บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัดได้กลายเป็นน้องใหม่วงการปูนซีเมนต์ที่รู้จักกันดีว่ามีตระกูลโสภณพนิชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เปิดดำเนินการในปีนี้
"เราเป็นมิตรกับทุกคน" วีระ วีสกุล กรรมการผู้จัดการปูนฯ เอเซียกล่าวอย่างอารมณ์ดีด้วยสไตล์เนิบๆ
ทันทีที่ "ผู้จัดการ" ถามถึงภาวะการแข่งขันในตลาดปูนพร้อมทั้งยืนยันต่อท้ายหนักแน่นว่า
"เราไม่ทะเลาะกับใคร"
วีระ น้องบุญเสริม วีสกุล อดีตผอ. อ.ส.ม.ท. ย้ำตลอดช่วงการสนทนาว่า "ไม่อยากเป็นข่าวมาก
เพราะเกรงคนจะหมั่นไส้" ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเพาะศัตรูโดยไม่รู้ตัว
แต่จะทำธุรกิจโดยมุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างเงียบ หากมีประสิทธิภาพ
การวางตัวให้วีระเป็นกรรมการผู้จัดการที่นี่ ย่อมเป็นประจักษ์ให้เห็นบุคลิกองค์กรของปูนฯ
เอเซียได้อย่างดี..!
วีระเคยเป็นอาจารย์คณะวิศวะ จุฬาฯ เคยเป็นบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
เลขานายกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ เป็นคนอยู่เบื้องหลังโครงการต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมืองใหม่บางพลี คลองจั่น หรือแม้แต่ศูนย์กีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง
ฯลฯ ที่วีระผลักดันจนสำเร็จจากที่เคยเป็นชุมชนสลัมและกองขยะ
เขาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับทวี บุตรสุนทร เครือปูนใหญ่ บันลือ กัมปนาทแสนยากร
ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ อาณัติ อาภาภิรม และเลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าปตท. ฯลฯ และเป็นที่พูดกันว่าวีระเป็นคนรักและห่วงใยเพื่อนฝูง
ไม่นิยมมีปัญหากับใครเช่นเดียวกับเพื่อนในกลุ่ม
ขณะเดียวกัน ปูนฯ เอเซียก็วางจุดยืนทางธุรกิจว่าขอทำเล็กๆ ไปเรื่อยๆ แต่มั่นคงและเป็นสุภาพบุรุษ
เหล่านี้...เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปูนฯ เอเซียก้าวไปได้อย่างราบรื่น เพราะแม้จะเล็กแต่ก็มีข้อได้เปรียบปูนรายใหม่อย่างทีพีไออยู่ไม่น้อย
จากสายสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นในวงการ ปูนฯ เอเซียจึงเดินหน้าด้วยท่วงท่าที่งดงามยามสร้างโรงงาน
"เราได้รับความช่วยเหลือจากทุกแห่ง" วีระเน้นถึงความสัมพันธ์ที่ทำให้โรงงานปูนฯ
เอเซียเป็นรูปเป็นร่างได้ตามเป้าหมาย
นอกจากปูนใหญ่ที่ส่งปูนให้อย่างสม่ำเสมอแล้ว "ปูนชลประทานหรือปูนเล็กก็ให้ปูนเรามาสร้างโรงงานแข่งกับเขา"
ยิ่งกว่านั้น ปูนฯ เอเชีย ยังได้แลกสัมปทานเหมืองหินปูนกับปูนใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความฮือฮาเอาการ
โดยเฉพาะในช่วงปะเหมาะกับที่ทีพีไอ ปูนรายใหม่ที่เกิดเมื่อปีที่แล้วกำลังรุกตลาดด้วยกลยุทธ์ลดแลกแจกแถมทุกรูปแบบ
กอรปกับทั้งปูนใหญ่และปูนฯ เอเซียมองว่าปีนี้ซัพพลายจะมากกว่าดีมานด์ประมาณ
3-4 ล้านตัน ก็ยิ่งทำให้ต้องแข่งกันหนักยิ่งขึ้น
เมื่อเป็นอย่างนี้ รายเล็กย่อมจะเสียเปรียบเป็นธรรมดา…!
ปูนฯ เอเซียมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตันต่อปีหรือประมาณ 1.5 แสนตันตอเดือน
ซึ่งวีระยอมรับว่ากำลังการผลิตขนาดนี้ออกจะเล็กไปหน่อยสำหรับการทำธุรกิจปูน
และควรจะมีขนาดตั้งแต่ 2 ล้านตันขึ้นไป
แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับปูนฯ เอเชียตามบุคลิกที่วีระบอกว่าจะเป็นมิตรกับทุกคนในวงธุรกิจและจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกันเหนืออื่นใด
ดังนั้นแม้จะเล็กไปหน่อยก็ไม่เป็นไร หากมีทางออกที่ดีได้เช่นกัน..!
วีระเปิดเผยว่า การแลกสัมปทานเหมืองหินปูน "ทำให้เราได้ภูเขา แหล่งวัตถุดิบสำคัญเมื่อจะซื้อปูนเม็ดจากเขา
(ปูนใหญ่) ก็สะดวก เพราะห่างกันแค่ 2-3 กิโล ถ้าเครื่องเกิดเสียหรือสินค้าป้อนตลาดไม่ทัน
ความร่วมมือส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้มาก"
ที่สำคัญ ช่วยประหยัดต้นทุนไปมหาศาล แทนที่จะต้องเสียค่าขนส่งนำเข้าปูนตันละ
5-600 บาทต่อตัน ก็ไม่ต้องนำเข้า แต่เสียแค่ 20 บาทต่อตันเท่านั้น
การทำข้อตกลงแลกเหมืองหินปูนครั้งนี้ แม้จะวิเคราะห์กันว่าปูนใหญ่จะเอาปูนฯ
เอเซียเป็นตัวปะทะกับทีพีไอในตลาดก็ตาม แต่วีระกลับเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า
"ที่จริง เราเป็นคนไปขอแลกเหมืองกับปูนใหญ่เอง ปูนใหญ่เขาจะมาสนใจเราได้ยังไง
เราเล็กๆ ช่วยได้ เขาก็ช่วย ที่ปูนใหญ่จะไปเที่ยวแกล้งใครคงไม่มี เพราะเราต่างก็เป็นสุภาพบุรุษ"
ด้วยความที่จะเป็นสุภาพบุรุษนี่เอง ที่วีระบอกว่าเมื่อป้อนปูนขึ้นเวทีการแข่งขันแล้ว
แม้เรื่องราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วงชิงตลาดก็ตามแต่ก็ไม่ถือเป็นหัวใจของการขายจะไม่ถึงกับยอมขายขาดทุนแน่
นั่นก็เพราะวีระแน่ใจว่าความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ที่จะทำให้เชื่อถือกันได้มากกว่า ยืนยาวกว่า..!
ดังจะบอกว่าเมื่อเครดิตดี อะไรๆ ก็ดูจะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องคุณภาพนั้นไม่มีปัญหา
การันตีได้ว่าได้มาตรฐานและขณะนี้ก็ได้เครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว
เนื่องจากปูนฯ เอเซียได้รับความช่วยเหลือจากปูนใหญ่อย่างดียิ่ง แหล่งวัตถุดิบก็เหมือนกัน
แม้แต่เรื่องเทคโนโลยี ปูนใหญ่ก็ยังให้คำแนะนำ เพราะแต่ละคนก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนและพี่น้องวิศวะจุฬาฯ
ด้วยกันแทบทั้งนั้น
"แต่ไม่ถึงกับไปการันตีว่าเป็นคุณภาพปูนใหญ่" วีระตอบทันควันเมื่อ
"ผู้จัดการ" ถามถึงกรณีที่จะอิงภาพปูนใหญ่มาเป็นจุดขายด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ปูนฯ เอเซียได้เริ่มป้อนปูนที่ผลิตเองเข้าสู่ตลาดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้
ได้แก่ ปูนปอร์ตแลนด์ตรา "ภูเขา" ซึ่งใช้ในการก่อสร้างโครงการ
โดยจะผลิตครึ่งต่อครึ่งกับปูนผสมที่ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป และจะใช้ตรา "บัวหลวง"
แต่จะเป็นบัวหลวงพิมพ์เดียวกับบัวหลวงแบงก์กรุงเทพหรือไม่นั้น จะต้องดูความเหมาะสมอีกรอบหนึ่ง
ส่วนปูนแข็งตัวเร็วตรา "สมอ" ที่ใช้สำหรับงานรับแรงอัดนั้นจะตามออกมาทีหลัง
"เราจะใช้เวลา 3 ปีเพื่อผลิตเต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ และจะเพิ่มอีกเท่าตัวซึ่งขณะนี้ได้ใบอนุญาตแล้ว
อยู่ระหว่างการประมูล ใช้เงินลงทุนอีก 5,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการขยายตัวของปูนในอีก
5-6 ปีข้างหน้า" วีระกล่าวถึงแผนในอนาคต
วีระเชื่อว่าด้วยหัวใจที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ผนวกกับแรงหนุนช่วยจากปูนใหญ่และแบงก์กรุงเทพซึ่งถือหุ้นเป็นทางการอยู่
10% ที่ช่วยโอบอุ้มทางการเงินมาโดยตลอดรอดฝั่งจะทำให้ปูนฯ เอเซียยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง..!