี่ยวได้ ส่วนโครงการทาวเฮ้าส์ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่ชอบการอยู่คอนโดมีเนียมหรือเริ่มมีครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น จนไม่สะดวกต่อการที่จะอาศัยในคอนโดมิเนียมพื้นที่แค่ 60 ตารางเมตร แต่ก็ไม่สามารถซื้อบ้านเดี่ยวได้ ทาวเฮ้าส์ราคา 8 แสนถึง 1.5 ล้านบาท คือทางออกที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ไปยืนดักไว้แล้ว

ภายใต้กลยุทธ์ที่ยึดตลาดชนชั้นกลางเป็นเป้าหมายอย่างเหนียวแน่น แล้วแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นส่วน ๆ นี้ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็ยึดกุมตลาดที่พักอาศัยระดับกลางไว้ได้ทุกระดับ

"ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ก็อยู่คอนโดบ้านสวนไปก่อนพอแต่งงานมีลูกแล้วก็ย้ายไปอยู่ทาวเฮ้าส์ ถ้าฐานะมั่นคงขึ้นอยากจะมีบ้านหลังที่สอง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ก็มีบ้านเดี่ยวขาย" คนของแลนด์ฯ เองเคยบรรยายสรรพคุณแบบครบวงจรของตัวเองแบบทีเล่นทีจริงไว้เช่นนี้

วัตถุดิบสำหรับธุรกิจเรียบเอสเตทคือที่ดิน จุดแข็งอีกจุดหนึ่งของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ก็คือการสะสมที่ดินไว้เป็นแลนด์แบงก์จำนวนมาก นับว่าเป็นโชคดี เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ดินซึ่งซื้อไว้นานแล้วทำให้ต้นทุนการก่อสร้างค่อนข้างต่ำได้เปรียบคู่แข่งและในช่วงปี 2532-2533 อนันต์ได้ซื้อเพิ่มอีกหลายแปลง เขามีความเห็นว่าการเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการเพิ่มของราคาที่ดินที่พุ่งสูงกว่า 30% ดังนั้นก็น่าจะซื้อเก็บไว้

"ตอนนั้นเรามีที่ดินประมาณ 5,000 ไร่ใน กทม. และบริเวณรอบ ๆ ทั้งหมด ถ้าอยู่ในระดับนี้และไม่มีโครงการเพิ่ม มียอดขายปีละ 2,000 ยูนิต สามารถจัดสรรไปได้ถึง 7 ปี โดยไม่ต้องซื้อที่เพิ่มเลย แต่ถ้ามีการขยายตัวปีละ 30% เราจัดไปได้อีก 4-5 ปี" อนันต์เคยกล่าวไว้เมื่อประมาณปลายปี 2535

ว่ากันว่าแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีสูตรในการซื้อที่ดินที่น่าสนใจในยุคแรก ๆ เป็นเพราะวิธีการของเพียงใจที่เข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านและเจ้าของที่ดิน รวมทั้งประสบการณ์ที่สะสมไว้เลยได้ที่ดีและราคาที่ไม่แพง แต่ต่อมามีการใช้ศาสตร์ที่ทันสมัยมาใช้ โดยมีการวิเคราะห์ วิจัย และศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด มาประกอบมากยิ่งขึ้น

"เราดูที่ดินแบบนกคือมองไปไกล มองภาพรวมทั้งหมด เรื่องฮวงจุ้ยไม่ได้ถือหรอกครับ ผมใช้ฤกษ์สะดวกอะไรทำนองนั้นมากกว่า" อนันต์เล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับของการซื้อที่ดิน

ปัจจัยหลัก ๆ ซึ่งเป็นที่มาแห่งความเติบใหญ่ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นศาสตร์ในการบริหารทั่ว ๆ ไปที่พอทำออกมาแล้วประสบความสำเร็จใคร ๆ ก็ทำตามอย่างได้ และถ้าสามารถเป็นผู้นำ งัดเอากลเม็ดเด็ดพรายออกมาใช้ได้ก่อนคนอื่น ก็จะยิ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าผู้ที่ตามทีหลัง

แต่สิ่งหนึ่งที่ลอกเลียนแบบกันได้ยาก นอกจากจะลงทุนลงแรงสร้างกันมาตั้งแต่เริ่มต้นก็คือเรื่องของคน

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้ชื่อว่า มีบุคลากรในระดับบริหารที่เพียบพร้อมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ บริษัทเรียลเอสเตทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน และทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพนี้เอง ที่เป็นจุดชี้ขาดที่สำคัญที่สุดในการเติบใหญ่ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายิ่งเมื่อบริษัทมีการขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการสร้างโครงการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และการแตกแขนงการลงทุนออกไปแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ก็มีคนพร้อมที่จะรองรับได้โดยไม่ยากลำบากมากนัก

"ในช่วงปี 2529-2533 นั้น ธุรกิจที่อยู่อาศัยในบ้านเราโตเร็วมากทำให้นักลงทุนประเภทอื่นก็กระโดดเข้ามาคลุกวงในสนามเรียลเอสเตทกันอย่ามเมามัน แต่เมื่อขาดการเตรียมคนการซื้อตัวบุคลากรในช่วงนั้นจึงมีให้เห็นหลายราย" แหล่งข่าวในวงการพัฒนาที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

ปรากฏว่าการปล่อยให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วแล้วค่อยสร้างระบบหรือหาคนมารองรับงานในภายหลังนั้น เป็นความผิดพลาดของการทำงานที่หลาย ๆ บริษัทต้องจำเอาไว้เป็นบทเรียนเพราะการซื้อคนไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

อนันต์ก็ได้วางแผนทางด้านกำลังคนเพื่อช่วยให้บริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย การสร้างกำลังพลของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรองรับบริษัทที่แตกออกไปอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งทีทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า สไตล์การบริหารของอนันต์นั้นได้ใช้กลไกของทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก และมาก่อนสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาในหลักสูตรเอ็มบีเอ เพื่อเตรียมคนทางด้านการบริหาร และหลักสูตรมินิเอ็มบีเอ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้หัวหน้างานระดับต้นทางเศรษฐศาสตร์

อนันต์ได้ให้ความเห็นในเรื่องการส่งคนไปเรียนหลักสูตรเอ็มบีเอว่า

"เป็นสิ่งที่ช่วยในการทำงานได้มากทีเดียว เพราะทำให้การสื่อสาร นั้นเป็นภาษาเดียวกันทุกคนรู้เรื่อง ทุกคนเข้าใจสามารถไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้โดยไม่หลงทาง"

อนันต์คือนักเรียนหลักสูตรเอ็มบีเอคนแรกของบริษัท พยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ คือคนต่อมาและหลังจากนั้น ผู้บริหารและระดับหัวหน้างานก็ถูกส่งไปเรียนที่จุฬาและธรรมศาสตร์โดยตลอดประมาณปีละ 4-6 คน จนถึงปัจจุบันแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์มีพนักงานที่จบเอ็ม บี เอ แล้วประมาณ 40 คน

และพนักงานทั้งหมดของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ในขณะนี้ไม่รวมถึงบริษัทที่เข้าไปร่วมทุน มีประมาณ 340 คน เกณฑ์เฉลี่ยอายุประมาณ 30-45 ปี มี 30% 20-30 ปี 70% การศึกษาจบปริญญาตรีประมาณ 50% จบปวส. 40% จบปริญญาโท 9% อีก 1% คือพวกปวช.

หลักฐานจากฝ่ายบุคคลของบริษัทให้ "ผู้จัดการ" พบว่าในบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ นอกจากเพียงใจ และอนันต์แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีพนักงานคนใดเป็นอัศวโภคินเลย และคงด้วยเหตุผลที่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าซึ่งนับวันจะเพิ่มความซับซ้อนจนคนรุ่นเก่าก้าวเดินตามไม่ทัน รวมทั้งอาณาจักรแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ที่โตไม่หยุดนั้นจากการบริหารโดยปริยาย คงไว้เพียงตำแหน่งกรรมการของบริษัทเท่านั้น

ส่วนทายาทคนอื่น ๆ ของบุญทรงและเพียงใจ ทั้ง 4 คนนั้นก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เลย ทรงพล ลูกชายคนโต จะรับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารบริษัทแมนดาริน สุดาเป็นกรรมการบริษัทในเครือแมดาริน อนุพงษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแมนดาริน และมีโครงการพัฒนาที่ดินเองคือบ้านรองเมือง ดังนั้นภาพการบริหารงานแบบครอบครัวคนจีนที่บางคนเอาไปกล่าวถึงนั้นว่ากันว่าอนันต์ยอมรับไม่ได้เลย

ปัจจุบันผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นกำลังสำคัญ และผู้ถูกกำหนดตัวไว้เป็นขุนศึกคนต่อไปของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัทร่วมทุนมีทั้งหมด 3 รุ่น คนเหล่านี้บางส่วนยังเป็นผู้ที่รับผิดชอบอยู่ที่บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บางคนได้กระจายกำลังไปรับผิดชอบตามบริษัทร่วมทุนอื่น ๆ

รุ่นที่ 1.ช่วงอายุ 38-47 ปี จะมีพยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ ซวง ซันสุโรจน์ ธงชัย จิระดิลก จุมพล มีสุข เฉลิม เกียรติธนะบำรุง ทั้ง 5 คนนี้คือหนุ่มจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหญิงสาวจากคณะบริหารธุรกิจคนเดียวของรุ่นนี้คือ กัณทิมา พงศ์อารี

พยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ หรือ "อากู๋" ของคนในแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปัจจุบันไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท นอร์ทปาร์คซิตี้ จำกัด ซวง ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการในบริษัทสยามรีเทลรับผิดชอบโครงการแฟชั่นไอแลนด์ ธงชัย ไปรับผิดชอบบริษัทสยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรม เฉลิม เพื่อรร่วมรุ่นที่วิศวะจุฬารุ่นเดียวกับธงชัยจะดูแลโครงการของบริษัทสยามธานีคือบ้านสวนธนฯ จุมพล เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ ส่วนกัณทิมาจากที่เคยมีหน้าที่ดูแลงานทางด้านการเงินและบัญชีของแลนด์ฯ ก็ไปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป ของโครงการเซ็นเตอร์พอยท์ เพชรบุรี และสุขุมวิท

"เขามองว่าพี่เป็นผู้หญิง เลยให้เข้ามารับงานที่ต้องดูแลรายละเอียดจุกจิกด้านการบริการ ทั้ง ๆ ที่พี่ว่าตัวเองไม่ค่อยเป็นผู้หญิงเท่าไหร่ เพราะทำงานมากับผู้ชายตลอด" กัณทิมา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ในวัย 35-40 ปี ที่เด่น ๆ มีประมาณ 4 คน เรียกได้ว่าขณะนี้กำลังซอยเท้าเตรียมสตาร์ทไปรับผิดชอบในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเก่าคนแรกคือ นพร สุนทรจิตต์เจริญ ซึ่งวันนี้อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ดูแลทางด้านโครงการ การก่อสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนอดิศร ธนนันท์นราพูล เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอีกคนหนึ่งของแลนด์ฯ ซึ่งเข้ามารับผิดชอบบริหารงานทางด้านการเงินและบัญชี แทนรุ่นพี่คือกันทิมา คนที่ 3 คือวาทีรัตน์ ชินวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ คนที่ 4 คืน ประวิทย์ โชติวัฒนา กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัทสยามธานี และสุดท้ายในรุ่นนี้คือ ขจรศักดิ์ สมประเสริฐสุข ผู้มีอายุน้อยที่สุดในรุ่น แต่เข้ามาทำงานครั้งแรกในฝ่ายนโยบายและวางแผนในบริษัท ตั้งแต่ประมาณปี 2523 และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยวางแผนทางด้านการตลาดของแลนด์ในยุคแรก ๆ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัทสยามพาณิชย์พัฒนา

ส่วนรุ่นที่ 3 ที่กำลังเป็นดาวจรัสแสงอยู่ในวันนี้คนแรกก็คือ วิษณุ สุชาติล้ำพงษ์ ซึ่งขณะนี้ดูแลทางด้านรับสร้างบ้าน และโครงการทาวเฮ้าส์ของบริษัทควอลิตี้ คนที่ 2 คือสุนันท์ ไชยสายัณห์ เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านการขายพื้นที่ของโครงการแฟชั่นไอส์แลนด์ และกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ผู้จัดการฝ่ายโครงการของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่กำลังดูแลโครงการที่สีวลีรังสิต ลดาวัลย์ลากูน และปาริชาติ

สำหรับตัวอนันต์เองนั้น เปรียบเสมือนเป็นเบ้าหลอมของพนักงานระดับกรรมการเกือบทุกคนโดยมีลักษณะของรูปแบบการทำงานที่คล้ายคลึงกันคือง่าย ๆ สบาย ๆ ระดับกรรมการหรือหัวหน้าฝ่ายจะไม่มีห้องส่วนตัว มีเพียงบังตาที่กั้นไว้เป็นห้องที่พนักงานคนใดจะเข้าออกปรึกษางานได้ตลอดเวลา หรือถ้ามีห้องอย่างอนันต์นั้น ก็จะไม่มีการปิดประตู และเลขาส่วนตัวก็ไม่มี ตัวอนันต์เองจะใช้เลขาร่วมกันกับ นพร และอดิศร ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

อนันต์เล่าให้ฟังว่า

"ผมเคยเสนอให้คน ๆ หนึ่งซึ่งมีความสามารถมาจากบริษัทอื่นมาร่วมงานกับเรา แต่ผมก็กลัวว่าเขาจะเข้ากับวัฒนธรรมของคนของแลนด์ฯ ไม่ได้ เลยบอกไปก่อนว่าผู้บริหารระดับกรรมการของแลนด์ฯ จะไม่มีห้อง ไม่มีรถ หรือเลขาประจำตำแหน่งนะคุณจะร่วมงานกับเราหรือเปล่า คุณจะเอาก็ได้นะ แต่คนอื่นเขาไม่มีกัน"

แม้กระทั่งทางด้านที่อยู่อาศัย ตลอดเวลาที่ผ่านมาอนันต์ ไม่ได้มีบ้านสวย ๆ หนึ่งในโครงการแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เลยสักหลังเดียว แต่เขากับครอบครัวกลับอาศัยอยู่กับมารดาที่ชั้นบนของร้านขายผ้าสีวลี ย่านสะพานหัน และเพิ่งย้ายไปพักที่หมู่บ้านสินเก้า ศรีนครินทร์ เมื่อไม่กี่เดือนนี้เอง

และรูปแบบเหล่านี้ได้ติดตัวไปยังคนของแลนด์ฯ เกือบทุกคนที่ไปนั่งรับผิดชอบในบริษัทร่วมทุน ๆ อื่น ๆ ด้วย

เมื่อ "ปีทอง" ของผู้ประกอบการทางด้านที่อยู่อาศัยสิ้นสุดลงหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียประมาณปี 2534-2536 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแข่งขันช่วงชิงลูกค้าในสนามเรียลเอสเตทได้ถูกบันทึกไว้อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้รุนแรงและหนักหน่วงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยบางประเภทเริ่มล้นตลาด อันเนื่องมาจากการเทขายของนักเก็งกำไรที่ซื้อเก็บไว้ เมื่อช่วงยุคที่บูมมาก ๆ รวมกับโครงการใหม่ที่ยังผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ระยะนี้เป็นช่วงเวลาทองของผู้ซื้อที่จะเลือกหาซื้อสินค้าในตลาดที่มีอย่างมากมาย ส่วนผู้ประกอบการเองก็ต้องพลิกเกมการตลาดใหม่ ๆ ออกมาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลานั้นนอกจากบริษัทพัฒนาที่ดินเจ้าถิ่นอย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กฤษดานคร สมประสงค์หรือมั่นคงเคหะการแล้วก็ยังเกิดบริษัทยักษ์ใหญ่ขึ้นมาอีกหลายบริษัท เช่นบางกอกแลนด์ ธนายงและเฟริสท์แปซิฟิคแลนด์

โดยเฉพาะบางกอกแลนด์ภายใต้การนำของอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้มีสไตล์การทำงานที่รุนแรงและยิ่งใหญ่นั้นได้เปิดฉากสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา โดยไม่หวั่นเกรงภาวะตลาดแต่อย่างใด ส่วนธนายงนั้นแม้จะมีจุดเริ่มจากโครงการพัฒนาที่ดิน แต่ได้ขยายฐานรุกคืบไปยังระบบสาธารณูปโภคอื่นรองรับอีกด้วย ในขณะที่เฟริท์แปซิฟิคแลนด์ใช้แผนเทคโอเวอร์โครงการที่มีปัญหา

จุดได้เปรียบของบริษัทเหล่านั้นก็คือการที่มีฐานการเงินที่ดี มีบริษัทแม่จากต่างประเทศคอยช่วยเหลือทางด้านการเงิน และมีมุมมองที่กว้างไกลในการสรรหารูปแบบใหม่ ๆ ของที่อยู่อาศัยมานำเสนอกับลูกค้า รวมทั้งดึงเทคโนโลยีการก่อสร้างเข้ามาช่วยร่นเวลาในการก่อสร้างด้วย

อนันต์ก็ได้เตรียมเปิดฉากสู้รบด้วยการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2532 และพยายามหาวิธีการลดต้นทุนการก่อสร้างเพื่อแข่งขันทางด้านราคาให้ได้ เช่นการเข้าไปร่วมกับทางบริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่นเพื่อนำระบบฟรีแฟบมาใช้ รวมทั้งการไปร่วมทุนกับกลุ่มอื่น ๆ ขยายพันธมิตรกับกลุ่มอื่นมากขึ้นในปี 2531-2536 นั้นได้มีการขยายบริษัทเครือข่ายเป็นบริษัทลูก และบริษัทลูกขยายเป็นบริษัทหลาน ไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบเรื่อง "คนเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง")

ทางด้านกลยุทธ์ทางด้านการเงินเป็นที่รู้กันว่ากุนซือที่คอยวางแผนทางด้านการเงินที่สำคัญคนหนึ่งก็คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่นั่งเป็นกรรมการของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ด้วย

จากปี 2526 ถึงปี 2535 แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีการเพิ่มทุนทั้งหมด 13 ครั้งจากเงินทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาทชำระแล้ว 1,500 ล้านบาท การบริหารทางด้านการเงินที่สำคัญคือการออกตราสารทางการเงิน 2 ประเภทคือออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 1,500 ล้านบาทระยะเวลา 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.5% ขายและจดทะเบียนในประเทศยุโรป ขณะเดียวกันก็มีการออกหุ้นกู้ควบวอร์แรนต์จำนวน 2,000 ล้านบาทด้วย จากยุทธวิธีดังกล่าวทำให้ภาวะดอกเบี้ยที่บริษัทต้องแบกรับจะตกอยู่ประมาณ 7-8% ซึ่งนับว่าต่ำมาก ถ้าจะเทียบกับบริษัทพัฒนาที่ดินอื่น ๆ และสัดส่วนหนี้สินต่อทุนมีอัตราเพียง 1 ต่อ 1 เท่านั้น

ในตัวของสินค้าเองอนันต์ได้พยายามปรับปรุงรูปแบบตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดและอำนาจซื้อของคนที่ลดลงเช่นกัน โดยมีนโยบายที่จะจัดสรรที่ดินเปล่าขายมากขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มคนที่มีเงินไม่พอที่จะซื้อบ้านพร้อมที่ดิน มาซื้อที่ดินเก็บไว้อย่างเดียวก่อน ค่อยสร้างบ้านทีหลัง โดยเริ่มที่บ้านชลลดา รามอินทรา และมัณฑนา-ศรีนครินทร์ พอต้นปี 2535 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ก็เพิ่มความสำคัญของแบบบ้านยิ่งขึ้น จากที่เคยมีให้เลือกประมาณ 20-30 แบบ ก็ปรับปรุงแบบให้มีลูกเล่นที่สวยงามทันสมัยและเน้นในแง่ของภูมิสถาปัตย์มากขึ้น โดยดึงเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่อาศัย ในบรรยากาศของสวนกลางบ้านโดยเริ่มที่โครงการนันทวันปิ่นเกล้า

พร้อม ๆ กันนั้นก็เริ่มบุกตลาดทาวเฮ้าส์จับกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลาง ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2535 โครงการบ้านปาริชาติของแลนด์ฯ บนถนนสาย 345 ปทุมธานีสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์เกือบ 1,000 หน่วยราคาตั้งแต่ 8.8 แสนบาทขึ้นไป หลังจากนั้นก็มาสร้างทาวเฮ้าส์โครงการบุศรินทร์-บางบัวทอง ราคา 1-7 ล้านบาท และบุศรินทร์-รังสิตราคา 8.5 แสน-1.8 ล้านบาท ส่วนในปี 2536 มีแผนที่จะสร้างทาวเฮ้าส์ในระดับราคานี้ต่ออีกประมาณ 4 โครงการ

ที่ผ่านมาอนันต์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ของการลด แลก แจก แถม หรือยืดเงินดาวน์ อย่างเช่น กลุ่มอื่น ๆ กระทำกัน ระดับเงินดาวน์ของบริษัทยังอยู่ระหว่าง 30%-40% โดยตลอด แต่เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2536 ก็ได้เอามาใช้บ้างเหมือนกันที่โครงการหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา โดยลดราคาที่ดินจากตารางวาละ 29,000 บาทเหลือเพียง 26,500 บาทเท่านั้น โดยในโครงการนี้จะมีการแถมเครื่องปรับอากาศให้ด้วย

และในเดือนมิถุนายน 2536 บ้านบุศรินทร์ที่ปิ่นเกล้าในช่วงระยะแรกนั้นเริ่มขายที่ 889,000 บาทหลังจากนั้นจะปรับสูงขึ้นเป็น 9 แสนบาท

ทั้งกลยุทธ์ทางด้านราคาที่ลดลง รูปแบบบ้านที่สวยงามจูงใจผู้ซื้อ และโลเกชั่นที่ดี การหว่านงบโฆษณาที่มากขึ้นจากเดิมเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของการขายเพิ่มเป็น 2-3% นั้น ส่งผลให้ภาวะการช่วงชิงตลาดอย่างหนักหนาสาหัสสากรรจ์นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพราะในปี 2535ได้เปิดขายถึง 16 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2534 อีก 4 โครงการ รายได้จากการขายในปี 2534 ประมาณ 2,441 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2535 คือ 4,054 ล้านบาท แต่กว่าจะทำยอดขายได้ตัวเลขนี้อนันต์ก็ยอมรับว่าทีมงานเหนื่อยมากเป็นพิเศษเช่นกัน

นอกจากการพัฒนาตัวสินค้าสิ่งหนึ่งที่ทำให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ยังคงความยิ่งใหญ่อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ก็คือ การบริการและการจัดระเบียบชุมชนหลังการขาย ข่าวคราวของหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งที่ถูกเจ้าลูกบ้านลุกฮือขึ้นมาถือป้ายประท้วง ไม่ว่าโครงการเล็กโครงการใหญ่สร้างความหวาดเสียวให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เหมือนกัน ผู้บริหารคนหนึ่งเล่าให้ผู้จัดการฟังว่า

"หลังการเกิดม็อบเศรษฐีในหมู่บ้านหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระดับผู้บริหารงานโครงการของบริษัทได้เชิญอาจารย์ท่านหนึ่งจากคณะพาณิชย์ศาสตร์การบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิเคราะห์ให้ฟังว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับแลนด์แอนด์เฮ้าส์อย่างไร"

ซึ่งข้อสรุปที่ได้ก็คือขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างเจ้าของโครงการกับลูกบ้านและความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอนันต์ให้ความสำคัญพิเศษในเรื่องนี้ โดยจะมีฝ่ายพัฒนาโครงการแยกออกมาต่างหากจากเดิมที่เคยฝากงานไว้กับผู้จัดการโครงการที่ประจำแต่ละไซท์งาน ทุกโครงการเมื่อสร้างเสร็จ จะมีการวางระบบค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นรวมทั้งจัดหาคณะกรรมการหมู่บ้านให้ โดยมีคนของบริษัทเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการในระยะแรกก่อนทุกครั้ง และทุกวันนี้ผู้ซื้อโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะต้องซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับสถาบันการเงินเป็นวงเงินประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป โดยทางกรรมการหมู่บ้านจะเป็นคนได้รับอัตราดอกเบี้ยมาเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางและเมื่อครบ 5 ปีแล้วเงินต้นก็จะถูกถอนมาคืนลูกค้า หลังจากนั้นอาจจะมีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเป็นรายปี หรือขึ้นกับคณะกรรมการหมู่บ้านว่าจะจัดการต่อไปอย่างไรวิธีการนี้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ได้นำมาใช้แล้วประมาณ 3 ปีและคาดว่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการเรียกเก็บเงินรายปีอย่างที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

ในขณะเดียวกันก็จะมี "วารสารชายคา" ราย 2 เดือนออกมาเป็นสื่อให้กับลูกบ้านทั่วไป และมีสารชื่อ "ข่าวแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" ส่งให้ลูกค้าที่อยู่ในระหว่างจองบ้านด้วยเพื่อให้ทราบความคืบหน้าในแต่ละช่วงเวลาด้วย

วิธีการดังกล่าวต่าง ๆ เหล่านี้ถูกวางไว้อย่างมีระบบและปฏิบัติต่อเนื่องมานานแล้วหลายปี

วันนี้ บริษัทกำลังดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 19 โครงการพร้อม ๆ กัน มีผู้รับเหมาประจำประมาณ 50-60 ราย แบ่งการควบคุมการก่อสร้างออกเป็น 7 กลุ่มมีผู้จัดการคุมงาน 7 คน แต่ละกลุ่มจะมีคนประมาณ 30-40 คน ดูแลงานประมาณ 2-3 โครงการ ลักษณะของโครงการสร้างการบริหารในแต่ละกลุ่มเหมือนบริษัทย่อย 7 บริษัท การทำงานจะแยกเป็นอิสระออกจากกัน โดยจะมีหน่วยงานกลางเป็นกำหนดราคากลางไว้ให้ และแต่ละกลุ่มต้องแข่งกันทำยอดขายด้วย

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์มีแผนการที่จะขยายไซท์งานเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ๆ ละประมาณ 4-5 ไซท์งาน การบริหารงานก่อสร้างพร้อม ๆ กันจำนวนมากเหล่านี้อนันต์บอกว่าเป็นศิลปอย่างหนึ่งเพราะต้องให้โครงการดำเนินไปได้ไม่ติดขัด เสร็จทันตามเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งต้องจัดระบบแคสโฟว์ให้พอดีด้วย

ความจำเป็นที่ต้องเร่งขยายงานตลอดเวลานั้นเป็นเพราะว่า หากมองลึกลงไปยังส่วนแบ่งตลาดจริงๆ ที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ครอบครองอยู่นั้นนับว่าน้อยมาก บ้านเดี่ยวที่มีการผลิตทั้งตลาดปีละประมาณ 3-4 หมื่นหน่วยนั้น บริษัทสามารถมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% เท่านั้น ส่วนทาวเฮ้าส์เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 หมื่นหน่วยต่อปี เพิ่งมีส่วนแบ่งตลาดไปเพียง 3% ส่วนคอนโดมิเนียมซึ่งมีการสร้างปีละประมาณ 3 หมื่นหน่วยนั้น แลนด์แอนด์เฮ้าส์เพิ่งเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1% เท่านั้น

"สิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์คือ ความหวังของการที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 8% ของทุกประเภท ซึ่งเรามีโอกาสอีกมากที่จะเข้าไปทำตลาดตรงนั้น แต่ความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็คือ การจะทำให้เพิ่มขึ้น 1% นั้นเหนื่อยมาก แต่เราจะทำให้ได้ภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว" อนันต์กล่าวถึงความฝันของเขาให้ฟัง

แต่นับวันธุรกิจการสร้างบ้านขายนั้นเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นทุกทีเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันสามารถเลียนแบบได้หมด ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่พลิกแพลงแค่ไหน ทั้งเรื่องของราคา แบบบ้าน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่มีมันสมองและจินตนาการกว้างไกลมีสายป่านทางการเงินมั่นคงซึ่งสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ ก็ยังยืนหยัด เป็นคู่แข่งบนถนนสายเรียบเอสเตทอีกหลายราย สิ่งเหล่านี้ยังเป็นคำถามต่อว่าแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จะทำความฝันให้เป็นจริงได้หรือไม่และสามารถโตอย่างมีคุณภาพในระดับแนวหน้าไปอีกนานแค่ไหน ? แน่นอนอนันต์จะต้องคอยเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us