ขณะที่ผู้ผลิตเบียร์จากชาติตะวันตกกำลังชักแถวเข้าไปลงทุนในจีน อุตสาหกรรมเบียร์บนผืนแผ่นดินใหญ่ก็ซุ่มเงียบ
เตรียมรุกคืบเข้าไปกินส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศเช่นกัน
เดวิด นิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ฮุ่ยโจว บริววิ่ง ในจังหวัดกวางตุ้ง
ได้เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้เองว่า การขายเบียร์ในจีนนั้นเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก
เมื่อบริษัทเบียร์แห่งนี้ริเริ่มการโปรโมชั่นแบบตะวันตก ด้วยการแจกเหยือกเบียร์คารล์สเบอร์กและไฟแช็กตอนปลายปี
ก็ค้นพบว่าวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำธุรกิจเบียร์ให้สำเร็จในจีนคือ ผลิตเบียร์ที่มีคุณภาพ
"ของที่แจกไม่เคยไปถึงมือลูกค้าเลย เพราะมันสูญหายหรือไม่ก็ถูกขโมย"
นิงกล่าวอย่างยอมจำนนในสิ่งที่เกิดขึ้น ฮุ่ยโจว บริววิ่ง เป็นกิจการของกลุ่มเวิลด์เทรด
เซนเตอร์แห่งฮ่องกง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์ก
ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเบียร์ในจีนเป็นสิ่งที่ยั่วให้ผู้ผลิตเบียร์ต่างชาติน้ำลายหกได้ง่ายๆ
ในทศวรรษ 1980 อัตราการดื่มเบียร์เติบโตประมาณ 25% ขณะที่การขยายตัวเฉลี่ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพียง
3% เท่านั้น กระนั้นก็ตามอัตราการเติบโตที่สูงกว่าทั่วโลกถึง 8 เท่าตัวนี้
ไม่ได้ทำให้เบียร์ยี่ห้อดังๆ ผลีผลามกระโจนเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานเบียร์ในจีน
ตรงกันข้ามกลับมีท่าทีที่ระมัดระวังมาก
สิ่งที่ต่างไปจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เข้าไปในจีนก็คือเจ้าของเบียร์จะใช้วิธีขายไลเซนส์ให้จีนผลิตเบียร์โดยใช้ยี่ห้อของตนได้ซึ่งเป็นวิธีทีไม่มีความเสี่ยงเลย
มากกว่าจะร่วมทุนตั้งโรงงาน แต่รูปแบบนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อการบริโภคเบียร์ในประเทศของผู้ผลิตเอง
แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ก็ไม่ใช่เรื่อง่ายเลยที่จะไม่แยแสกับตลาดจีน ซึ่งเพิ่งจะเริ่มมีการนำเข้าเบียร์ต่างประเทศ
"ผมคิดว่าคนจีนชอบเบียร์ต่างประเทศมากกว่าเบียร์ที่ทำในนี้ เพราะเบียร์ต่างประเทศมีการโฆษณาและโปรโมชั่นที่ดีกว่า
ดื่มแล้วเท่กว่า และคุณภาพดีกว่าเบียร์จีนมาก ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในการดื่ม"
นิงกล่าว
สิ่งที่เย้ายวนใจบรรดาผู้บริหารธุรกิจเบียร์ในต่างประเทศก็คือ อัตราการดื่มเบียร์ของคนจีนยังอยู่ในระดับต่ำเพียง
7.3 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับคนเยอรมนีซึ่งดื่มเบียร์โดยเฉลี่ยคนละ
144 ลิตรต่อปี และ 130 ลิตรสำหรับคนอเมริกัน
แฟรงคลิน โฮ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทคิริน บริวเวอรี่ (ฮ่องกง) จำกัด
กล่าวว่า การดื่มเบียร์ของคนจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในอนาคตในความเห็นของเขา
คนจีนเริ่มคิดว่าเบียร์คือเครื่องดื่มที่แสดงถึงความทันสมัย "ประชาชนมีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
และเบียร์ก็ไม่ใช่สินค้าราคาแพงอีกแล้ว" เขากล่าว "เบียร์ที่ขายตามร้านค้าปลีก
ถ้าเป็นเบียร์จีน ราคาเพียงขวดละประมาณ 2 หยวน (35 เซนต์) ส่วนเบียร์ที่นำเข้าก็แค่ขวดละ
5-7 หยวน (0.87-1.23 เหรียญ) ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก"
ถึงแม้อัตราการดื่มเบียร์ต่อหัวยังต่ำอยู่ แต่จีนก็กลายเป็นผู้ผลิตเบียร์มากที่สุดเป็นอันดับ
3 ของโลก โดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 1,360% นับตั้งแต่ปี 1978 เมื่อปีที่แล้วกำลังการผลิตเบียร์รวมของผู้ผลิต
800 รายเศษ เพิ่มขึ้น 21% หรือประมาณ 10 ล้านตัน หนึ่งในปัจจัยหลายๆ ข้อที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นนี้ก็คือ
การยอมรับในคุณค่าทางโภชนาการของเบียร์
บนพื้นฐานของความคาดหวังว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตต่อไป ผู้บริหารในอุตสาหกรรมเบียร์ของจีนมั่นใจว่า
กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัวเมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้จีนแซงหน้าแชมป์ผลิตเบียร์อย่างเยอรมนีและสหรัฐฯ
ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น จีนก็หวังว่าจะสามารถผลิตเบียร์ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้เบียร์ซิงเตา
และสร้างอุตสาหกรรมเบียร์ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก 3 แห่งที่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้
และกวางเจา ขณะที่เบียร์ต่างประเทศรุกเข้ามาในตลาดจีนอย่างเงียบๆ เบียร์จีนซึ่งปัจจุบันส่งออกในสัดส่วน
1 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตต่อปี ก็กำลังจ้องมองตลาดระหว่างประเทศอยู่ตาเป็นมัน
ความมั่นใจที่จะออกไปแข่งขันในตลาดโลกของอุตสาหกรรมเบียร์จีน มีประจักษ์พยานชัดเจนจากความเคลื่อนไหวของจีนเมื่อเร็วๆ
นี้ เมื่อสภารัฐมนตรีเลือกบริษัทซิงเตา บริวเวอรี่เป็นหนึ่งในเก้าวิสาหกิจของรัฐที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง
เดิมมีกำหนดขายหุ้นในเดือนกรกฎาคมนี้แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะปรากฏว่าการประเมินมูลค่ากิจการยุ่งยากกว่าที่คาดคิดไว้
อย่างไรก็ตามบรรดานักวิเคราะห์หวังว่าหุ้นซิงเตาจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะพวกผู้จัดการพอร์ตการลงทุนในจีน
เปอร์ซี่ เอา-ยัง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ซันฮุงไกในฮ่องกงกล่าวว่า
สาเหตุที่ซิงเตาได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาก ไม่เพียงเพราะเป็นหุ้นในอุตสาหกรรมเบียร์ที่มีอนาคตสดใสเท่านั้น
แต่ยังเป็นบริษัทแรกของ 9 บริษัทจีนที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เขากล่าวว่า
"การเข้าสู่ตลาดหุ้นฮ่องกงของบริษัทพวกนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ดังนั้นเราจึงหวังว่า
หุ้นตัวแรกๆ ที่เข้าซื้อขายจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงมาก"
ซิงเตาซึ่งครอบครองส่วนแบ่ง 90% ของมูลค่าการส่งออกเบียร์จีน มีแผนที่จะนำเงินทุนที่ระดมมาได้มาสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตเบียร์ปีละ
1 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าระดับการผลิตในปี 1993 จำนวน 150,000
ตันถึง 6 เท่าตัวเศษ
หนึ่งในผู้บริหารธุรกิจเบียร์จากต่างประเทศที่ประทับใจกับสภาพตลาดที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของธุรกิจนื้คือ
ลินคอน ยัง กรรมการผู้จัดการกวางซู ซานมิเกล บริวเวอรี่ ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันของซาน
มิเกลจากฟิลิปปินส์ เยา ชิน ฮง โพนวิชั่นของฮ่องกง กับหุ้นส่วนอีก 2 รายในจีน
ยางกล่าวว่า ซาน มิเกลกลายเป็นเบียร์นำเข้าที่มียอดขายระดับต้นๆ ในกวางตุ้ง
ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจในตลาดที่การแข่งขันรุนแรงมากแห่งนี้ "ปีที่ผ่านมา
ส่วนแบ่งตลาดของเราเพิ่มมากกว่า 2 เท่า" เขากล่าวด้วยความภูมิอกภูมิใจอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ละเลียดเบียร์ซานมิเกลจากแก้วที่ติดโลโก้ของคาร์ลสเบอร์ก
ซานมิเกลซึ่งมีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 ตัน มองอนาคตของจีนไว้อย่างสวยหรู
ถึงกับลงมือก่อสร้างโรงงานอีกแห่งหนึ่งแล้วในเซี่ยงไฮ้
ฟอสเตอร์ บริวเวอรี่ กรุ๊ปเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปลงทุนในจีน โดยวางแผนที่จะผลิตเบียร์จากโรงงานที่นี่ในปริมาณที่มากพอๆ
กับโรงงานในออสเตรเลียภายใน 5 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบริษัทในเครือฟอสเตอร์
คือคาร์ลตันและยูไนเต็ด บริวเวอรี่ส์ได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับหัวกวงบริวเวอรี่ในเซี่ยงไฮ้
เพื่อขยายโรงงานเดิมและสร้างโรงงานใหม่ในวงเงิน 83 ล้านเหรียญ
แต่สำหรับผู้ผลิตเบียร์รายอื่นๆ จากโลกตะวันตก กลับระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก
แอนไฮเซอร์-บุช ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาขายไลเซนส์การผลิตเบียร์ในจีน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกมากเท่าไรนัก เพราะผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้
เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับเบียร์คิริน เพื่อขายในตลาดโลกเมื่อเร็วๆ นี้เอง
ยางกล่าวว่า เบียร์ยี่ห้อดังๆ เช่น คาร์ลสเบอร์ก ไฮเนเกนส์ และมิลเลอร์ จงใจจำกัดบทบาทในจีนอยู่เพียงแค่การขายไลเซนส์การผลิตหรือความร่วมมือทางเทคนิคเท่านั้น
อย่างไรก็ตามผู้สันทัดกรณีในอุตสาหกรรมเบียร์กล่าวว่า ผู้ผลิตเบียร์ต่างประเทศไม่อาจจะเมินเฉยต่อตลาดเบียร์ในจีนได้นานมากนัก
โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตเบียร์ของจีนเอง กำลังวางแผนที่จะออกไปรบนอกบ้าน