|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
SATTEL-ITV กลายเป็นปัญหาของชาติ รัฐบาลต้องเข้ามาแบก แก้ปัญหาหลังทักษิณขายทิ้ง กรณีไอทีวีชัดเจนรัฐยึดแน่ หลังเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เมิน แต่ปัญหาคือจะสานต่ออย่างไร ส่วนดาวเทียมไทยคมคาดหมายเน้นแนวทางกฎหมายทวงคืน คนวงการหุ้นห่วงได้คืนมาแต่บริหารไม่เป็นจะเสียหาย เตือนต้องรอบคอบหากเปิดทางรายใหม่เข้าเสียบแทน
ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2550 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความต้องการในการทวงสมบัติชาติคืนจากสิงคโปร์ โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคม ที่สิทธิในการบริหารดาวเทียมดังกล่าวติดไปกับบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL บริษัทลูกของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ที่ตระกูลชินวัตรขายให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์
แนวทางที่ทางการของไทยต้องการดาวเทียมไทยคมกลับคืนมาเป็นของไทยนั้น ถูกส่งสัญญาณมาว่าต้องการใช้วิธีการซื้อคืนจากเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แต่ถูกท้วงติงถึงความคุ้มค่าในการเข้าซื้อดังกล่าวจากหลายฝ่าย ทำให้แนวคิดดังกล่าวเงียบหายไป
พร้อมๆ กับข้อเสนอในการใช้ช่องทางทางกฎหมาย ที่มีบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ที่เป็นแกนหลักในการซื้อ SHIN ว่าเข้าข่ายนอมินีหรือไม่ หากเข้าข่ายก็จะทำให้เงื่อนไขการถือหุ้นใน SHIN ขัดต่อกฎหมายไทย รัฐมีสิทธิจัดการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งธุรกิจกลุ่มในกลุ่มชินคอร์ป มีทั้ง SATTEL และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุด
ในช่วงปลายเดือนประเด็นใหญ่ถูกจับจ้องมาที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ที่มีปัญหาในเรื่องการกระทำผิดสัญญาสัมปทานที่ต้องชำระพร้อมค่าปรับเกือบแสนล้านบาท โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 เห็นชอบให้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาหากไอทีวีไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในวันที่ 6 มีนาคมนี้
ก่อนหน้านี้ 1 วัน บุญคลี ปลั่งศิริ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการคณะกรรมการของ ITV
รัฐแบก ITV
"งานนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐคงยึดสัมปทานคืนแน่นอน เพราะเงินเกือบแสนล้านบาท คงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริหาร ITV จะหามาชำระให้ทันภายในเวลาที่กำหนด" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าว
แต่ปัญหาที่จะตามมาคือเมื่อยึดคืนมาเป็นของรัฐบาลแล้ว จะบริหารจัดการใน ITV อย่างไร เพราะ ITV เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT เข้ามาดูแลก็ต้องดูว่าจะดูแลในลักษณะใด เพราะทั้ง ITV และ MCOT เป็นธุรกิจเดียวกัน หากจะขายออกไปให้เอกชนภายหลังก็คงไม่ง่าย เนื่องจากต้องเป็นรายการข่าวและสารไม่ต่ำกว่า 70% ของเวลาที่ออกอากาศทั้งหมด และจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1 พันล้านบาท ยากต่อการดำเนินการในทางธุรกิจ
ที่ผ่านมาเมื่อศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้ ITV แพ้ แต่ทาง ITV ได้ขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อแพ้รอบ 2 ตรงนั้นทาง ITV ไม่แสดงเจตนาที่จะชำระหนี้สินให้ถูกต้อง แต่กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ITV มิได้เป็นลูกหนี้ค่าปรับและดอกเบี้ยประมาณหนึ่งแสนล้านบาท แต่ศาลไม่รับเรื่อง
เชื่อว่าหาก ITV ตั้งใจจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องค่าสัมปทานประมาณ 2.2 พันล้านบาท เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SHIN ได้รับเงินปันผลจาก ADVANC ไปแล้ว 6.30 บาทต่อหุ้น รวมทั้งสิ้น 18,608 ล้านบาท และ SHIN ได้จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น 2.3 บาทต่อหุ้น ซึ่งทั้งซีดาร์และแอสเพนโฮลดิ้งส์จะรับปันผลทั้งสิ้น 7,076.55 ล้านบาท เงินในส่วนนี้สามารถนำมาช่วยเหลือ ITV ได้แต่ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องค่าปรับหากมีการแสดงความตั้งใจชำระเงินให้ถูกต้องน่าจะเจรจากับสำนักนายกรัฐมนตรีได้
ไม่รู้ว่าทางเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ อยากเห็นสถานการณ์เป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะตัวเขาก็ไม่อยากได้ธุรกิจอื่นนอกจากโทรศัพท์มือถือใน ADVANC เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรเมื่อ ITV ต้องถูกทางการยึดก็เท่ากับเทมาเส็กเสียประโยชน์เนื่องจากราคาที่ซื้อ SHIN ครั้งแรกได้รวมเอามูลค่าใน ITV เข้าไปไว้ด้วยแล้ว
จนถึงวันนี้ราคา SHIN อยู่ที่ 27 บาท เทียบกับราคาที่ซื้อ 49.25 บาท เทมาเส็กขาดทุนไปแล้ว 6.85 หมื่นล้านบาทหรือ 45.18% และมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีก
ได้มา-บริหารอย่างไร
การขายหุ้นของตระกูลชินวัตรเมื่อ 23 มกราคม 2549 แม้จะส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร ต้องพ้นจากอำนาจ แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นในครั้งนั้น กลับกลายเป็นปัญหาของชาติ ซึ่งทั้ง ITV หรือ SATTEL ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสัมปทานและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
แม้ในอนาคตจะได้ดาวเทียมไทยคมหรือ ITV ออกมาจากอ้อมอกของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ แต่สิ่งที่จะตามมานั่นคือเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้มาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
"ทั้ง ITV และ SATTEL หากรัฐจะบริหารจัดการเองโดยที่ไม่มีความชำนาญคงไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หากเปิดทางให้ผู้สนใจเข้ามาประมูลไป จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ที่เข้ามาประมูลนั้นจะไม่ทำเหมือนที่ตระกูลชินวัตรทำ ที่สำคัญทั้ง ITV และ SATTEL จะป้องกันกลุ่มอำนาจเดิมเข้ามาประมูลหรือย้อนกลับมาซื้อในราคาถูกได้อย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว
รัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบ เนื่องจากทั้ง ITV และ SATTEL เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ใช่มีแค่ตระกูลชินวัตรหรือกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เท่านั้น แต่ยังมีผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
กรณีของ SATTEL จะดำเนินการอย่างไร ไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้จ่ายเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และจะบริหารเพื่อสร้างรายได้จากดาวเทียมอย่างไร ส่วน ITV จะออกอากาศต่อไปหรือไม่ พนักงานเหล่านั้นจะสังกัดหน่วยงานใด ฐานเงินเดือนระหว่างพนักงาน ITV กับของหน่วยงานที่สังกัดแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญที่ตั้งของ ITV จะยังคงอยู่ที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อีกหรือไม่ เพราะเจ้าของอาคารนี้คือบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC บริษัทส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เท่ากับเป็นการจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับภรรยาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจ
นี่คือการบ้านสำหรับผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รัดกุม รอบคอบและชัดเจน
|
|
|
|
|