ตลอดเวลา 7 ปี หลังยึดร่มแบงก์ใบโพธิ์เป็นตลาดหลัก "นิวยอร์คไลฟ์" พันธมิตรค่าย "แบงก์ไทยพาณิชย์" ได้เรียนรู้ว่า การยึดช่องทางสาขาแบงก์เป็น "ธงนำ" อย่างเหนียวแน่น เพื่อสร้างฐานลูกค้า กำลังเผชิญหน้ากับทิศทางตีบตันจากการชะลอตัวของ "สินเชื่อบ้าน" ที่เคยทำรายได้มากกว่ากึ่งหนึ่งจากสาขามากกว่า 700 แห่ง "ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ" ขึ้นปีที่ 8 จึงเริ่มจะเบนเข็ม สร้างตลาดใหม่นอกชายคาแบงก์ ในลักษณะ MULTI DISTRIBUTION CHANNEL โมเดลที่ธุรกิจประกันชีวิตยุคใหม่ กำลังยึดเป็นต้นแบบ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่...
ยอดขายผ่านช่องทางธุรกิจ แบงก์แอสชัวรันส์หรือ ขายประกันชีวิตผ่านสาขาแบงก์ ซึ่งเป็นช่องทางขายหลักในปีนี้ของไทยพาณิชย์นิวยอร์คไฟล์ประกันชีวิต คิดเป็นเบี้ยใหม่ 4,223 ล้านบาท แบ่งเป็น รายบุคคล 2,149 ล้านบาท เติบโต22% และเครดิตไลฟ์ 2,074 ล้านบาท ลดลง 9%
โดยมีตัวแปรสำคัญที่ฉุดให้เปอร์เซ็นต์ปรับลงคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างซบเซา สวนทางกับเบี้ยรับรวมใหม่ปีนี้ที่กระโดดมาที่ 10,000 ล้านบาทเป็นปีแรก นับจากเปิดตลาดในปี 2543 ตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขช่องทางขายผ่านแบงก์ใบโพธิ์ร่วงลง โดยมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงเป็นแรงกดดันที่สำคัญ
ทั้งหมดจึงอธิบายให้ได้ว่า นิวยอร์คไลฟ์ต้องเคลื่อนไหวตัวเองไปในทิศทางที่เคยละเลยมาก่อนผ่านช่องทางขายอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากตลอดเวลาที่จับตลาดแบงก์แอสชัวรันส์มาตลอดเป็นสัดส่วนสูงกว่าช่องทางอื่นที่ยังวิ่งตามหลังอยู่หลายก้าว
ปี 2549 ไทยพาณิชย์นิวยอร์คฯ มีเบี้ยใหม่จากทุกช่องทางรวมทั้ง 5,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.86% จากปี 2548 เป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 10.39% จากปี 2543 ที่มีเบี้ยรับรวมเพียง 1,070 ล้านบาท
โดนอลด์ คาร์ดีน กรรมการผู้จัดการ บมจ. ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต อธิบายว่า ในปี 2550 บริษัทจะโฟกัสช่องทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นในลักษณะ MULTI DISTRIBUTION CHANNEL เพื่อให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับช่องทางสาขาแบงก์ โดยจะเน้นไปที่ ช่องทางตัวแทน และสายงานธุรกิจเฉพาะ และช่องทางอื่นอย่าง เทเลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งสามปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวระดับตัวเลข 3 หลัก เพราะเป็นตลาดที่พุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ถือบัตรเครดิต
ว่ากันว่า สายงานใหม่ ที่เพิ่งจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีก่อน กำลังจะกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้ากระเป๋าให้กับไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ
โดนอลค์ บอกว่าปี 2550 กำหนดเบี้ยรวมไว้ที่ 11,800 ล้านบาท เติบโต 18% เบี้ยปีแรกขยายตัว 5% เป็น 5,366 ล้านบาท ดังนั้นจึงเริ่มมีการวางแผนเพิ่มจุดขาย เพิ่มปริมาณการผลิต และเตรียมสินค้าใหม่ให้กับช่องทางใหม่ๆ อย่างช่องทางธุรกิจองค์กร หรือตัวแทน ที่ในปีนี้จะรีครูตเพิ่มอีก 2,000 รายจากที่มีอยู่ 3,000 ราย รวมเป็น 5,000 ราย
"ตั้งเป้าหมายว่าช่องทางตัวแทนจะมีอัตราเติบโต 30% ในช่วง 5 ปี"
ในปีที่ผ่านมา ช่องทางตัวแทน มีเบี้ยใหม่รวม 477 ล้านบาท ขณะที่สายงานธุรกิจเฉพาะ ที่รวมเอา ประกันชีวิตข้าราชการเทเลมาร์เก็ตติ้ง และประกันกลุ่ม มีเบี้ยใหม่รวมกัน 388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% แบ่งเป็นช่องทางประกันชีวิตข้าราชการหรือ เวอร์คไซค์มาร์เก็ตติ้ง มีเบี้ยใหม่ 130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เป็นที่ 2 ในตลาด ส่วนเทเลมาร์เก็ตติ้ง ขยายตัว 190% โดยมียอดขาย 97 ล้านบาท
|