Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2536
"แดรี่ควีน" ในมือพาราวินเซอร์ จะไปรอดหรือไม่"             
โดย สุพัตรา แสนประเสริฐ
 


   
search resources

พาราวินเซอร์ กรุ๊ป
ไทยแดรี่ฟู้ด
Fastfood




การเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจฟาสท์ฟู้ดของกลุ่มพาราวินเซอร์ในวันนี้ แม้มิใช่เรื่องใหญ่แต่ก็เป็นเรื่องที่ถูกจับตามอง การได้แฟรนไชส์ "แดรี่ควีน" จากกลุ่มศรีชวาลามาเกือบ 100% ทำให้พาราวินเซอร์ได้เข้าไปมีบทบาทเต็มที่ในการบริหาร ถึงคราวพิสูจน์ฝีมือหลังจากนั่งดูความถดถอยภายใต้ การบริหารงานของประโชธรรม ศรีชวาลามาเป็นเวลา 6 ปีเต็ม แดรี่ควีนจะอยู่ หรือจะไป ?

"ไทยแดรี่ฟู้ด เป็นส่วนหนึ่งของโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น เราคิดว่ามันมีศักยภาพในตลาดสูง" ประภัสสร์ เอื้อวัฒนสกุล รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มพาราวินเซอร์ ลูกชายวัย 28 ปี ของเจ้าสัวยอดยิ่งที่นับวันจะเริ่มลดบทบาทตนเองลงและชูความเป็นทายาทผู้สืบทอดเจตนารมย์ของเขาในวันนี้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เป็นคำตอบที่อธิบายถึงเหตุผลของการที่กลุ่มพาราวินเซอร์ตัดสินใจเข้าไปร่วมถือหุ้นไทยแดรี่ฟู้ดในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ธุรกิจฟาสท์ฟู้ดในปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างมากมาย แฟรนไชส์ต่างประเทศหลั่งใหลเข้ามาเปิดในเมืองไทย โดยเฉพาะกทม. เป็นแหล่งรวมศูนย์ยี่ห้อแฟรนไชส์ด้านอาหารฟาสท์ฟู้ดนับ 10 รายการมีทั้งประสบความสำเร็จเจริญเติบโต เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ อาทิ แมคโดนัลด์ เป็นต้น และมีทั้งเป็นบอนไซไม้ประดับวงการก็มีไม่น้อย

แดรี่ควีนก็ถูกจัดกลุ่มอยู่ในประเภทที่สองนี้ด้วยเช่นกัน

นับถึงวันนี้มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจฟาสท์ฟู้ดมีถึง 2,500 ล้านบาท แต่ละปีมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 20% ภาพการเติบโตของตลาดฟาสท์ฟู้ดเช่นนี้ จึงมิพักต้องพูดถึงว่าทำไมกลุ่มพาราวินเซอร์จึงโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในตลาดนี้ด้วย

"เรามองว่าชื่อของแดรี่ควีนเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มของผู้มีรสนิยมอาหารฟาสท์ฟู้ด สินค้าของแดรี่ควีนมีจุดขายที่ต่างกันกับแฟรนไชส์ยี่ห้ออื่นๆ แดรี่ควีนจะเน้นไปทางไอศกรีมเสียมากกว่า แต่ก็ไม่เป็นเช่นเดียวกับเซเว่นเซนส์ หรือบาสเก็ตรอบบิ้น" ประภัสสรบอกว่านี่ คือทางออกในจุดขายที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับแดรี่ควีน ได้ฟื้นตัวขึ้นมาได้หลังจากปล่อยให้เติบโตไปตามยถากรรมของกลุ่มศรีชวาลามาเป็นเวลา 6 ปีกว่าจะตกมาอยู่ในมือบริหารของกลุ่มพาราวินเซอร์อย่างจริงจัง เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

"แดรี่ควีน" เป็นแฟนไชส์จากอเมริกาเริ่มเข้ามาก่อตั้งเป็นร้านฟาสท์ฟู้ดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2527 ผู้ก่อตั้ง และถือลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ เมื่อแรกเข้าเมืองไทยคือบริษัทสยามฟาสท์ฟู้ดของตระกูลศรีชวาลา ซึ่งมีประโชธรรม และชัยพรรษหรือเดฟ หรือกรุดิฟซิงห์ ศรีชวาลา สองคนพี่น้อง ร่วมกันก่อตั้งและบริหารด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทโดยมียอดยิ่ง เอื้อวัฒนาสกุลถือหุ้นอยู่ด้วย 5%

สาขาแรกที่สามารถสร้างชื่อให้แดรี่ควีนเป็นที่รู้จักกันคือ สาขาโรบินสันสีลม ช่วงนั้นตลาดฟาสท์ฟู้ดเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แม้จะยังไม่มีใครตอบได้ว่าตลาดฟาสท์ฟู้ดเมืองไทยจะสดใสหรือไม่ แต่ก็เป็นช่วงที่อยู่ในภาวะการหลั่งใหลเข้ามาของแฟรนไชส์หลายยี่ห้อ หลายประเภทอย่างไม่ขาดสาย มีทั้งประเภทแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งประเภทไก่ทอด หรือแม้กระทั่งประเภทไอศกรีม

ในการเปิดตัวครั้งแรกของแดรี่ควีน เดฟ ศรีชวาลาเป็นผู้จัดการทั่วไปในขณะนั้น ทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์แดรี่ควีนอย่างเต็มที่ โดยใช้ไอศกรีมข้นซึ่งแตกต่างจากไอศกรีมอื่นและจุดขายทั่วไปของฟาสท์ฟู้ดแฟรนไชส์อื่นๆ ซึ่งช่วงนั้นนิยมนำแฮมเบอร์เกอร์เข้ามาเป็นจุดขาย

ไอศกรีมข้นแดรี่ควีนจับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ประกอบกับทำเลที่แดรี่ควีนตั้งอยู่นั้นเป็นทำเลที่มีบรรยากาศเหมาะ ความโปร่งใสมองเห็นได้รอบทิศทางตรงมุมถนนสีลมสร้างความหวือหวาให้กับวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นจุดเหมาะพอดีที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยรุ่นได้

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากทำเลและจุดขายของแดรี่ควีนแล้ว นักการตลาดท่านหนึ่งวิเคราะห์ว่า แดรี่ควีนก็น่าที่จะเติบโตและมีผลกำไรอย่างงดงาม ทว่าแดรี่ควีนกลับมีหนี้สินรุงรังจนไม่สามารถปลดปล่อยภาระหนี้สินนั้นได้โดยลำพังพี่น้องศรีชวาลา

กล่าวกันว่ากลุ่มศรีชวาลามิใช่ทำธุรกิจฟาสท์ฟู้ดเป็นธุรกิจหลักของตระกูล ธุรกิจหลักที่ทำให้ตระกูลศรีชวาลามีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือธุรกิจค้าที่ดินซึ่งจากธุรกิจนี้ทำให้เกิดสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเข้าไปหา ยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุลเจ้าสัวแห่งกลุ่มพาราวินเซอร์นักพัฒนาที่ดินตัวยงของวงการ

งานหลักของตระกูลศรีชวาลาคือการค้าที่ดิน แดรี่ควีนจึงกลายมาเป็นงานรอง หากพิจารณาจากงานหลักกลุ่มศรีชวาลาก็น่าจะถูกจัดอันดับในฐานะของคนมีเงิน เพราะการค้าที่ดินในสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำเลไหนมันคือมีค่าดังทองคำทั้งนั้น ทว่าหนี้สินรุงรังของแดรี่ควีนที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการบริหารงานของประโชธรรม และเดฟนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรในการบริหารธุรกิจที่มีมูลค่าเพียง 1 ล้านบาทให้ขาดทุนจนไม่สามารถปลดเปลื้องภาระได้ และกลายเป็นสาเหตุแห่งการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาเป็นยอดยิ่งแห่งกลุ่มพาราวินเซอร์ถือหุ้น 51% เมื่อปี 2529 และเปลี่ยนจากบริษัทสยามฟาสท์ฟู้ดผู้ถือลิขสิทธิ์แดรี่ควีนมาเป็นบริษัทไทยแดรี่ฟู้ด หลังจากกลุ่มศรีชวาลาบริหารงานมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น

แม้กลุ่มพาราวินเซอร์จะเปลี่ยนสถานะของการเป็นผู้ถือหุ้นเพียงเล็กนอ้ยในแดรี่ควีนมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว แต่ยอดยิ่งก็ยังคงให้อำนาจในการบริหารงานแก่กลุ่มศรีชวาลาโดยเปลี่ยนตัวผู้บริหารจากเดฟคนน้องมาเป็นประโชธรรมผู้เป็นพี่ชายแทน และเดฟได้หลุดจากการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของแดรี่ควีนไปในที่สุด

การปลดเดฟออกจากผู้บริหารและผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นทำให้พี่น้องตระกูลศรีชวาลามีเรื่องฟ้องร้องเป็นความกัน แม้กระทั่งจวบจนปัจจุบันนี้ คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด

"ผมซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเข้ามาช่วยเหลือในด้านภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น และผมก็มองเห็นว่าแดรี่ควีนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเติบโตได้" เป็นคำตอบของยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุลเจ้าสัวแห่งพาราวินเซอร์บอกไว้ในขณะนั้นที่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มพาราวินเซอร์ขยายหุ้นเพิ่ม และเป็นคำตอบเช่นเดียวกันกับปี 35 เมื่อเข้าไปเทคโอเวอร์หุ้นเป็น 95% จากประโชธรรม

แหล่งข่าวในวงการให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า แดรี่ควีนในปัจจุบันไม่ต่างอะไรกับแดรี่ควีนในปี 29 และแดรี่ควีนในปี 29 ก็ไม่ต่างอะไรกับแดรี่ควีนในปี 27 กล่าวคือ แดรี่ควีนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและขยายสาขาได้ 4 สาขาคือ โรบินสันสีลม มาบุญครอง โรบินสันรัชดา และพาต้าปิ่นเกล้า ตั้งแต่ปี 28 เป็นต้นมาจนถึง ณ วันนี้เหลืออยู่เพียง 3 สาขาโดยยุบสาขาที่มาบุญครองลง อาหารที่นำเข้ามาเปิดบริการก็ไม่มีรายการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม ไม่เคยเห็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เหมือนเช่นฟาสท์ฟู้ดอื่นๆ ทำกัน

ประภัสสร์กล่าวว่า "เราเพิ่งได้เข้าไปบริหารแดรี่ควีนอย่างเต็มที่ด้วยคนของเราเองเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง หลังจากที่ปล่อยให้อยู่ในมือประโชธรรมบริหารมาเป็นเวลาถึง 6 ปี"

สาเหตุที่นั่งดูอยู่เฉยโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้วก็ตามนั้น ประภัสสร์บอกสั้นๆ ว่า "คนไม่พร้อม"

ผู้บริหารระดับกลางที่มีความชำนาญงานและมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจฟาสท์ฟู้ดเป็นเรื่องที่หายาก ขณะเดียวกันทางกลุ่มพาราวินเซอร์เองก็ไม่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ เพราะพาราวินเซอร์โตมากับสายอุตสาหกรรมเสียมากกว่า จะเห็นได้จากบริษัทในเครือและ 10 แผนกใหญ่ๆ ของพาราวินเซอร์ ล้วนแต่เป็นสายอุตสาหกรรมโรงงานเป็นหลักใหญ่ทั้งสิ้น อาทิ สีย้อมผ้าและเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจแรกที่ทำให้เกิดเป็นพาราวินเซอร์มาจนกระทั่งปัจจุบัน สีพ่นรถยนต์ จักรเย็บผ้าและเครื่องหนัง เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งเขามีความพร้อมกว่าอยู่แล้ว

ส่วนสาเหตุที่แดรี่ควีนไม่มีการขยายสาขาเพิ่มและอยู่อย่างเงียบๆ จนเสมือนเป็นบอนไซไม้ประดับวงการที่แคระแกนและทำท่าว่าจะไม่โตในวงการนั้นมาจากหลายเหตุผลด้วยกัน

เหตุผลประการแรกคือความไม่เอาใจใส่อย่างจริงจังของผู้บริหารเดิม ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นนักค้าที่ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้พนักงานของแดรี่ควีนจึงเสมือนถูกทิ้งให้ตัดสินใจโดยลำพังไม่มีผู้ใหญ่เป็นที่พึ่ง
"พนักงานของที่นี่เมื่อมีปัญหาจะวิ่งมาหาเรา มาปรึกษาเราเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้ว่าขณะนั้นเราไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการบริหารภายใน"

ประการที่สอง ขาดบุคลากร

พิชาญ ประยูรรัตน์ ผู้จัดการทั่วไปของแดรี่ควีนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าตลาดฟาสท์ฟู้ดในปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างหนัก หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจฟาสท์ฟู้ดให้อยู่รอดนั้น กล่าวกันว่าการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งอย่างต่ำน่าจะอยู่ที่จำนวน 10 สาขาขึ้นไปนั้นถึงจะทำให้ธุรกิจฟาสท์ฟู้ดอยู่ได้

คำว่าอยู่ได้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า อยู่ได้เพราะมีกำไรอันเนื่องมาจากการขยายสาขามาก ทว่าอยู่ได้เพราะมีเงินสดหมุนเวียนต่อวันอยู่ในอัตราที่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ แม้ว่าการลงทุนเพื่อขยายสาขาจะทำให้จำนวนปีของการคืนทุนต้องขยับนานปีขึ้น แต่วิธีการเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจฟาสท์ฟู้ดอยู่ได้อย่างมั่นคง

ภาพที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการมีสาขามากๆ จุดคุ้มประการแรกก็คือในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น ลงทุน 5 ล้าน บาทเพื่อโฆษณาชื่อของร้าน สิ่งที่ได้คือเราไม่ได้ลงทุน 5 ล้านบาทเพื่อร้านเพียงร้านเดียว แต่เมื่อลงทุนไปแล้วจะได้ผลกลับมาครบทุกสาขาทั้งหมดที่มีเปิดบริการอยู่ ผู้บริโภคจะรู้ว่ามีอยู่กี่สาขาที่ไหนบ้าง

แต่ประเด็นสำคัญในการขยายสาขาว่ากันตามจริงแล้วไม่ได้อยู่ที่งบลงทุน หรือทำเลเพียงเท่านั้น ทว่าเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่บุคลากรต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามประภัสสร์ยอมรับว่า ประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้แดรี่ควีนไม่เติบโตตามสายตาคนในวงการและคนภายนอกนั้นอยู่ที่ความผิดพลาดในการบริหารเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกันกับฟาสท์ฟู้ดแฟรนไชส์อื่นๆ ที่กำลังตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันนั้นส่วนใหญ่มาจากเรื่องการบริหารและขาดบุคลากรแทบทั้งสิ้น

ตลาดฟาสท์ฟู้ดเป็นตลาดที่ผู้บริโภคยอมรับไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ใดประเภทใดก็ตามล้วนมีศักยภาพในตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเช็คกี้ปิซซ่า หรืออาร์บี้ส์ หรือเอแอนด์ดับบลิว ก็ตาม หากได้มือบริหารที่มีประสบการณ์ชำนาญงานเชื่อว่าคงอยู่รอดในตลาดฟาสท์ฟู้ด

ยกตัวอย่างเช่นเจ็คกี้ปิซซ่า ตกอยู่สภาวะเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยครั้ง การเปลี่ยนมือผู้บริหารย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของนโยบายการทำงาน และรูปแบบการบริหารซึ่งจะเป็นแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่หมุนเวียนเข้ามา

ภาพของเอแอนด์ดับบลิว ฟาสท์ฟู้ดประเภทไก่ทอดก็เช่นกัน บริษัทไตตัน โค ผู้แทนจำหน่ายกุญแจเยลผู้ถือลิขสิทธิ์เอแอนด์ดับบลิว ณ วันนี้ก็ตกอยู่ในสภาพการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยครั้งเช่นกัน

ในขณะที่อาร์บี้ส์ได้เปลี่ยนมือจากบริษัทเซเว่นสตาร์ผู้ถือลิขสิทธิ์อาร์บี้ส์ได้เพียง 2 ปีตกมาอยู่ในมือของเอสแอนด์พีในปัจจุบัน และเป็นแฟรนไชส์ที่เจ้าของออกจะโชคร้ายไปหน่อยที่ประสบภาวะการขาดทุนนอกจากจะมาจากบุคลากรไม่พร้อมแล้ว ยังมาจากการประสบอุบัติเหตุไฟไหม้สาขาที่เวลโก้ และการปิดซ่อมบำรุงของห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวทำให้สาขานี้ต้องปิดไปชั่วระยะเวลาหนึ่งด้วย

"ผมเสียดายอาร์บี้ส์ ยี่ห้อนี้ผมมองว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะโตต่อไปได้ แต่คนของผมไม่เก่ง" สุธีร์ รัตนนาคินทร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเซเว่นสตาร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนแดรี่ควีนแม้ไม่ตกอยู่ในสภาพที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเพราะผู้บริหารคงเดิมนั้น แต่ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันกับแฟรนไชส์อื่นๆ เช่นกัน นั่นคือความไม่ใส่ใจในการบริหารงานอย่างจริงจังของผู้บริหารที่ว่ากันว่านำเวลาส่วนหนึ่งไปอยู่กับธุรกิจอื่นหมด

การเข้ามาสะสางปัญหาที่กลุ่มพาราวินเซอร์เองก็มองเห็นมานานแล้วว่า เป็นปัญหาที่เรื้อรังสมควรแก่เวลาที่ต้องแก้ไข โดยดึงมืออาชีพจากไมเนอร์กรุ๊ปที่มีประสบการณ์ด้านซิสเลอร์ และปิซซ่าฮัทเข้ามาวางแผนปลุกเร้ายั่วยุให้ตลาดแดรี่ควีนเติบโตด้วยการวางแผนระยะยาว 4 ประการหลักคือ

1. การวางระบบการบริหารงานองค์กรใหม่และสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อที่จะกระจายอำนาจให้ทุกฝ่ายสามารถรับผิดชอบ และปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งแต่เดิมอยู่ในลักษณะศูนย์รวมอำนวจไว้เพียงคนเดียวคือ ประโชธรรม

2. ปรับปรุงสาขาเดิมที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมตกแต่งให้ดึงดูดความสนใจ เช่นที่สาขาพาต้าปิ่นเกล้าและโรบินสันรัชดาซึ่งต้องการให้เป็นไปตามลักษณะของร้านฟาสท์ฟู้ดเช่นที่สีลมมีลักษณะโปร่ง และเครื่องครัวที่เสื่อมคุณภาพก็ได้รับการปรับปรุงซึ่งปัญหานี้มีผลกระทบไปถึงอาหารที่ถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย

3. ปรับปรุงคุณภาพการนำเสนอและภาชนะของสินค้าให้เหมาะสมและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น

4. การบริการและการส่งเสริมการขาย ตลาดฟาสท์ฟู้ดกำลังอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันกันด้านบริการที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน บริการส่งถึงบ้านจะเข้ามามีส่วนสำคัญและนำมาเป็นจุดขายกันแทบจะทุกยี่ห้อ แดรี่ควีนจะนำจุดนี้มาพัฒนาด้วยเช่นกัน ส่วนด้านการส่งเสริมการขายนั้น มีแนวความคิดที่นำเอาการ์ตูนชุดเดนนิสเดอะมีนาซซึ่งแดรี่ควีนในอเมริกาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ จะนำมาใช้เป็นพรีเซนเตอร์

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่และเพื่อการคาดหวังเงินสดหมุนเวียนต่อวันโดยวางเป้าไว้ใน 5 ปีข้างหน้า จะสามารถขยายสาขาเพิ่มอีก 8 สาขาโดยขณะนี้ได้ทำการตกลงเจรจากับเจ้าของสถานที่เรียบร้อยคือ เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลพัทยา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เสรีเซ็นเตอร์ เดอะมอลล์ รอยัลการ์เดนท์ ฟิวเจอร์ ปาร์ค และซีคอน สแควร์

งบประมาณที่ใช้ในการขยายสาขาเพิ่มนี้ประมาณ 400 ล้านบาท พิชาญกล่าวว่า จะขยายไปได้ตามเป้าหมายหรือไม่ด้วยงบประมาณขนาดนี้คงต้องดูตลาดและการแข่งขันว่าจะคุ้มหรือไม่กับการขยายตัวออกไป หากตลาดมีการแข่งขันพอสมควรอัตราการเติบโตของตลาดขยายตัวไปเรื่อยๆ ก็อาจขยายได้หมด แต่ถ้าหากว่าตลาดไม่โตตามที่คาดหวัง เงินทุน 400 ล้านบาทนี้บางทีกลุ่มพาราวินเซอร์อาจจะนำไปทำอย่างอื่นคุ้มกว่าก็สุดแล้วแต่จะกำหนด

"รายได้ธุรกิจฟาสท์ฟู้ดเป็นเพียงส่วนน้อยของกลุ่มประมาณ 1% ของรายได้ทั้งหมดที่ปีนี้คาดว่าจะได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทโตกว่าปีที่ผ่านมา 25% อันเป็นรายได้ยอดขายที่มาจากสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมประมาณ 60% อาทิ สีพ่นรถยนต์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ สีย้อมผ้า และการขายรถยนต์โตโยต้าเป็นต้น" ประภัสสร์กล่าว

นั่นหมายความว่าประเด็นการมองเห็นความสำคัญของธุรกิจฟาสท์ฟู้ดในสายตาของทายาทพาราวินเซอร์เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อย ที่ไม่มีความสำคัญมากมายยิ่งไปกว่าธุรกิจหลัก ที่ทำให้พาราวินเซอร์เติบโตมาได้ในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้แดรี่ควีนจะเข้ารูปรอยเดิมหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่ใช่น้อย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us