"ผมไม่ใช่คนเก่ง เพียงแต่มีประสบการณ์มากกว่าคนอื่นเท่านั้น"
จิรศักดิ์ เจตจรัสกุล ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบบัตรเครดิต ธนาคารซิตี้แบงก์และบริษัทไดเนอร์คลับ
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า งานด้านป้องกันการทุจริตบัตรเครดิตที่เขารับผิดชอบอยู่นั้นเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ
เพราะต้องใช้เวลานาน อีกทั้งไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ทำเลย
จิรศักดิ์ เจตจรัสกุล อายุ 39 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิทยาการจัดการ
จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำหรับการศึกษาระดับประถมและมัธยมนั้นเขาเรียนที่โรงเรียนภารตะ ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานของชาวอินเดีย
แถว ๆ เสาชิงช้า
"แม่ผมเห็นว่ามันใกล้บ้านจึงให้เรียนที่ภารตะตั้งแต่เล็กจน ม.ศ. 5
เลย แต่พวกแขกนั้นพูดภาษาไทยไม่ได้ต้องใช้ภาษาอังกฤษพูดกัน ซึ่งทำให้ผมได้ภาษาโดยไม่รู้ตัว"
จิรศักดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในปี 2517 จิรศักดิ์ เริ่มทำงานครั้งแรกที่ ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่
ถนนสีลมในฝ่ายแลกเปลี่ยนเงินตราหลังจากนั้นประมาณ 2 ปี เขาจึงย้ายไปอยู่ที่ส่วนบัตรเครดิต
ซึ่งเป็นส่วนงานเล็ก ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่มีพนักงานเพียง 4-5 คน ขณะนั้นมีบัตรเครดิตต่างประเทศที่เข้ามาในไทยมีเพียงบัตรไดเนอร์สเพียงบัตรเดียวเท่านั้นส่วนบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทยนั้น
เกิดขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นบัตรเครดิตในประเทศยี่ห้อแรกของไทย
เขาไต่เต้าจากพนักงานธรรมดา จนกระทั่งเป็นหัวหน้าส่วน ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ตั้งแต่การออกบัตร จนกระทั่งการหักบัญชีร้านค้าต่อมาในปี 2522 แบงก์กสิกรไทยได้รับเลือกเป็นตัวแทนหลักของวีซ่าอินเตอร์เนชั่นแนลและบริษัทมาสเตอร์การ์ด
ในการออกวีซ่าการ์ด และมาสเตอร์การ์ดในประเทศไทย จึงได้มีการตั้งส่วนบัตรเครดิตต่างประเทศแยกตัวออกมาต่างหากจากส่วนบัตรเครดิตในประเทศ
เพื่อบริหารงานด้านวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดโดยเฉพาะ จิรศักดิ์จึงได้โอนย้ายมาเป็นหัวหน้าส่วนงานใหม่นี้
หลังจากนั้นก็ได้มีการรวมส่วนบัตรเครดิตในประเทศและต่างประเทศเข้าด้วยกันโดยยกฐานะขึ้นเป็นฝ่ายบริการธนาคาร
จิรศักดิ์อยู่ในฐานะหัวหน้าส่วนการตลาด ซึ่งต่อมาทางกสิกรไทยได้ปรับโครงสร้างงานในส่วนนี้ใหม่อีกครั้ง
โดยแยกแผนกที่ดูแลงานด้านบริการร้านค้าซึ่งมีขอบเขตงานใหญ่มาก ขึ้นเป็นส่วนบริการร้านค้า
และโยกจิรศักดิ์มาเป็นหัวหน้าส่วนนี้
ภาระหน้าที่ของส่วนงานนี้ก็คือการประสานงาน ให้บริการกับร้านค้าที่เป็นสถานที่รับบัตรเครดิตทุกชนิดที่ออกโดยธนาคาร
และที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบการทุจริตการใช้บัตรเครดิตทั้งจากร้านค้าและจากผู้ใช้บัตร
"ผมไม่เคยยึดบัตรคนไหนพลาดสักราย….ผมดูรายเซ็นปุบ ผมรู้เลยว่าเป็นบัตรปลอม"
คำพูดของจิระศักดิ์แสดงถึงความมั่นใจในประสบการณ์ตัวเอง
15 ปีที่เขาคลุกอยู่กับธุรกิจบัตรเครดิต นับตั้งแต่ธุรกิจนี้เริ่มตั้งไข่
จนขยายตัวออกไปอย่างแพร่หลาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย
เป็นหลักประกันของความ "เก๋า" ได้เป็นอย่างดี
ปี 2533 เขาย้ายไปทำงานกับซิตี้แบงก์ เป็นการเปลี่ยนงานครั้งแรกในชีวิต
เป็นการเปลี่ยนงานครั้งแรกในชีวิต แต่ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องบัตรเครดิตอยู่
"ทำงานที่กสิกรไทย วันหนึ่งหลับตา ผมรู้แล้วว่าต้องทำอะไร แต่พอผมรู้จักใครมากขึ้น
มีการแชร์ข้อมูลกันก็รู้สึกว่าโลกนี้มันกว้าง มีอะไรที่ท้าทายอีกมาก"
จิรศักดิ์อ้างถึงเหตุผลที่ออกมาอยู่ที่ซิตี้แบงก์ อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าผลตอบแทนในรูปของเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนไม่น้อยในการตัดสินใจดังกล่าว
มูลค่าความเสียหายจากการทุจริตบัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะบัตรวีซ่าและมาสเตอร์
ในช่วงปี 2534-2535 มีจำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 350 ล้านบาท เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แบงก์พาณิชย์หันมาให้ความสนใจหาทางป้องกันมากขึ้นบุคคลที่มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวจริง
ๆ ยังมีน้อยมากเรื่องของการซื้อตัวคนที่มีประสบการณ์ล้นเหลือจึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
การทุจริตในเรื่องบัตรเครดิตในยุคแรก ๆ นั้น เป็นการเกิดขึ้นจากทางฝ่ายร้านค้าโดยเจ้าของร้านที่คิดไม่ซื่อจะจำเบอร์บัตร
ชื่อ วันหมดอายุ และลายเซ็นต์ของผู้ถือบัตรที่มาซื้อของหรือใช้บริการ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปปั๊มเป็นตัวนูนบนแผ่นพลาสติค
ที่มีขนาดเท่าบัตรเครดิต หลังจากนั้นก็จะนำไปรูดกับสลิบ เซ็นชื่อแล้วส่งไปเก็บเงินกับธนาคารทางธนาคารจะรู้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรียกเก็บเงินไปยังผู้ถือบัตร
แล้วมีการปฏิเสธว่าไม่มีการใช้จ่ายตามรายการที่เรียกเก็บ ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจสอบและสาวไปถึงร้านค้าต้นตอในที่สุด
ส่วนใหญ่แล้ว การทุจริตในลักษณะนี้มักจะลงเอยด้วยการที่เจ้าของร้านยอมจ่ายเงินคืนให้
หรือไม่ก็ปิดร้านหลบหนีไปเลย
แต่การโกงบัตรเครดิตในปัจจุบัน จะเกิดจากผู้ถือบัตรปลอมที่ทำขึ้นมาเอง
หรือบัตรที่ขโมยมา ความยากนั้นอยู่ที่การสาวให้ถึงต้นตอซึ่งไม่มีตัวตนหรือหลักฐานชั้นต้นที่ชัดเจนว่าเป็นใคร
ไม่เหมือนร้านค้าที่ต้องมีที่อยู่ แสดงหลักฐานการค้าต่อธนาคารก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้เป็นสถานที่รับบัตรเมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นก็สามารถระบุต้นตอที่ชัดเจนได้เลย
"สมัยก่อนมันลูกทุ่ง ๆ นะพอเราจับได้ว่าร้านไหนโกงเราก็แจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้
แต่ปัจจุบันมันซับซ้อนมากขึ้นบางครั้งเราอาจไม่มีโอกาสคุยกับคนที่ทุจริตโดยตรงด้วยซ้ำไป….เราไม่มีทางตามทันเพราะ
มันจะมีช่องโหว่ที่พวกนี้คอยใช้เป็นช่องทางได้เรื่อย ๆ" จิรศักดิ์กล่าว
นอกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบบัตรเครดิตธนาคารซิตี้แบงก์ และบริษัทไดเนอร์คลับในปัจจุบันแล้วจิรศักดิ์ยังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคณะทำงานโครงการป้องกันปราบปรามการทุจริต
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตจัดทำขึ้น
สิ่งที่เขาภูมิใจมากที่สุดขณะนี้ หาใช่เป็นการจับการทุจริตในบัตรเครดิตไม่
"มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ผมเจอมานักต่อนักแล้ว การมีคนให้ความสนใจเข้ารับการอบรมเกินกว่าที่คาดไว้ในแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจ
ไม่น้อยไปกว่าความสามารถลดความสูญเสียได้ต่ำกว่าที่แบงก์ไว้ประมาณไว้ในช่วงเวลา
3 ปีที่อยู่ที่นี่" จิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ"