หลังจากถือกำเนิดขึ้น และผ่านการพัฒนามา 20 ปี ไมโครโปรเซสเซอร์ หรือ "คอมพิวเตอร์บนแผ่นชิพ"
ซึ่งเป็นแผ่นซิลิคอนขนาดพอๆ กับเล็บหัวแม่มือ ก็กำลังก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหม่ในวงการคอมพิวเตอร์
เพราะบัดนี้มันทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) มีกำลังทำงานพอๆ
กับเครื่องใหญ่ขนาดเมนเฟรมแล้ว
ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ มันเป็นตัวการให้ผู้คนนับแสนๆ ต้องตกงาน ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทดังระดับโลกคนแล้วคนเล่าต้องหลุดจากตำแหน่ง
และพลิกผันมูลค่าหุ้นคิดเป็นเงินนับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์
กว่าจะสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ คาดกันว่ายังจะส่งแรงสั่นคลอนทำให้ทั้งบริษัทคอมพิวเตอร์และบริษัทลูกค้าอัปปางไปอีกไม่ต่ำกว่า
50,000 แห่ง
แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างไอบีเอ็ม ดิจิตอล อีควิปเมนต์
หรือ คอมแพคคอมพิวเตอร์ ล้วนแล้วแต่อยู่ในอาการเซซวด ทางแอปเปิล คอมพิวเตอร์
ประธาน จอห์น สกัลลีย์ อาจจะปากแข็งปฏิเสธว่าไม่ได้รู้สึกถูกคุกคาม แต่เขาก็ยอมรับว่า
ตอนที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของไอบีเอ็ม เชื้อเชิญเขาไปเจรจาด้วยเมื่อต้นปีนี้ในฐานะตัวเก็งคนหนึ่งนั้น
เขาได้เสนอว่า เพื่อให้บริษัทคู่แข่งคู่อาฆาตทั้งสองต่างเข้มแข็งด้วยกัน
แอปเปิลควรรวมตัวกับ "ส่วนที่ดีที่สุด" ของไอบีเอ็ม ทว่าแนวความคิดนี้ไม่ก่อให้เกิดผลอะไรออกมา
สำหรับผู้บริหารที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่าเพิ่งเบาใจ บิลล์
เกตส์ อดีตนักศึกษาเรียนไม่จบของฮาร์วาร์ดซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในวัย
37 เพราะสามารถกุมส่วนแบ่งตลาดซอฟท์แวร์ของพีซีเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
เตือนเอาไว้ว่า "ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้าธุรกิจของคุณมีอะไรต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารล่ะก้อ
คุณก็กำลังตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง" ถ้าราชาแห่งวงการคอมพิวเตอร์ยุคนี้อย่างเกตส์พูดถูกต้อง
ก็หมายถึงใครแทบจะทุกคนนั่นเอง เตรียมตัวให้พร้อมไว้ดีกว่าสำหรับการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงขึ้นกว่าเก่าชนิดที่คุณไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลย
พัฒนาการไม่รู้จบ
เพียงไม่นานมานี้เอง ข้อมูลข่าวสารที่ผู้บริหารของบริษัทจำเป็นต้องได้มาเพื่อการตัดสินใจมักจะอยู่ข้างในห้องกระจกที่ปิดตาย
นั่นคือในห้องที่ตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเมนเฟรมมหึมาเต็มห้องและมีแค่โปรแกรมเมอร์อาชีพเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้
ในทุกวันนี้ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ราคาถูกอย่างเช่น เครื่องพีซี โปรแกรมสเปรดชีต
ซอฟท์แวร์ "วินโดส์" ที่ค่อนข้างใช้ง่ายของไมโครซอฟท์ ซอฟท์แวร์
"อี-เมล" ตลอดจนคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะที่รวมกลุ่มต่อเชื่อมกันเป็นระบบเครือข่ายที่เรียกว่า
"แลน" นำข้อมูลข่าวสารแบบนี้ในปริมาณมหาศาลไปสู่บุคคลระดับต่างๆ
ที่ต้องการใช้ สภาพเช่นนี้ทำให้บริษัทใหญ่สามารถจัดองค์การที่มีระดับชั้นบังคับบัญชาลดน้อยลง
จัดให้พนักงานจากแผนกระดับชั้น กระทั่งอยู่ในภูมิภาคหรือประเทศที่แตกต่างกัน
มาร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกันได้ อีกทั้งสามารถยึดกุมความสัมพันธ์อันทรงความหมายทางยุทธศาสตร์
นั่นคือการติดต่อเชื่อมโยงกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าปีละ 360,000 ล้านดอลลาร์ อาจจะยังไม่ใช่ประเภทอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของโลก
โดยตามหลังรถยนต์และน้ำมัน แต่มันได้กลายเป็นอุตสาหกรรมประเภทสำคัญที่สุดไปแล้ว
เมื่อพิจารณาจากแง่พลังอำนาจของมันซึ่งสามารถผันเปลี่ยนวิธีทำงานของผู้คน
อุตสาหกรรมประเภทนี้อาจแบ่งเป็นธุรกิจย่อยที่เกี่ยวเนื่องกันได้หลายธุรกิจ
ได้แก่ ซอฟท์แวร์ ชิพเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประกอบรอบข้างอย่างเช่น พรินเตอร์
และดิสก์ไดรฟ์ ฮาร์ดแวร์ตั้งแต่เครื่องตั้งโต๊ะราคา 1,000 ดอลลาร์ ไปจนถึงขนาดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ราคา
30 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งบริการต่างๆ โดยเฉพาะบริการรวมระบบ ซึ่งคืองานทำให้ผลิตภัณฑ์สลับซับซ้อนเหล่านี้สามารถทำงานเข้าด้วยกันได้
ธุรกิจคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ในมือของพวกบริษัทเริ่มตั้งใหม่แถบหุบเขาซิลิคอน
แวลลีย์ อีกต่อไป เห็นได้จากการที่มีบริษัทที่ทำยอดขายได้เกินกว่า 1,000
ล้านดอลลาร์ต่อปี 55 แห่ง เป็นผู้ทำรายรับราวสองในสามของทั้งอุตสาหกรรม อันที่จริงบริษัทกระจอกงอกง่อยเมื่อสิบกว่าปีก่อนหลายต่อหลายแห่งต่างพัฒนาเติบใหญ่ขึ้นมา
แต่รูปโฉมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดน่าจะได้แก่ ความมั่งคั่งมหาศาลที่ครั้งหนึ่งยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มแทบจะเป็นผู้ยึดครองเอาไว้ตนเดียว
บัดนี้กำลังถ่ายเทไปสู่ยักษ์ใหม่ 2 ตนคือ ไมโครซอฟท์ เจ้ายุทธจักรในวงการซอฟท์แวร์
ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่คิดคำนวณในเครื่องพีซี ความเสื่อมโทรมของไอบีเอ็มกลายเป็นตัวอย่างจริงสาธิตให้เห็นราคาแพงลิ่วที่ต้องจ่าย
ในเมื่อล้มเหลวไม่อาจปรับตัวให้ทันกาล ถึงแม้ยังคงรักษาฐานะผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก
ทั้งเครื่องขนาดเมนเฟรม มินิคอมพิวเตอร์ และพีซี ทว่านับจากปี 1987 เป็นต้นมา
ยักษ์ใหญ่สีฟ้าได้สูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดของตนไปแล้วราวสองในสาม หรือคิดเป็นเงินก็กว่า
70,000 ล้านดอลลาร์ ไอบีเอ็มยังมีโอกาสอันดีเลิศที่จะฟื้นตัวขึ้นใหม่ แต่คงไม่อาจผงาดเด่นระดับเดียวกับในอดีตอีกแล้ว
ขณะที่ไอบีเอ็มกำลังทรุดถอย มูลค่าตามราคาตลาดรวมของไมโครซอฟท์และอินเทลบวกกันแล้วก็เป็นเงินกว่า
35,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว แอนดรูว์ โกรฟ ซีอีโอของอินเทล ซึ่งหลบหนีจากฮังการีมาอยู่อเมริกาในปี
1956 ยอมรับว่า การที่บริษัทของเขาและไมโครซอฟท์โตขึ้นมาได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือกาลเทศะอันเหมาะเหม็ง
กล่าวคือในตอนที่ยักษ์ใหญ่สีฟ้าเริ่มทำเครื่องพีซีในปี 1981 ไอบีเอ็มอาศัยไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทล
ส่วนระบบปฏิบัติการ อันเป็นโปรแกรมซอฟท์แวร์พื้นฐานที่จัดการจราจรระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมซอฟท์แวร์ประยุกต์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็น เวิร์ด โปรเซสเซอร์ หรือ สเปรดชีต นั้น ก็เลือกใช้ "ดอส"
ของไมโครซอฟท์ ครั้นแล้วก็ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ชิพไมโครโปรเซสเซอร์
และซอฟท์แวร์กำลังกลายเป็นชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในคอมพิวเตอร์
ทุกย่างก้าวของไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ และอินเทล ทำเอาบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์พากันปั่นป่วน
ธุรกิจนี้ซึ่งกล่าวได้ว่าเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดและขันแข่งกันอย่างดุเดือดที่สุด
แตกตัวออกเป็นอุตสาหกรรมแขนงย่อยนับสิบ และแต่ละแขนงย่อยล้วนแต่มีหลายบริษัทต้องหลุดจากวงโคจรไป
ยิ่งเมื่อต้องกำหนดราคาของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ อย่างชนิดได้กำไรน้อยกว่าเดิมมาก
ความชำนาญด้านการเงินและการบริหารก็ขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ ไม่ใช่เทคโนโลยีอีกต่อไป
การหักเหครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน
จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1980 ธุรกิจคอมพิวเตอร์ยังครอบงำโดยพวกบริษัทที่ "รวบรวมกิจการในแนวตั้ง"
โดยเฉพาะ ไอบีเอ็ม กับ ดิจิตอล ซึ่งทุกชิ้นส่วนในผลิตภัณฑ์ของตน ไล่ตั้งแต่แผ่นซิลิคอนไปจนถึงซอฟท์แวร์บริษัทจะทำด้วยตัวเอง
เนื่องจากฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ของบริษัทเหล่านี้ ที่มุ่งออกแบบให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของลูกค้านั้น
จะไม่อาจทำงานกับสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอื่น ดังนั้นเหล่าบริษัทที่ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็เท่ากับตกเป็นเชลย
ต้องพึ่งพาซื้อหาสินค้าของบริษัทเดิมอยู่ร่ำไป วิธีปฏิบัติแนวนี้เองทำให้หลายสิบปีมานี้
ผู้ผลิตมีอัตราเติบโตของรายรับเป็นตัวเลขสองหลัก และกำไรเบื้องต้นก็สูงถึงระดับ
70% ของยอดขาย
เมื่อแจ็คพีซีพิชิตยักษ์เมนเฟรม
แต่ในที่สุดไมโครโปรเซสเซอร์ ซึ่งเป็นตัวประมวลผลที่ราคาย่อมเยากว่าเมนเฟรมเสมอมา
เวลานี้ได้พัฒนาปรับปรุงกันจนทำงานได้รวดเร็วทัดเทียมเจ้าเครื่องจักรขนาดใหญ่กว่าแล้ว
ด้วยเหตุดังนั้นมันจึงกลายเป็นเครื่องหมายแสดงความล้าสมัยของเทคโนโลยีซึ่งใช้กันอยู่ในเมนเฟรมและมินิคอมพิวเตอร์รุ่นก่อนๆ
ยิ่งกว่านั้น พวกฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์รุ่นใหม่ๆ ในเวลานี้จะถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทคอมพิวเตอร์อื่นได้ผลก็คือ
ซัพพลายเออร์นับสิบๆ รายสามารถรุกเข้าไปทำสงครามในแต่ละแขนงย่อยของตลาด ตั้งแต่ชิพไปจนถึงซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการ
ดิสก์ไดรฟ์ไปจนถึงโปรแกรมจัดเครือข่าย
เนื่องจากทุกๆ ฝ่ายตั้งแต่ผู้ซื้อเครื่องพีซีไปจนถึงผู้ผลิตเมนเฟรม ต่างมีเสรีเพิ่มขึ้นที่จะเลือกสรรซื้อหาส่วนประกอบที่ต้องการ
ดังนั้นการแข่งขันแม้แต่ในแขนงย่อยๆ ที่สุดของตลาดคอมพิวเตอร์จึงเป็นไปอย่างเลือดพล่าน
จนมีแต่คู่แข่งที่ทนที่สุดและช่างประดิษฐ์สร้างสรรค์ที่สุดเท่านั้นจึงสามารถอยู่รอดได้
การได้กำไรเบื้องต้นในอัตราแค่ 20-30% กำลังกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม
ซึ่งก็เป็นแรงบีบให้บริษัทในธุรกิจนี้ต้องหาทางตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทุกบาททุกสตางค์
ขณะเดียวกัน ปริมาณเครื่องก็เพิ่มสูงขึ้น ในขนาดเมนเฟรม ไอบีเอ็มเป็นผู้ติดตั้งเครื่องขนาดนี้ในทั่วโลก
50,000 เครื่องซึ่งจัดว่ามากหากดูจากราคาที่แต่ละเครื่องสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์
ทว่าเทียบในแง่ปริมาณแล้วก็นิดเดียว เพราะเครื่องพีซีทั้งแบบตั้งโต๊ะและแลปทอปนั้นทั่วโลกขายกันอยู่
135 ล้านเครื่องตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา เครื่องพีซีทำรายรับให้แก่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มากกว่าเมนเฟรมแล้ว
สภาพที่ชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังเริ่มมีมาตรฐานกลาง ทำให้ตัวที่ทำกำไรเปลี่ยนจากฮาร์ดแวร์มาเป็นซอฟท์แวร์และการบริการ
ดังที่ ปีเตอร์ ซาวัวร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ของไอบีเอ็มบอกว่าฮาร์ดแวร์ทำรายรับให้แก่อุตสาหกรรมนี้ในทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วต่ำกว่า
50% เล็กน้อย ทั้งที่เคยทำได้ 65% เมื่อสิบปีก่อน และมีแนวโน้มจะต่ำลงไปเรื่อยๆ
แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทรงค่าที่สุดกลับเป็นพวก ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทล และระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์
ซึ่งอยู่ในฐานะครอบงำตลาดเสียจนบริษัทอื่น จำยอมต้องทำผลิตภัณฑ์ของตนให้ทำงานกับสินค้าของบริษัททั้งสองได้
สถานการณ์การต่อสู้ในแต่ละภาคส่วนหลักๆ ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ พอจะสรุปได้ดังนี้
คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เมื่อพิจารณาจากพลังความสามารถในการทำงานของมันว่าเวลานี้หลายๆ
ด้านไล่ทันเครื่องเมนเฟรมรุ่นของสองสามปีที่แล้วบวกกับการที่มีซอฟท์แวร์ให้ใช้งานจำนวนมหาศาลและมีเครื่องขนาดนี้ถึง
135 ล้านเครื่องทั่วโลก พีซีจึงกำลังกลายเป็นขนาดที่ครองความเป็นเจ้าเหนือคอมพิวเตอร์ขนาดอื่นๆ
ไปแล้ว พีซีแบบซึ่งเป็นที่นิยมกันที่สุด สามารถครองสัดส่วนสามในสี่ของตลาดโลก
คือ เครื่องของไอบีเอ็มและที่ทำงานเข้ากันได้กับของไอบีเอ็ม (IBM-COMPATIBLES)
ซึ่งพึ่งพาชิพไมโครโปรเซสเซอร์ที่ออกแบบโดยอินเทล
การแข่งขันตัดราคากันอย่างรุนแรง ทำให้ผลกำไรจากพีซีลดหายลงมาก และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอันน่าตื่นเต้นขึ้นหลายเรื่อง
ตัวอย่างเช่น ภายในเวลาไม่ถึง 8 เดือนเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 1991 บริษัทคอมแพค
คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหมายเลข 2 ตามหลังไอบีเอ็ม ในตลาดไอบีเอ็ม-คอมแพติเบิล
ได้ปรับปรุงตัวเองโดยตัดค่าใช้จ่ายกว่า 30% และเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจของตัวเองแบบถอนรากถอนโคน
ไอบีเอ็มเองก็ยกเครื่องธุรกิจพีซีของตนอย่างมากมายเช่นกัน จนทำให้รุดหน้าไปพร้อมกับคอมแพค
และ เดลล์ โดยเวลานี้ทั้ง 3 บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดโลกได้แล้วราว 20%
ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องเลียนแบบไอบีเอ็มรายย่อมลงมา เช่น แทนดี กำลังถอยกรูดออกจากวงจรเครื่องพีซี
สำหรับแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ซึ่งผลิตเครื่องพีซีแบบที่ไม่ใช่ไอบีเอ็ม-คอมแพติเบิล
ก็กำลังทำงานหนัก เพื่อขยายตลาดให้ก้าวเลยจากตลาดส่วนย่อยเดิม ที่แม้ทำกำไรเบื้องต้นให้ในอัตราสูงถึง
40% ทว่าทำท่าจะไม่ยืนยาว
เวิร์กสเตชั่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแต่กำลังสูงขนาดนี้ ลูกค้าที่ใช้ส่วนใหญ่คือวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์
โดยมีตลาดคิดเป็นมูลค่าปีละ 9,000 ล้านดอลลาร์ แทนที่จะใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทล
เครื่องเวิร์กสเตชั่นโดยมากใช้ชิพรุ่นใหม่กว่าและมีกำลังสูงกว่าของอินเทล
เรียกว่า ริส์ค (RISC-REDUCED INSTRUCTION SET COMPUTER) ไอบีเอ็ม ดิจิตอล
โมโตโรลา และผู้ผลิตชิพแบบนี้รายอื่นๆ กำลังวางเดิมพันว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิพริส์ค
จะทำให้พวกตนสามารถชิงคืนผลกำไรบางส่วนที่เสียให้แก่อินเทลไป ทว่าถ้าพวกเขาแพ้
เครื่องเวิร์กสเตชั่นก็จะหมดเสน่ห์ดึงดูดใจไปมาก แต่ไม่ว่าผลพนันจะออกมาในทางใด
ธุรกิจเวิร์กสเตชั่นก็กำลังอยู่ในช่วงที่มีการฟาดฟันกันอย่างรุนแรง
มินิคอมพิวเตอร์ ในภาวะที่เครื่องขนาดเวิร์กสเตชั่น พีซี และแลปทอป ต่างปรับปรุงมีกำลังสูงขึ้นมา
มินิคอมพิวเตอร์หรือในทางเป็นจริงก็คือเครื่องเมนเฟรมขนาดเล็ก จึงถูกบีบคั้นให้ต้องต่อสู้แข่งขันด้วยทั้งในด้านความสามารถในการทำงานและราคา
ไอบีเอ็ม และบริษัทที่ได้รับคำชมเชยกว้างขวางอย่างฮิวเลตต์-แพกการ์ด ยังคงรุ่งเรืองอยู่ในแวดวงเครื่องขนาดนี้
แต่บริษัทเช่น แวง, ไพรม์, คอนโทรลดาตา และอีกหลายแห่ง ต้องออกจากธุรกิจหรือไม่ก็ดับสูญไปเลย
ปีที่แล้วเมื่อต้องขาดทุนถึง 2,800 ล้านดอลลาร์ ดิจิตอลก็จัดการไล่ เคนเนธ
โอลเซน ผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีความคิดอิสระและขวานผ่าซาก ผู้ที่มาแทนเขาคือ
โรเบิร์ต พาลเมอร์ ซึ่งเป็นคนที่มีบุคลิกตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เช่น สวมแหวนเพชร
ผมเรียบแปร้และมุ่งมั่นเผชิญหน้าความเป็นจริง เขาตัดค่าใช้จ่ายด้านการผลิตของดิจิตอลไปแล้ว
1,000 ล้านดอลลาร์ และปรับปรุงยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งกะบิเกือบเรียบร้อยแล้ว
โดยประกาศว่า บริษัทจะต้องสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ ด้วยการกระทำจริงๆ
ไม่ใช่แค่พูดทฤษฎี
เมนเฟรม ผู้ผลิตเมนเฟรมหลายแห่งรวมทั้ง แอมเดห์ล กำลังขาดทุน ไอบีเอ็มยังคงครองตลาดเมนเฟรมอยู่
75% แต่ตามประมาณการ นับถึงไตรมาสแรกของปี 1993 ราคาเครื่องขนาดนี้ของยักษ์ใหญ่สีฟ้าลดลงกว่าปีก่อน
30% ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นอย่าง ฟูจิตสึ เอ็นอีซี และฮิตาชิ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่จับจ้องอย่างหวาดผวา
ในตอนนี้ก็ย่ำแย่ด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังมียูนิซิส ซึ่งตีโค้งกลับคืนมาได้อย่างน่าประทับใจ
ส่วนเอ็นซีอาร์ ที่เป็นของเอทีแอนด์ที ในรอบ 2 ปีมานี้กำลังดูแข็งแกร่งที่สุด
เพราะการตัดสินใจก่อนหน้านี้ที่จะทำคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ขนาดเมนเฟรมลงไปโดยอาศัยเทคโนโลยีไมโครโปรเซสเซอร์
ซอฟท์แวร์ สงครามระหว่างระบบปฏิบัติการที่ต่อสู้กันอยู่ จะเป็นตัวตัดสินโฉมหน้าของตลาดนี้ในหลายๆ
ปีต่อนี้ไป ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์คือขยายการเป็นเจ้าเหนือซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการของเครื่องพีซีอยู่แล้ว
ไปยังซอฟท์แวร์ระบบที่เชื่อมต่อทั่วทั้งองค์การธุรกิจ อันจะเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลอันทรงพลังที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของผู้คนในช่วงทศวรรษ
1990 ยิ่งเสียกว่าที่พีซีเคยทำมาในทศวรรษ 1980 เสียอีก อาวุธของไมโครซอฟท์ในศึกครั้งนี้คือ
วินโดส์ เอ็นที ที่พัฒนามาจากซอฟท์แวร์ "วินโดส์" อันโด่งดังและใช้กันกว้างขวาง
ปรปักษ์สำคัญของไมโครซอฟท์ในเรื่องนี้คือโนเวลล์ ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านซอฟท์แวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายที่นำเอาเครื่องพีซีและเวิร์กสเตชั่นหลายเครื่องมาเชื่อมต่อกัน
ระบบปฏิบัติการที่โนเวลล์พึ่งพาอยู่คือ "ยูนิกซ์" ที่คิดค้นกันขึ้นมา
25 ปีแล้ว อันที่จริงเครื่องขนาดเวิร์กสเตชั่นส่วนใหญ่จะใช้ยูนิกซ์กันทั้งนั้น
เพียงแต่ไม่ใช่เวอร์ชั่นเดียวกัน เวลานี้บริษัทซัน, ฮิวเลตต์-แพกการ์ด และผู้ผลิตเวิร์กสเตชั่นรายอื่น
ต่างทำฮาร์ดแวร์ให้ทำงานกับของโนเวลล์ได้
ทางด้านซอฟท์แวร์ประยุกต์ เป็นต้นว่า สเปรดชีต เวิร์ด โปรเซสเซอร์ และดาตาเบส
ซึ่งเป็นแหล่งทำเงินให้แก่อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์สูงที่สุดนั้น ไมโครซอฟท์ ผู้นำตลาดซอฟท์แวร์ของพีซี
อาศัยที่ตัวเองผลิตได้คราวละมากๆ มาเป็นข้อได้เปรียบกดดันให้คู่แข่งต้องลดราคาชนิดบ้าเลือด
นับเป็นตัวอย่างคลาสสิกสำหรับหลักการที่ว่า ผู้มียอดปริมาณสูงที่สุดคือผู้ชนะ
ในส่วนของผู้พ่ายแพ้เจ็บตัวไปก็มี อาทิ โลตัส ดีเวลลอปเมนต์ (ผู้ผลิต 1-2-3
สเปรดชีต) และบอร์แลนด์ (ผู้ผลิต พราราดอกซ์ ดาตาเบส และควอตโตร โปร สเปรดชีต)
ไมโครโปรเซสเซอร์ ภาคส่วนนี้แหละจะเป็นสมรภูมิของยุทธการใหญ่ครั้งที่สอง
เพื่อควบคุมอนาคตแห่งอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อินเทล ซึ่งปีที่แล้วผลิตชิพแบบไอบีเอ็มได้ถึง
32 ล้านชิ้น ดูแข็งแกร่งชนิดไม่มีใครโจมตีได้ แต่นั่นไม่ได้สร้างความหวั่นไหวต่อผู้ที่กำลังตระเตรียมเข้าโจมตี
ซึ่งก็คือบรรดาผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์แบบริส์ค ที่ต้องการขยายตัวให้กว้างออกมาจากตลาดเวิร์กสเตชั่น
ดิจิตอล อีควิปเมนต์ กำลังผลักดันริส์คแบบที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาใช้ชื่อว่าชิพ
"อัลฟา" และในทางเทคโนโลยีได้รับการยอมรับว่า "มาแรง"
ที่เดียวในเรื่องการทำงาน แต่ที่ดูน่ากลัวยิ่งกว่าในเชิงพาณิชย์เห็นจะเป็นชิพ
"พาวเวอร์พีซี" ของ 3 พันธมิตร ไอบีเอ็ม-แอปเปิล และผู้ผลิตชิพ
โมโตโรลา กลุ่มตรีมิตรนี้ได้เปรียบเรื่องอิทธิพลในตลาดและเทคโนโลยีอันมั่นคง
ทว่าการศึกนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิพริส์คทั้งหมด
ทำยอดขายในปีที่แล้วได้เพียง 500,000 เครื่อง ไม่ถึง 2% ของที่ใช้ชิพอินเทล
มองในแง่จำนวนซอฟท์แวร์ที่เขียนขึ้นสำหรับเครื่องที่ใช้ริส์คกับเครื่องที่ใช้ชิพอินเทล
ก็ได้ภาพในทำนองเดียวกัน ด้วยเหตุฉะนี้จึงยากที่จะเชื่อว่า ริส์คจะสามารถไล่ตามอินเทลได้
คอมพิวเตอร์แห่งอนาคต
ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา อนาคตของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เริ่มปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นท่ามกลางเมฆหมอก
คอมพิวเตอร์แห่งวันพรุ่งนี้ผู้ชนะดูจะไม่ใช่ทั้งเครื่องเมนเฟรมหรือพีซี แทนที่ะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองแบบนี้
คอมพิวเตอร์แห่งอนาคตน่าจะอยู่ในรูปที่เราแต่ละคนจะต่อเข้ากับเครือข่ายที่เชื่อมคอมพิวเตอร์ทุกแบบทุกขนาด
ตั้งแต่เมนเฟรมไปแลปทอปจนถึงอุปกรณ์ขนาดกระเป๋าของวันพรุ่งนี้ ระบบเครือข่ายเช่นนี้เรียกกันว่า
"ไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์" (CLIENT-SERVER) เจ้า "เซิร์ฟเวอร์"
ซึ่งอาจเป็นเครื่องพีซีหรือเมนเฟรมก็ตามที จะทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลกลางอันทรงประสิทธิภาพโดยบรรจุอะไรไว้มากมายตั้งแต่แฟ้มต่างๆ
ของบริษัทจนถึง วิดีโอ และข้อความที่ส่งมาเป็นเสียง ส่วนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเราคือ
"ไคลเอนท์" ที่เป็นผู้รับฐานข้อมูลเหล่านี้ หยิบเอาข่าวสารข้อมูลที่เราต้องการออกมา
และช่วยให้เราใช้ข่าวสารข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น
กว่าจะเปลี่ยนแปลงสู่สภาพดังที่กล่าวมาได้อาจจะกินเวลานาน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก
และเจ็บปวดยิ่งกว่าที่พวกมองโลกในแง่ดีทำนายไว้ อี. โจเซฟ เซมเก ผู้เป็นซีอีโอของแอมเดห์ลเตือนว่า
ไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์ ยังเป็นแนวความคิดซึ่งสิ่งที่พูดๆ กันไปไกลกว่าความเป็นจริง
ค่าใช้จ่ายของบริษัทในการปรับจากที่มีเครื่องเมนเฟรมมาใช้เครื่องขนาดเล็กลงก็แพงกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดกัน
แล้วระบบเครือข่ายยังมีปัญหาอีก เป็นต้นว่า การรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม
แม้แต่เซมเกเองก็ยอมรับว่า ภายในศตวรรษนี้เครือข่ายคอมพิวเตอรไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์ต้องเข้ามาเชื่อมต่อพวกเราทุกคนแน่นอน
เมื่อเครือข่ายแบบนี้กลายเป็นบรรทัดฐานทั่วไปแล้ว คอมพิวเตอร์ก็จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานอย่างเรายิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนักหนา
ผู้ที่ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์จะเสียเปรียบมาก เพราะบริษัทต่างๆ จะจัดทีมพนักงานมาทำงานร่วมกันโดยติดต่อกันทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นทุกที
การที่ข่าวสารข้อมูลแพร่กระจายไปในลักษณะถ้วนทั่ว จะบังคับให้บรรดาบริษัทพึ่งพิงระบบการบังคับบัญชาแบบเป็นสายงานตามลำดับชั้นได้น้อยลง
และหันมาถือค่านิยมที่ชี้นำให้แต่ละคนมีบทบาทร่วมส่วนอย่างอิสระ โดยถือประโยชน์ของบริษัทเป็นเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้อาจฟังดูไม่เลว ทว่าส่วนที่ไม่ดีนักก็มี ดังที่แอนดี้ โกรฟ ซีอีโอของอินเทลชี้ว่า
"เราทั้งหมดอาจจะทำงานจนตาย" เพราะคอมพิวเตอร์ระบบนี้ทำให้งานอยู่กับเราในทุกหนทุกแห่ง
ขณะเดียวกัน คู่แข่งของเราก็จะทำงานอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
วินโดส์ เอ็นที-ยูนิกซ์-โอเอส/2
เพื่อบรรลุความเป็นเลิศหรือแม้กระทั้งรักษาความเหนือกว่าในทางธุรกิจเอาไว้
ทุกบริษัทจะต้องหาหนทางของตนเองไปสู่เทคโนโลยี ไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์ กระบวนการนี้ไม่ใช่ของง่าย
ซัพพลายเออร์แทบทุกรายย่อมต้องอวดอ้างว่ามีทางแก้ปัญหาสนองความต้องการของลูกค้าได้
สำหรับซีไอโอ (CORPORATE INFORMATION OFFICER-เจ้าหน้าที่สารสนเทศของบริษัท)
โดยทั่วไปแล้ว ปัญหาที่จะรู้สึกหนักอกหนักใจที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับซอฟท์แวร์
นั่นคือระบบปฏิบัติการและโปรแกรมจัดเครือข่ายของใครสามารถนำมาใช้สนองความต้องการทาง
ไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทตนได้ดีที่สุด
ระบบปฏิบัติการที่บริษัทจะพิจารณาเลือกกันอย่างจริงจัง คงจะมีอยู่เพียง
3 เจ้า คือ วินโดส์ เอ็นที, ยูนิกซ์ และโอเอส/2 ของไอบีเอ็ม ถึงแม้ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องเมนเฟรมอีกหลายระบบมีคุณภาพดีกว่า
3 ตัวนี้เสียอีก แต่คงจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะเหล่าผู้บริหารย่อมต้องการสิ่งที่เรียกว่า
"ระบบเปิด" ที่มีลักษณะเป็นมาตรฐานยิ่งกว่าระบบปิดที่ออกแบบมาเฉพาะซึ่งสิ้นเปลืองกว่ามาก
วินโดส์ เอ็นที จัดเป็นคู่แข่งขันที่ทิ้งห่างตัวอื่นๆ ด้วยข้อได้เปรียบที่พัฒนาขึ้นจาก
"วินโดส์" อันเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้ว บริษัทไมโครซอฟท์เริ่มวางจำหน่าย
"วินโดส์" ในฐานะซอฟท์แวร์คั่นอีกชั้นหนึ่งระหว่าง ดอส กับ โปรแกรมซอฟท์แวร์ประยุกต์
เมื่อปี 1985 ทว่าล้มเหลวเพราะมีข้อบกพร่องฉกรรจ์ๆ และต้องการกำลังมากกว่าที่เครื่องพีซีส่วนใหญ่สามารถให้ได้
แทนที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ บิลล์ เกต กลับรับฟังและเรียนรู้จากคำวิจารณ์ของลูกค้า
หลังจากนั้น 5 ปี วินโดส์ 3.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ปรับปรุงจากของเดิมก็ออกสู่ตลาด
และทั้งที่ยังมีข้อบกพร่องก็กลายเป็นซอฟท์แวร์มาตรฐานไป เครื่องพีซีที่ขายกันทั่วโลกเวลานี้มีกว่าครึ่งที่ติดตั้งวินโดส์จากโรงงานกันเลย
วินโดส์ เอ็นที ออกแบบมาโดยมุ่งใช้ประโยชน์จากความนิยมเช่นนี้ แม้ระบบปฏิบัติการนี้จะทำงานได้ชนิดแปลกใหม่จากวินโดส์ของเดิมมากมาย
แต่กลับมองดูคล้ายคลึงกับตัวเก่าที่คุ้นเคยกันมานาน
โนเวลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์จัดเครือข่ายชื่อ "เนทแวร์"
เป็นคู่ต่อสู้รายเดียวที่บารมีพอจะท้าทายไมโครซอฟท์ได้ เครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทต่างๆ
ที่มีอยู่ในเวลานี้ใช้ซอฟท์แวร์ของโนเวลล์อยู่ถึง 80% โนเวลล์จึงเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่เจ้าหน้าที่ซีไอโอ
ไม่ผิดอะไรกับที่ไมโครซอฟท์เป็นที่รู้จักของผู้ใช้ปลายทางทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้น
จากการที่บิลล์ เกตชอบสร้างศัตรูในวงการคอมพิวเตอร์ โนเวลล์ก็กำลังอาศัยเรื่องนี้มารวมรวมเหล่าผู้ผลิตเครื่องเวิร์กสเตชั่นสร้างเป็นสัมพันธมิตรสู้กับไมโครซอฟท์
สิ่งที่โนเวลล์หวังจะทำให้สำเร็จคือ สร้าง "ยูนิกซ์" ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กันในเครื่องเวิร์กสเตชั่นยี่ห้อต่างๆ
อยู่แล้ว แต่อยู่ในเวอร์ชั่นแตกต่างกัน ให้มาอยู่ในมาตรฐานหนึ่งเดียว การที่ยูนิกซ์ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยเอทีแอนด์ที
ถือกำเนิดมานานทำให้แก้ไขข้อบกพร่องและแสดงกำลังของตนได้เต็มที่ อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่แก้ยากของยูนิกซ์ก็อย่างที่
สตีฟ จอบส์ พ่อมดคนหนึ่งของวงการคอมพิวเตอร์ชี้ไว้ "ไม่มีใครอยากจะใช้ยูนิกซ์"
เพราะมันใช้ยากดูจากตัวเลขที่ยูนิกซ์รวมกันทุกเวอร์ชั่นยังขายได้เพียงปีละ
1.3 ล้านชุด ไม่ถึงหนึ่งในห้าของยอดขายวินโดส์ ทั้งที่มีเวลาเกลี้ยกล่อมเปลี่ยนใจลูกค้ามากว่า
20 ปี ก็พอจะชี้ให้เห็นอะไรได้มากมาย
สำหรับไอบีเอ็มเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออก โอเอส/2 เวอร์ชั่นใหม่ แต่ถ้ายักษ์ใหญ่สีฟ้ายังไม่สามารถเพิ่มความนิยมในระบบปฏิบัติการนี้ได้อย่างรวดเร็วแล้วอีกไม่นาน
สินค้าที่เห็นกันว่ามีคุณภาพเยี่ยมตัวหนึ่งชิ้นนี้ คงจะตายไปจากตลาด
เพนเทียม VS พาวเวอร์พีซี
สมรภูมิอีกด้านหนึ่งที่กำลังตั้งเค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางเลือกของลูกค้าในตลาดไคลเอนท์-เซิร์ฟเวอร์
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชิพไมโครโปรเซสเซอร์ ซอฟท์แวร์นั้นย่อมต้องเขียนปรับให้เข้ากับชนิดของไมโครโปรเซสเซอร์ที่มันทำงานด้วย
เนื่องจากการปรับนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บริษัทซอฟท์แวร์และซีไอโอของบริษัทต่างๆ
จึงมักยึดเอาไมโครโปรเซสเซอร์ที่มีผู้นิยมแพร่หลายเอาไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ของอินเทลจะทำงานสู้ชิพแบบริส์คไม่ได้
แต่มันจะยังเป็นชิพที่ผู้คนต้องพิจารณาอยู่นั่นเอง
ก็ทำนองเดียวกับไมโครซอฟท์ ปริมาณเป็นกุญแจสำคัญ อินเทลคาดหมายว่าในปีนี้จะผลิตชิพรุ่น
486 จำนวน 40 ล้านชิ้น และรุ่นเพนเทียมอีกจำนวนหนึ่ง ปริมาณขนาดนี้ทำให้อินทเลสามารถลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและขยายกำลังผลิตดใหม่ถึงปีละ
2,500 ล้านดอลลาร์ แล้วยังคงมีกำไรชนิดน่าอิจฉา
เมื่อเป็นแบบนี้ ดิจิตอล อีควิปเมนต์ ซึ่งผลิตชิพอัลฟาเพียงปีละไม่กี่หมื่นชิ้น
จะหวังทำเงินมาเปิดศึกในสนามรบนี้ได้อย่างไร ชิพอัลฟาสามารถใช้กับมินิคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ
ของ แวกซ์ ฉะนั้นย่อมเป็นหลักประกันให้ดิจิตอลมีรายได้จากลูกค้าเก่าของตัวเองไปอีกสองสามปี
แต่คงยากที่อัลฟาจะเอาชนะใจบุคคลวงนอกจำนวนล้านๆ
พลังที่ท้ายทายความเป็นเจ้าในวงการไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลอย่างจริงจัง
น่าจะมาจากอีก 2 ด้านมากกว่า ด้านแรกคือ แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (เอเอ็มดี)
ซึ่งเริ่มนำชิพที่เลียนแบบอินเทล 486 ออกจำหน่ายเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ปัจจุบันเอเอ็มดียังมีกำลังผลิตได้ไม่เกิน
5% ของตลาดชิพแบบไอบีเอ็ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป การแข่งขันของเอเอ็มดีย่อมทำให้อินเทลได้กำไรน้อยลง
การท้าทายด้านที่สองซึ่งดูน่าเกรงขามกว่า มาจากไมโครโปรเซสเซอร์ริส์ค ที่ใช้ชื่อว่า
"พาวเวอร์พีซี" โครงการร่วมของไอบีเอ็ม-โมโตโรลานี้ ได้รับการสนับสนุนจากแอปเปิลแล้ว
เป็นหลักประกันให้พาวเวอร์พีซีทำยอดขายได้ปีละ 1-2 ล้านชิ้น ซึ่งมากพอที่จะทำให้ตัดสินใจลงทุนก้อนมหึมาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโรงงานต่อไป
ไอบีเอ็มยังหวังที่จะใช้ชิพนี้กับผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่เครื่องขนาดพีซีขึ้นไป
ถึงแม้จะไม่ใช่ชิพแบบริส์คที่ "ร้อน" ที่สุด กล่าวคือยังสู้อัลฟาของดิจิตอลไม่ได้
แต่พาวเวอร์พีซีก็มีกำลังมากกว่าเพนเทียมของอินเทล ถ้ากำหนดราคาได้เหมาะสม
และผลิตได้เป็นปริมาณมาก ชิพชนิดนี้อาจจะชิงส่วนแบ่งเป็นที่สองในตลาดไมโครโปรเซสเซอร์ได้
อย่างไรก็ตามภาพจำลองแห่งอนาคตอีกอย่างหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ลูกค้าอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคู่ปรปักษ์ที่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเหล่านี้มีความแตกต่างอะไรกันนักหนา
อันที่จริงแรงบีบคั้นจากผู้ซื้อกำลังทำให้ซัพพลายเออร์ต้องสร้างสะพานเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการและชิพของคู่แข่งด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้วินโดส์ใช้ได้เฉพาะกับชิพแบบอินเทล แต่วินโดส์ เอ็นที เวอร์ชั่นแนะนำตัวจะสามารถทำงานกับไมโครโปรเซสเซอร์ริส์ค
2 ชนิด คือ อัลฟาของดิจิตอล และ เอ็มไอพีเอสของซิลิคอน กราฟฟิกส์ คำถามที่น่าถามมากคือ
สักวันหนึ่งบิลล์ เกตส์ เพื่อนรักของแอนดี้ โกรฟ จะทำวินโดส์ เอ็นทีเวอร์ชั่นที่ใช้ได้กับชิพพาวเวอร์พีซี
ออกมาขายบ้างหรือไม่
ฟิลลิป เอสเตอร์ ผู้บริหารไอบีเอ็มซึ่งรับผิดชอบพาวเวอร์พีซี เปิดเผยว่า
ยักษ์ใหญ่สีฟ้ากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกกันว่า ซอฟท์แวร์เลียนแบบ (EMULATION
SOFTWARE) ซึ่งจะทำให้ระบบปฏิบัติการหรือชิพแบบหนึ่งๆ ทำงานกับโปรแกรมที่มุ่งเขียนให้ใช้กับอีกระบบหนึ่งได้
ที่จริงขณะนี้ก็มีโปรแกรมเลียนแบบอยู่บ้างแล้ว เช่น โปรแกรมที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของซันและแอปเปิลทำงานเหมือนกับของไอบีเอ็มได้
การดัดแปลงลักษณะของใช้กำลังของคอมพิวเตอร ์ไปเป็นปริมาณมหาศาล แต่ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่
ไม่ว่าจะของอินเทลหรือริส์ค ต่างมีกำลังเหลือเฟือ
คอมพิวเตอร์ที่ถูกลงเรื่อยๆ มีกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลดาจนซอฟท์แวร์ที่ใช้ง่ายขึ้นและมีประโยชน์มากขึ้นจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน
และจะทำลายกำแพงขวางกั้นเทคโนโลยีซึ่งครั้งหนึ่งเคยรู้สึกกันว่าไม่มีวันพังทะลายได้