Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2536
"รวมหัวกันเกิด" เซาท์เทิร์นซีบอร์ด"             
โดย ชาย ซีโฮ่
 


   
search resources

เซาท์เทิร์นซีบอร์ด
Investment




โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการ SOUTHERN SEABOARD แม้จะเริ่มมีการวางแผนตั้งแต่ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก แต่ในวันนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง คือชวน หลีกภัย เป็นคนภาคใต้ความหวังที่จะเห็นโครงการนี้เกิดขึ้น ดูจะไม่เลื่อนลอยอีกต่อไป เพียงแต่ว่า โครงการนี้ อาจจะเปลี่ยนโฉมไปจากแบบร่างของพลเอกชาติชาย แบบที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ ?!!

มันจะเป็นจริงหรือ ?

นั่นคือคำกล่าวถึงโครงการพัฒนาภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือที่นิยมเรียกกันทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าโครงการ SOUTHERN SEABOARD

เพราะแม้ว่าโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดนี้ จะถูกร่างขึ้นมาด้วยมันสมองของคณะที่ปรึกษารัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 3 ปีก่อนแต่ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าโครงการนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างนอกเหนือจากความฝันบนแผ่นกระดาษ

มิหนำซ้ำ ปัญหาก็คือ โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ !!!

"โครงการนี้เป็นเพียงโครงการหาเสียงของพรรคชาติไทย (ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นพลเอกชาติชายเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย) ไม่มีทางเป็นไปได้" นักธุรกิจหลายคนเอ่ยกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องนี้พร้อมทั้งย้ำว่า เป็นเพียงหนึ่งในการวางแผนปั่นราคาที่ดินของคนในพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น

"คุณมาดูได้เลย ที่ดินในอำเภอนาเดิมและอำเภอใกล้เคียงจำนวนมาก เป็นที่ดินของพรรคพวกพลเอกชาติชาย หรือไม่ก็คนพรรคชาติไทย" คนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกหลายคนกล่าวเสริมให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เช่นเดียวกับที่มีการยืนยันถึงการถือครองที่ดินของนักการเมืองคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกร ทัพพะรังสี แห่งพรรคชาติพัฒนา (กรออกจากพรรคชาติไทยมาพร้อมกับพลเอกชาติชาย) พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ซื้อที่ดินเพิ่มจากที่เคยมีอยู่ในจังหวัดกระบี่ หรือเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์

กระทั่งกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ เช่น กลุ่มมั่นคงเคหะการ กลุ่มตระกูลรัตตกุล กลุ่มตระกูลโสภณพนิช ต่างก็มีการซื้อที่ดินเพิ่มในพื้นที่ที่เชื่อว่าจะเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ อันแสดงถึงความมั่นใจต่อโครงการในยุคของพลเอกชาติชาย

การะทั่งการที่กลุ่มนักพัฒนาที่ดินอย่างธนายงที่มีการซื้อที่ดินไว้เป็น LAND BANK สำหรับพัฒนาที่ดินรองรับการเกิดโครงการที่ตำบลท้องเนียน อันเป็นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ก็แสดงถึงความมั่นใจในโครงการนี้

แต่การที่รัฐบาลพลเอกชาติชายถูกรัฐประหารโดยคณะรสช. เมื่อปี 2534 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการนี้ อย่างน้อยก็คือ การเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ที่ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า จะมีการสานต่อโครงนี้อย่างจริงจังแค่ไหน

ตัวอย่างที่เห็นก็คือ การชะงักงันของโครงการภายหลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากพลเอกชาติชาย คือรัฐบาลอานันท์ รัฐบาลสุจินดาแทบจะไม่ให้ความสนใจกับโครงการนี้เลยนอกจากเรื่องงานของสภาพัฒน์

ยิ่งบวกกับการเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศอิรักและประเทศคูเวต จนเกิดเป็นสงครามในอ่าวเปอร์เซียขึ้นเมื่อปี 2533 ที่ต่อเนื่องถึงปี 2534 ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคูเวตไม่ดีอย่างเคย และส่งผลต่อเนื่องถึงแนวโน้มการลงทุนของคูเวตในโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่มีแผนจะสร้างโรงกลั่นขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

แม้จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในประเทศในวันนี้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลคูเวต ยังแสดงความมั่นใจกับโครงการนี้ ด้วยการเข้าพบผู้นำรัฐบาลไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและยืนยันว่า คูเวตยังสนใจที่จะลงทุนในโครงการนี้อยู่

ผ่านพ้นรัฐบาลอานันท์ 1 รัฐบาลพลเอกสุจินดา รัฐบาลอานันท์ 2 จนถึงรัฐบาลชวนในวันนี้ หลายคนเริ่มเชื่อกันว่า โครงการนี้จะเริ่มต้นเสียที

ด้วยเหตุผลที่หลายคนเชื่อว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของชวน หลีกภัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องเร่งสร้างโครงการนี้เพื่อเป็นผลงานสำหรับฐานเสียงของพรรคในภาคใต้

ยิ่งรัฐบาลชวนมั่นคง โครงการนี้ยิ่งมั่นใจว่าน่าจะเกิดขึ้น

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าที่จะยืนยันว่าความคิดของคนเป็นความคิดที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ข้อสรุปมีเพียง 2 ประการคือทำและไม่ทำโครงการนี้เท่านั้น

ในส่วนของฝ่ายที่เห็นว่าโครงการนี้สามารถที่จะทำได้นั้น มีเหตุผลว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดนั้น กว่าที่นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ จะสามารถทำพิธีเปิดโครงการได้ก็กินเวลานานถึง 10 กว่าปี จึงยังไม่ควรที่จะตีความว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้กลายเป็นโครงการที่เป็นไปไม่ได้ในวันนี้

"รัฐบาลนายกชวน เป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานเสียงหนาแน่นในภาคใต้ โครงการนี้จึงเชื่อว่าจะต้องดำเนินการได้แน่นอนในรัฐบาลนี้" นักวิเคราะห์ที่เห็นด้วยกล่าว

มิหนำซ้ำ โครงการนี้เป็นบทพิสูจน์ถึง VISION ของชวน หลีกภัยอีกด้วย !!!

พิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่และหอการค้าภาคใต้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดนั้น รัฐบาลนายกชวนจะเอาจริงแน่นอน

"รัฐบาลนี้เพิ่งอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างทางระหว่างกระบี่-ขนอมไปแล้ว 9,000 ล้านบาทอันเป็นเครื่องชี้ว่ารัฐบาลนี้เอาจริงแน่นอนกับโครงการนี้แน่นอน" ส.ส. กระบี่ที่เป็นจังหวัดหลักแห่งหนึ่งของโครงการบอก "ผู้จัดการ" ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนั้น ก็คือเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้เป็นสะพานเศรษฐกิจ หรือ LAND BRIDGE

แต่ในส่วนของฝ่ายที่เชื่อว่าโครงการนี้ไม่สามารถที่จะเริ่มได้ และอาจจะไม่มีวันเห็นโครงการพัฒนาประเทศขนาดใหญ่ในภาคใต้โครงการนี้ได้นั้น พวกเขาเชื่อว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่กระทั่งวันนี้ผลการศึกษาแผนแม่บทยังไม่เสร็จสมบูรณ์เลย ทั้งๆ ที่ระยะเวลาล่วงเลยมานานกว่า 3 ปีแล้ว มีเพียงร่างสรุปเท่านั้น

"เราเห็นใจในเรื่องความล่าช้า เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องใช้เวลา แต่ไม่ต้องการที่จะให้เป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสการเมือง เพราะการเมืองของไทยไม่มีความมั่นคง ไม่ต้องการให้เป็นว่า ยุคนี้เป็นยุคนายกชวน ก็จะเอาอย่างนี้ พอยุคหน้าไม่รู้ว่ารัฐบาลเป็นใครก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก จึงอยากเห็นสภาพัฒน์ร่างแผนแม่บทให้เสร็จโดยเร็ว เพราะจะเป็นกรอบให้รัฐบาลทุกชุดดำเนินการตาม" มณฑิรา เสรีวัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่หลักอีกแห่งของโครงการ ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

และในส่วนของพื้นที่นครศรีธรรมราชนั้น ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าพอสมควร เมื่อมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศ คือ ซัมซุง คอนสตรัคชั่น จากประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ขนอม มูลค่า 1,300 ล้านบาทของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และนักธุรกิจจากประเทศออสเตรเลียเดินทางมาดูพื้นที่ในนครศรีธรรมราช และเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่และภาคเอกชนคือหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งให้การยืนยันว่าพวกเขาสามารถที่จะดำเนินการได้หลายอย่าง เช่น สะพานเศรษฐกิจ เพียงแต่รัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน

"หลายๆ อย่างในพื้นที่ก็มีการเตรียมแล้วอย่างท่าเรือน้ำลึกก็ตกลงใช้ที่เดิม (ตำบลท้องเนียน-อำเภอขนอม) เราจึงไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ" มณฑิรากล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า เรื่องการขยายสนามบินพาณิชย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกรมการบริพาณิชย์มองว่าไม่คุ้มนั้น ไม่เป็นตัวเลขที่ถูกต้องเพราะการที่นักธุรกิจในนครศรีธรรมราชจำนวนมากนิยมที่จะใช้สนามบินพาณชิย์ที่หาดใหญ่หรือสุราษฎร์ธานี มากกว่าที่จะขึ้นที่นครศรีธรรมราชเองเพราะสนามบินนครศรีธรรมราชเป็นสนามบินเล็ก "เชื่อว่าเมื่อเป็นสนามบินนานาชาติหรือเป็นสนามบินใหญ่ การใช้บริการคงมากด้วย"

จุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการนี้ ได้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน 1 ที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 2535 แล้วมีผลสรุปรับทราบโครงร่างแผนแม่บทโครงการของสภาพัฒน์ฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการสร้าง "สะพานเศรษฐกิจ" เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือและการค้าของโลก

ผลสรุปของสภาพัฒน์ฯ รายงานไว้ว่า แผนงานที่จำเป็น ควรจะดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 10 ปี เพื่อให้เศรษฐกิจของพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ สามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้

อันพื้นที่ในโครงการนี้ ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่และนครศรีธรรมราช มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 32,254 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ 6.3% ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีประชากรรวมกันจำนวน 2.8 ล้านคน หรือ 5.1% ของประชากรทั้งประเทศ

ความผันผวนทางการเมืองในประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีทั้งรัฐประหาร วิกฤตการณ์ทางการเมืองจนมีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 4 ชุดในปีเดียว ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศไม่มีเสถียรภาพมา ความเชื่อถือของนักลงทุนที่เคยคิดว่ารัฐบาลจะสานต่อโครงการมีไม่มากนัก

แต่เมื่อรัฐบาลนี้ มีนายกรัฐมนตีที่เป็นคนภาคใต้ความหวังที่จะเห็นโครงการนี้เกิด จึงมิใช่ความหวังที่เลื่อนลอยอีกแล้ว

ยิ่งบวกกับการรุกของมาเลเซียในเรื่องเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายกมหาเด โมฮัมหมัด ด้วยการสร้างโครงการพัฒนาประเทศโดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาด้วยแล้ว โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ยิ่งจำเป็นต้องเร่งเกิด !!!

สำหรับสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาภาคเหนือ (NORTHERN GROWTH TRIANGLE) ของมาเลเซียนี้ เป็นแผนการพัฒนาที่จะดึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 3 ประเทศด้วยกัน คือไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่อยู่ที่เกาะภูเก็ต เกาะปีนังและเมืองเมดานของทั้ง 3 ประเทศ

นักธุรกิจหลายคนให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่โครงการนี้ จะมีการร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย เพราะโครงการนี้หากมองจริงๆ แล้ว เป็นโครงการนานาชาติ ที่ไม่น่าที่รัฐบาลไทย สามารถที่จะดำเนินการได้โดยลำพัง

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ มาจากการเริ่มต้นของมาเลเซีย ดังจะเห็นได้จากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรีชวนเดินทางไปมาเลเซีย หนึ่งในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเจรจากับนายกรัฐมนตรีไทยก็คือ เรื่องการร่วมมือกันสร้างสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาภาคเหนือ หรือ NORTHERN GROWTH TRIANGLE เพื่อเป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศทั้งสอง (โดยมีอินโดนีเซียร่วมด้วยอีกประเทศ) ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนหนึ่งของแนวคิดของนายกมาเลเซียนั้น ก็เพื่ออาศัยการพัฒนาโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดของไทยเป็นประตูในการเปิดเศรษฐกิจมาเลเซียทางเหนือให้เจริญยิ่งขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชวน หลีกภัย เอาจริงกับเซาท์เทิร์นซีบอร์ดแน่

ความจริงแล้ว เมื่อคราวที่พลเอกชาติชายอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางไปเยือนมาเลเซียเมื่อปี 2532 ได้เคยหารือเรื่องการเชิญชวนมาเลเซียมาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้วย เพื่อให้มีการกระจายแผนการพัฒนาลงไปเชื่อมกับแผนสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาทางเหนือของมาเลเซีย แต่ปรากฏว่าในตอนนั้นนายกมหาเดยังไม่รับปากเรื่องนี้ เพราะในขณะนั้นมาเลเซียสนใจเรื่องแผนพัฒนาสามเหลี่ยมทางภาคใต้ร่วมกับสิงคโปร์มากกว่า

นอกจากนั้นมาเลเซียเองไม่เชื่อว่า โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้นได้ เพราะพวกเขาเห็นบทเรียนของไทยมาหลายครั้งว่าการทำโครงการแต่ละครั้ง จะต้องใช้เวลานานและบางโครงการยังไม่เกิดด้วยซ้ำ อย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็ใช้เวลานานนับ 10 ปี เรื่องสนามบินหนองงูเห่าก็เพิ่งพูดกันใหม่

แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาดูแลนโยบายเป็นคนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กลับเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน (หากรัฐบาลนี้มั่นคง) จึงชิงเสนอที่จะร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศ ด้วยการเชื่อมโครงการสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาทางภาคเหนือของมาเลเซีย เข้ากับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย

"อยากเห็นรัฐบาลมองการณ์ไกลด้วยการร่วมมือกับต่างชาติเพื่อนบ้าน ไม่เฉพาะแต่มาเลเซีย หากแต่น่าจะรวมถึงเวียดนามหรือพม่าด้วย" ประธานหอการค้านครศรีธรรมราชกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ความเห็นของมณฑิราที่จำเป็นที่จะต้องมีการประสานงานกับเพื่อนบ้านนั้น ได้มีการยกตัวอย่างถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจแหล่งพลังงานร่วมกัน ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ที่เชื่อว่าน่าจะมีก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นจำนวนมาก และจากพื้นที่ตรงนั้น การวางท่อก๊าซมายังขนอม น่าจะย่นระยะทางมากกว่าการวางท่อไปขึ้นที่โรงแยกก๊าซที่ระยองในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EASTERN SEABOARD)

ดูเหมือนว่า แนวคิดของประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกับคนในปตท. ที่มองว่า ไทยน่าจะดึงศักยภาพด้านวัตถุดิบจากเพื่อนบ้าน อย่างประเทศพม่าหรือเวียดนามโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในโครงการ

แม้มาเลเซียเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยชุดนี้ จะเร่งผลักดันเกิดโครงการ แต่สำหรับสภาพัฒน์ฯ ในช่วงการศึกษาครั้งแรก ดูจะยังไม่เห็นด้วยนัก

พิสิฎฐ ภัคเกษม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวถึงการศึกษาของสภาพัฒน์ว่าควรจะชลอโครงการนี้ไปประมาณ 10 ปี จนกว่าจะมีความพร้อมในเรื่องต่างๆ มากกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น เรื่องการดึงทุนต่างชาติเข้ามา
แต่ ดร. สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลเรื่องนี้ในรัฐบาลนี้กลับประกาศว่า โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด จะต้องเร่งเกิดในเร็ววัน

นัยสำคัญของคำกล่าวอย่างหนักแน่นของ ดร. สาวิตต์ มิอาจที่จะไม่กล่าวว่า นี่คือนโยบายหนึ่งของรัฐบาลชวน หลีกภัย ว่าจะต้องเร่งโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นที่รู้กันว่า ดร. สาวิตต์ คือหนึ่งในมันสมองทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชวนและพรรคประชาธิปัตย์

มิหนำซ้ำ ตัวของ ดร. สาวิตต์ ก่อนที่จะลาออกจากราชการมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนปีก่อนนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เขาเป็นนักวิชาการที่รู้เรื่องโครงการนี้เป็นอย่างดี ในฐานะข้าราชการระดับสูงของสำนักงานสภาพัฒน์ ถึงขั้นเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) และเป็นที่ปรึกษาของพลเอกชาติชาย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด

ความสำคัญของ ดร. สาวิตต์ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เห็นได้ชัดว่า เขาเป็น ส.ส. สมัยแรก แต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีไม่มากนักกับพรรคการเมืองพรรคนี้ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ทราบกันว่าคนจะเป็นรัฐมนตรีนั้น จะต้องเป็น ส.ส. 3 หรือ 4 สมัย

เมื่อคนสำคัญอย่าง ดร. สาวิตต์ เห็นว่าโครงการนี้ควรเกิด มีหรือที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นด้วย และมีหรือที่รัฐบาลจะไม่เร่งลงมือ

ดังนั้น หลายคนในพื้นที่เป้าหมายของโครงการทั้ง 5 จังหวัด อันได้แก่ กระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ต่างก็มั่นใจว่าโครงการพัฒนาประเทศโครงการใหญ่โครงการนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ยอมที่จะให้ล้มไปโดยไม่ทำอะไรเลย

"ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ก็พร้อมที่จะลงทุนในโครงการนี้ ตอนนี้มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่จะแสดงให้เห็นว่าจะเอาจริงอย่างไร" อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ที่สวมหมวก ส.ส. ประชาธิปัตย์ในวันนี้กล่าว

ปัญหาจึงมีเพียงว่า โครงการนี้เป็นเพียงโครงการหาเสียหรือเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจที่ควรจะลงมือทำอย่างจริงๆ เสียที

จากคำพูดของคนในสำนักงานคณะกรรมการพัมนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ พวกเขาต่างก็ยืนยันถึงผลการศึกษาว่าโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เป็นโครงการที่สมควรจะลงทุน

เพียงแต่ผลการศึกษาที่สรุปเป็นแผนแม่บท เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ระบุว่ารัฐบาลมีแนวทางเลือกสำหรับการดำเนินโครงการนี้ 2 แนวทาง

แนวทางแรก แผนแม่บทระบุเรียกว่า "โครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนา" ซึ่งแนวทางนี้ หมายความว่า ภาครัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินการทันทีเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างสะพานเศรษฐกิจ การสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น ซึ่งรูปแบบนี้ก็เหมือนกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่รัฐเป็นผู้ริเริ่มทุกอย่าง

ส่วนแนวทางที่ 2 ซึ่งเรียกว่า "การพัฒนาภูมิภาคเป็นตัวนำ" ซึ่งวิธีการนี้ รัฐบาลจะเปลี่ยนการดำเนินการด้วยการหันมาพัฒนาภูมิภาคใน 5 จังหวัดในพื้นที่เป้าหมายก่อน เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีความพร้อมที่จะรับการลงทุนขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อโครงการนี้เต็มรูปแบบ

แนวทางหลังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ไม่เป็นไปตามคาดหวังในวันนี้เพราะรัฐลงทุนทุกอย่างในขณะที่พื้นที่เป้าหมาย ไม่มีการเตรียมพร้อมที่จะรองรับมาก่อน จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในหลายๆ ด้าน

ผู้เกี่ยวข้องโครงการหลายคน อธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ดูเหมือนแนวทางหลังจะเป็นรูปแบบที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจ ที่จะดำเนินการด้วยการพยายามที่จะทุ่มเงินงบประมาณส่วนหนึ่งไปพัฒนาพื้นที่จังหวัดก่อน แล้วค่อยพัฒนาโครงการตาม

ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะในพื้นที่โครงการนั้น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกจังหวัดต่างก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น เช่น บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส. สุราษฎร์ธานี-รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ-ส.ส. สุราษฎร์ธานี-รมช. เกษตรฯ สัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.
นครศรีธรรมราช-รมว. ศึกษาธิการ สุรินทร์ พิศสุวรรณ ส.ส. นครศรีธรรมราช-รมช. ต่างประเทศ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ส.ส. พังงา-รมช. พาณิชย์

ขณะที่ ส.ส. ในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ คือ อัญชลี วานิช อาคม เอ่งฉ้วน พิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล ก็มีตำแหน่งเป็นเลขารัฐมนตรี

การที่จะผันเงินงบประมาณของรัฐไปลงทุนในการพัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับโครงการนี้ของรัฐบาลจึงสามารถที่จำได้โดยง่ายดาย

แต่ไม่ว่าจะมีการพัฒนาในรูปไหน ดูเหมือนแนวโน้มของโครงการนี้ จะออกมาในทางที่คำตอบจะเป็นบวก คือดำเนินการต่อเสมอ

เช่นเดียวกับการที่คูเวตยังยืนยันที่จะร่วมในโครงการนี้ ทั้งๆ ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศก็ย่อมถือเป็นผลทางบวกสำหรับโครงการนี้

กล่าวคือ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนของประเทศคูเวต นำโดยรัฐมนตรีพลังงานและน้ำมันของประเทศคูเวต ได้เข้าพบกับชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร. สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลโครงการนี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าและเจรจารายละเอียดการลงทุนสร้างคลังน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันตลอดจนถึงท่อส่งน้ำมันของฝั่งทะเลทั้งสอง

อาคม เอ่งฉ้วน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำคณะนักลงทุนจากคูเวตเข้าพบนายกรัฐมนตรีและคณะ ยังยืนว่ารัฐบาลและนักลงทุนคูเวตให้ความสนใจอย่างจริงจังที่จะลงทุนในโครงการนี้

"การลงทุนนี้ รัฐมองว่าควรจะลงทุนร่วมกับ ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) และที่ทราบก็คือ นักลงทุนคูเวตและญี่ปุ่น เข้าพบกับผู้ว่าการปตท. (เลื่อน กฤษณกรี) เพื่อสอบถามรายละเอียดเรื่องนี้แล้ว" อาคมกล่าว

และสำหรับคนกระบี่แล้ว พวกเขามั่นใจมากว่าโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดกระบี่มาก

"ผมยังยืนยันเหมือนเดิม คือมองว่า โรงกลั่นน้ำมัน ไม่ควรจะสร้างที่ขนอม เพราะทางฝั่งขนอมมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว โรงกลั่นควรจะอยู่ทางฝั่งกระบี่มากกว่า" พิเชษฐ์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับการศึกษาของปตท. นั้น โรงกลั่นน้ำมันที่จะสร้างในภาคใต้ในโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดนั้น จะต้องสามารถเริ่มดำเนินการกลั่นได้ในปี ค.ศ. 2000 อันจะเป็นเวลาเดียวกับที่ภาครัฐเริ่มนโยบายเปิดเสรีโรงกลั่น โดยควรจะมีกำลังการกลั่นน้ำมันวันละ 300,000 บาเรล โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อกลั่นน้ำมันสำหรับใช้ในประเทศและบางส่วนก็จะส่งออก

ที่ควรจะทราบก็คือ ปี ค.ศ. 2000 เป็นปีที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียประกาศว่า ประเทศจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม อันเป็นความท้าทายยิ่งต่อรัฐบาลชวน ว่าจะเริ่มต้นได้หรือยังกับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด

ขณะที่มาเลเซีย มีความคืบหน้าในโครงการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยมแห่งความเจริญภาคใต้ หรือสามเหลี่ยมแห่งความเจริญภาคเหนือ มีความคืบหน้าไปมากจนหลายๆ อย่างเป็นรูปเป็นร่าง แต่โครงการที่ไทยหวังจะเป็นโครงการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับในภูมิภาค กลับไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก แม้กระทั่งแนวคิด ยังต้องมาเริ่มต้นกันใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ว่าจะเริ่มพัฒนาในรูปแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก่อนหรือจะเป็นการพัฒนาภูมิภาคก่อน

นอกเหนือจากเรื่องว่าจะมีการสร้างโรงแยกก๊าซของปตท. ที่ขนอมในฝั่งอ่าวไทย และโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ใกล้เคียงกันแล้ว ดูเหมือนว่าไทยยังไม่มีการขยับอะไรเลย

โครงการนี้เป็นการท้าทายความเป็นผู้นำประเทศของชวน หลีกภัย อย่างยิ่ง !!!

โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันและสงครามระหว่างประเทศ เป็นสงครามเศรษฐกิจ

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีแนวคิดทางเศรษฐกิจระดับโลกด้วยการนำเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ยังย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ยังเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลต้องสนใจและดำเนินการ แต่ต้องดูความเหมาะสมของเวลาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาอย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

เช่นเดียวกับแนวคิดของ ดร. พิสิฏฐ ภัคเกษม เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ที่มองว่า รัฐจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินงานโครงการใหญ่ๆ บ้าง เพราะสภาพเศรษฐกิจไทยในวันนี้หมดยุคที่จะพึ่ง "บุญเก่า" ที่สร้างสมกันมานานแล้ว

แน่นอน โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด น่าจะเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจด้วย

ดร. พิสิฏฐ กล่าวถึงแนวคิดที่สภาพัฒน์ฯ ต้องการที่จะเห็นการเร่งดำเนินงานของรัฐเพื่อเร่งให้เกิดโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดว่า รัฐบาลชุดนี้ควรจะเร่งดำเนินการงานหลัก 4 อย่างก่อน นั่นคือ 1) เร่งการสร้างถนนเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตก คือ กระบี่-นครศรีธรรมราช โดยให้กรมทางหลวงเร่งดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว 2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่างๆ โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมแผนงานเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคต 3) ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโรงกลั่นทั้งเรื่องการลงทุน ขนาดกำลังการกลั่น จนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ปิโตรเคมี ระบบการขนส่งน้ำมัน 4) ตั้งหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นรูปของบรรษัท เพื่อสามารถที่จะประสานงานและดูแลนโยบายได้

"เรื่องการตั้งคณะกรรมการ เพื่อบริหารเซาท์เทิร์นซีบอร์ดนั้น ดร. สาวิตต์เองเห็นด้วยมานานแล้ว เพราะมองเห็นบทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ทราบมาว่าจะมีการเสนอ ครม. เร็วๆ นี้ และคงจะผ่าน เพราะรองบัญญัติ บรรทัดฐานก็เห็นด้วย" คนในสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

เชื่อกันว่า แนวคิดใหม่ของโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การคาดหวังให้เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีการวดหลังที่จะเปิดประเทศไทยให้เป็นประเทศศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศ

จึงไม่เป็นเรื่องแปลก ที่นายกมหาเดของมาเลเซียเสนอที่จะขอร่วมในโปรเจ็คยักษ์นี้

ทั้งๆ ที่มาเลเซีย ก็มีโครงการปิโตรเคมีอยู่แล้ว เพราะมาเลเซียมองเห็นว่า หากโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดสำเร็จขึ้นมา ไทยอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศแทนที่สิงคโปร์ได้

นับเป็นการแทงกั๊ก เพราะมาเลเซียเองมีโครงการร่วมกับสิงคโปร์ที่รัฐยะโฮห์บารูอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดทำสำเร็จหรือไม่ มาเลเซียก็มีแต่ได้กับได้

มาเลเซียมีความเชื่อมั่นมากว่า โครงการนี้รัฐบาลชวนคงจะไม่ปล่อยให้ล้มแน่นอน

ซึ่งนับว่าการแทงกั๊กของมาเลเซียไม่ผิดเพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลชวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายถึงการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจลงมติรับร่างดังกล่าวว่า เป็นเพราะที่ประชุมมองว่า แผนพัฒนาดังกล่าว จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การเดินเรือระหว่างประเทศ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ การเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างที่เคยคิดกันในตอนเริ่ม

นั่นหมายความว่า รัฐบาลชวน หลีกภัย เห็นชัดเจนถึงประโยชน์ของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นคิดเอาไว้เมื่อ 4 ปีก่อน

แต่รัฐบาลชวน ตัดสินใจที่จะ "ผ่าตัด" เปลี่ยนโฉมโครงการจากแบบเดิมที่รัฐบาลพลเอกชาติชายวางไว้ ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและน้ำมันในภูมิภาคนี้ ด้วยการมีโรงกลั่น 2 ฝั่งทะเลของภาคใต้ แปรองคาพยพของโครงการ มาเป็นการเป็นศูนย์กลางด้านพาณิชย์นาวี การค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ โดยการดึงศักยภาพความพร้อมของมาเลเซีย มาร่วมมือในการสร้างโครงการพะฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของรัฐบาลใหม่ให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์แบบที่ต่างไปจากแบบเดิม

เป็นการเปิดประเทศครั้งสำคัญของไทย !!!!

ที่สำคัญก็คือ มติดังกล่าว ดูจะสอดคล้องกันยิ่ง กับที่ ดร. อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาพัฒน์ฯ ซึ่งให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ถึงโครงการนี้ว่า จะมีการเปลี่ยนแนวคิดจากที่สมัยพลเอกชาติชายเคยริเริ่ม อันเนื่องมาจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะคูเวตเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากปัญหาที่เกิดในตะวันออกกลางนั่นเอง

"แต่เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่น้ำมันเท่านั้น…" ดร. อำนวยกล่าว

แนวคิดของรัฐบาลผ่านรองนายกฯ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจท่านนี้ ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อคราวที่ ดร. อำนวยได้รับเชิญจาก "ผู้จัดการ" ให้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "นโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้" เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่โรงแรมมายการ์เดน จังหวัดปัตตานี โดย ดร. อำนวยกล่าวตอนหนึ่งของการบรรยายพิเศษว่า ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นภาคที่เศรษฐกิจต่ำต้อยกว่าภาคอื่น เช่นเดียวกับภาคเหนือของมาเลเซียและภาคเหนือของอินโดนีเซีย เมื่อบวกกับแนวคิดว่าจะไม่สามารถที่จะอยู่ประเทศเดียวได้โดยลำพัง แนวคิดของพัฒนาร่วมกันที่เรียกว่า GOLDEN TRIANGLE จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สูง แทนที่จะให้รูปแบบของเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเพียงอย่างเดียว

การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกชวน หลีกภัยและเข้าพบกับนายกมหาเด โมฮัมหมัด ของมาเลเซียเมื่อเดือนมกราคม เรื่องความร่วมมือดังกล่าว จึงมีการเจรจากันอย่างเป็นทางการและถูกประกาศร่วมกัน

ชวน หลีกภัย ส.ส. ตรัง จังหวัดในภาคใต้ของไทย และมหาเด โมฮัมหมัด ส.ส. กลันตัน รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียสามารถที่จะประสานแนวคิดเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นของตนได้อย่างเหมาะเจาะที่สุด !!!

คราวมาเยือนไทยของคิอิชิ มิยาซาวา ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม ชวน หลีกภัย ยังกล่าวถึงการร่วมมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย (รวมทั้งอินโดนีเซีย) ให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบ เพราะเชื่อว่า นี่คือแนวทางในการส่งให้ไทยและภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นดินแดนสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกดินแดนหนึ่ง

ปัญหาเรื่องแนวคิด ดูจะลงตัวแล้วว่ารัฐบาลชวน หลีกภัย พร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องการสร้างฝันโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด จากแผนบนกระดาษให้เป็นแผนบนพื้นดิน แต่ในเรื่องปฏิบัติดูเหมือนว่า ทุกอย่างที่ผ่านมา 3 ปี ยังไม่มีอะไรขยับเลย ยกเว้นงานของปตท. ในเรื่องโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ฝั่งขนอม และโรงผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีการเตรียมการเอาไว้ตั้งแต่เริ่มมีการวางแผน

แม้กระทั่งโรงกลั่นน้ำมัน ถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะตอบได้ ว่าจะตั้งที่ฝั่งกระบี่หรือฝั่งขนอม หรือกระทั่งยืนยันว่ามีหรือไม่มีด้วยซ้ำ

แหล่งข่าวในทีมศึกษาเรื่องโรงกลั่นของปตท. และสภาพัฒน์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า การศึกษากำลังการกลั่นน้ำมัน ตัวเลขที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่วันละ 300,000 บาเรล เพราะจะมีเหลือสำหรับการส่งออกและบางส่วนใช้ในประเทศ

"โรงกลั่นที่เราศึกษานั้น เป็นโรงกลั่นที่สร้างขึ้นเพื่อ SERVE ต่างประเทศด้วย" แหล่งข่าวให้ความเห็นถึงตัวเลขที่เสนอกันในขั้นต้น ขณะที่มีการชี้ว่าความต้องการใช้ในภาคใต้นั้น มีเพียงประมาณ 30-40% ของกำลังการกลั่น ที่เหลือจะมีการส่งออกและบางส่วนจะส่งไปขายในส่วนกลาง

ปัญหาที่พูดถึงก็คือ ในปี 2538 โรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกจะเริ่มกลั่นอีก 2 โรง คือโรงกลั่นของเชลล์และของคาลเท็กซ์ ที่กลายเป็นข้อถกเถียงว่าเมื่อวิเคราะห์ถึงตอนนั้น โรงกลั่นน้ำมันในภาคใต้ยังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ ?

เพราะเมื่อรวมตัวเลขของกำลังกลั่นในประเทศของโรงกลั่นเดิม 3 โรง คือ โรงกลั่นไทยออยล์ โรงกลั่นเอสโซ่ และโรงกลั่นคาลเท็กซ์ กำลังการกลั่นในวันนั้น น่าที่จะใกล้เคียงกับความต้องการใช้ในประเทศ หรืออาจจะขาดบ้างจนต้องนำเข้าน้ำมันในสำเร็จรูปก็ไม่มากนัก

โรงกลั่นน้ำมันในโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดจึงเป็นโรงกลั่นที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
เมื่อวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ ปัญหาก็คือ ที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัควรจะอยู่ฝั่งอ่าวไทยทางด้านขนอมหรือฝั่งอันดามันที่จังหวัดกระบี่

ผู้บริหารระดับสูงของปตท. ให้ความเห็นถึงการตั้งโรงกลั่นน้ำมันในกรณีที่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศว่า ความเหมาะสมของสถานการณ์เมื่อถึงตอนนั้น จึงอยู่ที่ฝั่งอ่าวไทยด้วยการตั้งที่ขนอม ดูจะเหมาะสมกว่าที่กระบี่

"ตลาดของน้ำมันทางด้านตะวันออกมีมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี กระทั่งประเทศจีนหรือเวียดนาม ในขณะที่หากมองตลาดในด้านตะวันตกที่จะส่งทางท่าเรือที่กระบี่ ตลาดจะมีเพียงอินเดียเท่านั้นที่ใหญ่พอที่จะซื้อจากเรา"

ที่สำคัญ ตลาดน้ำมันที่รับจากการกลั่นในภาคใต้นั้นคือญี่ปุ่น

ถึงขั้นที่หลายคนชี้ว่า ญี่ปุ่นและคูเวต อาจจะเป็นตัวชี้ว่าโรงกลั่นในภาคใต้ ควรจะมีหรือไม่มีด้วยซ้ำ

ปัจจุบันญี่ปุ่นซื้อน้ำมันโดยการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาถึงประมาณ 80% ดังนั้นเมื่อไทยมีข้อเสนอถึงการขนส่งน้ำมันทางขนอม ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนด้านการขนส่งลงมาก มีหรือที่ญี่ปุ่นจะปฏิเสธ

บวกกับการที่ระยะหลัง ญี่ปุ่นเองก็มีแนวคิดในเรื่องการตั้งคลังน้ำมันในต่างประเทศ ความสนใจของญี่ปุ่นต่อการตั้งคลังน้ำมันในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย จึงเป็นข้อเสนอที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นเองพร้อมที่จะร่วมมือกัน

เพราะในวันนี้ ญี่ปุ่นเองก็เริ่มมองเห็นถึงความคับแคบของช่องแคบมะละกา การที่มีข้อเสนอที่ดีกว่าอย่างนี้ มีหรือที่ญี่ปุ่นจะมองข้ามข้อเสนอง่ายๆ

แต่ญี่ปุ่นก็มีความเป็นนักการทูตสูง ทางการญี่ปุ่นจึงไม่ต้องการที่จะมีการเลือกไทยเป็นเส้นทางใหม่เพียงเส้นเดียว พวกเขายังต้องการที่จะเอาใจมาเลเซียด้วย ข้อเสนอเรื่องการร่วมโครงการระหว่างรัฐบาลชวนกับรัฐบาลมหาเด จึงเป็นข้อเสนอที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับคูเวต ที่ให้ความสนใจการลงทุนในโครงการนี้ในไทยสูงมาก

เพราะนับจากปัญหาสงครามกับอิรักที่เกิดในตะวันออกกลาง แนวคิดของผู้นำรัฐบาลคูเวต ดูจะให้ความสนใจต่อการตั้งคลังน้ำมันในต่างประเทศมากขึ้น การที่รัฐมนตรีน้ำมันของคูเวตเดินทางมาไทยและเจรจาเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่แสดงถึงความสนใจอย่างจริงจังของรัฐบาลคูเวต ที่จะผ่องถ่ายทรัพย์และวัตถุดิบด้านน้ำมันของตนออกมายังไทยมากขึ้น

"คูเวตน่ะจริงๆ ไม่ได้สนใจตั้งโรงกลั่นมากหรอก พวกเขาสนใจเรื่องตั้งคลังน้ำมันมากกว่า" คนในปตท. กล่าว

ข้อสรุปของคณะทำงานในเบื้องต้น เมื่อมองความเหมาะสม จึงเป็นข้อเสนอของการตั้งโรงกลั่นหรือคลังน้ำมันในขนอมมากกว่าที่จะเสนอให้มีการตั้งที่กระบี่ ที่ซึ่งพิเชษฐ์มองว่ามีความเหมาะสม

"คณะศึกษามองว่าพื้นที่กระบี่ ยังควรที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวเอาไว้ เพราะมีความสวยงาม นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็รู้จัก ขณะที่ฝั่งขนอมมีความสวยงามธรรมชาติสู้กระบี่ไม่ได้ มิหนำซ้ำในวันนี้ความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภคด้านขนอมก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า เรื่องอื่นๆ" หนึ่งในคณะศึกษาเรื่องนี้บอกกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องการจะตั้งโรงกลั่นน้ำมันในขนอมนั้น แม้กระทั่งคนในจังหวัดกระบี่เองก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะตั้งที่กระบี่ ซึ่ง ดร. ศิระ ชวนะวิรัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ยังยอมรับว่า แผนงานที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ ฐานของเซาท์เทิร์นซีบอร์ดทั้งในเรื่องโรงกลั่นน้ำมัน หรืออื่นๆ จะอยู่ที่นครศรีธรรมราชมากกว่าที่จังหวัดกระบี่

สถานภาพของจังหวัดกระบี่ตามที่คณะศึกษาได้วิเคราะห์ก็คือ การเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนน้ำมันดิบขึ้นฝั่งแล้วส่งมายังโรงกลั่นน้ำมันที่ฝั่งขนอม

"พื้นที่กระบี่นี่เหมาะสมมากที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกเพราะมีร่องน้ำลึกมาก สามารถที่จะรับเรือที่กินน้ำลึกขนาด 30-40 เมตรได้ ตรงนั้นเหมาะสมที่จะสร้างท่าเรือเพื่อรับเรือขนน้ำมันดิบมา แล้วส่งมายังโรงกลั่นที่ขนอม" นักบริหารภาคเอกชนคนหนึ่งที่สนใจเรื่องโรงกลั่นกล่าวให้ความเห็น

ถึงตอนนั้น บางที LANDB RIDGE อาจจะไม่จำเป็นมากเท่าแผนแม่บท

สภาพที่หลายคนมองและศึกษาพบก็คือ การแปรสภาพของไทยจากประเทศอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเรื่องการกลั่นน้ำมัน ต่อด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็จะกลายาสภาพเป็นประเทศศูนย์กลางทางการค้า การเดินเรือระหว่างประเทศแทน

จะกลายเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลมาเลเซีย ว่าพร้อมที่จะร่วมมืออย่างจริงใจหรือไม่?

เพราะเมื่อแผนงานโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดรูปแบบใหม่ปรากฏออกมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ เพราะสภาพความได้เปรียบในเรื่องเส้นทางการเดินเรือที่ดีกว่าเส้นทางเดิมที่ใช้มานาน ไม่ว่าจะเป็นช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา ช่องแคบลอมบอก (ดูแผนผังประกอบ) อันจะทำให้ผลประโยชน์ต่อเนื่องต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลกากร หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางทางการเงินการค้าในอนาคต เช่นที่สิงคโปร์ได้รับประโยชน์มาช้านาน จนกลายเป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกในวันนี้

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงความเป็นโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดจากรูปโฉมเดิมสมัยพลเอกชาติชาย ที่มุ่งหวังจะเป็นโครงการพัฒนาประเทศด้วยการเป็นศูนย์กลางการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการเดินเรือ มาเป็นการให้ภาคใต้กลายเป็นศูนย์กลางด้านพาณิชย์นาวีของรัฐบาลชวนในครั้งนี้ ดูจะเป็นการนำความเป็นไปได้ของโครงการไปผูกไว้กับต่างชาติมากเกินไป

"ถ้าญี่ปุ่นหรือกลุ่มประเทศอาหรับ ไม่เห็นด้วยกับเส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่นี้ ก็ดูเหมือนโครงการนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย" นักธุรกิจระดับ INTERNATIONAL คนหนึ่งกล่าว

เป็นการพิสูจน์ VISION ทางเศรษฐกิจของชวน หลีกภัยครั้งสำคัญ ว่าเขาคาดเดาการลงทุนและการค้าต่างประเทศแม่นยำแค่ไหน ถึงขั้นเอาอนาคตของประเทศไปพึ่งพาประเทศอื่นๆ ภายหลังทำคลอดและเปลี่ยนโฉมโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเรียบร้อยแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us