ไวไวปรับภาพลักษณ์"ควิก"พร้อมขยายตลาด ใหม่ภาย ใต้แนวคิด "ควิก ขลุกขลิก น้ำนิดๆ
จี๊ดจ๊าด...สะใจ" หวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาด จาก 32% เป็น 38-39% และในปี 2549 เตรียมกวาดส่วนแบ่งตลาด
45% ครองแชมป์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ด้านสหพัฒน์เผยหลังซื้อฟอร์มีมาบริหารเองแล้ว
บัดนี้ยังอึมครึม ไม่มีทิศทางชัดเจนรอสรุปผลปลายเดือนนี้ แต่ที่แน่นอนแล้วคือให้
ไอ.ซี.ซี เป็นผู้จัดจำหน่าย
นายสุชัย ตันติยาสวัสดิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย
จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จ
รูปได้ถึง 32% ในปี 2545 โดยปี 2541 ไวไวมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 17% เท่านั้น ทำให้ในปีนี้
จะเป็นปีทองของบริษัท ที่ยังคงรุกตลาดต่อไปด้วยสินค้านวัตกรรมใหม่ ที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แบรนด์มากยิ่งขึ้น
สำหรับช่วงนี้บริษัทได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ "ควิก" ใหม่ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยในภาพผู้หญิงแบบ
3 มิติ ที่ทันสมัยขึ้นเพื่อจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยเริ่มต้นทำงาน โดยได้ปรับไปแล้วเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ส่วนเดือนมีนาคม บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ ควิก! ขลุกขลิก ถึง 4 รสชาติ คือ รสแกงเขียวหวานไก่
รสผัดเผ็ดทะเล รสกะเพราไก่ และรสลาบหมู ที่เปิดตัวใหม่ภายใต้แนวคิด ควิก ขลุก ขลิก
น้ำนิดๆ จี๊ดจ๊าด...สะใจ ซึ่งเป็นการเปิดตลาด ใหม่ให้แก่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่ตรงกลางระหว่างน้ำ
กับแห้ง
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ใช้เวลากว่าหนึ่งปีศึกษาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน จนทราบว่ามีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ชอบการรับประทาน
บะหมี่แบบที่เรียกว่า "ขลุกขลิก" คือ การลดปริมาณน้ำในชามเพื่อให้มีรสชาติที่จัดจ้าน
อร่อยเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทรนการรับประ ทานบะหมี่แบบใหม่ของคนรุ่นใหม่
ซึ่งการเปิดตัว ควิก ขลุกขลิกในครั้งนี้ จะช่วยให้ไวไวสามารถขยายฐานตลาดใหม่
จากเดิม ที่มีเพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบน้ำ และแบบแห้ง ก็จะมีแบบขลุกขลิกเป็นตลาดใหม่เพิ่มเข้ามา
และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แบรนด์ไวไวเพิ่มขึ้น โดยปี 2545 ไวไว มีส่วนแบ่งการตลาด
32% จากมูลค่าตลาดรวม 2,850 ล้านบาท แบ่งเป็นแบรนด์ไวไว 25% และควิก 7%
สำหรับในปีนี้คาดว่าตลาดรวมบะหมี่น่าจะเติบ โตเพิ่มขึ้น 5-7% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ
9,500 ล้านบาท โดยไวไวคาดว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้เป็น 38-39% คิดเป็นมูลค่ายอดขาย
3,100-3,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดของควิก ที่คาดว่าจะเพิ่มจาก
7% เป็น 10-12% ของตลาดรวม หลังจากที่ทำตลาด ควิก ขลุกขลิกแล้ว 1 ปี และบริษัทยังวางเป้าหมายว่าในปี
2549 จะมีส่วนแบ่งการตลาด 45% ซึ่งเชื่อว่าจะใกล้เคียงกับมาม่า และไวไวน่าจะขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้
"เราคิดว่าทิศทางที่ไวไวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 ถูกทางแล้ว เพราะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มขึ้นทุกปี
ซึ่งเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ความแข็งแกร่งของทีมงาน การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆสู่ตลาดอยู่เสมอ
จึงเชื่อว่าอีกไม่นานไวไวก็จะขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้" นายสุชัย กล่าว
ทั้งนี้ไวไว ยังเตรียมเปิดตลาดใหม่ด้วย พาสต้ากึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ไวไว
ในช่วงไตรมาส ที่สองของปีนี้ เพื่อเพิ่มรายได้รวมให้แก่บริษัท ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกทดแทนด้วย
โจ๊ก หรือข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ที่มีคู่แข่งหลายรายในตลาด ทำให้การเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีไม่มากนัก
นายสุชัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่สหพัฒน์ ซื้อบะหมี่ฟอร์มี ไปทำตลาดเองว่า ไม่รู้สึกหนักใจเพราะว่าการรับรู้ในแบรนด์ของฟอร์มีที่ผ่านมาได้ถูกบั่นทอนลงด้วยปัญหาภายใน
แต่เชื่อว่าภายใต้การบริการงานของสหพัฒน์คงจะสร้างกิจกรรมอะไรที่แปลกใหม่มากขึ้น
เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และไม่ให้มากระทบกับแบรนด์ของมาม่า
"สำหรับช่วงนี้มาม่าคงไม่มีอะไรใหม่ นอก จากการนำสินค้าเก่ามารีลอนช์ใหม่เท่านั้น
ซึ่งการที่ควิกออกรสชาติใหม่ เพื่อเปิดตลาดใหม่เชื่อว่าจะสร้างโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้"
นายสุชัย กล่าว
บุญเกียรติชี้ฟอร์มียังอึมครึม
ทางด้านนายบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรม การผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่น
แนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มสหพัฒน์เป็นเจ้าของบะหมี่ฟอร์มีแล้ว 100%
โดยมี 4 บริษัทที่จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด เจ้าของบะหมี่ฟอร์มี
ประกอบด้วย บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) , บริษัท สหพัฒนพิบูล
จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูด จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์
โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) คาดว่า แต่ละบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน
"ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องทิศทางของฟอร์มี เพราะยังไม่มีข้อสรุประหว่างผู้บริหาร
แต่ละบริษัท ซึ่งภายในเดือนนี้จะประชุมเพื่อหาแนวทางและกำหนดนโยบาย คาดว่าในสิ้นเดือน
นี้น่าจะสรุปผลได้"
อย่างไรก็ตาม นายบุญเกียรติ กล่าวว่า การซื้อธุรกิจมาจากนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
และศิลปินดาราจากค่ายแกรมมี่นั้น ทางผู้บริหารของสหพัฒน์หลายคนมีความเห็นว่าจะซื้อมาเพื่อ
หยุดทำตลาด แต่ตนเห็นว่า ฟอร์มีเป็นธุรกิจ ที่ยังไปได้ อย่างน้อยก็เป็นธุรกิจที่สหพัฒน์ทำมานานและมีความชำนาญ
จึงน่าจะทำตลาด ต่อไป
"เราตัดสินใจเดินหน้าต่อ เพราะเป็นธุรกิจที่เราถนัด ซึ่งไม่ได้หวังว่าทำแล้วจะต้องมีกำไรมากมาย"
นายบุญเกียรติ กล่าว
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านการบริหาร แต่ในเบื้องต้นไอ.ซี.ซี.ฯ จะเป็นผู้กระจาย
สินค้าเช่นเดิม โดยขายผ่านโมเดิร์นเทรด ร้านค้า ร้านย่อยและซาปั๊ว ในขณะที่กลุ่มยี่ปั๊ว
ยังไม่สามารถจำหน่ายได้เนื่องจากกลุ่มนี้จะขายเฉพาะ สินค้าที่ติดตลาดแล้ว หรือมียอดสั่งซื้อเข้ามาแล้วเท่านั้น
สำหรับสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดจำหน่าย ที่บริษัท 4 พีเพิล ฟูด จำกัด ในช่วงที่นาย
ไพบูลย์ยังถือหุ้นอยู่ ได้แต่งตั้งให้ดีทแฮล์ม เป็นผู้จัดจำหน่ายฟอร์มี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม
เป็นต้นไปนั้น เมื่อฟอร์มีมาอยู่ในมือของ สหพัฒน์แล้วก็คงต้องยกเลิกสัญญากับดีทแฮล์ม
ไปโดยปริยาย ส่วนกับบริษัทตัวแทนโฆษณาอย่าง เอส ซี แมชบอกซ์ นั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำ
อย่างไรต่อไป
"วันนี้ผมต้องยืนยันว่าไอ.ซี.ซี.มีจุดแข็งเรื่องการจัดจำหน่าย และที่ผ่านมาเราวางตลาดฟอร์มีในช่วงแรกก็ทำได้ดี
มีผลงานที่น่าพอใจ ซึ่งเราเข้าใจธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคดีว่า มันต้องค่อยเป็นค่อยไป
จะไปหวังว่าเปิดตลาดมาแล้ววางตูมเดียวทั่วประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้ถือหุ้นเดิมที่เขายังไม่เข้าใจธุรกิจนี้ดีพอ"
นายบุญเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายบุญเกียรติให้ความมั่นใจว่า แม้ว่าในปัจจุบันคู่แข่งขันจะรุกตลาดมากขึ้น
แต่มาม่าและฟอร์มี ก็ยังทานกระแสการแข่งขันนี้ไว้ได้ โดยเฉพาะการมีฟอร์มี เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งเชื่อว่าจะทำให้มาม่ารักษาความเป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อไปได้