วานนี้ (13 มี.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และได้ข้อสรุปที่มีนัยสำคัญ
3 เรื่องด้วยกันคือ 1.ให้ทบทวนและปรับสูตรค่าไฟฟ้าใหม่
2.ให้ชะลอการจัดตั้งตลาดไฟฟ้าเสรี
และ 3.รัฐบาลต้องการถือหุ้นใน กฟผ.มากกว่าร้อยละ 50 และจะแปรรูปในลักษณะการจัดตั้งบริษัทจดทะเบียน
โดยแปรรูปกฟผ.ทั้งองค์กร
เดินหน้าแปรรูป-ชะลอตลาดไฟฟ้าเสรี
พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยว่า การแปรรูปกฟผ.นั้น ตามเป้าหมายเดิมจะแปรรูปในไตรมาส 3
ของปี 2547 อย่างไรก็ตาม หากกฟผ.มีความพร้อมก็สามารถแปรรูปได้ก่อน ซึ่งสินทรัพย์ที่มีอยู่ประมาณ
300,000 ล้านบาทจะสามารถขยายมูลค่าตลาดรวมในตลาดหลักทรัพย์และสร้างความน่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
ได้มากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายการถือหุ้นของรัฐบาลในกฟผ.จะถือมากกว่าร้อยละ 50
ทั้งนี้ การแปรรูปจะเป็นไปในลักษณะของการจัดตั้งบริษัทจดทะเบียนภายใต้ชื่อ ‘บริษัท
กฟผ. จำกัด (มหาชน)’ โดยแปรรูปกฟผ.ทั้งองค์กร ไม่มีการแยกย่อยออกมา เพราะต้องให้ชะลอการขายหุ้นของ
กฟผ.ที่ถือไว้ในบริษัทลูกคือ บริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จำนวน 45% และบริษัท
ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จำนวน 25.4% ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นจะต้องกระจายหุ้นในเครือดังกล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งชะลอ ‘การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ที่จะจัดตั้งเป็นตลาดการค้าไฟฟ้าเสรีหรือกึ่งเสรี
เพราะยังไม่มีหลักประกันหรือพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ รวมทั้งมีประโยชน์ต่อประชาชนในแง่ที่ทำให้ค่าไฟถูกลงหรือไม่
“การทำทั้งหมดก็เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
รัฐจำเป็นต้องมีกฟผ.ด้วยการถือหุ้นมากกว่า 50% เพราะเราไม่ได้อดอยากขนาดนั้นเพราะได้ใช้หนี้ไอเอ็มเอฟล่วงหน้าไปแล้วด้วย
“ขณะเดียวกันมีตัวอย่างในต่างประเทศหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า เมื่อจัดตั้งตลาดไฟฟ้าเสรีดังกล่าวจะมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าและทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
ซึ่งจะเห็นได้ชัดในประเทศอังกฤษ ดังนั้นจากเดิมที่มีแผนจะจัดตั้งตลาดไฟฟ้าก่อนการแปรรูป
กฟผ.ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป โดยจะแปรรูปก่อนแล้วค่อยมาจัดตั้งตลาดภายหลังหากเห็นว่าเป็นประโยชน์”
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินงานของกฟผ.นั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการพลังไฟฟ้าของอาเซียนเพราะมีกลไกที่ดีในการดูแล
ในขณะเดียวกันหากในอนาคตประเทศไทยจะลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ และจำเป็นจะต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนในไอพีพี(ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่)
หรือไม่นั้น ได้ให้กฟผ.เป็นผู้พิจารณาหลัก ซึ่งกฟผ.อาจใช้วิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่า
หรือหากจำเป็นต้องลงทุนใหม่ ก็ให้พิจารณาถึงเรื่องมลพิษ เรื่องของสังคมและค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ
ส่วนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งสองโรงไฟฟ้า
ภาคเอกชนจะดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาที่ทำไว้กับภาครัฐโดยชะลอไป 3 ปี ซึ่งในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้านการก่อสร้างเชื่อว่าหลังจากที่
กฟผ.ได้จัดทำภาษีพลังงานคืนแก่ท้องถิ่น โดยคิดร้อยละ 1 ของค่าไฟฟ้า หรือรวมเป็นวงเงินประมาณ
1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมทั้งชี้แจงกับประชาชนแล้ว
เชื่อว่าการต่อต้านก็จะลดลง
ด้านนายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า
การที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเรื่องการแปรรูปในลักษณะดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากและมีความเปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างที่เคยกำหนดเอาไว้อย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือเดิมจะมีการแยก กฟผ.ออกเป็นบริษัทย่อยต่างๆ ประมาณ 3-4 บริษัทและนำไปแปรรูป
แต่ภายใต้โครงสร้างใหม่จะดำเนินในลักษณะองค์กรเดียว หรือไม่แยกย่อยออกมา โดยกฟผ.จะยังคงเป็นหน่วยงานรัฐและรัฐบาลจะเข้ามาถือหุ้นไม่ต่ำกว่า
50% จากนั้นก็จะนำเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ขณะที่ในเรื่องการจัดตั้งตลาดการค้าไฟฟ้าเสรีนั้นถือได้ว่า การดำเนินการต่างๆ
ได้ยุติลงชั่วคราวจนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า มีประโยชน์กับประชาชนตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเอาไว้
“ตอนนี้คนกฟผ.มีความสุขกันมาก ถือเป็นข่าวดีสำหรับทุกคน สหภาพฯ เองก็ไม่คัดค้าน
เป็นสิ่งที่คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เพราะนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลายๆเรื่อง
ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น ท่านนายกฯย้ำว่ารัฐบาลจะถือไม่ต่ำกว่า 50% ตลอดไป เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศหรือเป็น
National Champion ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ
โดยการแปรรูปกฟผ.นั้น จะทำการจ้างที่ปรึกษาได้ภายในเดือนนี้เพื่อศึกษาในรายละเอียดต่างๆ
ทั้งนี้ กฟผ.จะเป็นหน่วยที่รัฐบาลต้องการให้เข้าไปทำธุรกิจด้านพลังงานในแถบประเทศอาเซียน”
“สำหรับค่าไฟฟ้านั้น รับประกันได้เลยว่าจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 5 เซนต์ต่อหน่วยจะลดลงเหลือ
4.5 เซนต์ต่อหน่วย ซึ่งจะเห็นว่าขนาดอเมริกายังแค่ 4 เซนต์ต่อหน่วย และถ้าหากสามารถสร้างเขื่อนสาละวินเพื่อผลิตไฟฟ้าได้
จะทำให้ค่าไฟของไทยลดลงเหลือ 4 เซนต์ต่อหน่วยได้แน่นอน ซึ่งในส่วนของโครงการเขื่อนสาละวินนั้นกฟผ.จะลงทุนทั้งหมดโดยตั้งบริษัทร่วมกับรัฐบาลพม่าโดยมี
2 เขื่อนที่จะทำ ใช้เงินประมาณ 3.7 แสนล้านบาท”นายสิทธิพรกล่าว
ย้ำให้ไฟฟ้าราคาถูกลง
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ได้มาตรวจเยี่ยม กฟผ.พบการทำงานค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ
แต่ก็ให้ไปปรับปรุงการทำงานเพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและขายไฟฟ้าให้ประชาชนถูกลง
โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ การทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดลดลง เพราะหากทำให้ระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดลดลงแล้วการลงทุนจะได้ไม่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี)
ประมาณ 1.4 เท่า ดังนั้น สิ่งที่กฟผ.จำเป็นต้องพิจารณาและได้มอบนโยบายเอาไว้ก็คือทำอย่างไรจะให้ลดลงเหลือ
1.2 เท่า เพราะหากลดลงได้ก็เท่ากับลดต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปด้วย
“ในช่วงที่ผ่านมามีการคำนวณการใช้พลังงานผิดพลาด ทำให้ลงทุนสูงเกินไป โดยปัจจุบันนี้มีการลงทุนเกินตัวไปถึง
400,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน”พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
สหภาพฯเสนอแปรรูปไม่เกิน30%
ด้านนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. กล่าวว่า ในเรื่องการแปรรูปกฟผ.
ทางสหภาพเสนอให้แปรรูปไม่เกินร้อยละ 30 หรือให้รัฐบาลถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ให้รัฐบาลถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 อย่างไรก็ตาม
สหภาพฯ จะนำแนวคิดของนายกรัฐมนตรีไปหารือในการประชุมใหญ่ของสหภาพฯ ในวันที่ 16
มีนาคมอีกครั้ง
ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังได้แจ้งต่อ กฟผ.ว่า จะแปรรูป กฟผ.ภายในไตรมาส 3 ภายในปี
2547 จะมีวงเงินระดมทุน 158,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 ของสินทรัพย์ กฟผ. 300,000-400,000
ล้านบาท แต่จากพูดคุย นายกรัฐมนตรีระบุว่า อาจแปรรูปร้อยละ 10-20 หรือวงเงินประมาณ
60,000 ล้านบาทเท่านั้น
“โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า คงไม่สามารถแปรรูปได้เร็วเหมือนที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้
เนื่องจากการดำเนินการจัดตั้งบริษัทจะต้องใช้เวลา ซึ่งความจริงแล้วทางสหภาพฯ ไม่ต้องการให้แปรรูป
แต่เมื่อรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ในการลงทุนให้กฟผ.
ดังนั้นการระดมทุนใน ตลท.จึงเป็นเรื่องจำเป็น และสหภาพก็เห็นด้วยกับการแปรรูปดังกล่าว”นายศิริชัยกล่าว