หนุ่มหนวดงาม ร่างใหญ่พูดจาคล่องแคล่ว เป็นผู้บริหารหน้าใหม่ของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์
จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ เมอร์เซเดส เบนซ์ ปรากฏตัวเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
ส่งเสริมการขายและพัฒนาธุรกิจซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่อีกเช่นกันของที่นี่เมื่อปี
2535
เขาชื่อบุญฤทธิ์ เสาวพฤกษ์
บุญฤทธิ์ อาจจะเป็นผู้มาใหม่ในธนบุรีประกอบรถยนต์ตอนนั้น แต่เขาไม่ใช่คนหน้าใหม่ของวงการรถยนต์อย่างแน่นอน
ก่อนหน้าที่จะมาจับเรื่องการตลาดรถเบนซ์บุญฤทธิ์เคยอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของบริษัท
ไทยอัลติเมท คาร์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ผู้ประกอบรถรายใหญ่ของไทยรายหนึ่งมาก่อน
บุญฤทธิ์จบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก ฟลอริด้า สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ สาขาการบริหารและการตลาด
เขาเป็นคนชอบรถยนต์มาตั้งแต่เด็กประกอบกับช่วงอยู่ในอเมริกาตลาดรถยนต์กำลังบูม
พอจบปริญญาโทก็สมัครเข้าทำงานกับบริษัทเชฟโรเล็ต โดยไต่เต้าจากพนักงานขาย
ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย จากนั้นได้ปรับระดับอีกครั้งเป็นผู้จัดการเขต รวมประสบการณ์ในธุรกิจรถยนต์ในอเมริกาเป็นเวลา
8 ปีเต็ม ๆ ก่อนที่จะหันเหเข้าไปสู่ธุรกิจเรียลเอสเตทเมื่อปี 2532 ซึ่งเป็นประสบการณ์สุดท้ายก่อนกลับบ้านเกิด
บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์หรือชื่อที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า เบนซ์ธนฯ เริ่มมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กรครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์นำเข้าเมื่อปี 2534 แล้ว เบนซ์ธนฯ
ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวมาตลอดในการเป็นผู้ครองสิทธิ์นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อดาวสามแฉกต้องเกิดปัญหาศึก
2 ด้าน ด้านหนึ่งสู้รบกับตลาดรถยุโรปชั้นสูงด้วยกัน อีกด้านหนึ่งต้องสู้ศึกกับผู้นำเข้ารถเบนซ์รายย่อยที่สั่งรถจากดีลเลอร์เบนซ์ในต่างประเทศเข้ามาขายแข่ง
ผู้นำเข้ารายย่อยเหล่านี้มีศัพท์เรียกกันว่า "เกรย์ มาร์เก็ต"
ซึ่งเกิดขึ้นนับ 10 ราย อาทิ เบนซ์ศรีนครินทร์ เบนซ์พระราม 9 ทีวีอาร์กรุ๊ป
และรอยัลเบนซ์ โซไซตี้ เป็นต้น
เกรย์ มาร์เก็ตนี้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเบนซ์ธนฯ ไปไม่น้อย จนเบนซ์ธนบุรีไม่อาจอยู่เฉย
ๆ ได้อีกต่อไป เพราะตลาดได้เปลี่ยนไปแล้วจากตลาดผูกขาดที่ได้รับการคุ้มครองจากกำแพงภาษี
มาเป็นตลาดเสรีที่คู่แข่งทุกรายมีสินค้าในมือเหมือนกันหมดคือรถเบนซ์
เบนซ์ธนบุรีจึงต้องปรับตัวสู้กับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปด้วยการนำเอาบุญฤทธิ์เข้ามาบริหารงานด้านการตลาด
จากเดิมที่ผู้ดูแลในด้านนี้โดยตรงคือไพชยนต์ เบญจฤทธิ์ กรรมการรองผู้จัดการด้านการตลาด
วิธีการทำตลาดโดยโฆษณาสร้างภาพพจน์ของเบนซ์เพียงอย่างเดียวที่เบนซ์ธนฯ
ทำมาตลอด เป็นกลยุทธ์ที่ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะยิ่งโฆษณามากเท่าไร
ผู้นำเข้ารายอื่น ๆ ก็ได้รับประโยชน์ไปในตัวด้วย กลยุทธ์การตลาดในเชิงรุกจึงถูกงัดขึ้นมาใช้โดยมีเป้าหมายว่าถ้าจะซื้อเบนซ์ก็ต้องเป็นเบนซ์ธนบุรี
เบนซ์ 190 E เป็นตัวพิสูจน์ความสามารถและเปิดบทบาทของบุญฤทธิ์เป็นครั้งแรกจากเป้าหมายยอดขาย
1,500 คันต่อเดือน เขาและทีมงานสามารถระบายได้ถึง 5,000 คันภายใน 7 วันเท่านั้น
ด้วยเงื่อนไขจูงใจสำหรับลูกค้า คือวางมัดจำ 50,000 บาท ดาวน์ 300,000 บาท
และผ่อนเดือนละ 23,500 บาท แถมประกันชั้น 1 เป็นเวลา 5 ปี
หลังจากนั้นไม่นาน รถยนต์ค่ายยุโรปทุกยี่ห้อในไทยก็ต้องหยิบยืมกลยุทธ์นี้มาใช้บ้าง
การพาลูกค้าที่จองรถเบนซ์รุ่นเอส คลาสราคาประมาณ 5 ล้านบาทไปรับรถถึงหน้าโรงงานในเยอรมัน
เป็นอีกกลยุทธหนึ่งที่บุญฤทธิ์งัดขึ้นมาใช้เพื่อเน้นให้ผู้ซื้อเห็นว่า ซื้อเบนซ์กับเบนซ์ธนบุรีแล้ว
ต่างจากซื้อกับผู้นำเข้ารายอื่น ๆ อย่างไร
การนำเข้ารถเบนซ์ ซีคลาสพร้อมกับการจัดงานเปิดตัวอย่างโอฬารเมื่อเร็ว ๆ
นี้ ของเบนซ์ธนบุรี ก็คือกลยุทธ์ล่าสุดที่กระจายสินค้าลงคลุมตลาดรถรุ่นเล็ก
สำหรับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการขยายตลาดผู้ใช้ให้กว้างออกไป
เบนซ์ธนบุรี ในยุคที่บุญฤทธิ์เข้ามาคุมงานด้านการตลาดจึงปราดเปรียว เคลื่อนที่รุกและรับอย่างคล่องตัว
ฉับไวซึ่งเป็นหนทางสำหรับการอยู่รอดในตลาดเสรี
อย่างไรก็ตามรถรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นเอส คลาสหรือซีคลาส ก็ตามยังต้องตามแก้ไขในความสับสนเรื่องราคาระหว่างผู้ซื้อเกรย์
มาร์เก็ต และเบนซ์ธนฯ ต่อไป เขาจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อีกไม่นานยอดขายของเบนซ์ธนบุรีจะเป็นเครื่องพิสูจน์