Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน9 มีนาคม 2550
คน ITV สำลักเงิน-สวัสดิการ             
 


   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

   
search resources

ไอทีวี, บมจ.
TV




ปฎิบัติการอุ้มไอทีเดินหน้าเต็มสูบ อัดฉีดเงินภาษี 27 ล้านต่อเดือน ไม่สนขัดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง กรมประชาสัมพันธ์อธิบดีฯ ยันให้เงินเดือนเดิม สวัสดิการเดิมทุกอย่าง ด้าน จีระ” ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ ผอ.ทีไอทีวี หลังถูกวิพากษ์ขาดคุณสมบัติเป็นบุคคลล้มละลาย ทิพาวดีสั่ง จนท.ดูข้อกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับสัญญา 446 ฉบับ ที่ไอทีวีทิ้งขี้ไว้ หวั่นรัฐถูกเอาเปรียบซ้ำ ด้านบอร์ดไอทีวีอนุมัติงดทำธุรกิจทางการค้าและยกเลิกสัญญาจ้างพนักงาน หลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัมปทานจาก สปน. ขณะที่ "นิวัฒน์ธำรง" นำทีมกรรมการ 6 คน ลาออกทิ้งเก้าอี้บอร์ด อัยการเตรียมฟ้องไล่เก็บหนี้ 30 มีนาคม คณบดีนิติจุฬาฯ อัดเด็กไอทีวีให้ย้อนดูตัวเอง

บ่ายวานนี้ (8 มี.ค.) ณ ตึก ชินวัตร 3 นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และอดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการเป็นสถานีทีไอทีวีกันเป็นครั้งแรก

นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการประชุมปรึกษาหารือในภาคปฏิบัติงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแผนงาน คน เทคนิค การเงิน การจัดการต่างๆ รวมไปถึงข้อสัญญาต่างๆที่ทางไอทีวีทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ รายการบางรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มา และยังออกอากาศไม่ครบ ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อเปลี่ยนมือจากผู้ซื้อลิขสิทธ์เดิมจากไอทีวีมาเป็นทีไอทีวี และบางรายการที่ไอทีวีจ้างผลิต อย่าง ละคร “โรบอทน้อย” ที่ยังอยู่ในสัญญา และยังต้องมีการออกอากาศต่อไป รวมถึงการซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุป และทำให้การทำงานภายใต้ทีไอทีวีเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงเรื่องของนิติบุคคล เกี่ยวการงบประมาณ การใช้จ่ายต่างๆ เบื้องต้นขณะนี้ทางภาครัฐ โดยสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ได้จัดงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายแก่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไว้กว่า 27 ล้านบาท ต่อเดือน ซึ่งจะสามารถดำเนินการนำมาใช้ได้ ภายในวันจันทร์ที่ 12 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป ส่วนในช่วงนี้ทางสถานีทีไอทีวี ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน จากกองทุนฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไปก่อน

ส่วนในเรื่องของค่าตอบแทนให้กับพนักงานนั้น เบื้องต้น ยังคงเป็นอัตราเดิมที่พนักงานได้รับ รวมถึงสวัสดิการที่เคยได้เช่นเดียวกัน ในการประชุม ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนถ่าย เคลื่อนย้ายจากตึกชินวัตร 3 ไปยัง สำนักงานใหม่บน ถนน เพชรบุรีตัดใหม่อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตามแผนที่วางไว้ โดยในขณะนี้ส่วนหนึ่งทั้งในแง่เครื่องมือ และพนักงานอาจจะยังทำงานอยู่ที่ตึกชินวัตร 3 อยู่ โดยทางเจ้าของตึกเอง ไม่มีปัญหาอันใด ยังคงให้ความร่วมมือ และให้เช่าพื้นที่ต่อไปได้ ขณะที่งบประมาณของการเคลื่อนย้ายนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาได้ ต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่เสนอขึ้นมา

อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ ได้มีทางผู้จัดรายการเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการชี้แจงให้ทราบว่า ผังรายการที่จัดไว้นั้น จะยังคงเป็นไปตามผังเดิมที่มีอยู่ อย่างน้อยในระยะ2-3เดือนนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามปกติที่สุด

“จากไอทีวีลู่ทีไอทีวีนั้น ในความเป็นจริงยังคงเป็นองค์กรเดิม โดยเฉพาะระดับพนักงาน แต่ในส่วนผุ้บริหารระดับบนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กรให้น้อยที่สุด ดังนั้นในส่วนของการดำเนินงาน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์เองได้รับมอบหมายจาก สปน.ให้เข้ามาดูแลเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากทาง ครม. หาผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาดูแลได้แล้ว ทางกรมฯก็จะหมดหน้าที่ตรงนี้ไป ดังนั้นหน้าที่ที่กรมฯได้รับมอบหมายมานั้น จะต้องทำให้ดี”

อย่างไรก็ตามการดำเนินของกรมประชาสัมพันธ์และสปน.ในการว่าจ้างพนักงานไอทีวีชุดเดิมถูกตั้งคำถามว่า สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ จะขัดต่อพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่พฤติกรรมที่ดำเนินมาหลังจากเปลี่ยนถ่ายจากไอทีวีเดิมแล้วมาสู่ทีไอทีวีโดยว่าจ้างพนักงานชุดเดิมทำต่อ รัฐบาลไม่สามารถอธิบายส่วนนี้ได้ (อ่าน...สปน.บีบคณะรัฐมนตรี รับ พนง. ITV เลี่ยง กม.ฮั้ว)

จีระลาออกรักษาการเอ็มดี

หลังจากที่นายจีระ หงส์ลดารมภ์ รักษาการผู้อำนวยการโครงการดำเนินการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ถูกระบุว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น นายจีระ หงส์ลดารมภ์ ได้เดินทางเข้าพบคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยนายจีระ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า ตนได้ไปเล่ากรณีที่ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของตนให้ คุณหญิงทิพาวดีฟัง ดังนั้นเพื่อไม่เป็นเป้า เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ตนขอออกมาช่วยเหลืองานด้านสังคมแทน โดยได้ลาออกทั้ง2 ตำแหน่ง คือทั้งตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฯและคณะกรรมการกำกับกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ แต่คุณหญิงทิพาวดีขอให้อยู่ช่วยเหลืองานฐานะคณะกรรมการต่อไป

“ผมคิดว่าผมเป็นเป้าทางการเมือง ความจริงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องทางเทคนิคเล็กนิดเดียว แต่ว่าเมื่อเกิดเป็นประเด็นขึ้น ก็คิดว่าควรเสียสละลาออกช่วยเหลืองานสังคมในด้านอื่นต่อไป ผมเสียสละลาออกทั้ง 2 ตำแห่น่ง แต่คุณหญิงทิพาวดีขอให้อยู่ในฐานะกรรมการต่อไป คือมีหน้าที่ให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ต้องทำหน้าที่บริหาร และกำลังหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน”

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผลการพิจารณาตัดสินใจว่า ท่านไม่มีความผิด จะกลับมารับตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รักษาการหรือไม่หากมีการแต่งตั้งทางการเมือง นายจีระ กล่าวว่า เรื่องการเมืองขอทำงานในรูปแบบให้คำแนะนำดีกว่า

ต้องยอมรับว่าเรื่องไอทีวีเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจเยอะ สื่อทุกคนก็ทราบ คงไม่ต้องถามว่าเพราะอะไรถึงตกเป็นเป้า สื่อทุกคนก็รับทราบเรื่องราวของตนและเข้าใจ รู้ว่าผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย ยังมีคุณธรรม จริยธรรมเหมือนเดิม ผมเห็นว่า เพื่อไม่ให้การทำงานมีปัญหาต่อไป เมื่อผมตกเป็นเป้าก็เสนอตัวออกจากตำแหน่ง ฝากความระลึกสื่อทุกคนที่ให้ความรัก ความสนใจชีวิตของผม ผมจะทำหน้าที่ในด้านวิชาการต่อไป

นายจีระ หงส์ลดารมภ์ รักษาการผู้อำนวยการโครงการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ ยูเอชเอฟ กล่าวถึงกรณีที่ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ว่า ยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย เพียงแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตนกับลูกศิษย์ได้ทำเรื่อง กู้เงินร่วมกันเป็นมูลค่าเงินต้นประมาณ 8 แสนบาทและดอกเบี้ย ซึ้งขณะนี้คนที่กู้ร่วม ไม่อยู่แล้วตนก็เลยต้องรับผิดชอบ และได้ทำการประนอมหนี้กับธนาคาร เผอิญว่า เมื่อศาลตัดสินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ตนไม่ได้ไปศาลก็เลยให้พิทักษ์ทรัพย์ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการประนอมหนี้

ดังนั้นการที่ตนไม่ได้เรียนให้คุณหญิงทิพาวดี ทราบ เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเรื่องที่ทางกฎหมายไม่มีความผิดอะไร แต่ถ้าจะมีในเงื่อนไข ทางจริยธรรมตนก็เห็นด้วย เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เน้นจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งจริยธรรม ที่ตนมีก็จะไปดูแลลูกศิษย์ของตนให้จบไป แต่ตอนนี้ผู้ที่กู้ร่วมไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนที่คุณหญิงทิพาวดี จะหาคนใหม่มาแทนนั้นเรื่องนี้ตนขอคุยกับคุณหญิงทิพาวดีก่อน

นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญิแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นาย จีระ หงส์ลดารมภ์ รก.ผอ.โครงการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟทีไอทีวี ได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ว่า หากคดีอยู่ในขั้นตอนการเตรียมฟ้องร้องล้มละลายไม่มีปัญหา แต่ถ้าถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่ถ้าศาลยังไม่พิพากษาให้ถึงที่สุดแล้วมาดำรงตำแหน่งก็อาจจะหมิ่นเหม่

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องหลักการที่ว่าการเป็นผู้บริหารจะต้องมีอำนาจทางนิติกรรม แต่ถ้าถูกพิทักษ์ทรัพย์จะทำให้ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย การลาออกของนายจีระเป็นเรื่องการรู้ตัวเองมากกว่า อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพราะดูจากสายตาคนนอก นายจีระไม่น่ามีปัญหาเรื่องการเงิน และปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองนั้นไม่ทราบ

ทิพาวดีปวดหัวหาคนแทน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่นายจีระ หงษ์ลดารมภ์ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ โครงการ ดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเนื่องจากมีข้อครหาว่าเป็นบุคคลล้มละลายเนื่องจากถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์แล้วตั้งแต่ปี 49 ว่า เรื่องนี้ต้องเห็นใจนายจีระ เพราะตนเป็นคนเชิญเข้ามาทำงาน โดยมีเจตนาที่จะให้เข้ามาช่วยดูในปัญหาเรื่องของทรัพยากรบุคคล ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้มี 2 คนคือนายจีระ และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลและรับพนักงานในกรณีที่บริษัทยุบเลิกกิจการ เพราะเกรงจะมีปัญหาในเรื่องของกฎหมายแรงงาน จึงอยากให้ดูในเรื่องของสัญญาการว่าจ้างใหม่

"การให้นายจีระ มาช่วยก็เป็นเรื่องชั่วคราว มาทำหน้าที่รักษาการ ซึ่งดิฉันเห็นว่าในส่วนของกฎหมายไม่ได้มีอะไรห้ามไว้ และยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเอาไว้ ซึ่งหากนายจีระ ลาออกเนื่องจากรู้สึกอึดอัดใจเพราะถูกกล่าวหาว่าล้มละลาย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะต้องหาคนใหม่มาแทนนายจีระ"

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของ การแต่งตั้งผู้จัดการโครงการ หรือเอ็มดีตัวจริงนั้น คงจะต้องรอให้มีการปรับโครงสร้างของไอทีวีให้เสร็จก่อน แต่เนื่องจากงานนี้เป็นงานชั่วคราว ดังนั้นหากจะสรรหาใครมาทำหน้าที่ชั่วคราวคงเป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากทุกคนมีงานประจำกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเงื่อนไขในการให้คนที่จะเข้าทำหน้าที่ตรงนี้จะต้องกำหนดให้ชัดเจน จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาและกำหนดเรื่องรายละเอียดให้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สัญญาที่ทางบริษัทไอทีวีได้ทำไว้กับบริษัทอื่นทั้งสิ้นจำนวน 446 ฉบับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการดำเนินการอย่างไร คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องรายละเอียดอ่อน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย หรือการเงินจะต้องดูให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่อง ของรายละเอียดจึงจะต้องใช้ความรอบคอบเพื่อไม่ให้รัฐถูกเอารัดเอาเปรียบไปมากกว่านี้

บริษัทไอทีวีเลิกธุรกรรมธุรกิจ

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการแจ้งบอกเลิกสัญญานี้เป็นผลให้สัญญาเข้าร่วมงานฯ สิ้นสุดลง

พร้อมกันนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้ไอทีวีดำเนินการชำระหนี้ต่างๆ ที่ค้างชำระ และจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งใช้อยู่ในการดำเนินกิจการตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ คืนให้แก่สปน. ตามเวลาที่ สปน. กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันคณะกรรมการได้อนุมัติให้ระงับการดำเนินธุรกิจทางการค้า และเลิกสัญญาว่าจ้างพนักงาน รวมทั้งอนุมัติการทำรายการเพื่อดำเนินงานของบริษัทในการรองรับการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ด้วยการว่าจ้างบริษัทเพื่อทำงานในด้านระบบงานบัญชี จัดทำเอกสาร งานเลขานุการบริษัท รวมถึงดูแลการจดทะเบียนใดๆ กับส่วนราชการ และจัดเตรียมข้อมูลด้านคดีที่ยังคงมีต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้รวมถึงว่าจ้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเพื่อดูแลและส่งมอบทรัพย์สินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน และว่าจ้างสำนักงานกฎหมายเพื่อดำเนินคดีที่จำเป็นต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติให้กรรมการลาออกรวม 4 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 ได้แก่ นายอนันต์ ลี้ตระกูล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายทรงศักดิ์ เปรมสุข และนางศุภรานันท์ ตันวิรัช หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีกรรมการลาออกไปแล้ว 2 คน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 คือ นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก และนายบุญชาย ศิริโภคทรัพย์

ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้แต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ลาออกรวม 4 คน คือ นายณิทธิมน จึงศิริ นายสุเมธี อินทร์หนู นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร และนางสาวจิรพร วิวงศ์ศักดิ์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และทำให้คณะกรรมการบริษัทคงเหลือ 5 คน ได้แก่ นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ นายณิทธิมน จึงศิริ นายสุเมธี อินทร์หนู นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร และนางสาวจิรพร วิวงศ์ศักดิ์

สำหรับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทโดยกำหนดให้นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ และนายณิทธิมน จึงศิริ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท รวมทั้งอนุมัติให้ย้ายที่ทำการบริษัทไปยังเลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 8 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

30 มี.ค.ฟ้องไล่เบี้ยไอทีวี

นายบัลลังก์ ปิ่นสากล อัยการผู้ได้รับมอบหมายจาก สปน.กล่าวถึงขั้นตอนการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าสัมปทานที่ค้างชำระ จำนวน 2 พันล้านบาท และค่าเสียหายจากการผิดสัญญา จากบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน ว่าขณะนี้อัยการได้แจ้งให้ ทาง สปน.ทำการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทน และค่าปรับรวมทั้งดอกเบี้ยที่ชัดเจนอีก ครั้ง ซึ่งหากได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขและไม่มีอะไรผิดพลาดก็เชื่อว่า สปน.จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางได้ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ทั้งนี้การฟ้องคดีโดยผ่านช่องทางทางศาลปกครองดังกล่าว เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับ สัญญาทางปกครอง ซึ่ง สปน.ใช้สิทธิตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 ซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่ วันที่รู้ถึงเหตุกระทำผิดนั้น

นายบัลลังก์ ยังกล่าวย้ำถึงกรณีที่ บมจ.ไอทีวี ต้องส่งคืนเครื่องมืออุปกรณ์และ ทรัพย์สินให้กับ สปน.คู่สัญญาว่า เมื่อมีการยุติสัญญา ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะต้อง ถ่ายโอนมาเป็นของ สปน. แต่ก่อนหน้านี้ที่ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เช่าอาคารชินวัตร 3 เพื่อเป็นสถานที่ ออกอากาศนั้นยังมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่ว่า ทรัพย์สินใดเป็นของใคร ซึ่ง สปน. และตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบรายละเอียดใน รายการทรัพย์สินที่มีจำนวนมากกว่า 4 พันล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการให้ทันภาย ใน 60 วัน ตามกฎหมาย

อัดพนักงานย้อนดูตัวเอง

นายฐิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่พนักงานไอทีวีออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและไม่ให้ปิดสถานี ก็เข้าใจได้ในฐานะคนทำข่าวที่อยากจะทำหน้าที่ แต่พนักงานที่ออกมาเหล่านี้ควรจะสร้างความเป็นกลางให้กับสังคมด้วย โดยไม่ควรมากดดันกับรัฐบาลเพราะรัฐบาลนี้มีความตั้งใจ มีเจตนาที่จะแก้ปัญหาไอทีวีในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด เช่น ความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สิน อุปกรณ์ใดที่จะตกเป็นของรัฐหลังจากไอทีวีถูกยกเลิกสัมปทาน

ดังนั้น พนักงานไอทีวีต้องกดดันผู้บริหารตัวเอง ซึ่งภาพที่ผ่านมาไม่เห็นผู้บริหารไอทีวีพยายามที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร วันนี้ยังไม่สายที่ผู้บริหารไอทีวีต้องกลับมาคุยกับรัฐบาลให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

"พนักงานต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก เพราะตั้งแต่ที่ศาลปกครองชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี จากนั้นมาทางพนักงานไอทีวีก็เหมือนต้านรัฐบาลตลอด พนักงานต้องย้อนไปคิดด้วยว่าตอนที่ชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ พนักงานได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์แค่ไหน กรณีเกิดกบฏไอทีวี 23 คนที่ถูกไล่ออก ก็มีคำถามว่าเหตุใดต้องทำขนาดนั้น การเสนอข่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีใบสั่งจากรัฐบาลเก่าให้เสนอใคร หรือไม่เสนอใคร ผมว่าสื่อด้วยกันต้องช่วยกันตรวจสอบว่าช่วงนั้นไอทีวีเป็นกลางแค่ไหน เขาต้องประเมินตัวเองด้วย ซึ่งในช่วง 2 วันที่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาผมว่าเขาก็ให้เสรีภาพกับพนักงานมากไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร"

นายฐิติพันธ์กล่าวว่า ตนไม่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะตั้งใจกลั่นแกล้งไอทีวีเพื่อไม่ให้ออกอากาศ แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายก็อยากให้รัฐบาลพนักงานไอทีวี ที่สำคัญคือบริษัทไอทีวี ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นบทบาทในการแก้ปัญหา มาเจรจากันในช่วงการเปลี่ยนผ่านว่าทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ชิ้นใดของไอทีวีที่จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของรัฐตามกฎหมายอันเป็นผลจากการยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ไอทีวีไม่ควรโยนภาระให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว พนักงานไอทีวีก็ต้องกลับไปเรียกร้องผู้บริหารของตัวเองให้การแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะทุกอย่างจะตบมือข้างเดียวไม่ได้

นายฐิติพันธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของไอทีวีส่วนหนึ่งมาจากการไม่ปฎิบัติตามสัญญาที่ตกลงไว้ ซึ่งมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการบริการสาธารณะ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างทางด่วน โดยก่อนจะมาประมูลงานก็เสนอผลตอบแทนสูง เมื่อได้งานมาก็ให้ผลตอบแทนไม่ได้ จึงมาเจรจากับรัฐเพื่อขอเปลี่ยนเงื่อนไข อย่างนี้ถือว่าไม่แฟร์ ตรงนี้ถือเป็นจุดบอดของโครงการบริการสาธารณะในประเทศ ทำให้บริษัทที่ไม่ชนะการประมูลก็เสียโอกาสในส่วนนี้

ขณะเดียวกันในการขอเปลี่ยนแปลงสัญญามักมีข่าวเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง และรัฐบาลก็มักจะยอมตลอด กรณีไอทีวีถือว่าผิดเงื่อนไขในส่วนนี้ชัดเจน รวมถึงการปรับผังรายการที่ลดเนื้อหาด้านข่าวจากที่ตกลงไว้ 70%.   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us