|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ค่าเงินบาททำสถิติแข็งสุดรอบ 9 ปี หรือ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ ต้อนรับการเข้ารับตำแหน่งขุนคลังคนใหม่ของ "ฉลองภพ" ปชป.เชื่อล้มมาตรการ 30% ทันที จี้ทบทวน พ.ร.บ.ต่างด้าว "โฆสิต" เตรียมถกภาพรวมเศรษฐกิจ ส่วน สศค.ชงงานนโยบายมหภาคให้ขุนคลังคนใหม่ วอนกำชับ "ครม. -กรมบัญชีกลาง" เร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ 93% ดันเศรษฐกิจโต 4.5% โยนชี้ชะตาต่ออายุภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมขอความชัดเจนโรดโชว์ต่างประเทศ
นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เงินบาทวานนี้ (8 มี.ค.) ปิดตลาดที่ 35.20/22 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเช้าที่เปิดตลาด 35.19/21 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทระหว่างวันแข็งค่าสุดที่ 35.10 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 9 ปี
"การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าก่อนกลับมาอ่อนค่าก่อนปิดตลาด มาจากสาเหตุที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% หลังจากที่นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลังคนใหม่ เนื่องจากในอดีตนายฉลองภพเคยแสดงความเห็นคัดค้านการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ประกอบกับค่าเงินเยนที่ปรับตัวอ่อนค่าลงไปมากจากช่วงเช้า 115.71 เยน/ดอลลาร์ มาที่ 116.80 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นการปรับทิศทางตามการเก็งกำไรค่าเงินเยน
สำหรับวันนี้ (9 มี.ค.) คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนวานนี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งตลาดคาดว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 3.75% และการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ แต่ตลาดคาดว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม
นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่านายฉลองภพคงจะมีการประชุมร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้นายฉลองภพ เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป แม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปจนเกือบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมแล้ว
ทั้งนี้ จากประวัติการทำงานของนายฉลองภพที่ทีดีอาร์ไอ สะท้อนให้เห็นว่ามีแนวคิดสนับสนุนเศรษฐกิจกระบวนการตลาดและการแข่งขันที่โปร่งใส ยุติธรรม และ และต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นที่มีปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแง่มุมเหล่านี้เชื่อว่าจะไม่สวนทางกับความต้องการของนักธุรกิจ หรือระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นอกจากนี้ควรมีการทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวใหม่ เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสียหายมาก และนายฉลองภพก็เคยระบุว่ามีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขบัญชี 3 ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถทำธุรกิจที่บัญญัติไว้ในบัญชี 3 ได้ง่ายขึ้น หากมีการปรับปรุงแก้ไขตามที่นายฉลองภพเคยมีแนวความคิดก็จะเป็นประโยชน์ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้เศรษฐกิจไทยได้ ตนยังเชื่อว่าจะมีการแสดงจุดยืนกับนโยบายดอกเบี้ยที่สามารถปรับลดลงได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงนี้แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อไม่มี จึงน่าจะมีการผลักดันนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง
"ที่สำคัญคือจากการเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ เมื่อต้องเข้ามา บริหารประเทศจะมีความสามารถผลักดันแนวคิดที่เคยสั่งสมมาได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อว่านักธุรกิจนักลงทุนก็ต้องติดตามดูว่าท่านจะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน แต่ที่ควรจะต้องเร่งทำคือ กำหนดให้ชัดว่าภายใน 8 เดือนจะผลักดันนโยบายและแก้ไขอะไรบ้าง เพราะในระยะอันสั้นไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจสามารถวางแผนและประเมินได้ รวมทั้งจะมีผลต่อการลงทุนจึงต้องสื่ออกมาให้ชัดเจน"
"โฆสิต-ฉลองภพ" ถกภาพรวม ศก.
วันนี้ (9 มี.ค.) นายฉลองภพจะเดินทางเข้ากระทรวงการคลังในเวลา 9.00น. หลังจากให้นโยบายแก่ข้าราชการแล้วจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 11.00น. ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้ (9 มี.ค.) จะหารือการทำงานด้านเศรษฐกิจกับนายฉลองภพ จากนั้นจะเข้าพบ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำแนะนำ ในวันที่ 12 มีนาคมนี้
นายโฆสิตเปิดเผยว่า หัวข้อหารือกับนายฉลองภพ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยท่ามกลางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ที่ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง ขณะเดียวกันจะหารือภาพรวมเศรษฐกิจ ของไทยในด้านต่างๆ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ตลอดจนจีดีพี โดยทั้งหมดจะพิจารณาจากมุมมองที่เคยมีอยู่เดิม ซึ่งจะได้ขอทัศนะจากนายฉลองภพ ก่อนไปหารือกับนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะหารือบนกรอบระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาล เพื่อเตรียมส่งมอบเศรษฐกิจส่วนรวม ให้แก่รัฐบาลต่อไปในระดับที่เข้มแข็งพอสมควร
"รัฐบาลนี้ไม่รังเกียจที่จะรับฟังเสียงของภาคเอกชน โดยเฉพาะวิธีทำงาน ส่วนที่มีการระบุว่ารัฐบาลทำงานลักษณะเกียร์ว่างนั้น ผมทำงานเต็มที่แล้ว ส่วนจะเปรียบว่าใส่เกียร์อะไร เป็นเรื่องคนอื่น" นายโฆสิตกล่าว
สศค.ลุ้นชี้ชะตาต่ออายุVAT
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. กำลังรวบรวมงานต่างๆ เพื่อเตรียมเสนอให้นายฉลองภพรับทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยยืนยันว่า สศค. พร้อมจะดำเนินงานตามนโยบายของ รมว.คลัง คนใหม่ ตามที่มีการคาดการณ์กันว่า นายฉลองภพ อาจจะมีการปรับปรุงนโยบายการคลังในหลายเรื่องๆ จากที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเอาไว้สมัยที่ยังทำงานที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
"ถ้าท่านจะปรับอะไร ก็สามารถทำได้ตามสิทธิ์การเป็น รมว.คลังอยู่แล้ว โดยถ้าเห็นว่าเรื่องใดมีความเหมาะสมที่จะต้องปรับก็ได้เลย สศค. ก็พร้อมจะดำเนินการ ซึ่งท่านอาจจะนำแนวทางของทีดีอาร์ไอที่เคยเสนอแนะไว้ มาปรับให้ผสมผสานกับงานของ สศค. ก็ได้"
สำหรับงานสำคัญๆ ที่ สศค. จะเสนอให้ รมว.คลังรับทราบ ได้แก่ การดูแลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ ให้ได้ตามเป้าหมาย 93% โดยจะต้องดูแลให้สามารถเบิกจ่ายได้เฉลี่ย 1.2-1.3 แสนล้านบาทต่อเดือน เพื่อให้สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในขั้นสูง 4.5% ตามที่ สศค. ได้ประมาณการไว้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในช่วง 4-4.5%
"ยอดการเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคมไม่ดี เพิ่งมาดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหวังว่าจะเบิกจ่ายได้ดีอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ประมาณเดือนละ 1.2-1.3 แสนล้าน ซึ่ง สศค. จะได้เสนอแนะให้ รมว.คลัง ได้กำชับกรมบัญชีกลาง รวมถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้ช่วยกันดูแลการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า อีกเรื่องที่จะเสนอ รมว.คลัง ก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยขณะนี้ สศค. ได้จัดทำรายละเอียดเอาไว้พร้อมแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในระดับนโยบายว่า จะนำมาใช้เมื่อใด อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ถึงความเหมาะสม มองว่า ในปีนี้ควรมีการปรับในส่วนของภาษีศุลกากร ทั้งการลดอากรขาเข้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และลดอากรขาเข้าในหมวดอุตสาหกรรมแปรรูปก่อน เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ ขณะที่ภาษีอีกตัวที่ควรดำเนินการในปีนี้ ก็คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนภาษีตัวอื่นๆ ก็อาจจะดำเนินการในปีถัดๆ ไป อาทิ การนำภาษีมรดกมาใช้ การปรับอัตราภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นต้น
ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ การผลักดันกฎหมายการเงิน 3 ฉบับ ที่ ครม. เห็นชอบไปแล้ว การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) การกำชับหน่วยงานจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้า การดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รมว.คลัง อาเซียน กรอบการจัดทำงบประมาณปี 2551 ที่ผ่าน ครม. แล้ว ความจำเป็นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการจัดโรดโชว์เศรษฐกิจในต่างประเทศที่ได้มีการเลื่อนออกไป
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ศึกษาว่า จะต่ออายุการคงอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% หรือไม่นั้น ขณะนี้ สศค. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทั้งหมด โดยหากไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ก็จะทำให้อัตราการจัดเก็บไปอยู่ที่ 10% ตามเดิมโดยอัตโนมัติ ซึ่งต้องพิจารณาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนี้เป็นสำคัญ
"ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจชะลอ คงไม่มีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้น แม้ว่าจะทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มก็ตาม แต่จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอไปอีก แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ก็อาจจะปรับเพิ่มได้อีกสัก 1-2% ซึ่งการพิจารณาจะต้องดูเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออก ถ้าทุกตัวดี ก็ปรับขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายด้วย" นายสมชัย กล่าว
รองผู้อำนวยการ สศค. กล่าวด้วยว่า กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เลื่อนการจัดโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 10-13 มีนาคม 2550 ออกไปอีกประมาณ 2 เดือนนั้น ถือว่าเหมาะสม เพราะที่ผ่านมายังไม่มี รมว.คลัง โดยขณะนี้เมื่อมี รมว.คลังคนใหม่แล้ว ก็ต้องให้ รมว.คลังเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะให้นายสมหมายเป็นผู้ไปชี้แจงนักลงทุนต่างชาติเหมือนเดิม หรือ รมว.คลังคนใหม่จะไปเอง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า จะรับฟังนโยบายจาก รมว.คลัง ก่อน ขณะเดียวกัน สศค.ก็ไม่จำเป็นต้องรายงานผลการประเมินผลกระทบของมาตรการกันเงินสำรองร้อยละ 30 ของ ธปท.ด้วย เพราะเชื่อว่า รมว.คลัง ได้ศึกษาไว้อย่างชัดเจนแล้ว สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในเดือน ก.พ. 2550 ที่ลดลงนั้นเกิดจากการนำเข้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่เชื่อว่าหากกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2550 ได้ ก็จะช่วยให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดีขึ้น.
|
|
|
|
|