รัฐบาลสุรยุทธ์ ล้มปั้นสุวรรณภูมิมหานคร! ชี้ 2 เงื่อนไข เพื่อดัดหลังแก๊งโกงชาติ -นักปั่นที่ดิน ขณะเดียวกันองค์กรท้องถิ่นวิ่งล็อบบี้ขออำนาจคืน ส่งผลราคาที่ลดฮวบ 30% ด้านนักจัดสรรร้องจ๊าก "แบรนด์สุวรรณภูมิ" ขายไม่ออกเพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจรัฐบาลจะเลือกเดินทางใด ส่วนกรมธนารักษ์เตรียมปรับราคาประเมินใหม่ ยกเลิกรายบล็อก พร้อมเจาะเป็นรายแปลงทุกพื้นที่ในบริเวณนี้
แม้ว่าจะผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการยกระดับพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเขตปกครองพิเศษ ที่เรียกขานกันว่า "นครสุวรรณภูมิ" หรือ"สุวรรณภูมิมหานคร" ก่อนที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะหมดอำนาจลงไม่นาน แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่า เรื่องการผลักดันการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานครจะเงียบหายไปพร้อมๆ กับอำนาจและบารมีของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การเงียบหายไปของการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร ไม่ใช่แค่ไม่มีใครสนใจหยิบยกขึ้นมาดำเนินการต่อเท่านั้น แต่การที่ไม่มีการผลักดันให้เกิดสุวรรณภูมิมหานครนั้น ยังทิ้งความเจ็บปวด และความเสียหายให้กับบางแก๊งค์ บางก๊ก อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาลิ่วล้อ เครือข่ายไทยรักไทย ที่ใช้ข่าววงใน หรืออินไซด์เดอร์ ไปกว๊านซื้อที่ดินบริเวณรอบๆ สนามบิน เพื่อหวังรวยทางลัด จากการปั่นราคาที่ดิน เมื่อเห็นการลงทุนสุวรรณภูมิมหานครเป็นรูปเป็นร่าง
"หากบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจจริง จะทำให้ราคาที่ดินในย่านนั้นพุ่งขึ้นราวติดจรวด เห็นได้จากก่อนหน้านี้ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-80% เพราะสาธารณูปโภคทุกอย่างจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ราวกับเนรมิต ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เพื่อรองรับความเป็นเมืองขนาดใหญ่ และความต้องการของประชาชนที่จะโยกย้ายเข้าไปทำงาน และเดินทางเข้า-ออกจากสนามบินจำนวนมาก เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน" แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ระบุ
แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงทุนก่อสร้างโครงการ เพียงแค่ให้ผู้ที่ดูแล ปรับเปลี่ยนสีผังเมืองพื้นที่บางแปลง เพื่อให้สามารถลงทุนโครงการขนาดใหญ่และมีมูลค่า ก็จะทำให้ราคาที่ดินวิ่งขึ้นทันที เช่นเดียวกับการประกาศใช้ผังเมืองทั่วไป ที่ราคาที่ดินหลายแห่งขยับขึ้นไป จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งหากมีการลงทุนก่อสร้างโครงการไว้รองรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบิน จะยิ่งสร้างมูลค่าให้กับเจ้าของที่ดินมหาศาล
ขิงแก่เมินตั้งสุวรรณภูมิมหานคร
ทั้งนี้ การเงียบหายไปของการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร เป็นเพราะส่วนหนึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ให้ความสนใจ ไม่เคยเรียกประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เพื่อเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพจากพื้นที่ระดับเขต ระดับจังหวัด ให้เป็นเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ข้าราชการที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเมืองให้เติบโตแบบยั่งยืน ประกอบกับความไม่แน่นอนของรัฐบาลชุดนี้ว่า จะมีการบริหารจัดการอย่างไรกับสุวรรณภูมิมหานคร จึงทำให้ไม่มีสิ่งกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐบาลตื่นตัวในการพัฒนาเมือง
ฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า "แผนการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานครยกเลิกไปนานแล้ว ไม่มีใครพูดถึง โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาลชุดพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ ไม่เคยมีการพูดถึงหรือเรียกหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อผลักดันให้เกิดสุวรรณภูมิมหานครตามนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดเขตปกครองพิเศษ หรือจัดตั้งเป็นสุวรรณภูมิมหานคร"
อย่างไรก็ตาม การจัดการกับพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิยังคงต้องดำเนินต่อไป ซึ่งกรอบการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับการเปิดใช้สนามบินว่าจะเปิดใช้ทั้ง 2 แห่ง หรือใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียว เนื่องจากหากเปิดใช้สนามบินเพียงแห่งเดียวจะทำให้มีคนมาพักอาศัยรอบๆสนามบินมากกว่า การเปิดใช้สนามบินทั้ง 2 แห่ง
โดยก่อนหน้านี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามที่จะควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในย่านสนามบินให้เป็นระเบียบ เป็นเมืองสวยงาม น่าอยู่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวคล้ายกับเมืองเวนิช อิตาลี ที่โด่งดังไปทั่วโลกถึงความสวยงามของเมือง เพราะบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิมีภูมิประเทศคล้ายกับอิตาลี
ท้องถิ่นเฮเลิกสุวรรณภูมิมหานคร
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยไม่ต้องการที่จะผลักดันสุวรรณภูมิมหานคร ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ เพราะการเกิดขึ้นของโครงการนี้มีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ในทางการเมืองมาก เพราะมีคนของรัฐบาลเข้าไปหาประโยชน์จากที่ดินไว้มาก และยังต้องการริดรอนอำนาจการเมืองบางส่วนที่เป็นของฝ่ายตรงข้าม
ขณะเดียวกันองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งในรูปของอบจ.อบต ที่ดูแลพื้นที่บริเวณเขตที่ตั้งสนามบินสุวรรณภูมิก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเพราะเท่ากับว่ารายได้ในการจัดเก็บของท้องถิ่นตั้งสูญเสียไป
"เดิมการขออนุญาตต่าง ๆ จะต้องขอจากท้องถิ่น เรามีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆมาก แต่ถ้าแยกพื้นที่บางส่วนไปขึ้นกับสุวรรณภูมิมหานครโดยมีรูปคณะกรรมการที่ตั้งจากส่วนกลางเข้ามาก็ต้องโอนอำนาจเดิมที่ท้องถิ่นมีอยู่ไปให้คณะกรรมการทำการแทน"
ดังนั้นองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ จึงได้พยายามที่จะล็อบบี้ผู้มีอำนาจในกระทรวงมหาดไทยให้ยุติโครงการสุวรรณภูมิมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมีอาณาบริเวณพื้นที่รวม 4 เขต เป็นพื้นที่ปกครองโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 เขต ประกอบด้วย เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ ส่วนอีก 2 เขตขึ้นตรงต่อจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบด้วย อ.บางพลี และกิ่งอำเภอบางเสาธง รวมถึงบริเวณนอกเขตสนามบินแต่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น อ่อนนุช ร่มเกล้า หนองจอก และสุวินทวงศ์
ขณะเดียวกันหากเป็นพื้นที่ตามกฎหมายในเรื่องการกระจายอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นนั้นจะมีท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 9 อบต.ได้แก่ อบต.บางพลี, อบต.บางโฉลง, อบต.ราชาเทวะ, อบต.หนองปรือ, อบต.ศีรษะจรเข้น้อย, อบต.ศีรษะจรเข้ใหญ่, กิ่งอ.บางเสาธงและบางแก้ว และ 2 เทศบาล รวมถึง 2เขตปกครองของกทม. ได้แก่ ลาดกระบัง และประเวศ
เร่งสำรวจพื้นที่ใหม่
สำหรับความคืบหน้าของผังเมืองรวมสุวรรณภูมิขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่สำรวจครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่สนามบินยังไม่เปิดใช้งาน โดยหลังจากเปิดใช้งานแล้ว คาดว่าจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ ซึ่งต้องทำการศึกษาและปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องรอมติคณะรัฐมนตรีว่าจะมีการอนุมัติให้ขยายสนามบินหรือไม่ ตามแผนเดิมจะเป็นการสร้างรันเวย์ด้านเหนือ-ใต้ของสนามบินรวม 2 แห่ง
"หากมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นอาคารผู้โดยสาร หรือรันเวย์ ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่รอบสนามบินครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด ในกรุงเทพฯและสมุทรปราการ เช่น ลาดกระบัง ประเวศ กิ่งอ.บางเสาธง และจะต้องมีการปรับขอบเขตผังเมืองบังคับใช้ให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนสำรวจ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้"
ลิ่วล้อ "ทักษิณ" เจ็บหนัก
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ความชะงักของการพัฒนาเมืองรอบสนามบินเป็นสุวรรณภูมิมหานคร ส่งผลให้นักเก็งกำไรหลายรายเจ็บตัว โดยเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจเครือข่ายผู้มีอำนาจ เพราะก่อนหน้านี้เข้าไปรวมที่ดินไว้ในมือจำนวนมาก เพื่อหวังที่จะได้กำไรจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาที่ดิน หลังจากที่สุวรรณภูมิมหานครเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์พลิกผัน ไม่มีการสานต่อการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร อีกทั้งการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ไม่ได้มาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ทำให้สุวรรณภูมิยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการบิน(HUB) ตามที่รัฐบาลต้องการ จึงทำให้ราคาที่ดินตกฮวบ และยังทำให้โครงการบ้านจัดสรรเริ่มมียอดขายอืด เพราะประชาชนจำนวนมากเริ่มไม่แน่ใจว่าอยู่ใกล้สนามบินแล้วจะมีผลเสียมากกว่าผลดี หรือผลดีมากกว่าผลเสีย
ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินราคาที่ตกลงได้ เพราะตั้งแต่ไม่มีแรงขับเคลื่อนให้สานต่อการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนมือ โดยเฉพาะแปลงขนาดใหญ่ ทั้งที่เจ้าของที่ดินพยายามที่จะปล่อยที่ดินในมือออกไป เพื่อลดภาระเรื่องดอกเบี้ย ที่ในช่วงปีก่อนดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญกว่านั้น คือ เหตุผลยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจซื้อ เพราะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีนโยบายจัดการอย่างไรกับพื้นที่โดยรอบสนามบิน และจะเปิดใช้สนามบิน 1 แห่ง หรือ 2 แห่ง
เปิดรายชื่อแลนด์ลอร์ด
สำหรับผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากบริเวณรอบๆ สนามบิน นำโดยสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต.คู่กายอดีตนายกฯทักษิณ ที่ครั้งก่อนดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่รอบสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจากพิษสงการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (CTX) ที่มีที่ดินมากถึง 3,000-4,000 ไร่
ตามด้วยประยุทธ์ มหากิจศิริ เจ้าพ่อเนสกาแฟ และกระเป๋าเงินไทยรักไทย ที่ถือครองที่ดินหลายพันไร่เช่นเดียวกัน และยังมีกระแสข่าวว่ายังเป็นนอมินีเข้าไปซื้อที่ดินผืนงามในย่านนั้นให้กับอดีตนายกฯทักษิณอีกด้วย นอกจากนี้ บมจ.กฤษดามหานคร ที่ผู้บริหารระดับสูงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวชินวัตร ที่มีที่ดินราว ๆ 7,000 ไร่ และมีแผนเนรมิตที่ดินดังกล่าวเป็นเมืองแฝดกับสุวรรณภูมิมหานคร ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ศูนย์กลางทางธุรกิจ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ครบวงจร สวนสนุกโรงแรม โรงหนัง ช้อปปิ้ง มอลล์ แต่จนถึงปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่เปิดแถลงข่าวมานานราว 1 ปีแล้ว
"โครงการดังกล่าวคงไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าทางกฤษดาฯจะมีผู้ร่วมทุนเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่จากจีน เพราะทั้งกฤษดาฯ พันธมิตรไม่กล้าเดินหน้าโครงการ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้มีผู้นำชื่อทักษิณ(ชินวัตร) ที่ถ้าหากทักษิณยังครองอำนาจอยู่ เชื่อว่าสาธารณูปโภคต่างๆจะเทไปในที่ดินของบริษัทกฤษดาฯ เพราะมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกฤษดาฯมหาศาล ทั้งราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นทันที หากมีสาธารณูปโภคครบครัน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ตามแผนของกฤษดาฯ" แหล่งข่าวระบุ
เชื่อเปิดใช้สนามบิน 2 แห่ง
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มีแนวโน้มสูงว่ารัฐบาลจะเปิดใช้สนามบินทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะหลังจากเปิดใช้งานเพียง 1-2 เดือนแรก ก็เกิดปัญหามากมาย ทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานทั้งอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ แท็กซี่แวย์ ห้องน้ำ รวมถึงความแออัดทั้งในอาคาร นอกอาคาร และทางอากาศ จากปัจจุบันที่มีเที่ยวบินขึ้น-ลงเฉลี่ยที่ 70-80 เที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสมควร หากมีการจัดระเบียบไม่ดี จะทำให้แออัดอย่างมาก
พรเลิศ พันธ์วัฒนา ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวถึงผลกระทบจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิว่ามีทั้งผลกระทบที่เป็นด้านบวกและด้านลบ โดยด้านบวกนั้นจะเกิดความเติบโตในธุรกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจจัดสรร ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้จะมีจำนวนผู้เดินทางเข้าออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน และจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำ มีแหล่งงานขนาดใหญ่ การคมนาคมสะดวกขึ้น รวมถึงส่งผลถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยและราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนผลลบจะเกิดความแออัดในบริเวณดังกล่าว รวมถึงมลภาวะเป็นพิษ ทางอากาศ ทางเสียง
ดัดหลังนักฉวยโอกาส
ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนทำให้รัฐบาลตัดสินใจเปิดใช้สนามบินทั้ง 2 แห่ง คือ ปัญหาการเรียกร้องเงินชดเชยจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง และค่าเวนคืนที่มีมากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งทอท.จะต้องเป็นผู้หาเงินชดเชยดังกล่าว ก็ไม่มีเงินที่จะจ่ายประชาชนตามที่เรียกร้อง อีกทั้งมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ฉวยโอกาส เรียกค่าเสียหายมากกว่าความเป็นจริง 4-7 เท่า ทำให้ตัวเลขโดยรวมของการเรียกร้องสูงขึ้นถึงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเคยประเมินไว้แค่ 6,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกใช้ทั้ง 2 สนามบิน เพราะจะทำให้ประชาชนที่เรียกร้องยอมถอยหลังและเรียกค่าเสียหายตามจริง ไม่ใช่มาฉวยโอกาสเรียกร้องมากเกินความเป็นจริง เนื่องจากคิดว่าหากใช้สนามบินเดียวจะมีปัญหาความแออัด และมีผลกระทบด้านเสียงมากกว่าการเปิดใช้ 2 สนามบิน รัฐบาลจึงไม่มีเหตุผลที่จะจ่ายเงินลดลง แต่ถ้าเปิดใช้ทั้ง 2 สนามบิน รัฐบาลจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะจ่ายเงินลดลง
ธนารักษ์ตื่นสำรวจราคาใหม่
ด้านพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ บอกว่า จะเร่งจัดทำราคาประเมินที่ดินใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคิดคำนวณภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียม โดยจะปรับปรุงราคาประเมินที่ดินรายทุก 4 ปี ซึ่งรูปแบบเก่าเป็นราคาประเมินแบบรายบล็อก ที่ครอบคลุมที่ดินหลายแปลง แต่ในทางปฏิบัติพบว่าที่ดินบางแปลง แม้จะอยู่ในบล็อกเดียวกัน แต่ราคาตลาดมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแปลงที่ติดถนน และแปลงที่ไม่มีทางออก (ที่ดินตาบอด)ที่อยู่ด้านใน ทำให้กรมธนารักษ์ปรับปรุงราคาที่ดินใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เช่น พื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะถูกประเมินราคาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินจริงซึ่งราคาประเมินที่ดินล่าสุดที่จะครบกำหนดการใช้บัญชี 4 ปีในสิ้นปี 2550 นี้ กรมธนารักษ์เตรียมจะประกาศราคาประเมินใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2551 นี้
ราคาที่รอบสุวรรณภูมิตก 30% แนะนายทุนหันมาสร้างโกดังแทน
เอเจนซีฟอร์เรียลเอสเตทฯ ชี้ราคาที่ดินรอบสุวรรณภูมิ ตกลงกว่า 30% เชื่อหากเกิดมหานครสุวรรณภูมิ จะทำให้การพัฒนาที่ดินขยายตัวรวดเร็ว แนะนักเก็งกำไรควรหันมาทำธุรกิจโกดังเก็บสินค้าสู่สนามบินได้สะดวก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร Agency for Real Estate Affairs (AREA) กล่าวว่านครสุวรรณภูมิจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ก็คงไม่มีผลอะไรมากสำหรับเจ้าของที่ดินแถวนั้น เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่านโยบายพัฒนาที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นนครสุวรรณภูมิไม่มีทางเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนแรก แค่การโยนหินถามทางของอดีตนายกฯ ทักษิณในขณะนั้น
"ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงจะมีไม่มาก เพราะเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่รู้ล่วงหน้าว่านครสุวรรณภูมิจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่นักเก็งกำไรบางส่วนอาจจะเจ็บตัวบ้างที่ไม่สามารถทำราคาให้สูงกว่าตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ "
อย่างไรก็ดีความเป็นเมืองหรือนครสุวรรณภูมินั้นเป็นผลบวกผลพลอยได้หากเกิดขึ้นจริงแต่เดิมมีความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่และศักยภาพของทำเลก็เป็นตัวสะท้อนคุณภาพของพื้นที่อยู่แล้วดังนั้นพื้นที่ด้านตะวันออกเองแม้ว่าจะไม่มีการตั้งเป็นเมืองหรือนครสุวรรณภูมิ การขยายตัวของที่อยู่อาศัยก็ต้องเกิดขึ้นแน่นนอน เพียงแต่หากมีมหานครสุวรรณภูมิก็จะขยายตัวเร็วขึ้นเท่านั้นเอง
พัฒนาเป็น "โกดัง" รองรับขนส่งแทน
ปัจจุบันราคาที่ดินบริเวณนี้ ลดลงประมาณ 30% จากที่เคยสูงสุดเกือบไร่ละ 1 ล้านบาท แต่หากเป็นที่ดินที่ติดถนนใหญ่และที่ดินที่ติดเส้นทางรถไฟฟ้าราคาจะอยู่ที่ประมาณ ตารางวาละ 7-8 หมื่นบาท ซึ่งยังถือว่าเป็นบริเวณที่มีราคาสูง ดังนั้นที่บริเวณนครสุวรรณภูมิหากเจ้าของที่ดินรายใดจะพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็คงจะไม่เหมาะสมกับพื้นที่มากนักเพราะจะไม่ใช่ศูนย์กลางหรือฮับทางการค้า-การขนส่งอีกต่อไป แต่ควรจะพัฒนาเป็นโกดังเก็บสินค้าเพื่อรองรับการขนส่งสต๊อกสินค้าในเที่ยวบินของสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น
ชาวบ้านรอบสุวรรณภูมิกระทุ้งรัฐ เจรจาไม่ได้ผลบุกสนามบินแน่
จ่ายค่าเวนคืน 42 หมู่บ้านรอบสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่คืบ แกนนำชุมชนเตรียมกดดันทอท. ชี้หากเจรจาไม่รู้เรื่องจะเคลื่อนม็อบบุกสนามบินทันที ล่าสุดเตรียมหารือรัฐมนตรีคมนาคมฟังคำตอบที่แน่ชัด ด้านเจ้าคุณทหารลาดกระบังชี้เพิ่งได้รับเงินก้อนแรกเพียง 214 ล้าน ทั้งๆ ที่ค่าประเมินความเสียหายกว่าพันล้านบาท ล่าสุดขอเวลาประเมินความเสียหายใหม่หลังมีนโยบายย้ายสายการบินบางส่วนคืนสู่สนามบินดอนเมือง
ความเดือดร้อนของชุมชน 42 แห่งรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องจากเสียงดังรบกวนของเครื่องบินที่ขึ้นลงในสนามบินสุวรรณภูมิหลายร้อยเที่ยวต่อวันนั้นเป็นที่ทราบกันดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่นับจากวันที่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิมาจนถึงวันนี้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
สุรเดช เบญจาทิกุล ประธานหมู่บ้านร่มฤดีและรองประธานชุมชนทางด้านทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่าขณะนี้การแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงและค่าการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดเนื่องจากตัวแทนจากชุมชนทั้ง 42 แห่งไม่สามารถตกลงกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้ในประเด็นที่ให้กรมธนารักษ์เป็นผู้กำหนดราคาประเมินที่ดินซึ่งกรมธนารักษ์นั้นใช้ข้อมูลราคาที่ดินฉบับเดิมที่เคยใช้มาเมื่อหลายปีที่แล้ว
"กรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 17,000 บาท ในขณะที่ราคาที่ดินตามราคาท้องตลาดอยู่ที่ตารางวาละ 40,000 - 50,000 บาท ซึ่งมาถึงวันนี้เรายังไม่สามารถตกลงเรื่องค่าเวนคืนที่ดินตามราคาท้องตลาดได้"
ขณะเดียวกันชาวบ้านในชุมชนบางส่วนที่พอมีเงินและฐานะดีได้ย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่เป็นจำนวนมากเพราะทนต่อเสียงดังของเครื่องบินไม่ได้ แต่ยังมีชาวบ้านส่วนมากที่ต้องทนอยู่กับสภาพมลพิษทางเสียงที่นับวันยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น
สุรเดช บอกอีกว่า หลังจากที่มีการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการกลุ่มตัวแทนชุมชนได้เข้าประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการท่าอากาศยานและหน่วยงานอื่นๆมานับครั้งไม่ถ้วนแต่ละครั้งก็รับปากจะดำเนินการแต่ถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมานานแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น
"เราจะรอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเดินทางมาพบกับชุมชนที่เดือดร้อนในเร็วๆนี้ว่าจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หากทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมคนในชุมชนทั้ง 42 แห่งก็จะรวมตัวกันไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับการท่าอากาศยานในสนามบินสุวรรณเร็วๆ นี้แน่นอน" สุรเดชกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้นำชุมชนทางทิศใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบไม่แพ้ชุมชนทางทิศเหนือ บอกว่าชุมชนทางทิศใต้และทิศเหนือได้มีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจากรรัฐบาล ซึ่งผู้นำชุมชนต่างเห็นว่าการใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์นั้นต่ำเกินความเป็นจริงและหากเรารับก็ไม่สามารถจะไปซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใกล้เคียงกับที่เราอยู่ได้
"เราไม่ได้เรียกร้องว่าต้องเอาราคาสูงสุดแต่ขอให้ประเมินอย่างเป็นธรรมโดยอิงกับราคาที่ดินในปัจจุบันซึ่งมีราคาสูงเพราะถ้าให้เราตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์เราก็ไม่สามารถจะไปหาบ้านหลังใหม่ได้เพราะราคานั้นต่ำกว่าความเป็นจริง"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตอนนี้เรามีความหวังอยู่ที่จะได้มีโอกาสเข้าไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งจะเดินทางมาพบผู้เดือดร้อนในเร็วๆ นี้ หากเราไม่สามารถตกลงกันได้ทางแกนนำชุมชนก็จะหารือเพื่อรวมตัวกันเคลื่อนไหวไปเรียกร้องความเป็นธรรมกับ ทอท.ที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างแน่นอน
ไม่ใช่เฉพาะชุมชนที่อยู่รอบๆสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินสถาบันการศึกษาของรัฐอย่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
อาจารย์พงษ์ชิต อินทร์แก้ว ประธานสภาคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ บอกว่าทางมหาวิทยาลัยฯได้รับเงินค่าชดเชยจากการท่าอากาศยานแล้วจำนวน 214 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมนั้นทางมหาวิทยาลัยได้เรียกร้องค่าเสียหายจากผลกระทบทางเสียงต่ออาคาร 22 หลังจำนวน 1001 ล้านบาทโดยทาง ทอท.ได้จ่ายเงินดังกล่าวชดเชยเป็นเบื้องต้นก่อน
ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็กำลังดำเนินการตรวจสอบความเสียหายและได้มีการประเมินราคาค่าเสียหายสูงสุดแต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะย้ายสายการบินบางส่วนกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งหนึ่งทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนแผนการประเมินความเสียหายใหม่ทั้งหมด
"ตอนนี้เรื่องยังไม่นิ่งเราจึงไม่สามารถประเมินราคาค่าเสียหายต่อไปได้ จึงต้องรอให้ทุกอย่างนิ่งก่อนแล้วจะประเมินราคาใหม่ซึ่งคาดว่าเรื่องต่างๆน่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้"
"สุวรรณภูมิ" สิ้นมนต์ขลัง จัดสรรเลิกชูจุดขายใกล้สนามบิน
"สนามบินสุวรรณภูมิ" เสื่อมความนิยม หลังแผนจัดตั้ง "นครสุวรรณภูมิ" ล่มไม่เป็นท่า ไทยสูญเสียความเป็น HUB ทางการบิน บริเวณรอบสนามบินเสี่ยงจมบาดาล การบริหารจัดการเมืองไร้ระบบ มลพิษทางเสียง ทางน้ำเริ่มขยายวงกว้าง ด้านดีเวลลอปเปอร์เลิกชูจุดขายบ้านใกล้สนามบิน หวั่นฉุดยอดขายดิ่ง
คงจำกันได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ การขายโครงการบ้านจัดสรรบริเวณรอบๆ สนามบินสุวรรณถูกจุดพลุด้วยการสร้างจุดขายใหม่ ว่าโครงการตั้งอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่จะเปิดใช้ในเดือน ก.ย.2549
การนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ สามารถสร้างยอดขายให้กับบรรดาดีเวลลอปเปอร์แบบถล่มทลาย ชนิดที่เรียกว่า "ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนสร้างกันไม่ทันขาย ลูกค้าต้องรอการเปิดขายโครงการแบบใจจดใจจ่อ และทันทีที่เปิดให้จองจะมาเข้าคิวซื้อบ้านกันตั้งแต่เช้า เพราะกลัวว่าจะไม่ได้บ้านหลังที่ต้องการ"
นอกจากนี้ ดีเวลลอปเปอร์ทั้งรายใหม่ รายเก่า รายใหญ่ รายกลาง รวมถึงรายเล็ก รายน้อย ที่มีที่ดินอยู่แถวนั้น ต่างก็เฮโลกันเข้ามาพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจของบจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า มีโครงการบ้านจัดสรรที่เปิดขายในเขตลาดกระบัง ร่มเกล้า ประเวศ อ่อนนุช รามอินทรา สุวินทวงศ์ มากกว่า 249 โครงการ ซึ่งมีทั้งระดับล่าง ระดับกลาง ไปจนถึงระดับไฮเอนด์ เพราะเห็นว่าความต้องการซื้อบ้านจัดสรรมีมากจนดีเวลลอปเปอร์มืออาชีพสร้างกันไม่ทันขาย จึงเป็นโอกาสให้เจ้าของที่ดินหยิบที่ดินขึ้นมาลงทุนโครงการบ้านจัดสรรเอง และทุกรายก็สามารถปิดการขายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับดีเวลลอปเปอร์หน้าเก่าและหน้าใหม่
ในจำนวน 249 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้มากที่สุด 102 แห่ง คิดเป็น 41% ของจำนวนทั้งหมด ทิศเหนือ 83 แห่ง คิดเป็น 33% ทิศตะวันตก 41 แห่ง คิดเป็น 16% และทิศตะวันออก 23 แห่ง คิดเป็น 9% เป็นการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวมากที่สุด 46% อาคารชุด 26% ทาวน์เฮาส์ 23% บ้านแฝด 3% อาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรรสัดส่วนเท่ากัน 1% หากคิดเป็นมูลค่า มีการลงทุนบ้านเดี่ยวมากถึง 78% ตามด้วยอาคารชุด 6% บ้านแฝดและที่ดินจัดสรรเท่ากัน 2% และอาคารพาณิชย์ 1%
การลงทุนมีทั้งดีเวลลอปเปอร์ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 อันดับแรก มีการลงทุนรวม 45 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 100,185 ล้านบาท โดยบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีการลงทุนสูงที่สุด 11 แห่ง มูลค่า 33,891 ล้านบาท ตามด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 5 แห่ง มูลค่า 25,130 ล้านบาท กฤษดานคร 2 แห่ง มูลค่า 8,749 ล้านบาท ศุภาลัย มั่นคงเคหะการ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ พฤกษา เรียลเอสเตท และไพร์ม เนเจอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากปัญหานานัปการที่เกิดขึ้นหลังจากที่สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดใช้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยในย่านดังกล่าว กลับต้องคิดให้หนักกว่าเดิม เพราะไม่มั่นใจว่าการอยู่ใกล้สนามบินจะได้รับผลกระทบด้านลบมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้สนามบินออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเสียงมาก จากการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ทำให้นอนไม่หลับ, เด็กนักเรียนเรียนหนังสือไม่ได้ จึงทำให้ต้องหยุดทบทวนการซื้อบ้านใกล้สนามบิน
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์บอกว่า "หลังจากที่สนามบินเปิดให้บริการมีการร้องเรียนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องมลภาวะทางเสียง การจราจรติดขัด การบริหารจัดการในพื้นที่ยังไม่ได้ถูกจัดการใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ยังใช้หลักการบริหารจัดการแบบเดิม ๆ ซึ่งในอดีตมีประชาชนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่หลังจากเปิดใช้สนามบินมีประชาชนทะลักเข้าไปพักอาศัยมากขึ้น รวมถึงประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกจากสนามบินอีกวันละเป็นแสนคน แต่รัฐบาลยังไม่มีการจัดระเบียบให้ดีขึ้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหาการกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูล การบริการน้ำอุปโภค-บริโภค การลงทุนถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และสาธารณูปโภค สาธารณูปการ จึงทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นไม่มีความสุขเหมือนก่อนที่สนามบินจะเปิดให้บริการ”
สารพัดปัญหาโถมใส่
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และมีแนวโน้มว่าบริเวณรอบๆสนามบินจะจมบาดาล เห็นได้จากเห็นได้จากปีก่อนที่มีน้ำท่วมเกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เพราะมีการเร่งระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้ท่วมบริเวณใจกลางเมืองและสนามบิน เพราะกลัวว่ากระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้น้ำไปท่วมที่ต่างจังหวัดแทน เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินไปขวางทางน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะขุดคลอง เพื่อรับน้ำที่จะไหลมาจากทางเหนือมากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก หากเทียบกับแผนการที่เตรียมไว้ เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ การเวนคืนที่ดิน รวมถึงการคัดค้านของประชาชน
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดขายโครงการบ้านจัดสรรในละแวกสนามบินสะดุดทันที โดยโครงการหลายแห่งที่เพิ่งเปิดขายไม่นาน กลับมียอดขายลดลง ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ต้องปรับแผนการตลาดใหม่ ซึ่งจะไม่พยายามชูจุดขายว่าตั้งอยู่ใกล้สนามบิน หรือหากอยู่ใกล้ต้องอธิบายให้ผู้ซื้อรับรู้ว่าโครงการของตัวเองไม่อยู่ในแนวขึ้น-ลงของเครื่องบิน จึงไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับผลกระทบด้านเสียง
แต่แม้ว่าดีเวลลอปเปอร์จะพยายามที่จะบอกกับผู้ซื้อเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ซื้อต้องเร่งตัดสินใจซื้อเหมือนในอดีต เพราะยังเกรงปัญหาอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่จะตามมาในอนาคต ทั้งเรื่องสุวรรณภูมิไม่ได้ถูกจัดตั้งเป็นนครสุวรรณภูมิ และจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจเหมือนที่ตั้งไว้ ที่สำคัญยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการบินด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ใกล้สนามบินแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ซื้อลังเลที่จะเลือกซื้อบ้านใกล้สนามบิน
|