|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แนวคิดของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้การนำของ ศุภชัย หล่อโลหการ ในฐานะผู้อำนวยการ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านการวิจัยอยู่ในองค์กรนี้ เพราะต้องการทำบทบาทหน้าที่เป็น "Technology Broker" หมายถึงการเป็นผู้เชื่อมโยงเทคโนโลยีหรือความรู้มาสู่ผู้ใช้นั่นเอง เพราะหากผู้ประกอบการหรือผู้ใช้นวัตกรรมใช้วิธีที่เรียกได้ว่า "การทำนวัตกรรมแบบทื่อๆ" ซึ่งเริ่มจากการใช้ความรู้ มาพัฒนาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แล้วจึงนำไปสู่นวัตกรรมนั้นย่อมไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปที่รวดเร็วมากและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมากของโลกในปัจจุบัน
ขณะที่ "นวัตกรรมแบบเปิด" เป็นการนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการวิจัย ทำให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรสามารถคิดค้นรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมที่แข่งขันได้ เปรียบเหมือนการ "แตกหน่อ" ซึ่งเป็นวิถีทางที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เหมาะสมกับประเทศไทยที่ต้องการ "ทางลัด" เพื่อจะก้าวกระโดดไปสู่การมีนวัตกรรมของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการจะมีนวัตกรรมสูงถึง 35% ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 6% หรือ 6 ใน 100 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทซึ่งมีนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของการสร้างความรู้ต้องมาจาก 3 ด้าน พร้อมๆ กัน คือ ในด้านธุรกิจ สังคมหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คน และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างการคัดค้านการใช้ GMO ของคนจำนวนมากเพราะมองว่าเป็นอันตราย ทั้งๆ ที่การใช้นาโนเทคโนโลยีมีอันตรายมากกว่า เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ หรือเป็นการสร้าง "สิ่งใหม่" สำหรับ "คนอื่น" แต่เป็น "เรื่องเก่า" สำหรับ "ผู้สร้างสรรค์" ก็ได้ เช่น อัลบั้มใหม่ที่นำเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย มาคู่กับเสก-โลโซ ซึ่งเป็นนักร้องเก่าทั้งคู่ แต่กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนฟังเพลง
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นระดับโลก เช่น เอดิสันไม่ได้เป็นผู้คิดค้นหลอดไฟแต่เป็นผู้คิดค้นไส้หลอด กลับกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ เกิดเป็นสินค้าที่มีคุณค่าสามารถสร้างรายได้มหาศาล นอกจากนี้ เอดิสันยังบอกอีกว่าจะมีนวัตกรรมเล็กๆ เกิดขึ้นทุก 3 เดือน และนวัตกรรมใหญ่ๆ ทุก 6 เดือน เปรียบเทียบกับประเทศจีนขณะนี้ ภายใน 2 สัปดาห์มีนวัตกรรมเกิดขึ้น และสามารถผลิตเป็นสินค้าได้ในราคาที่ถูกมาก
ที่สำคัญ นวัตกรรมไม่ได้ใช้ความรู้ในประเทศอย่างเดียว แต่ "เก็บเกี่ยว" จากต่างประเทศได้ด้วยการซื้อไลเซ่นส์อย่างถูกต้องและคุ้มค่าในการลงทุน และเป็นการจัดการความรู้อย่างมีเป้าหมาย หรือเมื่อแข่งไม่ได้ก็หันไปร่วมมือดีกว่าเพื่อจะสามารถก้าวกระโดด ด้วยความคิดว่า "เปลี่ยนตัวเองก่อนที่เขาจะสั่งหรือทำให้เราเปลี่ยน" ถึงแม้ว่าการทำนวัตกรรมไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ถ้าไม่ทำแนวโน้มของธุรกิจจะเดินไปสู่ทางตันหรือล้มเหลวได้
ศุภชัย กล่าวว่า การที่ธุรกิจของไทยห่างไกลจากการทำนวัตกรรม ที่สำคัญเนื่องมาจากผู้บริหารไม่ยอมตัดสินใจ ไม่ว่าจะผ่านการไตร่ตรองทั้งด้วยเหตุผลและความรู้สึกแล้วก็ตาม นอกจากนี้ อุปสรรคด้านภาษา และการพัฒนาความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากจะทำเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมใช้นวัตกรรมแบบเปิด ภายใต้โครงการบริการแสวงหานวัตกรรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องทำนวัตกรรม ซึ่งต้องมีทั้งความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ดังนั้น การใช้ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่งสนช.ได้รับความร่วมมืออยู่ในปัจจุบันคือ หน่วยงานบริการผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (Senior Experten Service หรือ SES) ของประเทศเยอรมนี
SES เป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งในเยอรมนีและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ด้านบริหารจัดการและการตลาด ประมาณ 7,000 คน ซึ่งเกษียณแล้วและมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ร่วมกัน ด้วยการเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดโดยมีค่าใช้จ่ายเหมาะสมเพราะไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ผู้ประกอบการายใหญ่เท่านั้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้บริการนี้ได้ด้วย
๐ "ไทยซัมมิท" เตือนรายย่อย
แนะแนวทางสู่ชัยชนะ
สุชาติ หิรัญชัย ผู้ช่วยประธานกรรมการ บริษัท ที เอส วีฮีเคิล จำกัด (บริษัทในเครือไทยซัมมิทกรุ๊ป) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยต้องตระหนักถึงการแข่งขันอย่างมาก เพราะการทำธุรกิจท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์นั้นแพ้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถึงขั้นล้มเหลวขนาดที่ต้องออกจากวงการหรือจะกลายเป็นเหมือนบอนไซซึ่งไม่สามารถเติบโต เพราะฉะนั้น การแสวงหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาต่อยอดให้องค์กรประสบความสำเร็จ
สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโดยรวมในปัจจุบันค่อนข้างมีศักยภภาพที่ดี ในส่วนของบริษัทไทยซัมมิทมีทั้งหมด 32 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจบริการ 3 บริษัท ธุรกิจร่วมทุนกับต่างประเทศประมาณ 11 บริษัท ที่เหลือเป็นของบริษัทเอง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น อินเดีย 5 โรงงาน มาเลเซีย 2 โรงงาน และอินโดนีเซียน่าจะเริ่มผลิตได้ภายในปีนี้ และกำลังขยายต่อไปที่เวียดนาม
"ถึงแม้กลุ่มเราจะใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราก็ยังกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากทางธุรกิจ" สุชาติ ย้ำถึงความจำเป็นในการปรับตัว
ในภาพรวมธุรกิจผลิตชิ้นส่วนแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผลิตเพื่อส่งให้ OEM 2.ผลิตส่งให้ after market 3.ผลิตส่งให้ทั้ง OEM กับ after market สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนให้โออีเอ็ม เมื่อย้อนไปปี 2548 ที่ต้องพบกับวิกฤตราคาน้ำมันสูงและวัตถุดิบขึ้นราคามาก ขณะที่ไม่สามารถขอขึ้นราคากับลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ เพราะลูกค้าค่อนข้างรู้ต้นทุนและความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตพร้อมกับพยายามบีบให้ปรับเปลี่ยนมาเพิ่มคุณภาพการทำงาน บังคับให้ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ถึงขั้นจะนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศมารองรับการผลิตแทนชิ้นส่วนของไทย
ยกตัวอย่าง บริษัทฟอร์ดซึ่งมีสายการผลิตชิ้นส่วน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.อเมริกาใต้ 2.แอฟริกา และ3.เอเชีย ที่สำคัญมีการลงนามความร่วมมือแล้วว่าเมื่อผลิตที่เอเชียก็สามารถนำไปใช้กับอีก 2 แห่งดังกล่าวได้ หมายความว่าต้นทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องแข่งขันกันในระดับโลกซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตของไทยผลิตเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ซึ่งไม่สามารถต่อเป็นชิ้นส่วนใหญ่ได้
แม้ว่าในอดีตจุดแข็งของไทยคือการมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า และฝีมือการผลิตสูงกว่า แต่ปัจจุบันไม่สามารถนำมาแข่งขันได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากคาดการณ์ว่านับตั้งแต่ ค.ศ.2010 มีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เช่น จีน เข้ามาแข่งขันอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การนำนวัตกรรมมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความสามารถในการใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่มีอยู่ รวมทั้ง การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเกิดกระบวนการผลิตใหม่ ที่สามารถแข่งขันได้ เป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมคน โดยเฉพาะจิตสำนึกของคนในองค์กรยังไม่มีความเป็นเจ้าของได้อย่างเจ้าของกิจการ โอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จจึงน้อยมาก
สุชาติ ย้ำว่า ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด และต้องลงทุนพัฒนาให้มากที่สุดให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำองค์กรสู่ความสำเร็จ สำหรับปรัชญาที่ใช้ในการบริหารจัดการคือ การสร้างระเบียบให้เกิดระบบ แล้วสร้างระบบให้เกิดการปรับปรุง สร้างการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้ได้เทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อความสามารถในการแข่งขัน
โดยใช้เครื่องมือที่จะนำไปสู่รูปธรรม แม้จะเป็นเครื่องมือเก่าๆ แต่สามารถนำมาใช้อย่างได้ผล เช่น 5ส.ซึ่งลึกๆ คือการสร้างวินัย หรือQCC ซึ่งสำคัญมากเพราะเมื่อวิเคราะห์แต่ละข้อคือการสร้างคนให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นไม่ให้เชื่อถือสิ่งงมงาย เพราะเมื่อเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นสามารถวิเคราะห์ได้ หากทำผิดหรือสำเร็จจะต้องรู้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร เพื่อจะเป็นบทเรียนและประสบการณ์
เมื่อทำต่อเนื่องข้อผิดพลาดจะน้อยลงและประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะคนทุกคนย่อมต้องการความสำเร็จ ซึ่งเมื่อได้มาจะเกิดความภาคภูมิใจ และนำไปสู่ความอยากที่จะทำ หมายความว่าคนที่ทำงานนั้นรู้แล้วว่าได้อะไรจากการทำงานนั้น ไม่ใช่เรื่องเงินซึ่งเป็นส่วนประกอบ แต่ความภูมิใจในความสำเร็จของงานจะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของผู้ประกอบการในปัจจุบันซึ่งยากต่อการแข่งขัน สามารถใช้แนวทางลัดด้วยการหาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกับผู้ที่มีแบรนด์เนมหรือผลิตภัณฑ์ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการแสวงหาผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นทางออกที่ดี สำหรับผู้เชี่ยวชาญของ SES จากเยอรมนี ซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตรถยนต์อย่างมาก และแม้ว่าไทยซัมมิทมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาประมาณ 30 กว่าปี ยังยอมรับว่าขาดความรู้ และเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า มอเตอร์ คอนโทรลเลอร์ และแบตเตอรี่ ที่มากพอที่จะนำมาใช้พัฒนารถไฟฟ้า Cario
เมื่อผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำทำให้ได้ความรู้ใหม่ที่ไม่ต้องลองผิดลองถูก เช่น ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านดังกล่าวต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ และทำให้ประสบความสำเร็จในการต่อยอดรถไฟฟ้า Cario รุ่นใหม่ ซึ่งเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้ต้นทุนถูกลงและได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งการใช้ผู้เชี่ยวชาญจาก SES เป็นทางลัดที่ดี
|
|
|
|
|