วิชัย กฤษดาธานนท์ ทอฝันจะสร้าง "ปีทองของไอทีเอฟ" ให้เกิดขึ้นในยุค
KMC เป็นเจ้าของ แต่ทุกอย่างผิดพลาดเป้าหมายไปหมด เพราะพิษร้ายของข่าว กลต.
ตั้งข้อหาวิชัยปั่นหุ้น ตลาดหุ้นซบเซา ปีทองกลายเป็นปีตะกั่วไปเสียแล้ว !
ไอทีเอฟเผชิญวิกฤตมรสุมข่าวลือถึงขั้นชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสส์แห่งแบงก์กรุงเทพต้องเข้ามาช่วยพยุงภาพพจน์
เงินกองทุนเงินฝากเพิ่งฟื้นตัวจาก PANIC แผนยุทธศาสตร์เชิง "รุก"
หรือ "เพิ่งลุกขึ้น" ครึ่งปีหลังของไอทีเอฟจึงน่าจับตา !
สำหรับวิศณุ นิเวศน์มรินทร์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บงล. ไอทีเอฟ เวลาสามทุ่มของวันวิกฤตที่
กลต. ประกาศกล่าวโทษว่าวิชัย กฤษดาธานนท์สร้างราคาหุ้น ได้กระชากความฝันที่จะปั้นความรุ่งโรจน์แก่ไอทีเอฟให้ดับวูบสู่ฝันร้ายที่กำลังดิ่งลงเหว
แม้ว่าจะมีการปฏิเสธว่าไอทีเอฟกับวิชัยมิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันด้านบริการเลยก็ตาม
แต่ก็ได้มีการเชื่อมโยงสองนี้สร้างความสับสนแก่ชาวบ้าน
ในจิตใจอันเคร่งเครียด วิศณุนึกถึงเงินจำนวน 200 ล้านที่เขาได้เตรียมสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินตั้งแต่วันพุธที่เริ่มปรากฏลางร้าย
เงินก้อนใหญ่นี้ต้องนำมาเป็นสภาพคล่องให้ลูกค้าที่ตื่นกลัวจากข่าวชิ้นนี้
วิศณุหลับตาแทบไม่ลงเพราะฤทธิ์ความวิตกกังวลที่รุมเร้าจิตใจตลอดคืน !
วันรุ่งขึ้น วิศณุรีบมาที่สำนักงานใหญ่ไอทีเอฟตั้งแต่ 7 โมงเช้าประชุมวางแผนร่วมกับผู้บริหารไอทีเอฟคนอื่นๆ
เพื่อตั้งรับสถานการณ์ มาตรการเร่งด่วนประการสำคัญถูกวางไว้ 4 ข้อ
หนึ่ง-ผู้บริหารไอทีเอฟต้องสำรองพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจซึ่งสามารถขายคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรหรือตลาดอาร์พีได้
สอง-ทำหนังสือขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน
1.5 พันล้านบาท โดยเอาอาคารใหม่ไอทีเอฟที่สีลมและสาขาทั้ง 6 แห่งวางค้ำประกันกับกองทุน
สาม-ไอทีเอฟขอเปิดวงเงินฉุกเฉินมูลค่า 300 ล้านกับสถาบันการเงิน 5 แห่งประกอบด้วยแบงก์พาณิชย์และไฟแนนซ์อีก
2 แห่ง
สี่-ดึงแบงก์กรุงเทพเข้าร่วมถือหุ้น 5% เพื่อให้ภาพพจน์แห่งความน่าเชื่อถือและมั่นคงแก่ประชาชน
ระหว่างนั้นการติดต่อประสานงานกับชูศรี แดงประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของแบงก์ชาติเป็นไปทุกระยะ
15 นาที โดยมีนักข่าวจำนวนมากรุมเร้ารอทำข่าวอยู่ที่ไอทีเอฟ
ในห้วงของความคิดขณะนั้น วิศณุเล่าให้ฟังว่า "สี่เดือนนับตั้งแต่เรื่องเอฟซีไอจนถึงพฤษภามันสาหัสมาก
ข่าวลือแทบจะทำให้เราล้มทั้งยืน !"
แม้มรสุมข่าวลือจะกระหน่ำซ้ำเติมไอทีเอฟ ฉากชีวิตของคนกินเงินเดือนและเล่นหุ้นบนถนนสีลมก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ
พวกเขารู้แต่ว่าชีพจรตลาดหุ้นขึ้นหรือตกต่ำลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว
ทันทีที่ข่าว วิชัย กฤษดาธานนท์ ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
(กลต.) ตั้งข้อหาปั่นหุ้น ความโลภของนักลงทุนบางคนได้แปรเปลี่ยนไปเป็นความตื่นกลัว
แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปดี ?
ดังนั้นเมื่อวันศุกร์จบลงท่ามกลางข่าวลือ ผู้บริหารไอทีเอฟพากันถอนใจที่ยังมีวันเสาร์อาทิตย์ไว้ตั้งตัวรับวิกฤตการณ์ได้
"ตอนนั้นการปล่อยข่าวค่อนข้างจะเร็วและกระจายแพร่ไปทุกไฟแนนซ์แต่ที่เกิดขึ้นกับเราค่อนข้างรุนแรง
ถ้าแบงก์ชาติไม่เข้ามาช่วย คาดว่าจะกระทบไปหลายไฟแนนซ์ทีเดียว" วิศณุเล่าให้ฟังถึงข่าวลือที่ไหม้เหมือนไฟลามทุ่ง
ก่อนที่จะเกิดเรื่องไม่ดีเหล่านี้ ไอทีเอฟมีสภาพคล่องอยู่ในมือเหลือเฟือ
จากการที่สามารถระดมเงินฝากจากสาขาทั้ง 6 แห่ง คือสาขาลาดพร้าว สาขาตากสิน
สาขาเสือป่า สาขาราชเทวี สาขาพระโขนง และสาขาต่างจังหวัดที่ชลบุรีซึ่งถือว่าไอทีเอฟเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งแรกที่เข้าไปบุกเบิก
"จริงๆ แล้วสภาพคล่องเหลือทุกวันประมาณ 300-400 ล้านบาท ที่เราปล่อยให้กู้ในรูปของ
INTER BANK ให้กับไฟแนนซ์ด้วยกัน" วิศณุเล่าให้ฟัง
จากผลการดำเนินงานในปีที่แล้ว ไอทีเอฟมีรายได้รวมทั้งปี 963.3 ล้านบาท
ส่วนใหญ่ 61% เป็นรายได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม (ดูตาราง) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารายได้จากธุรกิจเช่าซื้อของไอทีเอฟแค่
4.9 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วถึง 33% ทั้งๆ ที่คาดหวังกันว่ากลุ่มกฤษดามหานครซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเรียลเอสเตทเข้ามาแล้ว
น่าจะสร้างฐานรายได้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าระดับกลางและระดับสูงที่ซื้อรถยนต์จากศูนย์กลางรถยนต์มหานครและซื้อบ้าน
ที่ดิน คอนโดมิเนียมจากโครงการกฤษดามหานคร
ขณะเดียวกันการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 24%
เป็นเงิน 5,621.5 ล้านบาท โดยปล่อยกู้มากที่สุดในสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
40% สินเชื่อซื้อบ้านและเช่าซื้อรถยนต์ 30% ปล่อยมาร์จิ้นโลน 15% ขายลดเช็ค
10% และสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน 5%
แหล่งเงินทุนที่กู้ยืมจากเงินฝากประชาชนในแต่ละปี เป็นต้นทุนดอกเบี้ยของเงินทุนที่สูงมาก
ที่ทำให้กำไรสุทธิปีที่แล้วขยายตัวเพียง 12.5% หรือ 144.8 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะความสามารถในการบริหารเงินทุนภายใต้การนำของศุภรัตน์
ผ่องศรี อดีตกรรมการผู้จัดการไอทีเอฟมีลักษณะคอนเซอร์เวทีฟที่ส่วนใหญ่จะปล่อย
CALL LOAN ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกับดอกเบี้ยต่ำให้กับไฟแนนซ์หรือบริษัท ทำให้มีส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนเงินให้กู้และดอกเบี้ยเงินกู้
(INTEREST RATE SPREAD) เพียง 0.1% เท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ด้วยกัน
ในปีที่แล้วแหล่งเงินทุนใหญ่มาจากเงินกู้ยืม 5,332.5 ล้านบาท 81% ของเงินจำนวนนี้มาจากเงินฝากของประชาชน
ซึ่งผู้บริหารไอทีเอฟชุดใหม่มีแผนจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 11-13% ลง
แต่พอผู้บริหารใหม่เข้ามา การบุกสินเชื่อธุรกิจก็เกิดขึ้น มีการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่
CALL LOAN มากขึ้น โดยร่วมกับ บงล. ภัทรธนกิจทำซินดิเคทโลนปล่อยให้กับโครงการแดนเนรมิต
2 โดยเข้าไปร่วมให้เงินกู้ร้อยกว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังปล่อยให้กับโครงการบริษัทพร็อพเพอตี้
เพอร์เฟคของชายนิด โง้วศิริมณีที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นด้วยโดยเงินที่ปล่อยให้กลุ่มหลังนี้
จะมีลักษณะอาวัลส่วนหนึ่งและเงินกู้ส่วนหนึ่งประมาณร้อยกว่าล้านบาท
ในอดีตที่ยังส่งผลถึงปัจจุบัน ไอทีเอฟมีลูกหนี้ที่จัดชั้นสงสัยจะสูญ 643
ล้านบาท ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีจำนวนเงินกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ 321.7
ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรอง 50% ได้ตามคำสั่งแบงก์ชาติ แต่สำหรับลูกหนี้รายอื่นยังไม่ได้มีการตั้งสำรอง
บริษัทมีลูกหนี้ 435 ล้านบาทซึ่งรวมอยู่หนี้ก้อนใหญ่นี้ก็ได้ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายซึ่งไอทีเอฟตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้เพียง
218 ล้านบาทเท่านั้น
"หนี้เสียนี้เกิดขึ้นสมัยคุณธานี บรมรัตนธน ลูกชายจางเหมินเทียน แต่เราได้เตรียม
CUT LOST เพราะในปี 2534 เราเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นมาเป็น 811 ล้านบาทเพื่อลดภาระขาดทุน
ขณะนี้มีบางส่วนที่เราติดตามไล่เก็บหนี้ได้และมีทรัพย์สินบางส่วนรอขายทอดตลาด"
วิศณุเล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็กำลังเดินหน้าไปได้สวย แต่แผนการดังกล่าวก็ต้องมาสะดุด
ไอทีเอฟต้องสะท้านสะเทือนอย่างรุนแรงไปกับวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
งานนี้ไอทีเอฟเสียเงินฝากไปมากถึง 20% ของเงินฝากทั้งหมด จำนวน 5,300 ล้านบาท
ทำให้สภาพคล่องที่จะปล่อยสินเชื่อธุรกิจชะลอตัวลง หันไปเน้นสินเชื่อเช่าซื้อที่ให้กำไรเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น
ยามชีวิตประสบปัญหา มรสุมมิได้มาเพียงลูกเดียว มรสุมระลอกใหญ่ที่ตามมาในกลางเดือนเมษายนปี
2536 นี้เกี่ยวกับข้อหาปั่นหุ้นของวิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานกลุ่ม KMC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีเอฟ
ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างหนักเกี่ยวกับภาพพจน์นักปั่นหุ้นที่อาจสร้างหายนะให้กับกลุ่มธุรกิจ
KMC โดยเฉพาะไอทีเอฟในเดือนเมษายน วิชัยได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารในธุรกิจต่างๆ
เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของ กลต.
"คุณวิชัย ไม่เคยเข้ามามีตำแหน่งบริหารอะไรเลยในไอทีเอฟ เพียงแต่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วให้คุณรัชฎาเป็นกรรมการบริหาร
แต่ที่ลาออกคือจากประธานบริหารของกฤษดามหานคร" บันลือ ฉันทาดิศัย กรรมการรองกรรมการผู้จัดการที่รักษาการณ์กรรมการผู้จัดการอีกตำแหน่งหนึ่งเล่าให้ฟัง
นอกจากนี้ในส่วนไอทีเอฟ เพื่อผดุงภาพพจน์ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่
วิชัยได้ติดต่อกับชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแห่งแบงก์กรุงเทพโดยผ่านสายสัมพันธ์เชิงธุรกิจการเมืองที่มีกับ
ดร. อำนวย วีรวรรณ ซึ่งมีหุ้นในไอทีเอฟจำนวนไม่มากนักในนามของดร. พงศธร สิริโยธิน
เลขาฯ ซึ่งถือหุ้นจำนวน 1% และ 4.16% ในนามของลูกเขยคนเล็ก กิตติ ธนากิจอำนวย
เจ้าของกิจการบริษัทโนเบิล โฮลดิ้ง กิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดูตารางโครงสร้างผู้ถือหุ้น)
นอกเหนือจากเหตุผลที่แบงก์กรุงเทพเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,700
กว่าล้านบาทในคราวที่กลุ่ม KMC สามารถประมูลชนะซื้อหุ้นไอทีเอฟจำนวน 41.5%
จากกองทุนฟื้นฟูฯ ได้
ในการเจรจาครั้งนี้ วิชัยได้เสนอหุ้นที่ถือในนามส่วนตัวซึ่งมีอยู่ 10%
ให้แบงก์กรุงเทพถือครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 5% โดยในที่สุดแบงก์กรุงเทพเสนอซื้อหุ้นไอทีเอฟในราคา
31.50 บาท
"ราคาที่คุณชาตรีซื้อไปนี้เป็นราคาช่วงนั้นโดยใช้ราคาเฉลี่ย 7 วันสุดท้ายก่อนที่จะขายให้แล้วลดไป
10%" บันลือ ฉันทาดิศัย กรรมการรองกรรมการผู้จัดการไอทีเอฟ เล่าให้ฟัง
ช่วงที่มีข่าวแบงก์กรุงเทพเข้าถือหุ้นไอทีเอฟ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไอทีเอฟช่วงวันพฤหัสที่
15 เมษายน ตกประมาณ 33 บาทก่อนวิชัยจะพบชาตรีครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 19 เมษายนซึ่งหุ้นพุ่งปรู๊ดถึง
37 บาท และอีกวันก็ตกเหลือ 35.50 บาท ล่าสุดในวันที่ 30 มิถุนายน ราคาหุ้นไอทีเอฟเหลือ
34.50 บาท
อย่างไรก็ตามแต่ กว่าจะตกลงกันได้ ไอทีเอฟก็หวุดหวิดจะเกือบไปเหมือนกันกับเอฟซีไอ
ในกรณีที่เกิดเหตุว่า ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพปฏิเสธข่าวเกี่ยวกับการตกลงซื้อหุ้นไอทีเอฟ
ทำให้ผู้บริหารไอทีเอฟหวั่นวิตกว่ามรสุมใหม่ท่าจะตั้งเค้ามาถล่มอีกครั้งแล้วกระมัง
? เพราะเมื่อครั้งเกิดข่าวเอฟซีไอ แบงก์กรุงเทพได้ถอนตัวที่จะช่วยเอฟซีไอหลังจากที่เคยมีข่าวว่าจะช่วย
ทำให้คนในแวดวงการเงินและตลาดหุ้นหวั่นวิตกว่าไอทีเอฟจะตกในฐานะลำบากเช่นเดียวกัน
ยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ การเข้ามาแบบ "อัศวินม้าขาว" อย่างชาตรี
โสภณพนิช ย่อมจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพราะงานนี้แบงก์ชาติจะยอมให้ไอทีเอฟมีปัญหาไม่ได้โดยเด็ดขาด
โดยยังยึดหลักคิดว่าสถาบันการเงิน "ล้มไม่ได้" ถ้าแบงก์หรือไฟแนนซ์ใดล้ม
มันคือหายนะอันใหญ่หลวงที่กระทบไปทุกหย่อมหญ้า
ดังนั้น ชาตรีจึงได้ให้ดำรงค์ กฤษณามระ กรรมการผู้อำนวยการแบงก์กรุงเทพออกมายืนยันถึงการถือหุ้นของแบงก์กรุงเทพอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
เพื่อระงับเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันควัน
"โชคดีที่เราได้แบงก์กรุงเทพเข้ามาถือหุ้น 5% ช่วยเราได้เยอะมาก ช่วยฟื้นฟูความมั่นใจของประชาชน
ไม่งั้นข่าวลือเวลามันเกิด ก่อนที่เราจะชี้แจงได้มันก็สาหัส" วิศณุเล่าให้ฟัง
ความจริงแผนการที่จะดึงเอาสถาบันการเงินระดับแบงก์เข้ามาสนับสนุนไอทีเอฟนั้นมีอยู่ในหัวผู้บริหารไอทีเอฟตั้งแต่ต้นแล้ว
เพราะว่าการดำเนินธุรกิจไฟแนนซ์นั้นถ้าไม่มีแบงก์หนุนหลัง การเติบโตยังมีขีดจำกัดทางด้านแหล่งเงินทุน
ซึ่งแบงก์จะช่วยจุดนี้ได้มาก เช่น ต้นทุนของแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำจากการกู้ออฟชอร์โลนมา
ศักยภาพการเติบโตของไอทีเอฟในสายตาของนักลงทุนที่มีหัวการค้าอย่างวิชัย
กฤษดาธานนท์ย่อมเป็นที่ประจักษ์ ด้วยสาขาทั้ง 6 แห่งของไอทีเอฟที่เปรียบประดุจสาขาของแบงก์ที่สามารถจะให้ระดมเงินฝาก
ให้สินเชื่อนอกจากนั้นยังมีฐานะเป็นโบรกเกอร์ หมายเลข 24 ที่สามารถซื้อขายและเป็นที่ปรึกษาธุรกิจการเงินและการลงทุนได้สมบูรณ์แบบตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ครบทั้ง
8 ประเภท ยากที่จะหาไฟแนนซ์ไหนมีครบถ้วนสมบูรณ์เฉกเช่นไอทีเอฟได้
แต่ใครจะรู้เล่าว่าในอีกปีถัดมา แผนยุทธศาสตร์เชิงรุกของไอทีเอฟยุคกฤษดานครที่กำหนดบนพื้นฐานข้อมูลที่วาดฝันในปี
2536 จะต้องผจญมรสุมใหญ่จากมือปราบ กลต. ที่ทำให้ไอทีเอฟในเดือนกุมภาพันธ์ร้อนระอุ
เพราะพิษร้ายจากข่าวเอฟซีไอที่ส่งผลให้ฝ่ายสินเชื่อต้องเรียกเงินกู้ที่ปล่อยออกไปคืนกลับมานับพันล้าน
และส่งผลกระทบในเวลาต่อมากับลูกค้าเงินฝากที่ตื่นกลัว จนบัดนี้แผนฟื้นฟูลูกค้ารายเก่ายังรีบเร่งดำเนินการอยู่
นอกจากนี้แผนงานรายได้ของไอทีเอฟด้านค่านายหน้าจากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ยืนบนข้อมูลมูลค่าซื้อขายวันละ
7,530 ล้านในปี 2535 แต่พอเจอของจริงในปี 2536 ผู้บริหารไอทีเอฟแทบน้ำตาตกในกับวอลุ่มซื้อขายวันละแค่พันกว่าล้าน
ถึงกับต้องปรับตัวปรับใจกันใหม่ทั้งกระบวนการ
มิหนำซ้ำในวันที่ 26 มกราคม 2536 นี้เองที่ผู้บริหารไอทีเอฟได้คืนเงินกู้ซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำเพียง
.1% จำนวน 500 ล้านแก่แบงก์ชาติเมื่อครบกำหนด 5 ปีแล้ว รายได้ที่เคยมีถึงปีละ
37-38 ล้านบาทจากผลตอบแทนที่ได้มา 7.4% ก็หายวับไปกับตา !
ส่วนรายได้จากอาคารชุดที่มีมูลค่า 500 กว่าล้านบาท ก็ถูกตัดเป็นรายได้ในปี
2534 และ 2535 จนแทบจะไม่เหลือไว้เป็นตัวเลขสวยๆ ในงบดุลปี 2536 นี้เลย
มิหนำซ้ำเหมือนผีซ้ำด้ำพลอย เมื่อสภาวะตลาดหุ้นโดยรวมในไตรมาสแรกของปี
2536 ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์หุ้นไทย ! พอร์ตของไอทีเอฟที่ถือหุ้นบลูชิปและกิจการอื่นๆ
ต้องขาดทุนจำนวน 21.3 ล้านบาทในไตรมาสแรก
งานนี้วิชัยคงร่ำไห้มิได้หัวร่อมิออกแน่นอนกับฝันร้ายที่หวังว่าการซื้อไอทีเอฟเหมือนซื้ออนาคตอันสวยสดงดงาม
แต่ต้องมาเผชิญกับวิกฤตการณ์หนักหน่วงที่สุด !
สำหรับผลประกอบการอย่างเป็นทางการที่ไอทีเอฟรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในไตรมาสแรก ปีนี้ไอทีเอฟมีกำไรสุทธิจำนวน 6.4 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 54.6
ล้านบาทในไตรมาสแรกในปี 2535
นับว่าเป็นกำไรที่ตกต่ำที่สุดถึง 88% ! โดยเป็นผลจากสาเหตุหลายประการคือ
หนึ่ง-รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลได้ลดลง 7% ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
17%
สอง-รายได้จากการขายอาคารชุดลดลงจาก 56.1 ล้านบาทเป็น 17.2 ล้านบาท หรือลดลง
70%
สาม-มีรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงจาก 34.8 ล้านบาทเป็น 29.2
ล้านบาท หรือลดลง 16% ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของมูลค่าซื้อขายโดยรวม ทั้งนี้เพราะบริษัทมีส่วนแบ่งมูลค่าการซื้อขายที่ไม่เปลี่ยนแปลงคืออยู่ระดับ
0.9% ของส่วนแบ่งตลาดรวม
สี่-บริษัทขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ถึง 21.3 ล้านบาท จากที่มีกำไรในไตรมาสแรกปีที่แล้ว
9.3 ล้านบาท
"ความจริงพอร์ตนี้เป็นพอร์ตดั้งเดิมที่มีการลงทุน ตั้งแต่สมัยผู้บริหารชุดเก่า
พอตกถึงสมัยเราในการปิดงบเมื่อมีนาคม 2536 ราคาของหลักทรัพย์ทุกตัวมันตกลงหมด
เราจึงต้องสำรองที่ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท ทำให้ฉุดผลประกอบการไตรมาสแรกลง
แต่คิดว่าในไตรมาสที่สองนี้ราคาที่ลงทุนในพอร์ตคงเริ่มกระเตื้องขึ้น ทำให้เราสามารถดึงกลับในส่วนที่สำรองขาดทุนได้"
วิศณุเล่าให้ฟังถึงสาเหตุขาดทุน
ห้า-บริษัทมีรายได้พิเศษจากค่าปรับงานก่อสร้างอาคารที่ล่าช้าจนส่งมอบให้ตามกำหนดเมื่อสิ้นปีที่แล้วไม่ได้
เป็นเงินจำนวน 21.6 ล้านบาท
หก-ไอทีเอฟมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นมาก จากสัดส่วน 22% ของรายได้รวมในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว
เป็น 33% ในไตรมาสแรกนี้เพราะการที่ต้องลงทุนด้านบุคลากรจำนวนถึง 96 คนเพื่อบรรจุในสายงานใหม่
เช่นในสายสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อได้มีพนักงานใหม่ในฝ่ายนี้ถึง 45 คน ขณะที่สายสินเชื่อธุรกิจอื่นๆ
ก็ต้องการคนเพิ่มเช่นกัน
เจ็ด-บริษัทมีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งไม่ได้ตั้งสำรอง สำหรับคดีที่บริษัทถูกฟ้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทประมาณ
9.8 ล้านบาท และมีภาระจากการอาวัลตั๋วแลกเงินซึ่งออกโดยลูกค้าบางรายที่มีมูลค่าสูงถึง
86 ล้านบาท หนี้สินในส่วนนี้ค่อนข้างจะเสี่ยงพอสมควร
ตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ปี 2536 ของไอทีเอฟกลายเป็น "ปีตะกั่ว"
ที่มิใช่ "ปีทอง" สำหรับเจ้าของใหม่อย่างวิชัย กฤษดาธานนท์ที่มองว่าศักยภาพของไอทีเอฟน่าจะทำกำไรมากกว่านี้
ดังนั้นภารกิจของทีมบริหารจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกใหม่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและการจัดทัพกำลังคนใหม่เพื่อพิชิตส่วนแบ่งตลาดให้ได้
ในโครงสร้างองค์กรใหม่ของไอทีเอฟ ซึ่งปรับแต่งครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ไอทีเอฟจึงบริหารและกำหนดกลยุทธ์โดยทีมผู้บริหารหนุ่มระดับ CEO หลักๆ ในคณะกรรมการบริหารได้แก่
รัชฎา กฤษดาธานนท์ ดูแลสายสินเชื่อเช่าซื้อ วิศณุ นิเวศน์มรินทร์ ดูแลสายสินเชื่อและสำนักงานใหญ่
บันลือ ฉันทาดิศัย ดูแลสายกิจการสาขาและรักษาการกรรมการผู้จัดการ (ดูตารางโครงสร้างผู้บริหาร)
สุริยันต์ สัตตวัฒนานนท์ มือกฎหมายของ KMC ดูแลด้านนี้ ธานี เขมะคงคานนท์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ-ธุรกิจหลักทรัพย์ และศรายุทธ์ ขาวละเอียด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ-เช่าซื้อ
โดยมีประณัฐ เตชะเสน อดีตมือรองศุภรัตน์ เป็นกรรมการและที่ปรึกษา
บทบาทสำคัญของรัชฎา ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ไอทีเอฟ และเป็นบุตรชายคนโตวัย
27 ปีของวิชัย กฤษดาธานนท์คนนี้ โดยบุคลิกเป็นผู้บริหารที่ร่างสันทัดไม่สูงนัก
จบการศึกษาจากเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เมื่อปี 2531 และปริญญาโททางด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความที่เป็นทายาทธุรกิจในครอบครัวกฤษดาธานนท์ ประสบการณ์ทางธุรกิจของรัชฎาจึงเริ่มต้นที่กิจการในกลุ่ม
KMC โดยตั้งแต่ปี 2525 เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของหจก. ศูนย์กาลางรถยนต์มหานครและผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน
บริษัทไทยเมเจอร์ ลิสซิ่ง เพียงประสบการณ์บริหารสามปี รัชฎาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทกฤษดานคร
และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทกฤษดามหานคร ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารไอทีเอฟ
นับตั้งแต่ไอทีเอฟตกอยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลกฤษดาธานนท์ รัชฎาจะเป็นตัวเปิดมากที่สุดในการให้ข่าวแก่สาธารณชน
ถึงแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกของไอทีเอฟ โดยเฉพาะเป้าหมายบุกสินเชื่อธุรกิจเช่าซื้อเพื่อครองอันดับ
1 ใน 5 ของวงการนี้ ทั้งๆ ที่ยุคเก่าสมัยศุภรัตน์เป็นกรรมการผู้จัดการนั้น
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แทบไม่มีกิจกรรมที่จะสร้างรายได้ให้เข้ามาเลย
ภูมิหลังของประสบการณ์ธุรกิจที่คลุกคลีกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ทำให้ภารกิจที่รัชฎาดูแลที่ไอทีเอฟคือ
การดูแลด้านนโยบายของสายงานสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีศรายุทธ์ ขาวละเอียดเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเช่าซื้ออยู่
ศรายุทธ์ เพิ่งจะเข้าร่วมงานกับไอทีเอฟเมื่อต้นปีนี้เอง โดยการทาบทามของวิศณุ
นิเวศน์มรินทร์ รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเคยมีสายสัมพันธ์ทำงานร่วมกันที่บริษัทเงินทุน
เอจีซี ศรายุทธ์ถือว่าเป็นขุนพลที่มีประสบการณ์ร่วม 20 ปีในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อนับตั้งแต่เริ่มงานที่บริษัทสยามราษฎร์ลิสซิ่งของพร
สิทธิอำนวย ต่อมาอยู่ที่ เอจีซีก่อนที่จะทำที่นี่
เมื่อเข้ามาร่วมงานกับไอทีเอฟ ศรายุทธ์ได้โชว์ผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อได้ถึงเดือนละ
80 ล้านบาทและในไตรมาสหลังจะทวีคูณเป็นสองเท่า เพื่อให้บรรลุตามนโยบายและเป้าหมายที่ต้องการปล่อยสินเชื่อด้านนี้ให้ได้ครบ
1,000 ล้านบาท โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ ศูนย์กลางรถยนต์มหานครหรือ เอ็มซีซี
ขณะเดียวกัน ในสายของกรรมการรองผู้จัดการอีกคนที่มีบทบาทสำคัญในการหารายได้เข้าไอทีเอฟก็คือ
วิศณุ นิเวศน์มรินทร์ หน้าที่ของวิศณุจะคุมสำนักงานใหญ่อยู่สองสายคือ ธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์
ด้วยวัย 43 ปีในปัจจุบัน วิศณุ ถือได้ว่าเป็นมืออาชีพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน
และไฟแนนซ์ล้มในปี 2528 มาแล้วเพียงแต่กิจการบงล. เอจีซี (ประเทศไทย) ที่วิศณุเข้าไปบริหารนั้นไม่ประสบปัญหาวิกฤตเช่นที่อื่น
เพราะเอจีซีเพิ่งเริ่มก่อตั้งในปี 2528 วิศณุเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารที่บุกเบิก
เอจีซี และที่นี่เองที่ทำให้วิศณุได้รู้จักกับวิชัย กฤษดาธานนท์ซึ่งมาขอกู้และใช้บริการที่นี่
และเมื่อวิชัยซื้อไอทีเอฟได้แล้วเขาได้ชวนวิศณุเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการไอทีเอฟ
ประสบการณ์ทำงานหลังจากวิศณุได้บินไปเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA)
ที่ SOUTHE ASTERN OKLAHOMA STATE UNIVERSITY สหรัฐอเมริกาเคยผ่านคอร์สฝึกอบรมระดับบริหารจาก
WESTPAC COLLEGE ที่นิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะมารับเป็น EXECUTIVE
DIRECTOR ประจำ เอจีซีประเทศไทย
WESTPAC คือบริษัทแม่ของ บงล. เอจีซี ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมหาศาลถึง 4,000
ล้านเหรียญ ดังนั้นนโยบายการขายกิจการ บงล. เอจีซีในประเทศไทยและทั่วโลกเพื่อนำเงินไปลดการขาดทุนของบริษัทแม่
ทำให้ผู้บริหารของ เอจีซีหลายคนรวมทั้งวิศณุด้วยได้ลาออกมาทำงานตามไฟแนนซ์ต่างๆ
การได้วิศณุเข้ามาร่วมในทีมมืออาชีพของไอทีเอฟ ก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดี
และเมื่อคราวเกิดเรื่องราวที่มีผลกระทบใหญ่โตเกี่ยวกับวิชัย กฤษดาธานนท์สร้างราคาหุ้น
วิศณุก็ได้เข้ามาช่วยแก้เกมในลักษณะตัวเปิดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแทนรัชฎาที่ลดบทบาทด้านนี้ลงไป
วิศณุได้วางแผนกำลังขุนพลหลักๆ ในสายธุรกิจที่เขาดูแลอยู่ สำหรับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการหลักทรัพย์ของไอทีเอฟก็ได้ขุนพลหน้าหยกอย่างธานี
เขมะคงคานนท์ ซึ่งลาออกจากผู้อำนวยการฝ่ายห้องค้าของบงล. ธนพลมาร่วม โดยธานีก็ได้ดึงเอาทีมงานจากธนพลคือจาระนัย
เกตุประทุมมาเป็นผู้อำนวยการสายการตลาด 1 ด้วย
ธานีเคยรักษาการกรรมการผู้จัดการ บงล. เอราวัณทรัสต์เมื่อสมัยดร. มารวย
ผดุงสิทธิ์ลาออกไปเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันสายสัมพันธ์ระหว่างดร.
มารวยและธานียังคงแนบแน่นดั่งอาจารย์กับลูกศิษย์กันอยู่
ภารกิจของธานีคือการสร้างส่วนแบ่งมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยให้ไอทีเอฟได้ตามเป้าหมายคือ
1.5-2% ขณะที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับไม่น่าพอใจแค่ 0.88% เท่านั้น ดังนั้นลักษณะการดำเนินงานด้วยนโยบายที่ให้สินเชื่อแก่ลูกค้าหลักทรัพย์
(MARGIN LOAN) ประมาณ 25% ก็สามารถจะเพิ่มอำนาจซื้อปริมาณหุ้นให้มากขึ้น
ทั้งๆ ที่ในสมัยศุภรัตน์บริหารแบบอนุรักษ์นิยมอยู่ ลูกค้าส่วนใหญ่เล่นเงินสด
จะมีลูกค้ามาร์จิ้นน้อยมากเพียง 15 รายในวงเงินไม่กี่สิบล้าน ซึ่งก็มีจุดดีในยามคับขันที่ทำให้ไอทีเอฟไม่ประสบปัญหา
"กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" เช่นเดียวกับหลายๆ ไฟแนนซ์ที่ปล่อยมาร์จิ้นสูงนับพันๆ
ล้านบาท
"เป้าหมายมาร์จิ้นปีนี้เรากะประมาณ 200 กว่าล้าน ตอนนี้อยู่ระหว่าง
120 เราได้เปรียบที่เราเริ่มปล่อยในช่วงที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัว ผมคิดว่าถ้าเราต้องการขยายมาร์เกตแชร์
ตัวมาร์จิ้นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการหลักทรัพย์คนใหม่เล่าให้ฟัง
แรงเสริมที่ช่วยธานีทำงานให้ได้ตามเป้าหมายอย่างมากๆ อีกประการหนึ่งก็คือ
การทุ่มทุนมูลค่า 30-40 ล้านบาท ในการปรับปรุงและตกแต่งห้องค้าหลักทรัพย์ในบริเวณชั้น
2 และชั้น 3 ให้มีความทันสมัยด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ
เช่น กระดานเคาะซื้อขายหุ้นด้วยอิเลคโทรนิกส์บอร์ดอันใหญ่โตเกือบเต็มพื้นที่
ขณะที่ชั้น 3 ก็จะสร้างห้องระดับวีไอพีจำนวน 20 ห้องให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูง
แผนการปรับปรุงห้องค้าดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในราวอีกสองเดือนข้างหน้า
ขณะเดียวกันกับที่การโยกย้ายหน่วยงานทั้งหมด ยกเว้นฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ไปที่ชั้น
1-8 ของตึกใหม่ทั้งหมด
สำหรับขุนพลอีกคนที่วิศณุเพิ่งดึงจากบริษัท เอจีซีเข้ามาร่วมงานด้วย คือไพบูลย์
ศรีสวัสดิ์ มืออาชีพด้านสินเชื่อโครงการของแบงก์ไทยพาณิชย์และ เอจีซี ที่เข้ามาลุยงานในฐานะผู้อำนวยการสินเชื่อโครงการและเคหะ
ขณะเดียวกันก็รักษาการสายสินเชื่อธุรกิจซึ่งได้รวมสินเชื่อส่วนบุคคลและพาณิชย์ที่ยังมีปริมาณงานไม่มากนักเข้าไปด้วย
ศักยภาพของไอทีเอฟในการขยายตัวด้านสินเชื่อธุรกิจนี้ยังไปได้อีกไกล โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเพราะอัตราส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนรวมเท่ากับ
3.1:1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราสูงสุดที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ถึง 16.6 เท่า
"ผมตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2536 การเติบโตด้านสินเชื่อเราสามารถปล่อยได้ถึง
10,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเราสามารถทำได้ แต่ปรากฏว่าเราต้องเบรคตัวเองไว้จนถึงมิถุนา
เป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ผิดหมด เราจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรก"
วิศณุเล่าให้ฟัง
ลูกค้ารายใหญ่ที่ไพบูลย์จะได้จากงานที่ทำนี้คือ ลูกค้ารายในโครงการกฤษดามหานคร
25 และ 26 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างการโอนแล้ว
ทางด้านสายบริหารและพัฒนาตลาดเงินทุน วิศณุได้แต่งตั้งให้ภัทรี สรรพานิช
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาตลาดทุนเป็นผู้รักษาการไปก่อน ภัทรีเป็นพนักงานไอทีเอฟที่อยู่มานานพอๆ
กับจรูญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา
ขณะที่ทีมบริหารในสายสำนักงานใหญ่เต็มไปด้วยพลังคนหนุ่มไฟแรงที่ระดมมืออาชีพมาจาก
เอซีจีเป็นหลัก ทางด้านสายกิจการสาขาทั้ง 6 แห่งและสายวาณิชธนกิจ (INVESTMENT
BANKING) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับด้านนโยบายจากกรรมการรองกรรมการผู้จัดการ
บันลือ ฉันทาดิศัย
มาดของนักบริหารการเงินของบรรลือได้สะท้อนออกมาทางบุคลิกในวัย 43 ปีของเขา
โดยประวัติการศึกษาของบรรลือที่จบวิศวโยธาจาก MIT (MASSACHUSETTS INSTITUTE
OF TECHNOLOGY) แต่อยากหักเหจากชีวิตนายช่างมาเป็นผู้บริหารจึงเปลี่ยนเข็มเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ
จนกระทั่งจบเอ็มบีเอจาก UNIVERSITY OF CHICAGO
เมื่อกลับมาเมืองไทย ก็ทำงานครั้งแรกที่ทิสโก้เป็นเวลาสองปี ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการอาวุโสที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี
เพียงปีกว่าๆ บรรลือยังไม่หยุดแสวงหาจนกระทั่งมาอยู่ที่แบงก์กรุงเทพ อันเป็นที่ๆ
บรรลือทำงานนานที่สุดถึง 12-13 ปี งานที่ดูแลหลักๆ คือด้านต่างประเทศ และเคยดูแลด้านวาณิชธนกิจด้วย
แต่สามปีสุดท้ายบรรลือเคยไปอยู่สาขาต่างประเทศที่อินโดนีเซีย จาร์กาต้าและสิงคโปร์
"กลับมาผมก็จอยน์งานกับกลุ่มของคุณโชติ โสภณพนิชอยู่ 2-3 ปี ดูแลบางบริษัทที่คุณโชติลงทุนเช่น
บงล. พัฒนสิน ผมเป็นกรรมการบริหารที่นั่น 2-3 ปี จนกระทั่งคุณโชติขายหุ้นให้แก่บริษัทหลักทรัพย์
โนมูระ ซึ่งผมก็อยู่ในดีลอันนี้ด้วย พอขายเสร็จผมก็ออกมาช่วยดูแลด้าน VENTURE
CAPITAL FUND ของคุณโชติด้วย แต่เมื่อธุรกิจมันน้อยลงๆ ผมก็เลยลาออกมาอยู่ที่เอกธนกิจในปีที่แล้วในตำแหน่ง
EXECUTIVE VICE PRESIDENT ซึ่งดูอยู่ด้าน CONTROLLER และ INVESTMENT บางงาน
แต่งาน CONTROLLER มันเป็นงานภายในที่ไม่เจอะเจอลูกค้าหรือบุกเบิกข้างนอกพอทางนี้ชวนก็เห็นว่าที่ไอทีเอฟมีศักยภาพดีมากมีสาขาก็ไม่ได้ทำอะไรเลย
ก็คิดว่าเราจะทำอะไรที่ ACTIVE ได้มาก" บรรลือเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ทำงานก่อนที่จะตัดสินใจมาที่ไอทีเอฟเมื่อปีที่แล้ว
บรรลือเริ่มบุกเบิกสายงานวาณิชธนกิจขึ้นใหม่ในไอทีเอฟ โดยได้ชักชวนมืออาชีพรุ่นใหม่อย่างเจษฎาวัฒน์
เพรียบจริยวัฒน์ เข้ามาเป็นขุนพลบุกเบิกสายงานใหม่นี้ เพราะโดยประสบการณ์ที่เจษฎาวัฒน์เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจของ
บงล. นครหลวงเครดิต จะจุดประกายกิจกรรมทางธุรกิจที่ไอทีเอฟจะทำได้ครบ
"เราคิดว่า ทางวาณิชธนกิจจะแอคทีฟมากขึ้นและคงจะมีรายได้อื่นๆ ที่จะเข้าไปเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ซึ่งจะทำในลักษณะร่วมและเราจะพยายามเป็นสปอนเซอร์ด้วย
ขณะนี้กำลังคุยอยู่กับลูกค้า 2-3 บริษัทโดยเราจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่จะเอาเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น"
บันลือ รองกรรมการผู้จัดการเล่าให้ฟังถึงการบุกเบิกสายงานใหม่นี้
ก่อนหน้านี้ ในสายวาณิชธนกิจได้มีการลาออกของหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุนคือ
สุรเชษฐ์ สุขแท้ ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ
บงล. ไทยซัมมิท ซึ่งมีศุภรัตน์ ผ่องศรี เป็นกรรมการอยู่ด้วย
ส่วนสายงานหลักทางด้านกิจการสาขาทั้งหก ได้แก่ สาขาพระโขนง สาขาราชเทวี
สาขาลาดพร้าว สาขาเสือป่า สาขาตากสิน และสาขาชลบุรี ก็มีคนช่วยดูแลคือจรูญ
บำรุงศรี ซึ่งอดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไปที่มีอยู่มานาน 7-8 ปี เคยรักษาการผู้จัดการสาขาเสือป่าด้วย
สาขาทั้งหกแห่งของไอทีเอฟไม่เป็นอย่างที่วาดหวังกันว่าจะมีศักยภาพเติบโตทั้งๆ
ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเงินทุนครบ 8 ประเภท แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือหน้าที่หลักส่วนใหญ่ของสาขามีอยู่สองด้านคือ
หาเงินฝากกับค้าหลักทรัพย์ แต่การปล่อยสินเชื่อน้อยมากอำนาจการปล่อยสินเชื่อของผู้จัดการสาขาคนหนึ่งได้เพียง
2.5 ล้านบาทต่อราย ซึ่งอำนาจนี้ก็มีปัจจัยการพิจารณาอาวุโสประกอบอีกด้วย
ขณะที่สินเชื่อระดับ 10-25 ล้านบาทจะเข้าคณะกรรมการบริหารบอร์ด แต่ถ้าเกินกว่าระดับ
25 ล้านบาทแล้วต้องเข้าบอร์ดใหญ่ที่มีตัวแทนวิชัยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้พิจารณาร่วมด้วย
"สินเชื่อเราไม่ค่อยเน้น เพราะทางสำนักงานใหญ่จะเป็นคนปล่อย แต่เราจะเน้นด้านหลักทรัพย์มากหน่อยเพราะทำรายได้ค่อนข้างเร็ว"
บรรลือเล่าให้ฟัง
สำหรับโครงการที่ศุภรัตน์ อดีตกรรมการผู้จัดการเคยวางแผนจะเปิดสาขาที่เชียงรายโดยยุบสาขาเสือป่าทิ้ง
ปรากฏว่าผู้บริหารชุดใหม่ทำหนังสือขอยกเลิกไม่ไปเปิดที่เชียงรายแล้วเพราะไม่คุ้มและไกลหูไกลตา
ควบคุมดูแลลำบาก แต่ได้ขอย้ายที่ทำการสาขาเดิมคือ สาขาลาดพร้าวไปเช่าที่ใหม่บริเวณถนนรัชดาภิเษกตรงเขตห้วยขวางและย้ายสาขาเสือป่าไปเช่าที่ปิ่นเกล้าบริเวณอภิชาติภัตตาคาร
เนื่องจากที่เดิมคับแคบไม่มีที่จอดรถเพียงพอบริการลูกค้า
"เราย้ายสาขาหนึ่งต้องลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท และต้องตกแต่งห้องค้าหลักทรัพย์ให้ทันสมัยซึ่งเราคิดว่าจะทำรายได้ให้เราได้มาก
สำหรับสาขาเดิมก็จะลงทุนปรับปรุงเท่าที่จะทำได้ เพราะตอนนี้มีเพียงสองแห่งที่มีอิเล็คทรอนิกส์บอร์ดคือ
สาขาราชเทวีและสาขาชลบุรีซึ่งเทรดกันวันละ 20-30 ล้านบาท ส่วนสาขาที่ระดมเงินฝากได้มากที่สุดคือสาขาตากสินและพระโขนง"
บรรลือเล่าให้ฟังถึงแผนย้ายสาขาใหม่ ซึ่งต้องขายสาขาเก่าทั้งสองที่จะนำรายได้นับล้านบาทเข้าไอทีเอฟ
ยุทธศาสตร์การปรับแผนพัฒนาธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ของไอทีเอฟในครึ่งปีหลังนี้ดูจะห่างไกลจากเป้าหมายอีกไกล
กำไรสุทธิที่คาดว่าปี 2536 จะทำได้ 160.9 ล้านบาทเป็นแรงกดดันอันยิ่งใหญ่ที่กดทับเส้นประสาทแทบบ้า
ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างวิชัย กฤษดาธานนท์ และผู้บริหารไอทีเอฟจึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนด้วยความหวังใหม่
แต่อย่านานเกินรอ…มิฉะนั้นอาจจะมีข่าวแบงก์กรุงเทพซื้อหุ้นอีกครั้งก็ได้
!!