|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้ายึดตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 มี.ค. 2550 วานนี้ (7 มี.ค.50)จะต้องถือเป็นวันอวสานอย่างแท้จริงของสถานีโทรทัศน์ “ไอทีวี” ที่บริหารโดยบริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน)ในเครือชินคอร์ป สิงคโปร์ จากนั้นก็จะมีชื่อของ “ทีไอทีวี” เข้ามาแทนที่
ทว่า หลังจากกฤษฎีกาตีความกรณีกรมประชาสัมพันธ์เข้าเสียบแทนไอทีวีเดิมได้ แล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้คลื่นโทรทัศน์คลื่นนี้ดำเนินต่อเนื่อง ไม่หยุดแพร่ภาพ กลับมติครม.ภายในวันเดียว และ ยังมีแนวโน้มจะโอบอุ้มพนักงานไอทีเดิมทำงานต่อไปตามข้อเรียกร้องของพนักงานที่ออกอากาศโจมตีรัฐบาลมาตลอด 2 วันนั้น สร้างความสับสนแก่สาธารณะเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลกลับลำอุ้มไอทีวี? ทุกอย่างกลับไปตามธงที่นายกฯตั้งไว้ รับปากเอาไว้ คือ 1.แพร่ภาพต่อเนื่อง และ 2.อุ้มพนักงานไอที และ 3. ใช้งบประมาณรัฐที่กรมประชาสัมพันธ์จะขอประมาณ 90 ล้านบาท หรือ เงินภาษีของประชาชนมาดำเนินการ ใช่หรือไม่
หากใช้ “ความถูกต้องตามหลักกฎหมาย” ซึ่งมติครม.เมื่อวันอังคาร สถานะของ “ไอทีวี” หลังจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร และ การบริหารจัดการรวมทั้งเป้าหมายปลายทางของ “ทีไอทีวี” ควรจะเป็นเช่นใด นี่คือประเด็นคำถาม
นายเจริญ คัมภีรภาพ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชี้ว่า ในส่วนของไอทีวี เวลานี้ถือว่าสัญญาสัมปทานระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับบริษัทไอทีวี เป็นอันสิ้นสุดลง เพราะผลจากการผิดสัญญาของไอทีวี
หลังจากนี้ สปน. จะต้องฟ้องร้องบริษัทไอทีวีและผู้ถือหุ้นให้ชำระหนี้ โดยมูลหนี้จะผูกพันผู้ถือหุ้นไอทีวีตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ หากไม่สามารถชำระหนี้ก็ขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย
ผลการสิ้นสุดของสัญญา ทางไอทีวีมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ สปน. ตามเงื่อนไขสัญญาแบบ BTO (Build – Transfer – Operate) คือ สร้าง ส่งมอบ และบริหาร ซึ่งตามสัญญาสัมปทานข้อ 13 วรรคสาม บริษัทไอทีวี มีเวลา 60 วันในการส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ สปน.
นอกจากนั้น มติครม. เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนชื่อสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี เป็น “ทีไอทีวี” (Thailand Independent Television) พร้อมกับให้ยึดเครื่องส่งโทรทัศน์ยูเอชเอฟมาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์
ถือเป็นการปิดฉาก ไอทีวี ลงอย่างสิ้นเชิง
ในส่วนของสถานีทีไอทีวี นายเจริญ ชี้ว่า 1) คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความข้อกฎหมายตามที่สปน.หารือมาในประเด็นที่ว่า จะมอบสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ จะเป็นการขัดต่อพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่หรือไม่ ซึ่งคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเวลานี้ไม่มีคณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) อำนาจก็ยังคงอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ กรมฯจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการ จะยกคลื่นให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารไม่ได้
2) คณะรัฐมนตรี ต้องมีมติออกมาให้ชัดเจนว่า จะให้กรมประชาสัมพันธ์ เข้ามาบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นระยะเวลาเท่าใด กำหนดสัดส่วนรายการระหว่างการสาระและบันเทิง ไม่ใช่เป็นการเซ็นเช็คเปล่าให้กรมประชาสัมพันธ์ ไปดำเนินการอย่างไรก็ได้
คณะรัฐมนตรี ต้องแถลงอย่างเป็นทางการว่า จะให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นการเข้ามาบริหารจัดการชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อรอจัดการสถานีทีไอทีวี ให้เป็นทีวีสาธารณะ ที่ไม่ใช่อยู่ภายใต้การครอบงำของทั้งทุนและรัฐ เพราะกรณีไอทีวีที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทุน สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำรงสถานภาพทีวีสาธารณะตามเจตนารมย์ในการก่อตั้ง ขณะเดียวกัน ทีไอทีวี ก็ไม่ควรจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ กลายเป็นการขยายอาณาจักรสื่อของรัฐเพิ่มขึ้นมาอีกช่องหนึ่ง
3) กรมประชาสัมพันธ์ จะต้องสร้างระบบการบริหารจัดการคลื่นใหม่ให้มีความโปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยกรมฯ ควรจะต้องตั้งคณะกรรมการบริหารทีไอทีวีชุดใหม่ ที่มีองค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มญาติวีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ที่เป็นจุดก่อเกิดของไอทีวี เข้ามาร่วมกำหนดทิศทางและผังรายการใหม่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพียงลำพัง
“ผมไม่เห็นด้วยที่จะเป็นอำนาจการวินิจฉัยของกรมประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว และถ้ากรมประชาฯ อมคลื่นนี้ไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ มีปัญหาตามมาแน่” ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ กล่าว
4) กรมประชาสัมพันธ์ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการรับมอบการโอนทรัพย์สิน เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ จากไอทีวี โดยทรัพย์สินที่รับมอบต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ และระหว่างนี้กรมประชาสัมพันธ์ ไม่อาจจะเข้าไปใช้ทรัพย์สินใดๆ ของไอทีวีได้ เพราะยังไม่ได้เคลียร์ หากเข้าไปใช้ถือว่าทำผิดเพราะสัญญาระหว่างไอทีวีและสปน.ได้ยกเลิกไปแล้ว
5) ในส่วนของผู้จัดรายการที่ผลิตรายการป้อนให้กับไอทีวีอยู่เดิม กรมประชาสัมพันธ์ ต้องพิจารณาว่าจะให้รายการใดคงอยู่ต่อไป คงไม่ใช่ให้คงอยู่ทั้งหมดตามผังรายการเดิม ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้สอดรับกับการเป็นทีวีสาธาณะที่มีรายการสาระเป็นหลัก
6) ในส่วนของพนักงานไอทีวีเดิม เป็นดุลพินิจของกรมประชาสัมพันธ์ว่า จะพิจารณารับเข้ามาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ผลตอบแทนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด หรือจะเข้ามารับจ้างผลิตรายการให้กับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการว่าจ้างให้ผลิตรายการ กรมประชาสัมพันธ์ ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเปิดประมูลให้ผู้ผลิตรายการอื่นนอกเหนือจากพนักงานไอทีวีเดิมมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลแข่งขันด้วยจึงจะถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงกลับลำไปมาในการออกมติเกี่ยวกับไอทีวี การปล่อยให้ “จอดำ” เพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆ เช่น ข้อกฎหมาย ทรัพย์สินที่จะต้องรับโอนให้เสร็จสิ้น การจัดผังรายการใหม่ที่ให้สาระ รวมถึงปัญหาพนักงาน ฯลฯ จะทำให้ประชาชนขาดแคลนข่าวสารข้อมูลที่ว่ากันตามความจริงแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ แต่อย่างใด จริงหรือ ?
ทีไอทีวี ชื่อใหม่จริง แต่การดำเนินการเหมือนเดิมทุกประการก็ไม่ต่างอะไรกับ ไอทีวีแปลงร่างมานั่นเอง
|
|
|
|
|