|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"โตเกียว มารีน" เบอร์หนึ่งประกันวินาศภัยตระกูล "นักรบซามูไร" ใช้เวลาเพียง 2 ปี ทำการ "แบรนดิ้ง" ธุรกิจแบบ 2 in 1 ...หนึ่ง คือ ขายความเป็นสายพันธ์ลูกพระอาทิตย์กับกลุ่มธุรกิจ "เลือดบูชิโด" ด้วยกันเองนอกเกาะญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็กำลังโปรโมทแบรนด์ "ประกันภัยศรีเมือง" อีกหนึ่งร่างที่ถือหุ้นโดยโตเกียว มารีนในประเทศไทย การแบรนดิ้งที่จะใช้เวลานับจากนี้ถึง 10 กว่าปี จึงไม่ต่างจากรูปแบบการตลาดที่ชูความเป็น "ญี่ปุ่น" พ่วงกับความเป็น "เอเชีย" นอกเกาะญี่ปุ่น เหมือน สองร่างในชื่อเดียว....
"ประกันภัยศรีเมือง" ภายใต้ร่ม "โตเกียว มารีน" บริษัทแม่ญี่ปุ่น กลายเป็นธุรกิจในกลุ่มประกันภัยเลือดบูชิโด ที่กระโดดมายืนอยู่แถวหน้าอย่างน่าสนใจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าวัดกันที่แบรนด์ที่กำลังเป็นที่คุ้นหูในท้องตลาดผ่านสื่อต่างๆ
หากไม่นับไอโออิ ร่างทรงของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือหุ้นใน ไอโออิประกันภัยหรือ ชื่อเดิมวิธสินประกันภัย ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเครือแบงก์กรุงเทพ และสาขาของมิตซุย สุมิโตโม เบอร์ 2 ในญี่ปุ่นที่มีบริษัทในเครือกำลังวิ่งผ่านสายตาผู้คนบนท้องถนนในใจกลางเมืองหลวงอย่าง MSIG ชื่อเดิมของ อวีว่าประกันภัย ที่เพิ่งถูกเทคโอเวอร์ไปไม่นาน ก็ดูเหมือนว่า ประกันภัยศรีเมืองน่าจะถือเป็นกองทัพนักรบซามูไรที่มาแรงที่สุด
35 ปีสำหรับตลาดประเทศไทย "โตเกียว มารีน" เริ่มเรียนรู้ว่า การยึดในแนวทางเลือดบูชิโดกลุ่มก้อนเดียว ก็คือการละทิ้งโอกาสที่จะกอบโกยรายได้ตลาดในแถบเอเชียอย่างน่าเสียดาย
ตลอดเวลา 2 ปี ปรากฎการณ์แบรนดิ้ง ประกันภัยศรีเมือง ภายใต้ร่ม โตเกียว มารีน จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ก็เพื่อตอบโจทย์ข้อนี้
เพียงแต่การแบรนดิ้งคราวนี้ ต้องใช้รูปแบบ 2 in 1 คือ ไม่ทิ้งลูกค้าญี่ปุ่นที่มีสายสัมพันธ์ผ่าน โตเกียว มารีน มาตั้งแต่ต้น พ่วงกับไม่เน้นความเป็นซามูไรนักสำหรับตลาดเอเชีย เพื่อสร้างให้ภาพลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย
ช่วงแรกๆของการแบรนดิ้ง มีการลงทุนเป็นจำนวนเงินไม่น้อย นับจากการเปิดสาขาใหม่ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมกับกิจกรรมสังคม
" ก่อนหน้าจะทำแบรนดิ้ง ดีลเลอร์ปิดยอดขายลำบาก พอคนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น ก็ขายประกันได้ง่าย"
สุรพล พลอยไพเราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์ ประกันภัยศรีเมือง ยอมรับว่า ตลาดประกันภัยรถยนต์คือเป้าหมายสำคัญสำหรับการปูทางเพื่อทำความรู้จักกับคนท้องถิ่น โดยมีดีลเลอร์รถยนต์ค่ายอีซูซุ ในต่างจังหวัดเลียบชายฝั่งอันดามัน ที่อยู่ภายใต้ร่มเดียวกับ "โตเกียว มารีน" ถือเป็นตลาดสำคัญ
" 5 ปีก่อน เริ่มทำตลาดกับคนไทย จึงมีเบี้ยน้อยมาก แค่ 2%
แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 30% แล้ว"
การชูป้ายชื่อ "โตเกียว มารีน" จึงสำคัญสำหรับการเติบใหญ่ของ "ประกันภัยศรีเมือง" นอกเกาะญี่ปุ่น โดยเฉพาะฐานะการเงินและฐานลูกค้าความเป็นเลือดบูชิโดที่ "ศรีเมืองฯ" จะได้รับไปทั้งหมด โดยไม่ต้องส่งงานให้บริษัทแม่ บวกกับสามารถรับงานขนาดใหญ่ได้เต็มกำลัง
แต่ "ศรีเมืองฯก็มีจุดอ่อนคือ เครือข่ายให้บริการ และระดับการให้บริการยังไม่เพียงพอจะเทียบกับ 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง วิริยะประกันภัย กรุงเทพประกันภัยและประกันคุ้มภัย ที่เป็นพี่เบิ้อมในวงการ และมาตรฐานการให้บริการก็ติดอันดับต้นๆ นี่ยังไม่นับชื่อเสียงที่คนทั่วไปก็ยังสัมผัสได้ไม่ทั่วถึง
" 1-2 ปีที่เริ่มลงทุนไปเป็นจำนวนมากในเฟสแรก ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น"
สุรพลบอกว่า โครงการแบรนดิ้งมีทั้งหมด 3 เฟส โดยเฟสแรก ได้ลงทุนด้านไอทีไปแล้ว 120 ล้านบาท ลงทุนคอล เซ็นเตอร์ไปอีก 10 ล้านบาท ลงทุนสาขาและสื่อโฆษณาอีกร่วม 40 ล้านบาท
ขณะที่ทั้ง 3 เฟส เป็นการสร้างแบรนด์อย่างเดียว รวมแล้วประมาณ 700 ล้านบาท โดยเฟส 1 จะใช้เวลา 4 ปี 150 ล้าน เฟส 2 อีก 300 ล้านและ เฟส 3 ใช้เวลา 5 ปีใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท
เฟสแรกจะเป็นการปรับปรุงการให้บริการ ขยายตลาดประกันภัยรถยนต์ ปรับปรุงเคลม ขยายอู่ เพิ่มจำนวนตัวแทน ลงทุนระบบคอลเซ็นเตอร์ เปลี่ยนระบบไอทีใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่ ปี 2549-2552
" การให้บริการเราสูงกว่าตลาดเล็กน้อย ตอนนี้เรามีอู่ในเครือ 450 แห่ง และพยายามเน้นคุณภาพอู่ และรักษาอู่ให้เป็นคู่ค้าเราตลอดไป โดยเฉพาะการวางบิล จ่ายเร็ว ส่วนตัวแทนปีนี้มีเกือบ 400 รายและจะเพิ่มในปีนี้อีก"
สุรพล บอกว่า เฟส 2 จะยาวไปตลอด โดยจะเห็นสินค้าใหม่ๆลงสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนเฟส 3 จะนำเอาแบรนด์รอยัลตี้เข้ามาใช้ ระหว่างนี้จึงเป็นการจัดกระบวนทัพใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นการรีครูต ให้การอบรมตัวแทน ซึ่งใน 3-4 ปีจะเพิ่มเป็น 4 พันคน
" เราเริ่มทำ คอล เซ็นเตอร์สำหรับเคลม เปลี่ยนระบบไอทีใหม่ ปีนี้จะลงระบบเพื่อเชื่อมเข้ากับคอล เซ็นเตอร์เพื่อให้บริการลูกค้าในจุดเดียว นอกจากนั้นก็มีการเพิ่มฝ่ายสินไหมรถยนต์จาก 30 คนเป็น 70-80 คน"
สุรพลบอกว่า จีน อินเดีย และไทยคือ ตลาดหลักนอกเกาะญี่ปุ่นสำหรับโตเกียว มารีน ที่กำลังจะเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันในไทยมีเบี้ยรวมประกันภัยขนส่งทางทะเลเป็นอันดับ 1 หากเทียบกับคู่แข่งญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วยกัน ยกเว้นถ้ามิตซุย สุมิโตโมรวมเอา MSIG เข้าไว้ด้วย ก็จะตกมาเป็นรอง
" ตอนนี้เรามีกลุ่มเป้าหมายคือ คลาสบีหรือชนชั้นกลางมาก แต่ถ้าระบบไอทีเสร็จก็จะเซ็กเม้นเทชั่นได้"
ในปี 2549 ประกันภัยศรีเมือง มีเบี้ยรับรวม 2,600 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 750 ล้านบาท
สุรพล บอกว่า ประกันภัยจากญี่ปุ่น เริ่มหันหัวเรือมาที่ตลาดเอเชียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไอโออิหรือแม้แต่มิตซุย สุมิโตโม ที่กำลังซุ่มเงียบทำแบรนดิ้ง เพื่อขยายตลาดในท้องถิ่น
ทั้งหมดนี้จึงบอกได้ถึงสัญญาณ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" ในยุคติจิตัล กำลังจะก่อตัวขึ้น เพียงแต่คราวนี้จะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ตรงกันข้ามผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นก็จะต้องหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดเช่นกัน...
|
|
|
|
|