แบงก์กรุงเทพ ประกาศสู้ธุรกิจบัตรเครดิต หลังตั้งตัวได้จากเกณฑ์ธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าเป็นผู้นำยอดใช้จ่าย
ผ่านบัตรเครดิตภายใน 2 ปี แซงหน้า "บัตรกรุงไทย" เพราะปรับระบบให้บริการใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ
และความรวดเร็ว วางแผนเพิ่มจำนวนบัตรสิ้นปีเป็น 600,000 บัตร "ด้านบัตรกรุงไทย"
ก้าวอีกขั้น เน้นคุณภาพสินเชื่อ มั่นใจยอดผิดนัดชำระยังต่ำเพราะมีระบบป้องกันความเสี่ยงดี
นายโชค ณ ระนอง ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBLเปิดเผยว่า
ธนาคารตั้งเป้าการเป็นผู้นำของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตภายใน 2 ปี หลังจาก เกณฑ์ธุรกิจบัตรเครดิตได้ออกมาใหม่
ธนาคารได้ศึกษาและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้อง
โดยปีนี้ธนาคารได้วางแผนในการเพิ่มจำนวนบัตรเครดิตให้ ถึง 600,000 บัตร จากปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งการครองตลาดอยู่อันดับที่
4 ของอุตสาหกรรม โดยธนาคารจะปรับปรุงกระบวนการให้บริการบัตรเครดิตทั้งในด้านการให้บริการลูกค้าสัมพันธ์
ระบบการอนุมัติบัตรให้มีคุณภาพและรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้ามากขึ้น
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบการให้บริการบัตรเครดิต คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
นายโชค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิตยังมีปัญหาในเรื่องของเกณฑ์การกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ถือบัตรเครดิตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ได้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับ พรบ.เครดิตบูโรที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
ทำให้ธนาคารยังไม่สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจได้
"ตอนนี้เป็นช่วงที่ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับตัว เพื่อพร้อมที่จะโตแบบก้าวกระโดด
และเชื่อว่าจะเป็นผู้นำตลาดได้จากศักยภาพ ที่ธนาคารมีอยู่ทั้งในเรื่องของฐานลูกค้าและความแข็งแกร่งด้านสาขา
เชื่อว่าเมื่อเราพร้อม จะสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว" ผู้จัดการสายบัตรเครดิตกล่าว
สำหรับแนวโน้มการให้บริการบัตรเครดิตในอนาคตคาดว่าจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการตลอดชีพ
เช่นเดียวกับธุรกิจบัตรเครดิตในต่างประเทศที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เนื่องจากการแข่งขันด้านการให้บริการบัตรเครดิตในอนาคตจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น
และในปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มไม่คิดค่าธรรมเนียมตลอดชีพแล้วและคาดว่าอีกประมาณ
2 ปี ทั้งระบบจะไม่มีการ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีอีกต่อไป
บัตรกรุงไทยก้าวอีกขั้นเน้นคุณภาพสินเชื่อ นายธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธาน
เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด หรือเคทีซี กล่าวว่ายอดการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ถือบัตรเครดิตของบริษัทอยู่ที่ประมาณ
2-3% ของยอดลูกหนี้บัตรเครดิต โดย ณ สิ้นปี 2545 ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณกว่า
7,200 ล้านบาท ยอดการผิดนัดชำระของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ยอดผิดนัดชำระนั้นบริษัทเริ่มนับตั้งแต่เดือนที่ 2 จากวันครบกำหนดชำระ เป็นต้นไปจนถึงเดือนที่
6 และหลังจากเดือนที่ 6 บริษัทจะบันทึกเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล
และยอดเอ็นพีแอล ของบริษัท ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำด้วย โดย สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่
0.5% หรือ 38 ล้านบาท
"เราไม่วิตกกับเรื่องที่จะมียอดเอ็นพีแอล หรือยอดผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะห้ามผู้ประกอบการบัตรเครดิตคิดค่าใช้จ่ายการติดตามทวงถามยอดค้างชำระบัตรเครดิต
เพราะของเคทีซีไม่มีการคิดอยู่แล้ว แต่บริษัทอื่นที่เคยคิดอาจได้รับผลกระทบจากตรงจุดนี้ได้
และแม้ว่าระบบเครดิตบูโรยังมีปัญหาอยู่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบที่จะทำให้ยอดผิดนัดชำระของผู้ถือบัตรเคทีซีเพิ่ม
เพราะเคทีซีมีระบบการติดตามหนี้ หรือระบบบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในระดับมาตรฐาน"
นายธวัชชัยกล่าว
ยอดบัตรปัจจุบัน 6.5 แสนบัตร
ยอดจำนวนบัตรเครดิต ของบริษัท ณ ปัจจุบันมีกว่า 630,000 รายมียอดค้างชำระอยู่ที่
2.3% เท่านั้น โดยแบ่งเป็นผู้ถือบัตรที่มีรายได้ 15,000 บาท ขึ้นไป มียอดค้างชำระประมาณ
3% ส่วนผู้ถือบัตรที่มีรายได้ 10,000-15,000 บาท มียอดค้างชำระ 2% และผู้ถือบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่า
10,000 บาท มียอดค้างชำระอยู่ที่ 1% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ถือบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่า
15,000 บาท มียอดค้างชำระอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งถือว่าเป็น สิ่งที่ดี และเชื่อว่ายอดค้างชำระของผู้ถือบัตร
ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 จะไม่เพิ่มมากนัก สำหรับผลประกอบการปี 2545 บริษัทมีกำไรจำนวน
141.3 ล้านบาทหรือคิดเป็น กำไรต่อหุ้น (คำนวณโดยใช้การถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) เท่ากับ
5.67บาทต่อหุ้น