สัปดาห์นี้ไม่มีข่าวใดที่จะได้รับความสนใจจากประชาชน และวงการสื่อมวลชนมากเท่ากับข่าวครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ให้ไอทีวีหยุดออกอากาศชั่วคราว เพื่อพิจารณาข้อสัญญาและพิจารณาทางกฎหมายอย่างรอบคอบ โดยจะให้ทางสำนักงานกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดำเนินการสถานีโทรทัศน์แทนนั้นจะขัดพ.ร.บ.คลื่นความถี่หรือไม่
อนาคตของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่สามารถ “ฟันธง” ได้ในวันเวลานี้ เนื่องจากต้องรอทางสำนักงานตีความข้อกฎหมายอีกครั้ง และในวันเดียวกัน (6มี.ค.) ทางพนักงานไอทีวีก็เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการระงับการออกอากาศ คลื่นความถี่โทรทัศน์ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีออกอากาศได้ตามปกติไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน
เมื่ออนาคตยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสถานีแห่งนี้จะกลายสภาพเป็นอย่างไร เราลองย้อนมาดูอดีตของสถานีแห่งนี้ก่อนว่าทำไมทีวีเสรีที่ใครๆเรียกร้องให้เกิดขึ้นจึงต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
เรื่องราวคงต้องย้อนไปถึงสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2535 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้ว ในด้านกิจการสื่อสารมวลชน บทเรียนจากการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของสื่อส่วนใหญ่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐ ประชาชนเรียกร้องให้มีการตั้งสื่อเสรีที่ปราศจากการครอบงำของอำนาจรัฐ นำมาซึ่งการเกิดโครงการ ทีวีเสรี
ทีวีเสรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสื่อที่มีการเสนอข้อมูลข่าวสารทุกด้านอย่างครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เป็นกลางและเป็นธรรม อันจะเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายการที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และมีการกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์ของรัฐ สังคม และประชาชน
หากจะสาวความย้อนไปถึงความพิกลพิการของทีวีเสรีไทย คงต้องกลับไปดูจุดเริ่มกำเนิดไอทีวี เมื่อปี 2538 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เงื่อนไขการประมูลที่รัฐมุ่งแต่จะรับผลตอบแทนสูงสุดเป็นสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นให้ไอทีวีบิดเบี้ยวมาจนทุกวันนี้ เมื่อผู้ร่วมประมูลที่ถูกรวบรวมจากทุกสารทิศเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ให้แต่ละกลุ่มต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และห้ามถือหุ้นเกินรายละ 10% เปิดโอกาสให้หลากหลายบริษัทที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อสารมวลชนโดดเข้าร่วมวง บางรายถึงกลับเป็นแกนนำในการประมูล โดยรายสำคัญที่เข้ามาและเป็นอีกเหตุที่สร้างความเสื่อมให้กับทีวีเสรีของไทย ชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทในเครือทำธุรกิจด้านโทรทัศน์ สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์ แมนเนจเม้นท์ จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเข้าร่วมประมูลทีวีเสรีในนาม กลุ่มบริษัทสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอบริหารสถานีทีวีเสรี ที่มีโครงสร้างรายการสาระ 70% และบันเทิง 30% โดยให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดถึง 25,200 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี สร้างความตะลึงงันให้กับกลุ่มประมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะ สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ช่วงเวลานั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในบริษัท แปซิฟิก และเข้าประมูลร่วมกับกลุ่มมติชน เนชั่น และสามารถคอร์ปอเรชั่น อันเป็นกลุ่มที่คาดหมายจะได้รับคัดเลือก ยังอดประหลาดใจไม่ได้ว่า เงินตอบแทนรัฐที่กลุ่มสยามทีวีฯ เสนอให้นั้น สูงเกินกว่าที่จะทำได้
ที่มาของข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปีนั้น นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าวว่า เกิดจากช่วงเวลาก่อนการยื่นประมูล ตนซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 กลุ่มที่ทำงานวิจัยธุรกิจโฆษณา ได้รับการติดต่อจากนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์แมนเนจเม้นท์ ขอข้อมูลมูลค่าตลาดโฆษณาทางโทรทัศน์ และอัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งปรากฎว่า มีการเติบโตอยู่ใน 20-30% ตลอด 5 ปีก่อนหน้า เนื่องจากช่วงเวลานั้นแต่ละสถานีมีการขยายเครือข่ายต่างจังหวัด โดยนายจุลจิตต์ขอข้อมูลนี้ไปโดยไม่ได้ขอความคิดเห็นใด ๆ จากตน
“เวลานั้นผู้ที่ทำงานวิจัยโฆษณาทางโทรทัศน์มีเพียงผม และนิตยสารคู่แข่ง โดยการหามูลค่าธุรกิจโฆษณาจะใช้วิธีนำเวลาโฆษณาที่ออกอากาศทั้งหมด มาคูณกับราคาโฆษณา และหักด้วยส่วนลด ซึ่งช่วงเวลานั้นโฆษณาทางโทรทัศน์กำลังเติบโตอย่างมาก คุณจุลจิตต์มาขอตัวเลข ผมก็ให้ไปว่าเติบโต 30% แต่เหตุผลเพราะอะไรไม่ได้ถาม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคุณจุลจิตต์จะคิดได้หรือไม่ว่าเติบโตเพราะอะไร และข้อมูลที่ผมให้ไปเวลานั้นก็ไม่ทราบว่าคุณจุลจิตต์เอาไปทำอะไร” นิพนธ์ นาคสมภพ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่อยู่ในกลุ่มสยามทีวีฯ ในขณะนั้น กล่าวว่า ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งดูแลเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่ม ใช้ข้อมูลการเติบโตของธุรกิจโทรทัศน์ในขณะนั้น ซึ่งเติบโตระดับ 20% ทุก ๆ ปี มาประกอบการเสนอผลตอบแทนรัฐ จึงเสนอเงินเป็นมูลค่าสูงถึง 25,200 ล้านบาท ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีทางที่ธุรกิจสื่อจะเติบโตเช่นนั้นได้ทุก ๆ ปีตลอดไป แต่เพราะคนที่เสนอเงินคือผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสายงานสื่อโทรทัศน์
ชลิต ลิมปนะเวช กล่าวว่า ปัญหานี้ต้องโยนให้นายโอฬาร ไชยประวัติ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะนั้น) รับผิดชอบ ที่คิดจะขยายธุรกิจให้ธนาคารโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เมื่อประมูลได้มาก็พบว่าไม่สามารถบริหารต่อไปได้ ต้องส่งต่อมาให้กลุ่มชินคอร์ป และมาเปลี่ยนโครงสร้างของสถานีข่าวที่กฎหมายร่างไว้ กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไป ที่หวังจะใช้เพื่อสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ
เมื่อไอทีวี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าให้เป็นอีกธุรกิจที่จะแตกแขนงออกไป ไม่ประสบผลสำเร็จ 4 ปีของการเปิดดำเนินการ มีผลประกอบการขาดทุนราว 2,000 ล้านบาท ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000 ล้านบาท หนี้สิน 4,000 ล้านบาท กับสัมปทานรัฐที่ต้องจ่ายรายเดือน จึงนำมาซึ่งการเชื้อเชิญให้กลุ่มทุนที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เข้ามารับภาระต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่เตรียมจะเก็บกระเป๋าหนี ซึ่งก็น่าอนาจใจที่กลุ่มทุนที่เข้ามาใหม่ กลายเป็นกลุ่มทุนการเมือง ที่นอกจากจะหวังกอบโกยรายได้จากทีวีเสรีแห่งนี้แล้ว ยังจ้องที่จะใช้ทีวีเสรีของประชาชนเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองของตน
ทันทีที่ชินคอร์ปเข้ามามีบทบาทในไอทีวี ภาพของสถานีข่าวเริ่มถูกลบ กลุ่มเนชั่นบริษัทสื่อมวลชนชั้นนำที่มีผลงานในการผลิตรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุด ถูกอัปเปหิออกไปในเวลารวดเร็ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างความกังขาให้กับสังคม ถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองที่จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฏหมาย เพื่อหวังสร้างผลประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง เกิดขึ้นในปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
และยิ่งน่ากังขามากยิ่งขึ้นเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ประดิษฐ เอกมณี จุมพต สายสุนทร และชัยเกษม นิติสิริ มีคำวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องปรับลดค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับ สปน.เป็นรายปี จาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท เท่ากับที่สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 จ่ายให้กับกองทัพบก รวมทั้งให้ไอทีวีปรับสัดส่วนการออกรายการช่วงเวลาไพร์มไทม์ สามารถออกอากาศรายการบันเทิงได้ และปรับการนำเสนอรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ ในสัดส่วน 70% เหลือไม่น้อยกว่า 50% เปลี่ยนโฉมทีวีเสรี ที่เกิดขึ้นจากบทเรียนการเสียเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ในเดือนพฤษภาคม 2535 กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งหวังกำไร ควบคู่ไปกับผลประโยชน์ที่จะเอื้อต่อพรรคการเมือง และรัฐบาล
สรุปเหตุสปน.ฟ้องไอทีวี
สำหรับการใช้สิทธิของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในการยึดไอทีวีมาจากเหตุการณ์ดังนี้คือ
1.เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2547 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งชี้ขาดให้สปน.ชดเชยความเสียหาย โดยชำระเงินคืนให้แก่ไอทีวีจำนวน 20 ล้านบาท ให้ปรับรับผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงาน ในส่วนจำนวนเงินรับประกับผลประโยชน์ขั้นต่ำ โดยให้ปรับลดจากเดิมเหลือปีละ 230 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระเงินขั้นต่ำส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีก
และให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนจากเดิมลงเหลือร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีกับให้ไอทีวีสามารถออกอากาศช่วงไพร์มไทม์ คือช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.30 น.ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัด เพราะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ แต่จะต้องเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด และอื่นๆ เมื่อมีคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวนี้แล้วไอทีวีก็ได้ดำเนินการปรับผังรายการตามคำชี้ขาดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 ทันที
2.ต่อมาสปน.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2549 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
3.ไอทีวีได้ยื่นอุธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวข้างต้นต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้มีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 8 ธ.ค. 2549 และอ่านเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ปีเดียวกัน โดยมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ใอมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วไอทีวีได้ดำเนินการปรับผังรายการให้เป็นไปตามสัญญาเข้าร่วมงานทันที
4.สปน.ได้มีหนังสือแจ้งและต่อมาได้แจ้งเตือนให้ไอทีวีชำระค่าตอบแทนส่วนต่างปีที่ 9 ถึงปีที่ 11 จำนวน 2,210 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับจากการปรับผังรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 2549 จำนวน 97,760 ล้านบาท รวมยอดเงินที่ต้องชำระให้สปน ทั้งสิ้นกว่าหนึ่งแสนล้านบาท โดยสปน.ได้กำหนดให้ชำระหนี้ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ไอทีวีได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้หากไอทีวีไม่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด สปน.จะดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาเข้าร่วมงาน และข้อกฎหมายต่อไป
5. ไอทีวีได้มีหนังสือถึงสปน.และมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อ ประการแรก ขอให้เรียกชำระหนี้จำกัดอยู่เพียงค่าตอบแทนส่วนต่างจำนวน 2,210 ล้านบาท และประการที่สอง ส่วนดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวน 100,343,539,667 บาทนั้น คู่สัญญายังมีความเห็นแตกต่างอย่างมีสาระสำคัญ และเป็นข้อพิพาทที่กำลังอยู่ในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งนัดพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 9 มี.ค. 2550 จนถึงเวลาที่ปิดต้นฉบับนี้เรื่องราวของไอทีวียังไม่หยุดนิ่ง ส่วนจะจบลงแบบใด ลงเอยแบบไหน เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะมีคำตอบ
|