จับตาวัสดุก่อสร้างครึ่งปีแรกเหนื่อยแสนสาหัส ลุ้นการเมืองนิ่ง ดันธุรกิจโงหัวครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการถอดใจตลาดในประเทศ แห่ส่งออกประคองชีวิต
ปัจจัยภายนอกที่รุมเร้าธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทั้งภาวะเศรษฐกิจ และการเบรกลงทุนของนักลงทุนไทยและข้ามชาติ ส่งผลให้ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้และปูนซิเมนต์ต้องชะลอตามไปด้วย คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกตลาดจะเติบโตแบบช้าๆ และไม่หวือหวามากนัก
ชัยฤทธิ์ สังข์สิทธิพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ ยิปซั่ม จำกัด (มหาชน) (BPB) กล่าวว่า จากผลกระทบด้านการเมือง การปรับตัวของราคาน้ำมัน และดอกเบี้ยในปี 2549 ส่งผลให้ตลาดรับเหมาก่อสร้างในประเทศโดยรวมชะลอตัว และมีอัตราการเติบโตที่ถดถอย ทำให้ยอดการใช้ ผลิตภัณฑ์ยิปซั่มบอร์ด และสินค้าอื่น อาทิ โครงคร่าวเหล็ก ทีบาร์และสินค้าไลน์วัสดุก่อสร้างอื่นๆในประเทศชะลอตัวตามไปด้วย
ในส่วนของบริษัทฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอุตสาหกรรม ดูจากยอดขายปีก่อนที่ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 3,200 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้เพียง 3,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น แบ่งเป็นยอดขายจากยิปซัม 50% หรือ 1,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,500 ล้านบาท เป็นยอดขายจากสินค้าอื่นๆ และในปีนี้บริษัทฯ จะปรับสัดส่วนยอดขายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยจะเพิ่มสัดส่วนส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% จาก 30% ส่วนในประเทศได้ปรับลดลงมาเหลือ 50% จากเดิม 70%
โดยในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายเติบโตขึ้น 20% คิดเป็น 3,600 ล้านบาท มาจากการขยายตัวของตลาดสินค้าประเภทโครงคร่าวเหล็ก ทีบาร์ ประมาณ14% ส่วนที่เหลือ 5-6% มาจากยิปซัม นอกจากนี้จะมาจาการเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 4-5 ชนิด โดยในเดือนมี.ค.นี้จะเปิดตัวโครงคร่าวฝ้าเพดานฉาบเรียบ ซีไลน์
วัสดุทดแทนไม้ปีนี้“เหนื่อย”
ขณะที่ตลาดวัสดุทดแทนไม้ถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบปัจจัยดังกล่าวมากนัก แต่ก็มีการแข่งขันสูง โดยสุทธิพันธ์ วัชโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนวูด จำกัด กล่าวว่า ภาวะโดยรวมของตลาดวัสดุจะทรงตัวตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัว จึงส่งผลให้ให้การทำตลาดของวัสดุทดแทนไม้ในปีนี้ต้องเหนื่อยตามไปด้วย โดยเฉพาะการรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้
สำหรับคอนวูดได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะได้เตรียมการรับมือกับภาวะดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ไม้บังตา ไม้รั้ว ไม้บัวคาดผนังและไม้บัวพื้นลายใหม่ๆ เช่น ลายโมเดริ์น, ลายคลาสสิก เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและส่งออก โดยกลางปีก่อนได้ส่งสินค้าไปยังจำหน่ายยังประเทศกัมพูชาซึ่งอาศัยเครือข่ายของกลุ่มบริษัท โฮลซิม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะเข้าไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีแผนจะขยายตลาดไปยังเวียดนามภายในไตรมาสแรกปีนี้
ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นการขายเข้าโครงการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีระดับราคาเฉลี่ย 3-5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่จะต้องเจาะเข้าไป พร้อมกับรุกไปยังตลาดบ้านสร้างเอง บริษัทออกแบบตกแต่ง และร้านสุขภัณฑ์ โดยปัจจุบันมีผู้แทนจำหน่าย 250 ราย ซึ่งขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 95% และโมเดิร์นเทรด 5%
“บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้รู้จักในวงกว้างขึ้น เพราะบางพื้นที่ไม่รู้จักไม้คอนวูด เช่นในภูมิภาค ด้วยการปรับภาพลักษณ์สินค้าให้สวยงาม สะดุดตา และจะเพิ่มจุดขายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่”
“เฌอร่า”เบนเข็มส่งออก
ในขณะที่ไม้ฝาเฌอร่าก็หันมาเน้นการส่งออกมากขึ้นโดยเฉพาะแถบประเทศเพื่อนบ้านและตะวันออกกลาง มาดี ศรีวัฒนะ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท โอลิมปิคกระเบื้องไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เฌอร่าอยู่ระหว่างกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่มุ่งเน้นขยายตลาดส่งออกในปี 2550 ให้มากขึ้น โดยปีนี้ส่งออกประมาณ 10% จากประมาณการยอดขายรวมทั้งปีที่ 1,600 ล้านบาท
“สาเหตุหลักที่หันมาขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี 2551 เครื่องจักรใหม่พร้อมเดินเครื่องกำลังผลิตเต็ม 100% จึงต้องมองหาตลาดใหม่รองรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาสภาพตลาดและรูปแบบสินค้าที่แต่ละประเทศต้องการ ส่วนแนวโน้มตลาดในประเทศคาดว่าคงเติบโตแต่ไม่หวือหวามากนัก”
สำหรับเป้าหมายการส่งออกจะเป็นประเทศในแถบอาเซียน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศดังกล่าวมีการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างมาก
ด้านกระเบื้องตราเพชรโดย สาธิต สุดบรรทัด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะขยายตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านและแถบตะวันออกกลาง อาทิ พม่า เวียดนาม ลาว จีนและไต้หวัน โดยเฉพาะ เจียระไนบอร์ด สำหรับงานผนังที่มีความต้องการมาก
|